Posted: 23 Aug 2017 12:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ออกแถลงการณ์ปม จนท.บุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่โรงแรมศรีสุข จ.นนทบุรี ขอรัฐยุติการล่อซื้อโดยทันที ทบทวน ก.ม.ดังกล่าว ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด
23 ส.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ว่า 21 ส.ค.60 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่บุกจับกุมพนักงานบริการ สืบเนื่องจากวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา การบุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่โรงแรมศรีสุข จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นการปฏิบัติการที่ร่วมมือกันของส่วนกำกับสืบสวนและปราบปราม กรมการปกครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นนทบุรี เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ จ.นนทบุรี กอ.รมน.จ.นนทบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ตำรวจ ทหาร กว่า 50 นาย เพื่อเข้าจับกุมหญิงสาว 22 คน นั้น
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ระบุว่าการล่อซื้อและจับกุมดังกล่าวเป็นประเด็นที่ที่มีความห่วงใยในด้านสิทธิมนุษยชนกันมาอย่างช้านาน ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการล่อซื้อโดยทันที ยุติการใช้กำลังรุนแรงบุกทลาย ในการตรวจสถานบริการ แก้ไขทำให้ไม่มีการรีดไถต่อไป บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับพนักงานบริการ และ ให้มีการทบทวน พ.ร.บ.ปรามค้าประเวณี ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด
รายละเอียดแถลงการณ์ :
พนักงานบริการ ทวงถามให้รัฐบาลปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW
วันที่ 21 สิงหาคม 2560
ในกลางดึกของวันที่ 19 สิงหาคม 2560 มีการบุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่โรงแรมศรีสุข จังหวัดนนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นการปฏิบัติการที่ร่วมมือกันของส่วนกำกับสืบสวนและปราบปราม กรมการปกครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการจังหวัดนนทบุรี กอ.รมน.จ.นนทบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อส. ตำรวจ ทหาร กว่า 50 นาย เพื่อเข้าจับกุมหญิงสาว 22 คน ข้อมูลที่สื่อรายงานยังระบุอีกว่านี่เป็นการปฏิบัติการการล่อซื้อก่อนมีการจับกุม
กฎหมายได้จำกัดปฏิบัติการการล่อซื้อไว้อย่างชัดเจน ระบุตามประมวลกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา พ.2477 มาตรา 226 ระบุไว้ว่าพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น
การล่อซื้อพนักงานบริการเป็นประเด็นห่วงใยด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมานาน ตั้งแต่ก่อน 2546
ปี 2559 พนักงานบริการสมาชิกมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม) [1]ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการล่อซื้อ กสม.นำโดยคุณ อังคณา นีละไพจิตร ได้ทำการตรวจสอบ ระหว่างที่มีการตรวจสอบนั้นก็มีการล่อซื้อ บุกทลาย กวาดจับพนักงานบริการที่สถานประกอบการ ‘นาตารี อาบ อบ นวด’ ซึ่งกสม.โดยคุณ อังคณา นีละไพจิตร ได้มีการตรวจสอบการปฏิบัติต่อพยานและเหยื่อจากการล่อซื้อและบุกทลายสถานประกอบการนาตารี
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ส่งรายงานเงา[2] ต่อคณะกรรมการ CEDAW ในรายงานของเราได้ระบุการล่อซื้อและความรุนแรงที่เกิดจาการบุกทลายซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ห่วงใยประเด็นหนึ่งของผู้หญิงในประเทศไทย
คณะกรรมการ CEDAW ได้ถามคำถามต่อรัฐบาลไทย ซึ่งรัฐไทยได้นำเสนอรายงาน CEDAW เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ CEDAW ได้แสดงความห่วงใยการใช้การล่อซื้อและการบุกทลายซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้หญิงที่ทำงานเป็นพนักงานบริการในประเทศไทย
ในครั้งนี้มีตัวแทนรัฐบาล 31ท่านที่ได้เดินทางไปตอบคำถามของคณะกรรมการ CEDAW นำโดยรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีการถามเรื่องการล่อซื้อและการบุกทลาย ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ตอบคำถาม นำโดยพล.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบช.สยศ.ตร.) ว่า“เรื่องกรณี ล่อซื้อ ปฏิบัติการนี้ เราใคร่ขอยืนยันให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการฝ่ายยุทธการตำรวจไม่เคยมี นโยบายปฏิบัติการเช่นนี้เลย และไม่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้วิธีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย ยินดีรับฟังข้อมูลหรือการร้องเรียนจากทุก ๆ คนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง และพร้อมเสมอที่จะทำการสอบสวนเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “[3]
คณะกรรมการ CEDAW ได้ส่งข้อสรุปและสังเกตจากการรายงานของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา [4] ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้แสดงความเห็นเน้นย้ำไปถึงผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงจากกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีและการปฏิบัติการของเจ้าพนักงานของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการล่อซื้อและบุกทลายสถานบริการ ประเด็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ CEDAW [5] มีว่า
“ข้อ 26. คณะกรรมการกังวล…. คณะกรรมการยังมีข้อสังเกตด้วยความกังวลด้วยว่า พนักงานบริการหญิงมักถูกสันนิษฐานว่ากระทำความผิดฐานค้าประเวณีตามพระราชบัญญัตินี้และถูกจับกุมและปฏิบัติอย่างดูหมิ่น ในการใช้กำลังรุนแรงบุกเข้าตรวจค้นสถานบริการ และตกเป็นเป้าการล่อซื้อของตำรวจ คณะกรรมการยังกังวลอีกกับรายงานที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้หญิง …..“
ข้อ 27. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะต่อรัฐไทย…
(d) ยุติการใช้กำลังรุนแรงในการตรวจค้นสถานบริการโดย ยุติการล่อซื้อ และการรีดไถทันที ให้นำตัวเจ้าหน้าที่ดำรวจที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเหล่านั้นมาลงโทษ
(f) ประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคมกับสถานบันเทิงทุกแห่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่เป็นพนักงานของสถานบริการที่จดทะเบียนตามกฎหมาย
เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ซึ่งมูลนิธิ เอ็มพาวเวอร์ และพนักงานบริการ รู้สึกยินดีที่ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้หลักประกันอย่างจริงใจต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่ารัฐไทยไม่เคยมีนโยบายการล่อซื้อ ฯ และการที่คณะกรรมการ CEDAW ให้ความสำคัญและแนะให้รัฐไทยตระหนักว่าพนักงานบริการมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับผู้หญิงที่ทำงานในอาชีพ อื่น ๆ
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา น.ส.ไหม จันตา ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ร่วมแถลงข่าวที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ กับเครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตาม CEDAW ไหมได้แสดงออกถึงความรู้สึกเราเข้าถึงความยุติธรรม ของสังคมและความโล่งใจที่พนักงานบริการในประเทศไทยได้รู้ว่า คณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอให้รัฐบาลยุติการล่อซื้อและบุกทลายโดยทันที ไหมกล่าวว่า “ไม่ว่าการค้าประเวณีจะมีความผิดหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือใครจะ สามารถกระทำการหรือเลือกปฏิบัติกับพนักงานบริการยังไงก็ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราเป็นผู้หญิงที่ทำงาน เราเป็นแม่และเป็นหัวหน้าครอบครัว เราสมควรได้รับสิทธิที่จะได้ความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรมเราต้องได้รับการปฏิบัติโดยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “
ผ่านมาแค่สามวัน ความรู้สึกที่เรายินดีก็กลับกลายเป็นความผิดหวังและสับสนแทน เราสับสนว่าทำไมการล่อซื้อและบุกทลายได้เกิดขึ้น หลังจากไม่กี่อาทิตย์ที่ตัวแทนรัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่า ไทยไม่มีนโยบายการล่อซื้อ บุกทลาย และไม่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีการนี้ ? ซึ่งยังคงเกิดการล่อซื้อและบุกทลายโดยไม่คำนึงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่ได้ให้คำสัญญากับคณะกรรมการ CEDAW ไว้
เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กลับไปดูคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมการ CEDAW ณ กรุงเจนีวา และให้ปฏิบัติตามข้อผูกพัน โดยเฉพาะที่ต้องทำตามข้อเสนอแนะ คือ
1. ยุติการล่อซื้อ โดยทันที
2. ยุติการใช้กำลังรุนแรงบุกทลาย ในการตรวจสถานบริการ
3. แก้ไขทำให้ไม่มีการรีดไถต่อไป
4. บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับพนักงานบริการ
5. ให้มีการทบทวน พ.ร.บ. ปรามค้าประเวณี ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
322 เชียงใหม่แลนด์
ถ.ช้างคลาน อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50100
โทรศัพท์:แฟกซ์: 053-282504Email cm.empowerfoundation.org
[1] คำร้องการตรวจสอบหมายเลข 352/2559
[2] แรงงานเงาของมูลนิธิEmpower ต่อ CEDAW มิถุนายน 2560 June 2017 http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=INT%2fCEDAW%2fNGO%2fTHA%2f27511&Lang=en
[3] http://webtv.un.org/search/consideration-of-thailand-contd-1505th-meeting-67th-session-committee-on-elimination-of-discrimination-against-women/5493644368001/?term=thailand
[4] CEDAW Concluding Observations Thailand http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CEDAW%2fC%2fTHA%2fCO%2f6-7&Lang=en
แสดงความคิดเห็น