เปิดนิยาม SLAPP ฟ้องร้องเพื่อสร้างต้นทุน กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ในไทยวนเวียนภาคการผลิตพื้นฐาน แต่ ม.112 ม. 116 ก็นับ เปิดกรณีตัวอย่างชุมชน จ.สกลนคร จ.เลย เจอกีดกัน ข่มขู่ทั้งวาจา ลูกปืน เอกชนกระหน่ำฟ้องชาวบ้าน ซ้ำแต้มต่อน้อยกว่านายทุน แก้ไขได้ต้องปฏิรูปยุติธรรม จริยธรรมนักกฎหมาย ตั้งศาลสิ่งแวดล้อม “อังคณา” เผย ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้น และจะมากขึ้น
จากซ้ายไปขวา: อังคณา นีละไพจิตร สมัย มังทะ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ วิเชียร อันประเสริฐ วิรดา แซ่ลิ่ม
เมื่อ 27 มิ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดเสวนา “SLAPP Law กลไกทางกฎหมายที่นักสิทธิฯ อาจต้องเผชิญ” ภายใต้โครงการลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน ที่โรงแรมหนองหาร เอลลิแกนท์ จ.สกลนคร
งานเสวนามี อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส ทนายความกรณีเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย วิเชียร อันประเสริฐ นักวิจัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสมัย มังทะ ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องเป็นวิทยากร และวิรดา แซ่ลิ่ม อดีตผู้ดำเนินรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
เปิดนิยาม SLAPP (สแลป) ตบปากด้วยความกลัว สร้างต้นทุน กีดกันการมีส่วนร่วม แต่ ม.44 ไม่เข้านิยาม
สำนักข่าวไทยพับลิก้า รายงานว่า SLAPP ย่อมาจาก Strategic Litigation Against Public Participation แปลว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” พ้องเสียงกับคำว่า slap (สแลป) แปลว่า “ตบ” เป็นการเปรียบเทียบกับการตบปากให้คนหยุดมีส่วนร่วมในภาคสาธารณะ
วิเชียรให้รายละเอียดของสแลปจากงานของต่างประเทศ มีอยู่ 5 ประการ ดังนี้
น่าจะเป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายที่เป็นเงิน หรือคำสั่งบางประการ เช่น ห้ามชุมนุม ห้ามวิพากษ์วิจารณ์
เขาน่าจะฟ้องกับบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มหรือบุคคล เพราะถ้าฟ้องกับรัฐนั้นถือว่ารัฐมีตัวช่วยทางกฎหมายเยอะจึงไม่นับ
กลุ่มและบุคคลเหล่านั้นกำลังสื่อสารกับรัฐ ตัวแทนรัฐ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ลงมาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา
สแลปที่พูดถึง นั้นเป็นประเด็นที่เป็นสาธารณะ หรือเป็นประเด็นที่ตระหนักได้ถึงผลประโยชน์สาธารณะ
จริงๆแล้วคดีไม่มีสาระอะไรเลย แต่มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน เสียเวลา ในการจัดการเรื่องคดี ไม่ให้มีเวลามาเคลื่อนไหวต่อต้านประเด็นต่างๆ
แสงชัยกล่าวว่า ภาษากฎหมายก็มีชื่อเฉพาะ ว่า การใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะการฟ้องคดีเป็นสิทธิของผู้คน ใครที่ถูกละเมิดสิทธิก็มีกระบวนการยุติธรรมในการปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องทางแพ่งหรืออาญา แต่ที่มาคุยในประเด็นวันนี้ การใช้สิทธิ์นี้เป็นไปโดยไม่สุจริต เพราะมันมีอาการกลับกัน คือคนที่น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ กลับกลายเป็นจำเลย ส่วนคนที่ควรจะได้รับภาระต้องพิสูจน์ว่าโครงการที่มีจะมีผลดีผลเสียอย่างไรกับชุมชน กลับเป็นโจทก์ฟ้องร้องชาวบ้านที่มีลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
ผ่านยุคความวุ่นวายทางการเมืองมา 10 ปี ก็มีลักษณะดำเนินคดีแบบนี้เช่นกัน เช่นการฟ้องร้องนักศึกษาที่เคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แล้วพยายามเชื่อมโยงไปหากลุ่มการเมืองที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง โดยการฟ้องเหล่านี้ไม่ได้หวังให้พิสูจน์ความผิด เพียงแค่ฟ้องให้เขาวุ่นวายกับการขึ้นศาล หาเงินไปประกันตัว บางคนประกันตัวไม่ได้เช่น ไผ่ ดาวดิน การฟ้องเหล่านี้ทำให้คนกลัว ไม่กล้ารักษาสิทธิ์ของตัวเองในการมีส่วนร่วมต่างๆ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุนี้
วิเชียรพูดถึงความลำบากของชาวบ้านที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการต่อสู้คดีว่า อย่างน้อยคดีหนึ่งก็ต้องไปหาตำรวจ พูดคุยเรื่องข้อกล่าวหา ไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษา 6-13 ครั้งต่อคดี มิพักจะต้องเตรียมคดีกับทนายความ ชาวบ้านแทบไม่ต้องทำมาหากินเลยในแต่ละเดือน ซึ่งทางชุมชนเวลามีคนถูกฟ้อง ก็พากันแห่ไปกันเป็นร้อยคนเพราะตกลงกันในกลุ่มว่าคดีที่คนหนึ่งคนโดนฟ้อง เท่ากับเป็นคดีของชุมชน แต่โชคดีที่ชาวบ้านมีรายได้ดีในช่วงที่ราคายางขึ้น และมีรายได้จากการขายลอตเตอรี่ แต่ว่าการขึ้นศาลหนึ่งครั้งก็มีค่าใช้จ่ายต่อวันสูง ทั้งค่าต้อนรับและดูแลทนายความ ค่ากินอยู่ มีครั้งที่ชาวบ้านโดนฟ้องร้องที่ภูเก็ต ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปขึ้นศาลที่ภูเก็ต ดังนั้นต้นทุนเท่านี้จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องแบกรับเมื่อจะต่อสู้ เคลื่อนไหว แสดงให้เห็นว่าสแลปมีความน่ากลัวจริงๆ
กลยุทธการฟ้องร้องเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมในทางสาธารณะคือการใช้ความกลัวที่มีต่อคดี กลัวการติดคุก กลัวเสียเงิน ทำให้ปัจเจกไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านประเด็นที่ตนเคลื่อนไหวอยู่ พอฟ้องแล้ว ปัจเจกก็มีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนเองไม่ผิด ในกรณี จ.เลย คดีที่ไม่มีการไกล่เกลี่ยนั้นได้รับยกฟ้องทุกกรณี ยกเว้นการสร้างกำแพงใจครั้งที่ 3 ที่กีดขวางทางจราจร ซึ่งศาลพิพากษาได้ดี โดยบอกว่า กำหนดให้รอการกำหนดโทษ ด้วยเหตุผล 2 ประการ หนึ่ง เรื่องที่เจ้าบ้านทำ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องของเขาที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สอง การปิดถนนนั้นกระทำกับเหมืองอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้กระทบกับสาธารณะ ถือว่าทำด้วยความบริสุทธิ์
มีคำถามจากวงเสวนาว่า กฎหมายมาตรา 44 ถือเป็นสแลปหรือไม่ เพราะมีการใช้ ม.44 ยกเลิกการทำประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งนำไปสู่การกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน วิเชียรตอบคำถามว่า มาตรา 44 เป็นการกำหนดมาแต่ยังไม่มีการฟ้อง ดังนั้นยากที่จะพูดเป็นสแลป เพราะโดยนิยามคือการฟ้องร้องเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วม ในขณะที่แสงชัยกล่าวว่า มาตรา 44 ไม่ใช่ สแลปแต่เป็นกฎหมายที่มีอำนาจทั้งในสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จนสามารถถอนฟ้อง เปลี่ยนการตัดสินใจบังคับใช้นโยบายได้ ต้องมองในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญกับมาตรา 44 ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องรอดูกันต่อไป
สแลปไทยตัวละครชัดเจน ยังวนเวียนในภาคการผลิตพื้นฐาน แต่ ม.112 และ 116 ก็นับ
วิเชียรกล่าวถึงภาพรวมคดีที่มีลักษณะเป็นการฟ้องร้องแบบสแลปในไทยว่า ส่วนใหญ่จะมองเห็นภาพตัวละครว่าใครฟ้องใคร คือ มีหน่วยงานรัฐฟ้องนักวิชาการ เพื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ เช่นกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฟ้องหมิ่นประมาท เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ ณัฎฐา โกมลวาทิน คดีหมิ่นประมาทในประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์คลื่นความถี่ สาม เอกชนฟ้องร้องชาวบ้าน เช่นกรณีชาวบ้าน จ.เลย ส่วนการฟ้องร้องในมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ 116 ที่เรียกกันเล่นๆ ว่ากฎหมายว่าด้วยการ “ยุยงปลุกปั่น” อันเป็นคดีที่ถูกตีความว่ากระทบกับความมั่นคงของรัฐ ก็เป็นเรื่องการฟ้องสแลป เพราะเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วย
แสงชัยกล่าวว่า ตัวคดีสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานทรัพยากรเป็นปัจจัยการผลิต กับวิถีชุมชนที่มีแนวทางใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกแบบ เราจะเห็นได้จากกรณีปิโตรเลียม เหมืองแร่ โรงงานทำยางมะตอย เหมืองถ่านหิน อุตสาหกรรมพื้นฐานยุคเริ่มต้นทั้งสิ้น การผลิตของไทยยังอยู่กับการขยายกำลังการผลิตเช่นนี้อยู่ จึงไม่แปลกที่จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับชุมชน แนวทางพัฒนาก็น่าจะรู้อยู่ว่า ส่วนใหญ่แล้ววิถีชุมชนไม่มีพลังพอที่จะโต้แย้ง คัดค้านทิศทางการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นไปได้ถ้าแนวทางของวิถีชุมชนได้รับการยอมรับบรรดาผู้อาจมีส่วนได้ประโยชน์จากทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบวิถีชุมชน เช่น ผู้การทำให้ผู้บริโภคในเมืองได้รับความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าไม่ควรไปเบียดเบียนใครสักคนหนึ่ง หรือทำให้ตระหนักว่าการผลิตจะต้องไม่ทำให้ชุมชนต่างๆ อยู่กันไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ชนชั้นกลางในเมืองทั้งหลายเลือกกิจการที่มีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนก็อาจมีทางออก
แต่ถ้าพูดในทางคดีความ ศาลไม่สามารถพิพากษาให้ยกเลิกการฟ้องร้องของบริษัทกับชาวบ้านได้ เพราะสิทธิการฟ้องร้องก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ตรงนี้ก็เป็นข้อขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรม ฝั่งชาวบ้านอำนาจต่อรองน้อยกว่านายทุนอยู่แล้ว เพราะทางรัฐประนีประนอมกับนายทุนมากกว่า การออกใบอนุญาตไม่มีการไปขออนุมัติจากประชาชนเพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ความไม่เป็นธรรมแบบนี้ทำให้การต่อสู้ไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายหนึ่งเพียบพร้อม ฝ่ายราชการให้การสนับสนุน ทั้งยังมีเงินทุนจ้างนักวิชาการ ทนายความและนักนักกฎหมาย นอกจากนั้นระบบพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมเรามีปัญหา ข้อแรก ศาลมักมีท่าทีเป็นลบต่อกลุ่มชาวบ้าน ไปกันเป็นร้อยคน เจ้าหน้าที่ศาลก็ดุแล้ว บ้างก็ไล่ไม่ให้เข้า บ้างก็ถามชาวบ้านว่า ถ้าไม่ผิดแล้วเขาจะฟ้องทำไม
กรณีตัวอย่างชุมชน ชาวบ้านโดนฟ้องกระหน่ำ เจอกีดกัน ข่มขู่ทั้งวาจา ทำร้ายร่างกาย ลูกปืน
สมัย กล่าวว่า ตนมาจากจุดที่โรงงานน้ำตาลจะมาตั้งซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ชาวบ้านจึงมีข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาก็มีการกว้านซื้อที่ดินใกล้หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรู้สึกถึงการถูกจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเช่น ลำห้วยเตยและร่องน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้งานที่อยู่ในพื้นที่ของโรงน้ำตาล ทางสัญจร จึงฟ้องร้องไปยัง อบต. ไปตรวจสอบ และพบว่าทางน้ำถูกเปลี่ยนแปลง ร่องน้ำถูกถม จึงได้ยื่นหนังสือความกังวลของชาวบ้านให้ อบต. หลังจากยื่นหนังสือไป 2-3 เดือนก็ถูกฟ้อง ชาวบ้าน 20 คนโดนฟ้องหมิ่นประมาท ด้วยความที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับหมายศาลก็กลัว ได้ไปศาลอยู่ 3 ครั้ง และศาลก็บอกว่าให้ไกล่เกลี่ยกันก่อนระหว่างชาวบ้านกับบริษัท บริษัทตั้งเงื่อนไขว่าจะตั้งกรรมการพิสูจน์ข้อกล่าวหา แต่ในคณะกรรมการไม่มีชาวบ้านจากกลุ่มรักษ์น้ำอูนอยู่ในนั้น และจะขุดคลองที่ถมไปให้ใหม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่รับ ศาลก็ตัดสินวันที่ 3-4 ต.ค. จะนัดไปไต่สวน เวลาผ่านไป จากกลุ่มต่อต้านที่มีจำนวนกว่า 50 คน แต่ก็ถูกข่มขู่ มีรถมาจอดหน้าบ้านตอนกลางคืน มีลูกปืนตกลงมาในที่ประชุม ผู้นำในกลุ่มก็ถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบ ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 คนที่อยู่ฝ่ายต่อต้านโรงน้ำตาลก็ถูกตั้งค่าหัว ทั้งยังถูกทนายข่มขู่ในชั้นศาลว่า ถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ตั้งให้ก็จะฟ้องอีก ทำให้สมาชิกกลุ่มตื่นกลัว กลุ่มที่มี 50 กว่าคนก็เหลือเพียง 20 กว่าคน นอกจากนั้น เวลาไปให้ความรู้เรื่องผลกระทบของการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่นก็ถูกกีดกันไม่ให้ใช้พื้นที่สาธารณะในการกระจายข่าวสารเรื่องผลกระทบของการตั้งโรงงานน้ำตาล ถ้าจัดเวทีได้ก็มีตำรวจ ทหารไปคุมพื้นที่
วิเชียรกล่าวว่า ตนเองเก็บรวบรวมข้อมูลที่ จ.เลย ที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวนผู้การถูกฟ้องร้องทั้งหมด 21 คดี แยกเป็นการฟ้องจากบริษัททุ่งคำ ผู้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ 17 คดี จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3 คดี และจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คดี โดย 20 คดีตั้งแต่ปลาย 2556 ถึงปัจจุบัน แต่ละคดีถูกฟ้องด้วยกฎหมายรวมทั้งหมด 7 ฉบับ ฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 38 คน มีค่าเสียหาย 320 ล้านบาทกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว
ลักษณะการฟ้องร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผลกระทบของเหมืองในอาณาบริเวณเหมืองก็โดนฟ้องเรื่องบุกรุก พอปกป้องชุมชนด้วยการสร้างกำแพงกันทาง ไม่ให้บริษัทขนสารเคมีและแร่ได้ก็ถูกฟ้องร้อง การสร้างกติกาไม่ให้รถบรรทุกเกิน 15 ตันและรถขนสารเคมีผ่านชุมชน เป็นสัญลักษณ์ว่าต้องสร้างระเบียบกติกาชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านเพราะภาครัฐแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทั้ง 3 กำแพงถูกทำลายทั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นชายฉกรรจ์ปิดหน้า ครั้งที่สองเป็น อบต. ครั้งที่สามเป็นทหารนอกราชการและในราชการคุมกำลังคน 120 คน มารื้อทำลายกำแพง จับกุมและทำร้ายชาวบ้าน โดยทางชาวบ้านได้แจ้งไปทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย ทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวยังถูกตั้งค่าหัวและถูกสังเกตการณ์โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ พอทหารตั้งคณะกรรมการปรองดองระหว่างชาวบ้านกับเหมืองที่ทางเหมืองขอขนแร่ที่เหลือออกจากเหมือง แล้วชาวบ้านตั้งข้อสงสัย อยากให้เหมืองพิสูจน์ว่าเป็นแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ถูกฟ้องทางบริษัทเหมืองฟ้องหมิ่นประมาท และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลผิดพลาด ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเริ่มร้องขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่า และ สปก. เพื่อดำเนินกิจการต่อไป
เปิดแนวทางแก้ไขสแลป ต้องปฏิรูปยุติธรรมทั้งกระบวน ชุมชนต้องใช้วิกฤติเป็นโอกาสรวมตัวพิสูจน์ความบริสุทธิ์
วิเชียรกล่าวว่า ตอนนี้เรามีการต่อสู้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นนักเคลื่อนไหวหรือนักปกป้องสิทธิฯ ควรศึกษากฎหมาย หรืออย่าไปทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วทุกการเคลื่อนไหวก็เกี่ยวกับการฟ้องร้อง สอง ต้องปฏิรูประบบยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการและศาล ถ้าพิจารณาแล้วว่าการฟ้องร้องเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ยกฟ้องให้หมด สาม การแก้ไขตัวนี้ ก็คือแก้ไขกฎหมายบางส่วน ต้องแก้ไขการฟ้องหมิ่นประมาทให้เป็นกฎหมายแพ่ง หรือแก้บางส่วนให้การฟ้องร้องในเชิงสแลปไม่เกิดขึ้น หรือต้องมีกฎหมายสแลป โดยหลักการก็คือที่พูดไปเมื่อสักครู่ อีกอันหนึ่งคือต้องมีศาลสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีการไต่สวน ไม่ใช่มีการมากล่าวหากัน อีกอันหนึ่งคือ นักกฎหมาย ทนายความ ถ้าหากมีคดีสแลปแล้ว โดยจริยธรรมแล้วต้องไม่ไปช่วยบริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน อีกอันหนึ่งคือ ชาวบ้านหรือคนถูกฟ้องร้องต้องรวมตัวกัน
แสงชัยกล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมจะลดได้ ถ้ากระบวนการพิจารณาคดีพยายามทำตัวเป็นผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐด้วย ถอยออกมาระหว่างกลางของคู่ขัดแย้ง แล้วถ้าศาลไม่ทำเอง เราก็พบว่า ด้วยพลังของชาวบ้าน เราสามารถทำเรื่องนี้ได้ อย่าไปคิดว่าต้องรอกฎหมาย เพราะต้องรออีกนาน ต้องผ่านความขัดแย้งอย่างที่เป็นอีกไม่รู้กี่ครั้ง ชุมชนเปลี่ยนคดีที่ถูกฟ้องที่มุ่งทำลายความสามัคคี สร้างความกลัว กลับทำให้ชุมชนรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ทั้งการฟ้องก็เป็นการสะท้อนว่า ชุมชนที่ถูกฟ้องกำลังเดินทางมาถูกทางในการเคลื่อนไหว เพราะถ้าไม่กระทบกับทางคู่กรณีจริงก็คงไม่ฟ้อง กลุ่มชาวบ้านที่คิดเช่นนี้ก็จะไม่หวั่นไหวกับการฟ้องคดี และเริ่มคิดว่าจะนำการฟ้องคดีมาใช้ประโยชน์อะไร
จากการที่กลุ่มชาวบ้านใช้การถูกฟ้องเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้กับชุมชนว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่กับท่าทีของทนายความ ผู้พิพากษาเอง ที่มีหลายกรณีที่เริ่มเข้าใจชาวบ้าน ทนายความบางคนอายจนต้องขอเปลี่ยนตัวผู้ว่าความ ถ้าศาลรู้ถึงความสุจริตของชุมชน ก็เท่ากับชาวบ้านบริสุทธิ์ไปครึ่งตัวแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็งเสียก่อน อย่าเพิ่งพูดถึงการเปลี่ยนกฎหมาย แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้ชุมชนก่อน เรายังเก็บชัยชนะระหว่างทางยังไม่พอ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า ไทยควรมีคดีที่เกี่ยวพันและที่จะเป็นที่อ้างอิงว่ากรณีเช่นนี้เป็นหรือไม่เป็นการใช้สิทธิ์ไม่สุจริต น่าจะต้องมีการตั้งต้นจากข้อขัดแย้งกับบุคคล ชุมชนกับโครงการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้ามีช่องทางให้ผู้ถูกฟ้องร้องมีช่องทางเฉพาะในการตรวจสอบ แต่ว่าก็จะมีปัญหาในด้านที่ศาลจะพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่การจัดการฟ้องสแลปนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงเพื่อกันไม่ให้จำเลยไปเคลื่อนไหวต่อ
แสงชัยให้ความเห็นในช่วงท้ายว่า ตนยังเห็นเงื่อนไขการพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในไทย บนเงื่อนไขที่ศาลจะพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เพราะว่าผลกระทบของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นผลสืบต่อไปในอนาคตรุ่นลูกหลาน และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปกว่าพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้อาณาบริเวณการดำเนินการ
ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้น คาด จนท. รัฐจะคุกคามมากขึ้น อัดฟ้องสแลปเสียหาย ศก. สังคม วัฒนธรรม
อังคณากล่าวว่า การฟ้องร้องเพื่อการกลั่นแกล้งต้องยุติ การฟ้องร้องแต่ละเรื่องเป็นการกลั่นแกล้งไหม แล้วสิ่งที่ชาวบ้านทำเป็นการก่อกวน สร้างความเดือดร้อนหรือทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่การฟ้องๆ ไปก่อน เพราะคนธรรมดาเวลาขึ้นศาลนั้นส่งผลกระทบมาก บางครอบครัวถึงกับต้องแยกทางกัน ควรส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้ว่าสิทธิตัวเองมีอะไร ให้รู้ว่าการพัฒนาที่เข้ามาจะส่งผลกระทบหรือไม่ แล้วรัฐจะทำอย่างไร รัฐบาลไทยก็ได้รับข้อกังวลในเรื่องการปกป้องนักสิทธิฯ จากต่างประเทศมากมาย ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการแก้ไขใดๆ ออกมาเพราะยังไม่มีข้อสรุปว่าใครบ้างที่เป็นนักสิทธิฯ ตนคิดว่า ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องสถานการณ์สิทธิทางการเมือง พบว่าหลังรัฐประหาร ประชาชนจะยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่มากขึ้น จากการตรวจสอบของ กสม. พบว่า ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้นจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐ ดังนั้น รัฐควรเข้าใจว่านักสิทธิฯ เป็นผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิฯ การยอมรับดังกล่าวจะทำให้นักสิทธิฯ ทำงานต่อไปได้ และต้องให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลเท่าที่พึงจะทำได้ เช่น ข้อมูลการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะของชาวบ้านเมื่อมีโรงงานมาตั้ง เมื่อนักสิทธิฯ ถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกอุ้ม รัฐก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าฟังการพิจารณาคดีทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรม และต้องให้ความคุ้มครองพยาน แม้จะมีกองทุนยุติธรรมที่ให้ใช้ได้ในเรื่องการประกันตัว แต่การคุ้มครองพยานก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และจะต้องให้มั่นใจว่านักสิทธิฯ จะต้องไม่ถูกฟ้องกลั่นแกล้ง ทุกวันนี้เรามีนักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงที่อาจต้องเลี้ยงลูก ตั้งครรภ์ ดูแลครอบครัว ในระยะยาว การฟ้องร้องจึงส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก นอกจากนั้นเวลาขึ้นศาล อำนาจต่อรองของนักปกป้องสิทธิฯ จะน้อยกว่า จะถูกกล่าวหาไว้ก่อนว่าเป็นผู้กระทำผิด
ตอนนี้เป็นที่ถกเถียงในไทยมากว่าใครคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นิยามของสหประชาชาติได้มีปฏิญญานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ให้นิยามว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะสมาคมกับคนอื่นในการปฏิบัติคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนั้น นักสิทธิมนุษยชนจึงสามารถตีความได้ทั้งในรูปแบบปัจเจกและกลุ่ม โดยต้องทำบันทึกและรายงานเผยแพร่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำงานกับรัฐ ร่วมมือกับชุมชน ประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิซึ่งตนอยากให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้แต่ชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะมีความเข้าใจที่แตกต่าง คนที่ทำงานงานเรื่องสิทธิมนุษยชน คือคนที่มีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน สอง สิทธิมนุษยชนกว้างกว่ากฎหมาย หลายๆ เรื่องที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เช่น การคุ้มครองจากการทรมาน โดยที่กฎหมายยังไม่ได้ระบุว่าเป็นอาชญากรรม สิทธิมนุษยชนเป็นพลวัตที่เปลี่ยนและขยายได้ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้มีการพูดถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยแล้ว จากที่แต่ก่อนไม่มี ไม่เหมือนกฎหมายที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น แก้ไขไม่ได้
นักสิทธิมี 2-3 กลุ่ม หนึ่ง ผู้พัฒนามาจากการเป็นเหยื่อ สอง กลุ่มทีมีความเชื่อมั่นเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน คนที่จะมาเป็นนักปกป้องสิทธิ จะต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็มีนักสิทธิมนุษยชน ในเมืองไทยถูกคุกคาม จากการฆ่า การอุ้มหาย ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแทน มี 17 กรณี เป็นบังคับสูญหายไป 2 กรณี
แสดงความคิดเห็น