Posted: 19 Aug 2017 11:17 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กรณีการลุกฮือของกลุ่มนีโอนาซีในสหรัฐฯ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องบทบาทของไอทีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในชาร์ล็อตต์สวิลล์ บรรษัทไอที ‘โกแดดดี’ และ ‘กูเกิล’ ต่างระงับการจดทะเบียนเว็บไซต์ของกลุ่มนีโอนาซีเดลีสตอร์มเมอร์ แต่ทว่าการจัดการด้วยการปิดกั้นเช่นนี้จะดีจริงหรือ องค์กรด้านสิทธิไอทีจากสหรัฐฯ ชวนสำรวจว่าควรจะบริหารจัดการความเกลียดชังบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตเช่นนี้อย่างไรดี

20 ส.ค. 2560 ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายบริษัทไอทีแสดงท่าทีต่อต้านกลุ่มขวาจัดหรือกลุ่มนีโอนาซีในสหรัฐฯ หลังจากพวกเขาออกมาประท้วงต่อต้านรูปปั้นสมาพันธรัฐและมีบางส่วนก่อเหตุรุนแรงทำให้เกิดการปะทะจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากกรณีที่โกแดดดีและกูเกิลก็ระงับการจดทะเบียนของเว็บนีโอนาซีเดลีสตอร์มเมอร์แล้ว คลาวด์แฟลร์ที่ให้บริการคุ้มครองเว็บนี้จากการถูกโจมตี DDoS ก็ยกเลิกให้บริการแก่เว็บนี้ด้วย

ส่วนผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ออกมาประกาศกว่า "ไม่มีพื้นที่ให้กับความเกลียดชังในชุมชนของพวกเรา" แอพพลิเคชั่นสแนปแช็ตก็ประกาศว่าพวกเขาจะไม่ทนต่อการมีอยู่ของวาจาที่สร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีช (hate speech) ทางยูทูบบอกว่ากำลังพยายามหาเครื่องมือจัดการในเรื่องนี้ ตัวแทนบริษัทไอทีหลายบริษัทก็ลาออกจากสภาธุรกิจภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อประท้วงที่ทรัมป์พูดไว้ว่ากลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวสุดโต่งนั้น "เป็นคนดีมากๆ"

เว็บไซต์เดลีสตอร์มเมอร์ถูกจัดว่าเป็นเว็บไซต์สร้างความเกลียดชังเผยแพร่บทความต่อว่าและเหยียดหยามผู้หญิงที่ถูกพวกขวาจัดขับรถพุ่งชนเสียชีวิตในเหตุการณ์ชาร์ล็อตต์สวิลล์ รวมถึงมักจะมีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งยั่วยุในแบบ "โทรล (Troll)" โดยที่เว็บของพวกเขาเป็นที่นิยมในหมู่พวกเหยียดเชื้อชาติและพวกฟาสซิสต์

อย่างไรก็ตามกรณีการปิดกั้นที่เกิดขึ้นกับเดลีสตอร์มเมอร์นั้นถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดีจริงหรือ องค์กรด้านสิทธิไอทีจากสหรัฐฯ อิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์เฟาเดชันหรือ อีเอฟเอฟ (EFF) ระบุว่าถึงแม้พวกเขาจะเป็นกลุ่มรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สถานการณ์เช่นนี้คนที่สติดีควรจะต้องยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงที่กำลังแผ่ขยายออกไปในประเทศ

ถึงกระนั้นก็ตาม EFF แสดงความกังวลในเรื่องวิธีการต่อต้านความเกลียดชังด้วยการปิดกั้นกลุ่มนีโอนาซีนั้น ในเวลาต่อมาอาจจะถูกนำมาอ้างใช้กับกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย แม้กระทั่งกับกลุ่มที่เรียกร้องเชิงสิทธิพลเมืองอย่างกลุ่ม Black Lives Matter ที่มีบางคนอ้างว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มสร้างความเกลียดชัง "การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่สิ่งที่ทำไปเพราะพวกเราเห็นด้วยกับทุกๆ ความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง แต่เป็นเพราะ แต่พวกเราคุ้มครองสิทธินี้เพราะเราเชื่อว่าไม่ควรจะมีใครไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือผู้ประกอบการเอกชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะได้พูด ใครควรจะไม่ได้พูด"

EFF ระบุว่าพวกเขาเคารพสิทธิในการที่บริษัทไอทีเหล่านี้มีสิทธิจะเลือกว่าข้อความแบบใดควรจะเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้ตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามวิธีการที่บริษัทไอทีเหล่านี้ใช้ก็อันตราย การใช้สิทธิของบริษัทเอกชนในการสกัดกั้นข้อมูลก็ต้องถูกตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะการตัดสินใจในฐานะตัวกลางข้อมูลไอทีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเรื่องการแสดงความคิดเห็นทั่วโลก

EFF ระบุว่าผู้ให้บริการจดทะเบียนเว็บเป็นหนึ่งในตัวกลางอินเทอร์เน็ตที่กั้นอยู่ระหว่างผู้เขียนหรือผู้สื่อสารกับผู้ใช้งาน ตัวกลางอื่นๆ ได้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ผู้ให้บริการการรับรองเข้ารหัสข้อมูลหรือ SSL certificate เป็นต้น EFF ระบุว่าโดเมนเนมหรือชื่อเว็บไซต์เป็นระบบที่เป็นเสมือน "การตกลงเห็นพ้อง" ที่ค่อนข้างเปราะบาง การบิดเบือนหรือปิดกั้นโดเมนเนมจึงเป็นการทำลายความเห็นพ้องนั้นลง เสี่ยงต่อการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น

วิธีการกำกับดูแลข้อความเชิงสร้างความเกลียดชังด้วยการควบคุมหรือปิดกั้นโดเมนเนม (รวมถึงการระงับการจดทะเบียน) จึงอาจจะเทียบได้กับการสั่งเก็บวัตถุดิบอย่าง "น้ำหมึกหรือกระดาษ" ในการใช้เขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้มอำนาจอย่างรัฐบาลหรือผู้ไม่หวังดีอาจจะอ้างใช้เป็นอำนาจปิดกั้นได้

เรื่องการใช้ตัวกลางในการปิดกั้นเช่นนี้ยังเป็นจุดอ่อนที่นักรณรงค์เรื่องความเป็นกลางในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (net neutrality) มองเป็นเรื่องกังวล EFF ถึงมองว่าควรยกเลิกการพยายามใช้โดเมนเนมหรือสื่อกลางเป็นจุดควบคุมหรือปิดกั้นในเรื่องนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ เองก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับตัวผู้เขียนหรือผู้เผยแพร่ได้โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้เป็นตัวกลาง
แล้วตัวกลางควรจะมีกระบวนการอย่างไรล่ะ?

EFF ยก "หลักการมะนิลาว่าด้วยความรับผิดของสื่อตัวกลาง" (Manila Principles on Intermediary Liability) ให้เป็นกระบวนการที่พวกเขาแนะนำในการพิจารณาเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต

เนื้อหาของหลักการนี้ระบุว่า ก่อนจะมีการจำกัดเนื้อหาตามที่มีการร้องเรียน ตัวกลางและผู้ให้บริการเนื้อหาควรจะได้รับแจ้งสิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (right to be heard) เสียก่อน ตัวกลางควรให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาได้รับทราบถึงกลไกในการพิจารณาจำกัดเนื้อหาที่ถือว่าละเมิดตามนโยบายของตัวกลาง และตัวกลางควรเผยแพร่นโยบายการจำกัดเนื้อหาของตนเองในภาษาที่เข้าใจได้และเข้าถึงได้ง่ายเสมอรวมถึงมีการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ผู้ใช้ทราบเป็นประจำ EFF เชื่อว่าหลักการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการจำกัดเนื้อหาในระดับเกินเลยหรือตามอำเภอใจได้
ชาวไอทีอดกลั้นต่อความต่าง : จะเคารพสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กับต่อสู้กับความเกลียดชังอย่างไร

องค์กรด้านสิทธิดิจิทัลอีกแห่งหนึ่งคือแอคเซสนาว (Access Now) กล่าวว่าการใช้โวหารในเชิงเหยียดเชื้อชาติโดยรัฐบาลยุคปัจจุบันของสหรัฐฯ มีส่วนในการทำให้พวกกลุ่มสร้างความเกลียดชังรู้สึกตัวเองมีพลังอำนาจ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนชายขอบ รวมถึงประณามการที่รัฐบาลทรัมป์ปล่อยให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นจากตำรวจรวมถึงความรุนแรงจากคนที่ไม่ใช่รัฐโดยไม่มีมาตรการโต้ตอบใดๆ

อย่างไรก็ตามแอคเซสนาวมองว่าบริษัทไอทีโต้ตอบด้วยการจำกัดกลุ่มสร้างความเกลียดชังจากพื้นที่อินเทอร์เน็ตมาจากการทำตามความคิดเห็นของสาธารณะและการตีความขอบข่ายการให้บริการของตัวเองแบบเฉพาะกิจ แต่ไม่ได้ตัดสินใจมาจากนโยบายที่วางไว้รวมถึงไม่มีการปรึกษาหารือกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่นในกรณีของคลาวด์แฟลร์ ที่กรรมการบริหารแมธธิว ปรินซ์ บอกว่าพวกเดลีสตอร์มเมอร์เป็น "พวกต่ำทราม" ซึ่งแอดเซสนาวมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ "ทำตามอำเภอใจตัวเอง" มากกว่าจะอยู่บนหลักการ

เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นจากสหประชาชาติก็กล่าวแบบเดียวกับแอคเซสนาวในเรื่องนี้ว่า "เพราะแค่พวกเขาเป็นพวกต่ำทราม" เป็นเหตุผลที่แย่ที่จะเอามาอ้างใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่มีเหตุผลอย่างอื่นที่น่าจะอ้างได้เช่นเรื่อง "การยุยงให้เกิดความรุนแรง" การอ้างเหตุผลแย่ๆ ข้างต้นจะทำให้ไม่เป็นไปตามกระบวนการและมาตรฐาน

แอคเซสนาวเห็นด้วยว่าควรมีการพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไปในนโยบายด้วยเพื่อทำให้มีการตัดสินใจทีมีประสิทธิภาพและมีความคงเส้นคงวา โดยมีการยกตัวอย่างองค์กรริเริ่มโกลบอลเน็ตเวิร์กที่มีกระบวนการปรึกษาหารือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเสมอในแบบที่อยู่ในโครงสร้างการทำงานของพวกเขา

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรับมือกับกลุ่มสร้างความเกลียดชังไปพร้อมๆ กับคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนได้ แอคเซสนาวเสนอว่าควรมีการประเมินผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนเสมอก่อนการตัดสินใจใดๆ และปรึกษาหารือกับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงหรือคนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างๆ ที่กระทบจากนโยบายของบริษัทไอที รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของเฮทสปีชในโลกออนไลน์และมีตัวกลางที่น่าเชื่อถือ

แอคเซสนาวยังเสนอแบบเดียวกับ EFF ในแง่การปรับปรุงส่วนข้อความเกี่ยวกับนโยบายให้เข้าใจง่ายขึ้นกับผู้ใช้และต้องเคารพสิทธิ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในกระบวนการนี้ด้วย

ในแง่ของการเยียวยา การแก้ไขผลกระทบ และการทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุแบบเดียวกันเกิดซ้ำนั้น แอคเซสนาวเสนอให้ต้องมีการรับรู้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับเหยื่อจริงโดยไม่ต้องรอประเมินใดๆ มีการพยายามเยียวยาอย่างเหมาะสม และพิจารณาให้มีการเข้าร่วมกลุ่มผลประโยชน์อย่างโกลบอลเน็ตเวิร์กเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

ในรายงานของ Techcrunch เปิดเผยให้เห็นว่าถึงแม้บริษัทไอทีต่างๆ จะออกมามีมาตรการต่อพวกนีโอนาซีมากขึ้น แต่ในโซเชียลมีเดียและเว็บกระดานข่าวยอดนิยมระดับโลกก็ยังมีพวกขวาจัดตั้งกลุ่มย่อยๆ ของตนอยู่ โดยที่ Techcrunch เสนอว่าการปิดกั้นนั้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น พวกบริษัทเหล่านี้ควรจะมีการกดดันไปพร้อมๆ กับส่งเสริมผู้ใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขาที่ทำการรณรงค์ต่อต้านความเกลียดชังด้วย

เรียบเรียงจาก

Fighting Neo-Nazis and the Future of Free Expression, Electronic Frontier Foundation, August 17, 2017

Tech is not winning the battle against white supremacy, Tech Crunch, August 16, 2017

Code for tolerance: How tech companies can respond to hate but respect human rights, Access Now, August 17,2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Daily_Stormer

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.