คุยกับ สุนัย ผาสุก นักสิทธิมนุษยชน ตอบโจทย์คนไทยหายในต่างประเทศต้องทำอย่างไร เผยผิดหวังท่าทีรัฐไทย-ลาว ปัดสวะพ้นตัวไม่หาความจริง หวั่นคุ้มครองพลเมืองมีสองมาตรฐาน ชี้สุญญากาศด้านการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศในไทย เหตุลงนามปกป้องอุ้มหายแล้วแต่กฎหมายภายในถูกตีตกไม่มีกำหนดส่งพิจารณาใหม่
วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’
เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่มีข่าวการหายตัวไปของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่คาดว่าลี้ภัยอยู่ใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)ท่ามกลางกระแสข่าวถึงพฤติการณ์การโดนจับกุม การอุ้มหายไป ถึงขนาดที่ว่า โกตี๋ เสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจากภาครัฐทั้งจากไทยและลาวนอกจากการบอกปัดไม่รู้ไม่เห็นจากทาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
นอกจากข่าวการหายตัวไปของโกตี๋ครบรอบหนึ่งเดือนกว่าแล้ว ช่วงนี้ยังถือเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีกว่าการหายตัวไปของอิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา จนขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมระหว่างลี้ภัยอยู่ใน สปป. ลาวเช่นกัน ซึงทาง คสช. และทหาร ตำรวจก็ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ
ประชาไทคุยกับ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ประจำประเทศไทยถึงสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนไทย ‘หาย’ ไปในต่างประเทศ ซึ่งสุนัยได้สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ถึงความผิดหวังกับไทยและลาวที่ดูขาดความจริงจังในการค้นหาข้อเท็จจริงและการคุ้มครองคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยประเทศอื่นอย่างเสมอกันในฐานะพลเมือง ซ้ำยังออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับการหายตัวไปจนกลายเป็นสภาวะสุญญากาศทางการบังคับใช้กฎหมายอาญาในประเทศทั้งลาวและไทย รวมถึงความลักลั่นของไทยต่อการเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศเรื่องการป้องกันการบังคับสูญหายที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติเมื่อกฎหมายในประเทศยังไม่มีออกมารองรับ
ประชาไท: ถ้ามีคนไทยหายตัวไปในต่างประเทศ ตามปรกติแล้วทำอะไรได้บ้างเพื่อตามหาตัวคืนมา
สุนัย ผาสุก
สุนัย: รัฐบาลควรแสดงความกระตือรือร้นในการสอบถามประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ กรณีนี้คือลาว เราคาดหวังถึงความแข็งขันที่จะสอบถามทางตรง ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลและสถานทูตลาวในกรุงเทพ เราก็มีความหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้ที่ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง เพราะว่าเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการอุ้มหาย จะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าไม่รู้เพราะมีเพียงรายงานข่าวการหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮ หวังว่าจะมีการทวงถามกันอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศได้เคยเรียกทูตลาวมาคุยถามไถ่ความคืบหน้าบ้างไหม ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นตรงกันข้าม เป็นการด่วนสรุปตัดไปเลยว่าเป็นเรื่องการจัดฉาก การเล่นละคร ท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีที่น่าผิดหวังเพราะรัฐไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ เราไม่ได้มองว่าทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋มีสถานะที่เป็นคนที่ทางการไทยต้องการ เราพักเรื่องนั้นไว้ก่อน เราพูดถึงเขาในฐานะพลเมืองของรัฐไทย รัฐไทยไม่ได้แสดงท่าทีดูดำดูดีเท่าไหร่เลย ทั้งรัฐไทยเองก็ประกาศว่าะจให้ความสำคัญเรื่องคดีการอุ้มหายแบบนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทย ไปสัญญาเอาไว้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่สิ่งที่ทำกลับเป็นตรงกันข้าม จึงเกิดคำถามตามมาว่าถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวกับคนไทยที่ไปอยู่ที่ต่างประเทศแล้วพวกเขาจะไม่ได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างกรณีทั้งสองหรือไม่ เอาแค่ในลาวก็มีคนไทยอยู่มากมาย แล้วคนไทยเหล่านั้นจะมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพจากไทยได้อย่างไร
ในกรณีผู้ลี้ภัย คนที่ลี้ภัยในต่างประเทศมีสิทธิอะไรบ้าง แล้วสิทธิหรือสถานะตามกฎหมายมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิดังกล่าวหรือไม่
ส่วนแรกคือเรื่องกฎหมายภายในแต่ละประเทศ การอุ้มหายหรือต่อให้เป็นประเทศที่ไม่เป็นภาคีต่อต้านการบังคับสูญหายก็ตาม พฤติกรรมที่นำไปสู่การอุ้มหายมีองค์ประกอบของการทำความผิดอาญามากมายไม่ว่าจะเป็นการบังคับหน่วงเหนี่ยว การทำให้สูญเสียอิสรภาพ การทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันก็เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงอยู่แล้ว ในต่างประเทศที่เกิดเหตุขึ้นก็ควรจะต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นให้จริงจัง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นในลาว ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ก็มักมีลักษณะการปัดสวะให้พ้นตัวมาตลอด ซึ่งเราก็คาดหวังว่าในเมื่อลาวมีพฤติกรรมเช่นนี้สม่ำเสมอ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของไทยที่ต้องไปกระทุ้งให้ลาวติดตามสอบสวนอย่างจริงจัง รัฐไทยก็ต้องทวงให้ลาวทำให้กฎหมายลาวมีความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร มีคนลาวหรือคนต่างชาติเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋เป็นตายร้ายดีอย่างไรต้องตอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นลาวจะถูกมองว่าเป็นบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป คนที่อยู่ที่ลาวก็อาจจะเผชิญชะตากรรมร้ายแรงอย่างการอุ้มหายไม่รู้ชะตากรรม ในกรณีไทยก็มีโกตี๋กับดีเจซุนโฮ กรณีคนลาวก็มีสมบัด สมพอน ที่เป็นเอ็นจีโอคนสำคัญที่ได้รับรางวัลแมคไซไซ ก็โดนอุ้มหายที่เวียงจันทน์เหมือนกัน แล้วลาวก็ใช้วิธีปฏิเสธไม่รู้เห็นเหมือนกัน ทั้งที่กรณีนั้นมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่เหยื่อถูกอุ้มหายแถวป้อมตำรวจจราจรในกรุงเวียงจันทน์ แต่จนถึงตอนนี้ลาวก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ทำให้ลาวมีสภาพบ้านเมืองไม่มีีขื่อมีแปอย่างนั้น แล้วใครจะอยากไปเที่ยว ใครจะอยากไปลงทุน
ข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอสเรื่องการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ที่นำเสนอวิดีโอจากกล้องวงจรปิด (ที่มา: youtube/amaristotle)
ส่วนที่สอง คือเรื่องกติการะหว่างประเทศ ต่อให้เป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่กฎหมายระหว่างประเทศมีจารีตประเพณีที่จะไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางที่มีแนวโน้มจะลิดรอนสิทธิของเขา ที่ทำให้เขาเผชิญภัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นทำให้เขาเสียชีวิตได้ อันนี้จะอธิบายถึงช่วงก่อนที่โกตี๋หายตัวไป เพราะช่วงนั้นทางการไทยได้พยายามเรียกร้องให้ทางการลาวส่งตัวโกตี๋กลับมา คำถามคือ ต่อให้ลาวไม่ใช่ภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ก็มีพันธะกรณีที่จะไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย มันจึงเป็นเรื่องค้ำอยู่ตรงที่ว่า ถ้าไทยอยากได้ตัวโกตี๋ ลาวก็ไม่ควรส่งตัวกลับ แต่ที่แล้วมาไทยและลาวต่างก็ละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศเช่นนี้มาตลอด มีการส่งคนกลับตลอด เช่นกรณีที่ไทยส่งคนม้งกลับไปลาวที่เกิดขึ้นที่เพชรบูรณ์นับพันคนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่ถูกนานาชาติและสหประชาชาติประณาม
มีกฎหมายหรือกติกาใดๆ ในการปกป้องการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) ในไทย
ไทยยังไม่มีกฎหมายภายในในการทำให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา มติสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่จะให้ลงสัตยาบันในกติกาก็ยังไม่มีการแจ้งเรื่องนี้อย่างเป็นทางการกับเลขาธิการของยูเอ็น ผลในทางปฏิบัติจึงยังไม่มีทั้งสองด้าน แม้ร่างกฎหมายที่ไทยเขียนใช้ภายในมันครอบคลุมถึงการอุ้มหายในต่างประเทศด้วย แต่มันถูกตีตกไปโดย สนช. ไทยจึงยังไม่ถือว่าการอุ้มหายเป็นความผิดทางคดีอาญา
มันยังไม่มีผลบังคับใช้ คือลงนามอย่างเดียวโดยไม่ให้สัตยาบันอย่างเดียว ทางไทยอาจจะอ้างแบบศรีธนญชัยว่า ก็ สนช. ได้ลงมติให้สัตยาบันไปแล้ว แต่ที่จริงยังไม่บังคับใช้เพราะว่าเรื่องยังไม่ได้ไปที่เลขาฯ ยูเอ็น มันก็ค้างกันอยู่ในประเทศไทยอย่างนี้ โดยข้ออ้างของทางฝั่งไทยก็บอกว่ายังให้ยูเอ็นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย มันก็เป็นปัญหาเหมือนว่าไก่กับไข่อะไรจะมาก่อน ค้างกันอยู่อย่างนี้ แล้วท่าทีที่ชัดเจนว่า ร่างฯ ที่ สนช. แขวนไว้จะถูกนำมาปรับปรุงแล้วมาเสนอใหม่เมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน ฉะนั้นการอุ้มหายในไทยจึงถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดตามกฎหมายอาญา แล้วความหวังที่จะเอาผิดกับคนที่มีส่วนของการอุ้มหายไม่ว่าจะเป็นคนในรัฐ นอกรัฐ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังไม่สามารถจะเอาผิดได้
สุนัยขยายความถึงขั้นตอนการแสดงเจตจำนงเป็นภาคีว่าประกอบด้วยการลงนามและการให้สัตยาบัน ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้ “หนึ่ง ลงนามแล้วก็คือการแสดงเจตจำนงยอมรับกติกานั้นๆ ว่าจะทำตาม แบบกรณีนี้ก็การต่อต้านการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน ไทยลงนามทั้งคู่”
“อันที่สอง ระหว่างที่ทำกฎหมายภายในก็ยกระดับการแสดงเจตจำนงจากการลงนามเป็นการให้สัตยาบัน โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศให้สัตยาบันว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้ว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้จะผูกมัดและมีผลจริงจังแล้ว แต่ของไทยเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดว่า สนช. ให้สัตยาบันด้วยเสียงข้างมากแล้ว แต่กลับไม่ทำให้มีผลผูกมัดตามกติการะหว่างประเทศเพราะไทยไม่ส่งเรื่องให้กับเลขาฯ ยูเอ็น ก็แขวนเอาไว้อย่างนั้น มันเลยยังไม่มีผลผูกพัน ส่วนในประเทศนั้นร่างกฎหมายภายในก็ถูกแขวนเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด”
การหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮสะท้อนถึงข่องโหว่กฎหมายที่ไทยและลาวไม่คุ้มครองในเรื่องการลี้ภัยใช่หรือไม่
ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่เรื่องโกตี๋และดีเจซุนโฮควรจะเน้นแค่ให้เริ่มมีการสอบสวนอย่างจริงจังว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ใครเกีี่ยวข้องบ้างตามกระบวนการคดีอาญา เอาแค่นี้ยังเริ่มไม่ได้เลย เพราะมันเกี่ยวข้องตั้งแต่ที่พยานบอกว่ามีการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวทำให้สูญเสียอิสรภาพ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ค่อยลากความผิดไปยังประเด็นอื่น แต่แค่นี้ยังทำให้ลาวสืบสวนไม่ได้เลย ไทยก็ชิงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง ถือเป็นท่าทีที่น่าผิดหวังมาก ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ทั่วไปก็คงคาดหวังว่ากระทรวงการต่างประเทศคงไม่อยู่เฉย คงเรียกทูตลาวมาถามความคืบหน้าทุกสัปดาห์เลย โดยเฉพาะสองกรณีดังกล่าวเป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัว แล้วทำไมจะไม่อยากรู้ว่าเขาหายไปไหน ตรงนี้น่าสงสัย ทำไมไม่แสดงความกระตือรือร้นให้ความจริงปรากฏมากกว่านี้ กลับปัดเรื่องให้พ้นตัวไม่ได้ติดตามอะไรแล้ว ซึ่งท่าทีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น
นักสิทธิมนุษยชนยังกล่าวถึงสถานการณ์การจับตัวศัตรูของรัฐบาลจากต่างแดนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในประเพราะว่าในประเทศเอเชียแถวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการอุ้มศัตรูของรัฐบาลในต่างประเทศเกิดขึ้นบ่อยๆ จากประเทศแถบเอเชีย “อย่างของจีนที่ไปอุ้มนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ แม้แต่เวียดนามก็มีการอุ้มคนที่อยู่ฝ่ายค้านรัฐบาลเวียดนามในเยอรมนี สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้าม และก็ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใหญ่โต กลับมาเรื่องของเรา ผมรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังที่ไทยและลาวไม่มีท่าทีกระตือรือร้นที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และถ้ามีคนต่างชาติเกี่ยวข้องกับการทำให้บุคคลสูญหายไปจริงก็ถือเป็นปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยด้วยซ้ำ ทำไมไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ผมก็ไม่เข้าใจ”
ท่าทีของรัฐบาลไทยสะท้อนบรรทัดฐานการใช้กฎหมายหรืออย่างอื่นหรือเปล่า
สะท้อนอย่างหนึ่งว่าถ้าเป็นฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความใส่ใจในการได้รับความปกป้องจากรัฐอย่างที่ควรจะเป็น โดยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาล พวกเขาก็เป็นพลเมืองของรัฐไทย ดังนั้นก็ควรได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมกันจากไทย นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แล้วถ้ามองย้อนกลับไปในกรณีที่ว่า คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้รับความใส่ใจดูแล เอาจริงๆ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตรในเรื่องนี้ แต่พอตัวเองเข้ามามีอำนาจก็มีพฤติกรรมเหมือนกัน มันสะท้อนการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน
แสดงความคิดเห็น