Posted: 21 Aug 2017 02:19 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ไม่มาศาล ไม่มีเอกสารชี้แจงอ้างติดราชการด่วน ด้านอานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 และทนายความอีกข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 2 ระบุให้ศาลพิจารณาความเหมาะ หากไม่มาอีกควรออกหมายจับ พร้อมขอศาลเปิดเผยรายชื่อองค์คณะผู้พิจารณาคดี


21 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้มีนัดสืบพยานโจทก์ในคดีฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโฆษะ จนนำมาสู่การรัฐประหาร(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยคดีดังกล่าวมีจำเลยทั้งหมด 4 คนคือ อานนท์ นำภา , สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ , พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ

โดยในวันนี้ศาลได้สั่งเลื่อนการสั่งพยานออกไปก่อนเนื่องจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหาในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นพยานปากแรก ไม่สามารถเดินทางมาศาลตามนัดหมายได้ โดยได้แจ้งกับอัยการทหารว่า ติดราชการด่วน จึงทำให้ไม่สามารถมาเบิกความได้ ทั้งนี้อัยการทหารเองก็ไม่ทราบว่า พ.อ.บุรินทร์ ติดราชการด่วนเรื่องอะไร และไม่ได้มีการส่งหนังสือมาเพื่อชี้แจง มีเพียงแค่การติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น ศาลจึงได้สั่งเลื่อนการสืบพยานออกไปในวันที่ 25 และ 30 สิงหาคมตามกำหนดเดิม และกำหนดให้มีการนำสืบพยานปากอื่นก่อน

ด้านอานนท์ ได้แถลงต่อศาลว่า การที่ พ.อ.บุรินทร์ ไม่มาเบิกความต่อศาลในวันนี้ทำให้คดีล่าช้า และจำเลย ทนายทุกคนที่เดินทางมาศาลในวันนี้มีต้นทุน ค่าใช้จ่าย จึงขอให้ศาลได้พิจารณาถึงความเหมาะสม หากพยานไม่มาตามหมายเรียกในทางปฏิบัติควรมีการติดตาม หรือออกหมายจับ ทั้งนี้ศาลได้ชี้แจงว่า จะพิจารณาหากพบว่า พ.อ.บุรินทร์ มีเจตนาหลบเลี่ยงไม่มาเบิกความก็จะมีการดำเนินการตามมาตราการของศาลทหารต่อไป

ขณะเดียวกัน อานนท์ แถลงต่อศาลว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ตุลาการศาลทหารระบุชื่อ และชั้นยศในเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย เนื่องจากเห็นว่า การพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผย และในเมื่อเรื่องการระบุชื่อตุลาการศาลทหารไม่มีระบุอยู่ใน กฎหมาย กฎและข้อบังคับตามกฎหมายของฝ่ายทหารจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา45ในพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 โดยศาลระบุว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา แต่อย่างก็ตามศาลได้ถามตอนหนึ่งว่า ต้องการชื่อองค์คณะไปทำอะไร พร้อมทั้งชี้แจงว่า การแต่งตั้งองค์คณะตุลาการศาลทหารในคดีต่างๆ นั้นมีหลักการพิจารณาแต่งตั้งโดยมีหลักการว่า ตุลาการจะต้องผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือได้เสียผลประโยชน์ใดๆ กับคดีความ อานนท์ได้แถลงต่อศาลว่า ความต้องการให้ตุลาการศาลทหารเปิดเผยชื่อนั้นเพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนได้รับทราบว่า ตุลาการศาลทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ได้เสียผลประโยชน์กับคดีความดังกล่าวจริงๆ


หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในศาลทหาร สิรวิชญ์ ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ พ.อ.บุรินทร์ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล และไม่ได้มีการแจ้งเหตุอันควรไว้ต่อศาลล่วงหน้า มีแต่เพียงการบอกกับอัยการทหารในช่วงเช้าก่อนการนำสืบพยานว่า ติดราชการด่วน จึงทำให้การสืบพยานในวันนี้ต้องเลือนออกไป ทั้งนี้สิรวิชญ์ ยืนยันว่าคดีความที่ตนและพวก ถูกดำเนินคดีนั้นเป็นเพียงแค่การชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติ และปราศจากความรุนแรง ไม่ได้เป็นการกระที่เป็นการสั่นสะเทือนความมั่นคงของชาติ ดังนั้นการที่ คสช. อ้างประกาศ คสช. ที่ 7/2257 ซึ่งอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

“ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เกินไปด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เราทำมันเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะได้ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ คสช. ก็มาประกาศยึดอำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มาประกาศว่าคำสั่งต่างๆ ที่ตัวเองคิดออกมาโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นกฎหมายบังคับใช้ และที่สำคัญสิ่งที่เราทำมันเป็นการกระทำโดยสงบปราศจากอาวุธ การอ้างคำสั่งของคณะรัฐประหารจึงเป็ฯสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมในเชิงกระบวนการนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว” สิรวิชญ์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับกระบวนการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลประกาศเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี สิรวิชญ์เห็นว่า กระบวนการปรองดองของ คสช. นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อที่ทำให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการยุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่า และยุติการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น

“มันเป็นกระบวนการที่ฉาบฉวย ไม่ได้ต้องการยุติความขัดแย้งที่แท้จริง และ คสช. เองก็ไม่ใช้ตัวกลางที่จะมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ เพราะ คสช. เองก็เป็นคู่ขัดแย้งเหมือนกัน การปรองดอไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ภายใต้ตัวกลางที่เป็น คสช. การปรองดองจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญเองก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ฉะนั้นมันคือสิ่งที่บอกว่า เราไม่มีกระบวนการปรองดองที่แท้จริง”
สิรวิชญ์ กล่าว

สำหรับคดีดังกล่าว ระหว่างเดือน มี.ค. – ต.ค. 2558 จำเลยทั้งหมดสู้คดีโดยปฏิเสธข้อกล่าวหา และต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าคดีนี้ควร ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยัง ยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

เนื่องจากทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

กระทั่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งยกคำร้องให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ข้อมูลบางส่วนจาก: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน และ iLaw

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.