Posted: 03 Aug 2017 02:39 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง อีกครั้ง ตามร่างที่ กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเสนอ เพิ่มโทษไพรมารีโหวต แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค พร้อมปลดล็อคให้หัวหน้าพรรค ลงสมัคร ส.ส. ได้ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต

3 ส.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 205 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนเสียงไม่เห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก สนช. 249 คน (หรือไม่เกิน 167 เสียง) จึงถือว่า ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (กรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย) เสนอ หลังจากนี้จะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตาม มาตรา 81 รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป

สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นั้น ได้ผ่านวาระ 3 จาก สนช. ไปแล้ว แต่เนื่องจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ส่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว มายัง สนช. จึงทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย( สนช. กกต. กรธ.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยสาระสำคัญของข้อโต้แย้ง มี 4 ประเด็นหลักคือ 1.การเลือกข้างต้นภายในพรรคเพื่อคัดสรรส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยระบบไพรมารีโหวต ยังไม่มีมาตรการจัดการหากเกิดการทุจริต 2. การกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับ 1 ในระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสิทธิการลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของคนที่เป็นหัวหน้าพรรค 3.การกำหนดให้จังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม จะส่งผลให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่ว่าเพราะเหตุใด ไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ย่อมเป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองไม่ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกระทบต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายต่อการเลือกตั้ง และ4. การกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่กฎหมายลูกนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งหากพรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าได้เปรียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

ขณะเดียวกัน เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานด้วยว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ชี้แจงว่า ในประเด็นที่ 1 กระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 50 และมาตรา 51 ยังไม่มีมาตรการจัดการทุจริต ในชั้นการประชุมสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อลงคะแนนเลือกผู้รับสมัครรับเลือกตั้งทำให้กระบวนการดังกล่าวอาจมีกรณีที่เป็นไปโดยไม่สุจริต หรือไม่เที่ยงธรรมได้ โดยกมธ.ได้แก้ไขกำหนดบทลงโทษ และเพิ่มมาตรา 51/1 51/2 51/3 มาตรา 112/1 112/2 112/3 และมาตรา 51/4 แก้ไขมาตรา 52

สุรชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 มาตรา 51(4) ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในลำดับที่หนึ่ง ในบัญชีรายชื่อเท่านั้น เป็นการเลือกปฏิบัติต่อหัวหน้าพรรคโดยไม่เป็นธรรมนั้น กมธ.ได้แก้ไขให้หัวหน้าพรรคสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อโดยให้อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งในประเด็นที่ 3 ว่าด้วยการกำหนดให้หาจำนวนสมาชิกพรรคให้ครบทุกเขตเลือกตั้งจึงสามารถส่งตัวผู้สมัครได้นั้น เป็นการตัดสิทธิพรรคการเมือง และประเด็นที่ 4 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก อีกทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติ นั้น กมธ.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งและให้คงไว้ตามร่างเดิมที่สนช.ได้ให้ความเห็นชอบในวาระสาม

โดยสรุปในชั้นกมธ.มีการแก้ไขใหม่มาตรา 51 (4) มาตรา 52 และเพิ่มบทบัญญัติใหม่มาตรา 51/1 51/2 51/3 51/4 อีกทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษ 112/1 112/2 112/3 ซึ่งเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือขั้นตอนไพรมารีโหวต โดยมาตรการที่เพิ่มขึ้นใหม่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใด อัตราโทษที่กำหนดไว้หนักเบาตามการกระทำความผิด โดยเริ่มที่จำคุก 6 เดือนถึง 1 ปี หรือ 1ปี ถึง 10 ปีเท่านั้น” สุรชัย กล่าว

สำหรับเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติแก้ไขมาตราต่างๆ และเพิ่มบทโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน มีดังนี้ มาตรา 51/1 ให้เป็นหน้าที่หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินการสรรหาเป็นไปตามมาตรา 50 และมาตรา 51หรือการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. และหากหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี ทั้งนี้ ให้ถือว่าสมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนเป็นผู้เสียหาย

มาตรา 51/2 ห้ามจูงใจให้สมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนด้วยวิธีการทุจริต หากกระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสืบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งของผู้นั้นตามมาตรา112/2

นอกจากนี้ มาตรา 51/3 ยังห้ามพรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ ลงสมัครรับเลือก หรือเพื่อให้เสนอชื่อสมาชิกผู้ใดเข้ารับการเลือกในการสรรหาตามมาตรา 50 หรือมาตรา 51 และกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน มาตรา 112/3 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่แต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมือง บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

มาตรา 51/4 กำหนดห้ามตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ยินยอมให้บุคคลใดที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรืออกเสียงคะแนน และกำหนดโทษให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 51/1 หรือมาตรา 51/4 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี อีกทั้งให้ถือว่าสมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนเป็นผู้เสียหาย

สำหรับมาตรา 52 ให้การดำเนินการสรรหาผู้สมัครที่พรรคมิได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่กระทบต่อการรับสมัครเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งรู้ถึงความไม่ถูกต้องนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนต่อไป นอกจากนี้ยังมีแก้ไขมาตรา 51 (4) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.