Posted: 18 Aug 2017 05:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คุยกับเจริญชัย แซ่ตั้ง ในวัยผมสีดอกเลา อดีตคนทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กช่วงสงครามเวียดนาม – ล่ามตำรวจท่องเที่ยว 2ปี – ก่อนไปเก็บของเก่า – เคยปฏิบัติสมาธิกับวัดธรรมกายก่อนเลิกศาลา – ต่อต้าน รสช. คมช. คสช. เพราะ “รัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา” รณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 อยู่ตามเว็บบอร์ด-ยื่นหนังสือ ฯลฯ จนทหารเรียกปรับทัศนคติ ระบุอยากให้ยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและไม่เป็นผลดีกับใคร


เจริญชัย แซ่ตั้ง

เจริญชัย แซ่ตั้ง คือนักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่าสิบนายบุกเข้าจับกุมที่บ้านพักย่านดาวคะนอง โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แต่อ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 นำตัวไปปรับทัศนคติเท่านั้น

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดถึงเหตุผลในการจับกุมตัวว่า ญาติของนายเจริญชัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุคคโล ว่ามีการจัดทำบันทึกเชิญตัวโดยระบุเหตุที่ควบคุมนายเจริญชัยว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาแต่ยังมิได้ดำเนินคดี

1.

เราเจอกันที่บิ๊กซี ดาวคะนอง แถวบ้านของเขา เขาเป็นชายร่างกะทัดรัด ผมสั้นรองทรงสี ดอกเลา ใบหน้าตกกระเล็กน้อย ในวัย 60 ปีเขาดูกระฉับกระเฉง พูดจาคล่องแคล่วชัดถ้อยชัดคำติดสำเนียงจีน บทสนทนาของเราเริ่มต้นที่ลานจอดรถชั้น 2 เขาแนะนำที่นี่เพราะ “จะได้คุยกันเสียงดังได้อย่างสบายใจ” เขาว่าอย่างนั้น และฉันก็เห็นด้วย

เจริญชัยถูกคุมตัว 7 วัน ที่มณฑลทหารบกที่ 11 หรือที่รู้จักกันในชื่อ มทบ.11 อันเป็นสถานที่คุมตัวสำหรับคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

ระหว่างถูกควบคุมเขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพ ไม่ได้ถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ขณะที่เจริญชัยอยู่ในนั้น มีอีก 4 คนที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกัน เขาไม่รู้จักคนเหล่านั้น และถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกัน เจ้าหน้าที่ให้เขาเซ็น MoU ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง และถูกเตือนให้ระวังเรื่องการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายความผิดม. 112

“ห้องสะดวกสบาย แอร์ก็เย็นพอดี ไม่มีปัญหาเลย ถึงเวลาเขาก็เอาข้าวมาให้ ไม่เคยใช้กำลังข่มขู่ ทุกคนเป็นมิตร”
เขาเล่าให้ฟัง

“ครั้งหนึ่งผมไม่ยอมเซ็นเอกสารที่จะเอาผิดผม ผมขีดทิ้งหมด จะทำอย่างนี้ได้ยังไง เขาจะใส่ข้อหาผมผิด 112 116 ผมไม่พอใจ เลยขีดทิ้ง แล้วทุกแผ่นจะมีเขียนบอกว่าจะไม่เอาความแก่เจ้าหน้าที่ที่จับกุมตัวมา ผมก็ขีดทิ้ง เขาเลยพิมพ์มาใหม่ครั้งที่สอง จะตั้งข้อหาผมอีก ผมก็เลยบอกว่าผมไม่รับ ผมพูดเสียงดัง ทหารมามุงหน้าประตูทางเข้า 4 คน ผมบอกว่ามาอย่างนี้ผมไม่ชอบนะ สุดท้ายผมก็ไม่ได้เซ็น และเขาก็ไม่ได้ทำอะไร แค่พิมพ์เก็บไว้” คืออีกประสบการณ์ที่เขาเจอในค่ายมทบ.11 นี้

เจริญชัยเล่าว่าคนที่เขาได้พูดคุยด้วยมีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาไถ่ถามความคิดเห็นทางการเมืองยันเรื่องราวชีวิตส่วนตัวตั้งแต่เด็กจนโตของเขา แล้วพิมพ์เก็บรวมไว้ในแฟ้ม

“ผมเล่าให้เขาฟัง เหมือนที่เล่าให้คุณฟังนี่แหละ”
เขากล่าวระหว่างเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ฉันฟัง

2.

“ผมเคยอยากเรียนครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ แต่ผมรู้ว่าผมเสียงไม่ดี ออกเสียงไม่ชัด ก็เลยไม่เอาดีกว่า” เขาว่าอย่างนั้น

เจริญชัยจึงเรียนครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสุขศึกษา โทประชากรศาสตร์แทน

ปี 2519 ปีที่เกิด 6 ตุลา คือปีที่เขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยพอดี แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดี เจริญชัยจึงไม่ได้สนใจกิจกรรมทางการเมือง แต่มุ่งเพื่อเรียนให้จบเป็นคนแรกของครอบครัว

เมื่อจบออกมาเจริญชัยทำงานกับมูลนิธิเพิร์ล เอส. บัค* ช่วยเหลือลูกของทหารอเมริกาที่เกิดกับผู้หญิงไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ด้านทุนการศึกษาและสุขภาพ อยู่ 9 ปี

หลังจากนั้นปี 2534 เขาย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยว ซึ่งทำงานร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว เป็นล่ามแปลให้นักท่องเที่ยวถามทางยันปัญหารับแจ้งความ ทำได้ 2 ปี แต่เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ต่อสัญญาเพราะหัวแข็ง ซื่อตรงเกินไป “คล้ายไปขัดขวางผลประโยชน์ของตำรวจ” เป็นคำที่เขาใช้

เจริญชัยจึงออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ซื้อเศษโลหะ อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง กระป๋องเบียร์ ฯลฯ มาขายโรงหล่อ ไปรับซื้อร้านของเก่าใหญ่ๆ ในตัวเมืองอุดรฯ หนองคาย ซื้อแล้วมาส่งกรุงเทพฯ รายได้ดี ตั้งตัวได้ก็เพราะงานนี้ มีเงินก็ลงทุนที่ดินหลายแปลง ทุกวันนี้เลยไม่ลำบาก แม้จะมีปัญหากับทางธนาคาร และยื่นฟ้องกับหน่วยงานต่างๆ มา 10 ปีแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า


3.

“ผมมาเริ่มต้นสนใจการเมืองจริง ๆ ปี 35 ไปร่วมชุมนุมด้วย พอวันเกิดเหตุเช้านั้นประท้วงถึงเช้า ผมอยู่บนสะพานมองไปเห็นทหารถือโล่เต็มถนน พอผมหันหลังจะก้าวลงสะพานก็ได้ยินเสียงปืนดัง ผมเลยวิ่งไปตั้งหลัก มีคนตะโกนว่า ‘สู้ไม่ถอย’ จนเขามีการเจราจากัน ตอนนั้นผมปวดท้องขี้ ห้องน้ำไม่ให้เข้า ผมไม่สามารถไปขี้อุจาดได้ผมเลยต้องกลับบ้าน ก่อนกลับก็เห็นจำลอง ครูประทีป กำลังคุยกับป๋าเปรมอยู่ คุยอะไรไม่รู้ แต่ผมกลับมาเข้าห้องน้ำที่บ้าน ปวดหัวก็เลยนอน ช่วงสายๆ ก็ได้ข่าวว่าเขาสลายชุมนุม ถ้าผมอยู่ก็คงโดนซิวด้วย ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ผมได้เข้าร่วมทางการเมืองเป็นครั้งแรก” เจริญชัยเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนั้น

“ไปเพราะผมไม่ชอบเผด็จการ รัฐประหาร นายกฯ ไม่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เอา” เขากล่าว

เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจจริงจังกับเรื่องการต่อต้านเผด็จการมายาวนานขนาดนี้ ในขณะที่คนบางกลุ่มก็เปลี่ยนแปลงความคิดทางอุดมการณ์กันไปบ้าง เจริญชัยเท้าความไปไกลตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาสนใจศึกษาธรรมะตั้งแต่ตอนอยู่จุฬาฯ เข้าชมรมพุทธ ไปฝึกวิชาที่วัดธรรมกาย

“ผมรุ่นบุกเบิกเลย ธรรมกายยังมีแค่ศาลาเล็กๆ ยาวๆ หลังเดียว โบสถ์ยังไม่มี นายแพทย์มโนเป็นประธานชมรมพุทธเป็นผู้นำสวด ตอนหลังบวชเป็นพระเมตตา แล้วต่อมาก็ขัดแย้งกับธรรมกาย แต่การฝึกสมาธิแบบเพ่งดวงแก้วใสผมว่ามันไม่ถูกต้อง มันดีไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่แนวทางของผม เลยมาอยู่ชมรมจิตศึกษา เน้นทางวัดมหาธาตุ ผมไปฝึกสมาธิ วันที่ 5 ฝึกสำเร็จ ไม่ขอบอก แต่รู้ว่าได้สมาธิ เข้าใจว่าสมาธิหมายถึงอะไร คนได้จะรู้เอง ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กผม คุณลองไปอ่านได้

เมื่อลองเข้าเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งใช้ชื่อ ‘เจริญชัย แซ่ตั้ง’ บางส่วนในข้อความของเขาเขียนว่า

“ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในกระทู้ ตาสว่างจากสมาธิเพียงครั้งเดียว มีอานิสงส์มาก นั้น ผมได้จากการนั่งสมาธิ เจริญสติปัฏฐาน 4 โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสติ เวลานั่งเหมือนมีการโหลดข้อมูลภาพนิมิตต่าง ๆ ตามหลักการเจริญสติปัฏฐาน 4 จำนวนมากและผ่านไปรวดเร็วจนไม่สามารถประเมินความเร็วได้ ในที่สุดจิตก็สงบ สามารถกำหนดลมหายใจเข้าออกได้อย่างละเอียดมาก เกิดสมาธิจิตสามารถทำปฏิภาคนิมิตได้ มีปีติสุขจากการนั่งสมาธิซึ่งเป็นความสุขที่ปราศจากกิเลสอย่างแท้จริง ความสุขนี้แม้จะมีเงินทองมากมายสักเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อได้ นอกจากจะต้องฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองเท่านั้น หากไม่มีศีลธรรมหรือไม่มีจิตใจที่สะอาดเพียงพอก็คงเข้าถึงได้ยาก ผมถือว่าผมมีบุญ จึงมีโอกาสได้สัมผัสความสุขนี้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

“ทุกวันนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สามารถเข้าถึงสมาธิได้ครั้งหนึ่งในชีวิตแต่อายุแค่ 20 ปีโดยใช้เวลาฝึกแค่ 5 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการได้เพียงครั้งเดียวก็ตาม แต่ก็มีประโยชน์มากมายมหาศาล ทำให้เข้าใจแก่นธรรมะได้อย่างลึกซึ้งดีกว่าอ่านหนังสือนับสิบ ๆ เล่มเสียอีก และที่สำคัญคือไม่เสียทีที่ได้เกิดมานับถือศาสนาพุทธอีกด้วย ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโลกธรรม 8 อย่างเหมือนเช่นคนทั่ว ๆ ไปเพราะมีจิตใจมั่นคงแล้ว ผมจึงกล้าทำสิ่งที่หลาย ๆ คนกลัวได้เช่น การรณรงค์ยกเลิกม.112 ที่ผมทำต่อเนื่องมา 7-8 ปีแล้ว เป็นต้น”

“เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ดีไม่ชอบผมถึงต่อต้านหมด การรัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา ผมก็เลยไม่ชื่นชอบ ต่อต้านมาโดยตลอด” เจริญชัยยืนยันหนักแน่น และเพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่มีปัญหากับธนาคาร ทำให้เขารู้สึกว่า “ในยุคเผด็จการอย่างไรผมก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม” เขากล่าว “ผมรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันหมดกับความเป็นเผด็จการ แต่ผมพูดมากไม่ได้”

เช่นเดียวกับเหตุผลที่เขาต้องการให้ยกเลิกม. 112 เขากล่าวทันทีว่า “อยากให้มีการยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่เป็นผลดีกับใคร มีเรื่องลึกกว่านี้อีกแต่ผมพูดไม่สะดวก คุณคงเข้าใจ ถ้าอยู่ต่างประเทศผมคงพูดได้มากกว่านี้”

เราจบบทสนทนาของเราที่ลานจอดรถชั้น 2 ของบิ๊กซี ดาวคะนอง และรู้ว่าบางเรื่องแม้จะนั่งคุยกันห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนแค่ไหน เราก็ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้อยู่ดีในประเทศนี้

- เจริญชัยกล่าวในเฟซบุ๊กว่าเขาเป็น ผู้อุทิศตนรณรงค์ยกเลิก ม.112

- 10 ธันวาคม 49 เจริญชัยเข้าร่วมการต่อต้านการรัฐประหาร

- เจริญชัยเริ่มเล่นเว็บบอร์ดประชาไทในปี 52 และเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเลิกม. 112 ตั้งแต่ตอนนั้น

- 22 มีนา 52 เจริญชัยตั้งโต๊ะล่ารายชื่อยกเลิกม. 112 ที่หน้าห้องประชุมนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

- 26 มีนา 52 ชุมนุมเสื้อแดง เจริญชัยล่ารายชื่อฯ ได้ประมาณ 600 คน

- ปี 54 สมัยที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ เจริญชัยยื่นข้อเสนอให้ลงสัตยาบันที่สำนักนายกฯ ให้ทำตาม ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 8 ข้อ

- 15 ธันวาคม 54 เจริญชัยได้ยื่นฎีกาให้ยกเลิก ม.112 ที่สำนักนายกฯ โดยสำนักนายกฯ ส่งต่อไปที่กระทรวงยุติธรรม แต่ได้รับการตอบกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หลังจากนั้นได้ยื่นให้ราชเลขา ซึ่งรับเรื่องไว้แต่ไม่ได้ดำเนินการ เจริญชัยได้ติดตามไปถามเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ จนได้รับคำบอกว่าในหลวงทรงรับทราบแล้วในเรื่องที่เขาฎีกา


*องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค (The Pearl S. Buck Foundation,Inc.) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเปอร์กาซี มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1964 โดยนักเขียนสตรีชาวอเมริกันผู้มีนามว่า มิสเพิร์ล เอส. บัค ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและรางวัลพูลิซเซอร์ ในสาขาการประพันธ์และมนุษยธรรม องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค เป็นหน่วยงานอเมริกันที่มีสาขาในประเทศต่าง ๆ แถบเอเชีย ได้แก่ เกาหลี โอกินาวา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และไทย เป็นของเอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กลูกครึ่งไทยอเมริกัน-เอเชียน ที่ถูกบิดาที่เป็นทหารชาวอเมริกันทอดทิ้งไป โดยไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและมิได้แสวงหาผลกำไรใด ๆ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.