Posted: 21 Aug 2017 01:15 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ก่อนจะถึงวันชี้ชะตาอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการฟ้องข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองจะอ่านคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพูดบนเวทีเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอตัวเลขต่างๆ พร้อมคำอธิบายต่อคำถามใหญ่ที่ว่า “ทำไมต้องมีโครงการรับจำนำข้าว”

1
เมื่อพระเอก “การส่งออก” เริ่มตัน


ต้องเข้าใจก่อนความความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศวัดผ่าน จีดีพี (GDP) ซึ่งคือการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดปีปฏิทิน 1 ปี

ปี 2537 ประเทศไทยมีจีดีพี 3.7 ล้านล้านบาท ยอดส่งออกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของจีดีพี เรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศขาดดุลการค้า แปลว่านำเข้าเยอะ-ส่งออกน้อย แล้วเราก็มีค่าเงินแข็ง 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ผู้ดูแลระบบการเงินประเทศขณะนั้นคิดว่ามีความเหมาะสมแล้วทั้งๆ ที่อัตราการแลกเปลี่ยนนั้นหากแข็งเกินไปจะส่งออกได้ยาก แล้วจะเชิญชวนให้มีการนำเข้าเยอะ พอผ่านมาอีกไม่กี่ปีเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เราจึงลอยตัวค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน จะนำเข้าอะไรมาก็แพงไปหมด แต่พอจะส่งออกก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ดี การลอยตัวค่าเงินบาทจึงช่วยให้การส่งออกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ขาดดุลการค้าก็กลายเป็นเกินดุลการค้า คือ ค้าขายแล้วกำไร เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

พอผ่านมาถึงปี 2543 สัดส่วนการส่งออกขยับจาก 38 เป็น 68% ของจีดีพี ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีการส่งออกเป็นตัวลากเศรษฐกิจของเรา

เวลาท่านหนึ่งถึงเศรษฐกิจ ให้นึกเหมือนรถคันหนึ่ง มีล้อ 4 ล้อ เศรษฐกิจจะหมุนไปข้างหน้าได้ ล้ออันหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งออก อีกล้อหนึ่งคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้ารัฐใช้จ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้เศรษฐกิจก็จะเคลื่อน ล้อที่สามคือ การลงทุนภาคเอกชนไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ล้อสุดท้าย สำคัญมากในเวลานี้ คือ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ นั่นก็คือกำลังซื้อของเราๆ ท่านๆ ถ้าท่านทั้งหลายมีเงินในกระเป๋าพอสมควร มีความมั่นใจมีความสบายใจในการจับจ่ายใช้สอย คนขายสินค้าก็มีรายได้ มันก็จะมีรายได้เป็นลูกโซ่ไป เวลาเห็นว่าช่วงไหนเศรษฐกิจหรือไม่ดีก็ให้ดูที่สี่ล้อนี้ บางเวลาทำงานล้อเดียว ที่เหลือพร้อมจะตามไป บางเวลาทำงานสองล้อแต่ทำงานอ่อนๆ เศรษฐกิจก็อาจมีปัญหาได้

ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายของกิตติรัตน์

สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ ประเทศเราพึ่งพาการส่งออกตั้งแต่ปี 2540 ที่ลอยตัวค่าเงิน จนถึงปีนี้ 2560 ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราชินกับการที่เศรษฐกิจดีโดยการส่งออกเป็นตัวนำ ที่น่าสนใจคือ ในช่วงทำงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การส่งออกมาขึ้นไปเป็น 70% ของจีดีพีแล้ว แล้วเราจะยังคงเติบโตไปด้วยการส่งออกจริงๆ หรือ ถ้าต่างประเทศชะลอการซื้อเราก็จะมีปัญหา ขณะเดียวกันการพึ่งพาการส่งออกแปลว่า คนในโรงงานผลิตสินค้าคุณภาพสูงแล้วส่งออกไปให้คนประเทศอื่นบริโภค แต่ตัวคนงานเองไม่มีปัญหาซื้อ เพราะค่าแรงที่ตัวเองได้มันน้อยกว่าที่จะไปซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิต แล้วก็มีความภูมิอกภูมิใจกันพอสมควรว่า ค่าแรงไทยถูก เราส่งออกได้ดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งที่มันเป็นปัญหา

หากมองจากตารางจะเห็นได้ว่า จีดีพีของประเทศจาก 3.7 ล้านล้านบาท ในปี 2537 กลายเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2559 และการส่งออกก็เพิ่มจาก 1.4 ล้านล้าน เป็น 9.9 ล้านล้าน

ดังนั้น เวลาพูดถึงตัวเลข บางทีวาทกรรมทางการเมืองที่ตำหนิติติงต่อว่ากัน “เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน” ขอให้นึกถึงว่า ดังนั้นการเคลื่อนโดยโครงการระดับร้อยล้าน มันไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

เมื่อเราอยู่ในภาวะแบบนี้ คำถามที่ต้องถามตัวเองคือ เราจะพึ่งพาการส่งออกไปถึงไหน แล้วการส่งออกมันต้องพึ่งคนซื้อด้วย ขณะเดียวกันเราจะไม่พึ่งตัวเองเลยหรือ จะไม่ทำให้คนของเรามีกำลังซื้อ มีรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่มีฝีมือน้อยจนคนจบปริญญาจะมีรายได้ที่มากขึ้นหน่อยไม่ได้หรือ

2
เหลื่อมล้ำหนัก ต้องทำให้คนจนมีรายได้
กระตุ้นบริโภคในประเทศ

นี่เป็นตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่น่าสนใจขณะเดียวกันผมก็มีเครื่องหมายคำถาม ระบุว่า ปี 2552 คนรวยที่สุด 10% มีรายได้ 26,673 บาทต่อเดือน ผมก็ถามว่ามันจริงไหม มันก็อาจจะจริง แต่ถ้าท่านดูคนที่รวยที่สุด 1% แรกตัวเลขมันจะคนละเรื่อง ทะลุไปเป็น 6-7 หลักเลย ส่วนคนที่จนที่สุด 10% มีรายได้เพียง 1,123 ต่อเดือน จริงๆ มันมี “เส้นความยากจน” ด้วย ใครอยู่ต่ำกว่าเส้นนี้ถือเป็นคนจน เรามีคนต่ำกว่าเส้นความยากจนประมาณ 7 ล้านคน แต่ลองขุดไปดูลึก มันมีตัวเลข “คนเกือบจน” จำนวนมหาศาลเลย เกาะบนเส้นนั้นแต่พอดีไม่ลงมาต่ำกว่า ผมเลยตั้งคำถามว่าการที่ขีดเส้นอยู่ตรงนี้เพราะไม่ต้องการให้คนอีกจำนวนมากถูกนิยามว่า “ยากจน” หรือเปล่าทั้งที่จริงๆ แล้วก็รวยกว่านิดเดียว

ที่อยากให้ดูคือ ปี 2552 เอา 10% รวยที่สุดตั้ง หารด้วย 10% จนที่สุด จะพบว่าต่างกัน 23 เท่า จากนั้นในปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่ามันแย่ลงเป็น 25 เท่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็บริหารไปเรื่อยๆ รวยกระจุกจนกระจายก็ไม่เป็นไร ขอให้จีดีพีโตอย่างเดียว แต่ถ้าเราสนใจว่าการที่คนจำนวนมากมีรายได้น้อย หน้าที่รัฐบาลที่ดีต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่สนใจคือ ตัวเลข 25 เท่านั้นปรากฏหลังจากที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นข้อสงสัยเหมือนกันว่าแม่นยำขนาดไหน เพราะมั่นใจเหลือเกินว่าตอนทำหน้าที่เป็นรัฐบาลนั้นกำลังซื้อของคนข้างดีขึ้น แต่ปรากฏว่าข้อมูลตัวเลขสำนักงานสถิติบอกว่าคนจน 10% มีรายได้เฉลี่ยแย่ลง แต่คนรวย 10% มีรายได้เฉลี่ยดีขึ้นเยอะ คำนวณออกมาเป็น 39 เท่าในปี 2556 ไม่ได้จะไปว่าสำนักงานสถิติแต่ก็มีสิทธิจะสงสัย พอปี 2558 ในรัฐบาลปัจจบัน ปรากฏว่าคนจนที่สุด 10% มีรายได้มากขึ้นก้าวกระโดด แต่คนรวยสุดไม่ได้มีรายได้เพิ่มมาก เหลือช่องว่าง 22 เท่า


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ อย่าให้เศรษฐกิจโตในภาพรวมอย่างเดียว โดยที่คนข้างล่างไม่ได้โตด้วย มีรายได้น้อย ไม่มีกำลังซื้อ แล้วถ้าไม่มีรายได้จะเป็นผู้บริโภคต่อเนื่องยังไง มันคือหลักการบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้น สมมติเจ้าสัวคนหนึ่งจู่ๆ มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มอีก 1 ล้านบาท โอกาสที่เจ้าสัวจะบริโภคอะไรเพิ่มขึ้นนั้นแทบไม่มีเพราะเขาบริโภคไปเต็มที่แล้ว แต่ถ้าคนจำนวนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเดือนละ 1 พันบาท โอกาสที่คนเหล่านั้นจะเอาเงินไปบริโภคจะมีมาก การออมจะเกิดขึ้นน้อย แต่อย่าไปคิดว่าเขาจะฟุ้งเฟ้อ เพราะออมไปออมมาบวกกันจะเท่ากับการที่เจ้าสัวไม่บริโภคแล้วเอาเงิน 1 ล้านบาทนั้นใส่ธนาคารไว้ การออมจะเกิดขึ้นทีละขั้น ก่อนจะเป็นการออมรวมจะกลายเป็นการบริโภคอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ มันจะทำให้เศรษฐกิจตัวได้เพราะล้อหนึ่งในสี่ล้อมันหมุน

พอคนส่งออกได้ดี ผู้ส่งออกจะได้เงินตราต่างประเทศ เขาจะเอามาแลกเงินไทยเข้าบัญชีตัวเอง เงินตราต่างประเทศที่พวกเขาได้ ไม่ว่าดอลลาร์ ปอนด์ หรือเยน จะไปอยู่กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า เงินสำรองระหว่างประเทศ จากภาวะที่เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย จนเราต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟในปี 2540 มันก็เริ่มสะสมมากขึ้นๆ จนกลายเป็น 170 พันล้านเศษ เงินที่ฝากไว้กับแบงก์ชาติวางไว้แล้วเป็นที่น่าเกรงขาม อาจจะน่าเกรงขามกว่าเรือดำน้ำอีก เพราะคนก็จะรู้สึกว่าน่าค้าขายด้วยเพราะเมื่อไรก็ตามที่ประเทศไทยมาซื้อสินค้าเขา จะมีเงินตราต่างประเทศของตัวที่นำมาจ่ายสินค้าได้ ที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจส่งออกที่มีรายได้ เขาไม่ได้เก็บเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่เก็บเป็นเงินบาทในธนาคาร ปรากฏเงินบาทมันล้น เพราะมีมากและเราไม่ได้เอามาทำประโยชน์ ธปท.เกรงว่าเงินฝากที่ล้นในระบบธนาคารจะเป็นปัญหาเพราะธนาคารอาจจะไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยเราเลย ถ้าใครฝากเงินอาจต้องเสียค่าฝากด้วย แบงก์ชาติจึงดูดเงินออกโดยออกเป็นพันธบัตร จ่ายอัตราดอกเบี้ยพอสมควรให้กับแบงก์เพื่อแบงก์จะได้มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรที่ ธปท.ออกนั้นมีจำนวนสูง 3 ล้านล้านบาทในช่วงที่ทำงานเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่ เงินจำนวนนี้ดูดออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นการดูดออกมาเพื่อไม่ให้อยู่ในระบบ แบงก์ชาติดูดเอามากอดไว้แล้วจ่ายดอกเบี้ย ทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำยังไงไม่ให้แบงก์ชาติต้องดูดเงินมากอดแล้วไม่เป็นภาระกับแบงก์ชาติ ต้องเอาเงินจำนวนนี้ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ จะนำไปทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนในระบบคมนาคมขนส่งอะไรก็สามารถทำได้ แต่เวลา 10 กว่าปีที่เราเป็นโรคกลัวต้มยำกุ้งทำให้ไม่กล้าทำอะไร ทำให้เกิดภาวะแบบนี้

อาจอุปมาอุปมัยได้ว่า ก่อนต้มยำกุ้งเราเหมือนเป็นคนผอม เป็นโรคขาดอาหาร เงินสำรองระหว่างประเทศน้อย สภาพคล่องในระบบการเงินที่เป็นเงินบาทจำกัดฝืดเคือง แต่พอผ่านการลอยตัวค่าเงินบาท บริหารจัดการกันไปแล้ว ส่งออกเติบโตดี ได้เปรียบดุลการค้า เรากลายเป็นคนอ้วนอุ้ยอ้ายที่มีภาระที่จะต้องแบกสารอาหารมากมายแล้วไม่ออกกำลังกาย ปัญหาสุขภาพก็เกิดขึ้นได้ ปัญหามันไม่เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาจึงไม่เหมือนกัน

3
การใช้จ่ายภาครัฐ ยุค คสช.(ต่างหาก) ขาดดุล-กู้ครองแชมป์


หลังจากพูดไปแล้วสองล้อ คือ การส่งออก และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ล้ออีกล้อหนึ่งที่สำคัญคือ การใช้จ่ายภาครัฐ รัฐบาลมีงบประมาณรวมปีละ 2 ล้านล้านเศษ ปีนี้จะแตะ 3 ล้านล้านแล้ว แต่ที่เอามาให้ดูคือ ขาดดุลงบประมาณมาก แปลว่าภายใต้งบประมาณ 2 ล้านล้านที่จะใช้ เราเก็บภาษีและมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจมาบวกกันแล้วได้น้อยกว่า เราจึงต้องกู้มาชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมีกรอบของมัน แต่ถ้าขาดดุลมากๆ ก็จะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เยอะเกินไป


ก่อนหน้าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมารับหน้าที่ เราขาดดุลอยู่ประมาณปีละ 3.5 แสนล้าน แล้วขึ้นไปเป็น 4 แสนล้านในช่วงท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปีแรกที่มารับหน้าที่งบประมาณประจำปีอยู่ที่ 2.38 ล้านล้าน โดยที่เราเก็บภาษีได้น้อยกว่านั้น เราก็กู้ 4 แสนล้านเท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ก็เห็นด้วยว่าการกู้นั้นเยอะเกินไป ปีถัดมาจึงลดเหลือ 3 แสนล้าน ปีสุดท้ายปีงบประมาณ 2557 การกู้ลดลงเหลือ 2.5 แสนล้าน โดยมีเป้าหมายในเวลานั้นว่าเราจะมีงบประมาณสมดุลในปี 2560 คือ ไม่ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล นี่เป็นความตกลงระหว่างสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ว่าจะทำให้สมดุลได้ในปี 2560

ปี 2557 รัฐบาลปัจจุบัน การขาดดุลอยู่ที่ 2.5 แสนล้าน ต่อมาปี 2559 ขาดุลงบประมาณขยับเป็น 3.9 แสนล้าน ปี 2560 ก็ตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 3.9 แสนล้าน แต่มีการเสนองบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีอีก 1.9 แสนล้าน โดยระบุว่าจะหารายได้มา 3 หมื่นล้าน จึงเหลือขาดดุล 1.6 แสนล้าน รวมแล้วปีงบประมาณ 2560 จะเป็นการขาดดุลงบประมาณรวมเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 5.5 แสนล้าน

สิ่งที่ให้ดูนี้เมื่อเทียบกับ จีดีพี 14 ล้านล้าน ถามว่า 1% ของ 14 ล้านล้านคือเท่าไร คำตอบคือ 1.4 แสนล้าน ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะโตได้สัก 3-4% ไม่ต้องมาจากไหนหรอก มาจากตรงนี้ก็ได้ คือ การที่เราจ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้ มันก็สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่ามันเป็นอะไรที่เราสบายใจไหม รัฐบาลก่อนไม่อยากให้เราโตด้วยการส่งออก อยากให้โตด้วยกำลังซื้อภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่ตอนนี้เป็นภาวะแบบนี้

4
หนี้สาธารณะไม่หลุดกรอบ


ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพดานของกระทรวงการคลังแต่เดิมมานั้นกำหนดไว้ที่ต้องไม่เกิน 60% ของงบประมาณ ภาระหนี้ต่องบประมาณหรือการจ่ายดอกเบี้ยเงินต้น เมื่อเทียบกับงบทั้งปีไม่ควรเกิน 15% ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนตอนนี้ก็อยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เลวร้าย

ที่น่าสนใจคือ หนี้สาธารณะตอนต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมาไม่มีใครชำละเงินต้น เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบคือสถาบันการเงิน แต่ท่านไม่ได้รับดอกเบี้ย ให้หลวงเป็นคนรับดอกเบี้ย ฉะนั้นรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยปีละ 7 หมื่นล้านมาตลอด 10 กว่าปีรวมดอกเบี้ยเป็น 8 แสนล้านแล้ว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาก็มีระบบการชำระเงินต้น หนี้ตรงนั้นยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ แต่เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแล้ว เพราะมีระบบมีกลไกในการชำระเงิน เมื่อดำเนินการตรงนั้น หนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่องบประมาณจึงลดลงไปอีก เพราะเงินต้น 1.14 ล้านล้านโดยประมาณไม่เป็นภาระของงบประมาณแล้ว แล้วกลไกระบบชำระมันดี แม้จะหมดหน้าที่การเป็นรัฐบาลแล้วก็ยังปลื้มอกปลื้มใจ เพราะถูกชำระเงินต้นทุกเดือนๆ เดี๋ยวนี้เงินต้นลดลงไปแล้วกว่า 2 แสนล้าน

เวลาพูดถึงหนี้ 4 ล้านล้าน 6 ล้านล้าน เขาจ่ายเงินต้นกันปีละเท่าไร จ่ายแค่ปีละ 4-5 หมื่นล้านเอง จ่ายพอเป็นน้ำจิ้ม จ่ายพอให้เกิดความสบายใจ ส่วนที่จ่ายมากกว่าคือ ดอกเบี้ย ไม่จ่ายไม่ได้เพราะเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร การจ่ายแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นหนี้ชั่วชีวิตอะไร เพราะหนี้รวมเมื่อเทียบกับจีดีพีมันต่ำ เราไม่มีหน้าที่ต้องไปคืนจนกระทั่งไม่มีหนี้เหลือเลย แต่เรามีหน้าที่คุมมันให้มันต่ำจนเป็นที่มั่นใจ เป็นที่ไว้วางใจของคน เวลามีวาทกรรมทางการเมืองว่า กู้โครงการนี้แล้วต้องใช้นี้กัน 50 ปี ท่านลองคำนวณ ถ้ายอดหนี้ 5 ล้านล้าน จ่ายเงินต้นปีละ 5 หมื่นล้าน ก็แปลว่าจ่ายปีละ 1% แบบนี้จะจ่ายหมดก็ต้องจ่ายร้อยปี แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ควบคุมไม่ให้ยอดหนี้มันเพิ่มขึ้นและมีความมั่นใจอย่างเพียงพอ เพราะมันมีวาทกรรมทางการเมืองที่ทำให้ไม่สบายใจ กู้มา 2 ล้านล้านปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งต้องใช้หนี้กัน 50 ปี จริงๆ ไม่ต้องใช้หมด และโครงการต่างๆ ในอดีตของคนที่ปั้นวาทกรรมเขาก็ไม่ได้ใช้ เงินต้นก็ค้างอยู่อย่างนั้น แต่ควบคุมยอดรวมทั้งหมดให้อยู่ในกรอบก็พอ

5
ยืนยันประเทศไทยพร้อม คำนวณค่าแรงให้ชาวนาด้วย


แล้วมันเกี่ยวกับจำนำข้าวยังไง เกี่ยวตรงนี้ว่า เราเป็นประเทศซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศดูแลคนในภาคส่วนต่างๆ ได้ การที่เราเลือกใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งกลุ่มคนเมืองและเกษตรกร เราสามารถทำได้ ความจริงก็สามารถพูดได้ว่า ความพร้อมนั้นเราซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ ซื้อหลายๆ ลำก็ซื้อได้ แต่มันอยู่ที่ว่ามีเหตุผลแค่ไหนที่จะซื้อในมุมมองของฝ่ายบริหาร ถ้าท่านเห็นว่าควรซื้อท่านก็รับผิดชอบการตัดสินใจไป รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีความรู้สึกว่าเราไม่ควรซื้อ เราซื้อเรือตรวจการแทนลำที่เก่า แต่ขณะเดียวกันเราเห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นเรื่องสำคัญ

การดูแลชาวนาสำคัญอย่างไร ชาวนาและครอบครัวมีจำนวนรวมกันมากกว่า 15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนคนทั้งประเทศ ถ้าเราดูแลเขาให้มีรายได้ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ต้นทุนการผลิต สมควรแก่ค่าแรงงานของเขาก็เป็นเรื่องที่ดี การดูแลด้วยระบบจำนำทำมา 30 กว่าปีแล้ว จะจำกัดจำนวน ตั้งเป้าราคาหรืออะไรก็เป็นระบบจำนำทั้งนั้น มีรัฐบาลก่อนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ใช้โครงการรับจำนำข้าวไป 1 ปีแล้วเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคามีลักษณะตั้งเป้าหมายราคาไว้ บอกว่าถ้าคุณไปขายได้ต่ำกว่าราคานี้จะชดเชยให้ กลไกที่น่าสนใจก็คือ ถ้าชาวนาขึ้นทะเบียนเกษตรกรสำเร็จก็สามารถรับเงินชดเชยได้ จะปลูกจริงหรือไม่ จะมีข้าวหรือไม่มีข้าวก็รับเงินชดเชยได้ ที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานของสำนักนายกฯ พบว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมมีพื้นที่ที่เป็นนาน้อยกว่ายอดที่มาขึ้นทะเบียนรวมเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถมีกลไกไหนไปส่องยันว่ามันเกิดจากอะไรเพราะในโครงการไม่มีการตรวจสอบไม่มีการนำข้าวมาแสดง ถามว่าทำไม่มีการจับทุจริต จะไปจับได้ยังไงเพราะไม่มีอะไรยันกับอะไรเลย มียันได้อย่างเดียวคือภาพถ่ายดาวเทียมมันแตกต่างกับพื้นที่ปลูกจริงอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าตรงนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ โครงการรับจำนำต้องเอาข้าวมาแสดง ผ่านการตรวจแล้วจึงจะได้ราคานั้นไป แล้วไม่ใช่รัฐบาลแรกที่จะกำหนดราคาสูงกว่าตลาด คำว่าราคาสูงเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตของชาวนา แล้วชาวนาไม่ต้องมีค่าแรงหรือ ถ้าคิดเป็นค่าแรงโดยเฉลี่ยต่อวันเขายังได้รับค่าแรงน้อยกว่าในสังคมด้วยซ้ำไป


ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น ส่วนรัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีจำนำยุ้งฉาง ยุ้งฉางอยู่ไหนก็ไม่ทราบ ชาวนาจำนวนมากไม่มียุ้งฉางแล้ว การจำนำตรงนี้ย่อมทำไม่ได้ แล้วก็ใช้วิธีชดเชยช่วยต้นทุนการผลิต สิ่งที่ต้องการให้ชาวนาได้รับคือรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เอาเงินให้แล้วรายได้ไม่ดีขึ้น เพราะให้ไปแล้วปรากฏว่าราคาข้าวเปลือกอ่อนตัวลง แต่โครงการรับจำนำข้าวราคามันไม่อ่อนตัวเพราะราคาที่รับจำนำมันเป็นตัวค้ำยัน แล้วเราก็ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิชาวนาเลย แต่ข้าวก็ไม่เข้ามาที่เราทั้งหมด มาที่เราแค่เกินครึ่งนิดหน่อย ที่เหลือพ่อค้าต้องแย่งซื้อแข่งกับราคาจำนำ ทำให้ชาวนาแม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ราคาดีขึ้นด้วย ตรงนี้รัฐบาลสบายเพราะไม่ต้องเสียทรัพยากรเพิ่ม มันจึงทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น

สภาพัฒน์เคยทำหนังสือยืนยันมายังคณะรัฐมนตรีว่า โครงการนี้สามารถทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น เป็นจำนวนเท่าไรๆ บอกด้วย ขณะที่โครงการอื่นๆ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีรายได้ดีขึ้น เพราะรายได้จากราคาขายข้าวไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นมันอาจจะอ่อนลงก็ได้

มันเป็นโครงการที่ผ่านการหาเสียง ผ่านความเห็นพรรครร่วมรัฐบาล ผ่านรัฐสภา มีการดำเนินการโดยที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันการพิจารณา มันเป็นทางเลือกอันหนึ่งและเป็นทางเลือกซึ่งไดด้ผล

ส่วนวิธีการดำเนินการ ส่วนที่บอกว่ามีความเสียหาย คือ รับจำนำราคานี้ แล้วสีข้าวแล้วไปขายได้ราคาต่ำกว่า ตรงนี้ท่านเรียก “ขาดทุน” ในทางบัญชีอาจเรียกว่าขาดทุน แต่ในทางนโยบายสาธารณะของรัฐเราเรียกว่า “รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย” ไม่ใช่เลี่ยงบาลีแต่มันศัพท์นี้อยู่ในมาตรฐานการบัญชีภาครัฐชัดเจน รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเป็นการคำนวณที่แสดงให้เห็นว่าต้องใช้งบชดเชยเท่าไร แล้วสิ่งที่ชาวนาได้รับรายได้ดีขึ้น มันกลายเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ สามารถคำนวณได้และเมื่อดูแล้วมันสูงกว่างบประมาณที่ต้องใช้ชดเชย

6.
ตอบคำถาม: จำนำข้าวเป็นนโยบายระยะยาวได้หรือไม่ ?


“ถามว่าเรื่องความพร้อมในการแบกรับการขาดทุนที่ผมยืนยันนั้นจะพร้อมได้นานแค่ไหน ปีที่ผมทำงานงบประมาณ 2.38 ล้านล้าน และขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เติบโตตามจีดีพีที่เติบโตขึ้น การดูแลคนของเราในจัดสรรงบประมาณไมว่าจะเป็นความมั่นคง การศึกษา การสาธารณสุข และสิ่งอื่นๆ ประดามี รัฐวิสาหกิจที่ต้องการอุดหนุน มันเป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณ”

“เวลาทำงานกับกลุ่มคนใหญ่ที่สุดของประเทศ ผมคิดว่าคงตอบยากมากถ้าบอกว่าดูแลชาวนา 23% ใช้งบ 30% คนก็คงว่าว่าทำไมดูแลเขาเยอะขนาดนั้น อยากให้น้อยกว่านั้น แค่ไหน 10% ดีไหม 2.38 แสนล้าน มันก็สมเหตุสมผลดีนะ เรายังไม่ได้ใช้ถึงขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันถ้าบอกว่าตรงนี้ต้องน้อยกว่า แล้วใครต้องเยอะกว่า ประเทศมีความจำเป็นในเวลานั้น ความเหลื่อมล้ำรุนแรง ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเกือบจน อยู่ไม่ไหว เราเห็นว่าเป็นปัญหาจริงจัง”

“ท่านถามว่าทำได้ยาวแค่ไหน ทำยาวเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่อยากทำ เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่าท่านจะมีความสุขว่า ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำตอบ เรื่องการทำเกษตรโซนนิ่ง การขยับพื้นที่เพาะปลูกที่ดีลต่ำไปปลูกพืชชนิดอื่นตามความเหมาะสม โดยไม่ได้ประกาศว่าห้ามปลูกอันนี้แล้วไปปลูกอันนั้น การทำงานแบบนี้ต้องใช้เวลา และมีกระบวนการที่ต้องทำงานด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มมูลค่าของข้าวชนิดต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ”

7.
ตอบคำถาม: หลัง 25 ส.ค.นโยบายจำนำข้าว
จะยังเกิดขึ้นได้อีกในการเมืองไทยไหม


ผมไม่อาจคาดเดาคำพิพากษาใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่เรียนในเชิงหลักการว่าคำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ ในอดีต มีกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผมถือว่าก็เป็นบรรทัดฐานบางประการ ตอนนั้นเราเคยเสนอร่างพ.ร.บ.ที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปีงบประมาณ เพื่อลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง ทางหลวง ระบบราง ทางน้ำ ด่านศุลกากร เมื่อมีคำวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้ทำไม่ได้ มันก็เป็นบรรทัดฐานว่าทำไม่ได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงในอดีตมีการออกกฎหมายกู้แบบนี้ คือ กู้แล้วดำเนินโดยตรง โดยไม่ต้องเป็นเงินคงคลังและไม่ผ่านงบประมาณนั้นก็ทำกันได้ แม้ว่าขณะพิจารณาคดี ข้อเสนอของสำนักการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะเห็นชอบโดยสภาแล้ว แต่เมื่อศาลวินิจฉัยแบบนั้นก็ทำไม่ได้ อนาคตการกู้เงินก็เปลี่ยนไป



============
หมายเหตุ เก็บความจาก เสวนา "ไม่จำนำข้าวแล้วเอาอะไร? แนวทางแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 จัดโดยรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.