Posted: 03 Aug 2017 11:55 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทั่วประเทศยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและแนวโยบายของรัฐบาลที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


ภาพจากเว็บไซต์ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

3 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ภาคใต้' โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. วิรุฬห์ สะแกคุ้ม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาหาดใหญ่ และคณะประมาณ 60 คนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เรื่องขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและแนวนโยบายของรัฐที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

โดยเว็บไซต์ voicelabour.org รายงานด้วยว่า สรส. ทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและแนวโยบายของรัฐบาลที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในแถลงการณ์ของ สรส. ระบุว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจกลับถูกแทรกแซง การแสวงหาประโยชน์จากนักการเมืองที่มุ่งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและกลุ่มทุนพวกพ้อง ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จนทำให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องแบกรับภาระทางการเงิน ตลอดจนการกำหนดนโยบายที่มีการแปลงเจตนาของรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การทางธุรกิจ ที่มุ่งเพียงผลกำไร ทำให้ประเทศต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท ซึ่งรัฐบาลซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้เหตุผลและแถลงต่อสื่อมวลชนว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการแทรกแซง แสวงหาประโยชน์ จากนักการเมือง มีการทุจริต ทำให้ภารกิจของรัฐวิสาหกิจไม่สนองต่อความต้องการของประเทศชาติ ประชาชนได้อย่างเต็มที่”

หากมีการดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้แถลงเหตุผลไว้ สรส. และองค์กรสมาชิก ซึ่งได้ติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด ก็ถือเป็นแนวทางที่ดีหากรัฐบาลมุ่งมั่นเพื่อการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจองค์กรที่เป็นเครื่องมือหลักของรัฐให้สามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประชาชน สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล

สรส. ระบุอีกว่า จากการติดตามผลงานตามนโยบายของรัฐบาลแล้วพบว่า การดำเนินการของรัฐกลับไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงไว้ เข้าใจได้ว่าอาจจะมาจากการแปรความหมายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางและเจตนารมณ์ของรัฐไปปฏิบัติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนาที่ได้แถลงเอาไว้จนแสดงให้เห็นว่า เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเอื้อประโยชน์จนนำไปสู่การส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนมากกว่า อาทิ 1. กรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีการประชุมการแก้ไขปัญหา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จนนำไปสู่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ จัดตั้งบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co.) ตามที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

กรณีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ที่มุ่งยกระดับและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จัดให้มี “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ที่พร้อมรองรับการแปลงทุนเป็นหุ้นของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัท จำนวน 12 แห่ง ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ของรัฐเป็นของกลุ่มทุนต่าง ๆ จนนำไปสู่การผูกขาดสำหรับอนาคต และยังมุ่งออกแบบให้สามารถเพิ่มลดหุ้นจนพ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจได้ ทั้งที่แนวทางดังกล่าวมีการดำเนินการจนเกิดผลกระทบต่อประเทศและประชาชนเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นแล้ว กรณีการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง c]t กรณีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่มุ่งให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้มุ่งเน้นดำเนินงานในลักษณะของการเป็นผู้กำกับดูแล และสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

สิ่งที่กล่าวมาเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจได้แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและกรอบในการดำเนินการก็มิได้ฟังเสียงของประชาชน หรือจากสหภาพแรงงาน ปราศจากการมีส่วนร่วม จากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นการดำเนินการไม่แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดวิกฤตของประเทศ และเป็นเหตุให้ประชนชน จำนวนมากออกมาขับไล่เพราะ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย”

"ขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและแนวนโยบายของรัฐบาล ที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และขอยืนยันในเจตนารมณ์และจุดยืนที่ได้กระทำและแสดงออกเสมอมาว่า สรส. เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงหาประโยชน์ ต้องการให้มี การบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริต มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน" แถลงการณ์ของ สรส. ระบุในตอนท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.