นายณัฐวัชร กฤติยานุวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงการตัดสินคดีจำนำข้าว ทีมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยว่า ส่วนตัวพอจะเดาผลการตัดสินล่วงหน้าได้ โดยจับสัญญาณจากฝ่ายปกครอง เช่น การใช้คำสั่งทางการปกครองยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลย เพื่อสื่อสารว่าฝ่ายจำเลยมีความผิด เป็นการโน้มน้าวให้ศาลเชื่อว่าจำเลยมีการปล่อยปละละเลยให้เกิดความสูญเสีย

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณด้วยวิธีดังกล่าวนั้น ขัดกับหลักกฎหมายทั้งไทยและสากล ที่ต่างก็ทราบว่าจำเลยจะผิดก็ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้ผิด แต่นี่ศาลยังไม่ทันจะพิพากษา ก็ไปยึดทรัพย์เสียแล้ว ซึ่งตนสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็ทราบว่าการใช้คำสั่งทางการปกครองดังกล่าวมีความแปลกประหลาดพิสดาร จึงให้เนติบริกรบางท่านออกมา อธิบายจากผิดเป็นถูก ใช้คำว่ากฎหมายตีความได้หลายแบบ แต่ความจริงคือ ทุกกฎหมายมีเจตนารมณ์ ซึ่งจะตีความเป็นอย่างอื่นมิได้ ทั้งนี้ คำสั่งปกครองดังกล่าว ได้สร้างความลำบากในการตัดสิน เพราะถ้าหากตัดสินตามสัญญาณ ศาลจะถูกมองว่าชี้นำได้ ที่สำคัญ ฝ่ายที่มองมิใช่แต่เพียงฝ่ายกองเชียร์นางสาวยิ่งลักษณ์ แต่ยังรวมถึงนานาชาติที่ให้ความสนใจกับคดีนี้เป็นพิเศษ

นายณัฐวัชร กล่าวต่อว่า นอกจากตนจะกังวลในเรื่องของการชี้นำแล้ว ยังพบว่าในส่วนของการอุทธรณ์ก็มีปัญหา เพราะแต่เดิมศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกิดขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากเป็นศาลชั้นเดียว ตัดสินแล้ว คือ จบ ไม่มีอุทธรณ์ ต่อมาเพื่อแก้ไขข้อครหาดังกล่าว จึงกำหนดให้สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ปรากฏว่าผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ก็อยู่ในแผนกของศาลฎีกา หรือเป็นกลุ่มเดียวกับผู้พิพากษา ทีตัดสินคดีดังกล่าว ไม่ใช่คนนอกกลุ่มแต่อย่างใด ซึ่งขัดหลักการคานอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ตนไม่คาดหวังผลจากการอุทธรณ์นัก

source ;- Line

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.