Posted: 21 Aug 2017 08:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สนทนาแลกเปลี่ยนกับ 2 ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องเพศสภาวะชาย-หญิงจากยุคต้นรัตนโกสินทร์ถึงก่อน พ.ศ. 2500 เผยให้เห็นว่าสังคมไทยในอดีต ไม่ได้รังเกียจหญิงที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ ศาลเปิดโอกาสให้หย่าร้าง แต่หญิงมีชู้ถูกปรับไหม ส่วน ‘ความโป๊’ ก็เลื่อนไหลไปมา ทั้งลาลูแบร์และจอห์น บาวริ่ง ต่างบันทึกว่าคนสยามล่อนจ้อนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมาที่เริ่มรับคติ ‘วิกตอเรียนบนดิน’ ที่ห้ามเปลือยกาย พร้อมกับคติ ‘วิกตอเรียนใต้ดิน’ ที่เริ่มมีการแพร่หลายของ 'โปสการ์ดรูปโป๊' จากยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส


เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ยิปซี จัดงานสนทนา “บุรุษบันเทิง นารีเริงร่า(น)” เกี่ยวกับงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยโดย ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ผู้ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ “หญิงชั่ว” ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ - พ.ศ. 2477 และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทยทศวรรษ 2450-2500

“หัวข้อศึกษาประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญ เจ้าใหญ่นายโต เราอยากเน้นคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบของประวัติศาสตร์ หรือหัวข้อที่ไม่น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้” ปรีดีกล่าวเกริ่นนำก่อนเข้าสู่การสนทนาของสองนักศึกษาปริญญาโท

นารีเริงร่า(น): “หญิงชั่ว” ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อาจไม่ใช่มีสามีหลายคน แต่เป็นหญิงที่มีชู้



(จากซ้ายไปขวา) ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์หัวข้อ “หญิงชั่ว” ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ - พ.ศ. 2477 และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์หัวข้อ บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทยทศวรรษ 2450-2500

วรธิภากล่าวว่า สนใจเรื่องผู้หญิงเพราะเราเป็นผู้หญิง เพราะเวลาเราเห็นหญิงไม่ดีในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่เคยศึกษาว่าบริบทในสังคมสมัยนั้นอะไรทำให้เขาไม่ดี ไม่ดีอย่างไร ในประวัติศาสตร์น้อยที่จะพูดถึงผู้หญิงทั้งที่ผู้หญิงก็มีบทบาท เมื่อได้มาศึกษาทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้จึงเหนือความคาดหมายจากตอนแรก

วรธิภายกตัวอย่าง เช่น สมัยก่อนเราได้ยินว่าผู้หญิงซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียวต่อสามี เป็นช้างเท้าหลัง แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด มีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง เมื่อมองผ่านงานวรรณคดีมีตัวอย่างผู้หญิงที่มีชู้ จะถูกให้ภาพเป็นผู้หญิงไม่ดี ในขณะที่ผู้ชายเจ้าชู้ ถูกนำเสนอในแง่ของความมีเสน่ห์ ทั้งที่ปัญหาการหย่าร้าง นอกใจก็มีในสังคมสยามมาตั้งแต่ก่อนแล้ว

ผู้หญิงในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร บันทึกบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในช่วงรัชกาลที่ 3) และอองรี ตุรแปง (ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในช่วงปลายอยุธยา) ต่างกล่าวถึงการหย่าร้างของชาวสยาม ส่วนมากภรรยาเป็นคนขอหย่า เวลาไปฟ้องศาล ศาลก็อนุญาตหย่าร้างกันได้ตามความสมัครใจ มีกฎหมายให้โอกาสการหย่าร้าง ซึ่งเป็นการป้องกันการนอกใจ การมีชู้ มีกฎหมายและบทลงโทษผู้หญิงที่มีชู้ ไม่ได้เป็นโทษร้ายแรงแต่เป็นโทษประจาน เน้นปรับไหมเป็นหลัก

อาชญาสิทธิ์เสริมว่า ขณะที่เราเห็นว่าในสมัยก่อนผู้ชายมีบทบาทอำนาจนำเหนือผู้หญิง โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยบอกว่า คำว่า ‘ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง’ ความจริงช้างเดินเท้าหลังก่อน ดังนั้นผู้หญิงจึงมีอำนาจในพื้นที่ของผู้หญิงเสมอมา ไม่ได้โดนกดเสมอไป

วรธิภายังยกตัวอย่าง จดหมายเหตุจากหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ของ ‘อำแดงเขียน’ ผู้หญิงคนหนึ่งในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่งงาน 5 ครั้ง และมีชายชู้จำนวนมากไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ในเนื้อหาบอกว่าเธอมีสามีคือใคร มีชู้คือใคร ชู้บางคนของเธอก็เป็นลูกขุนนาง เป็นคนดีมีหน้ามีตาในสมัยนั้น เนื้อหาบอกว่าชายชู้โดนปรับ เธอไม่ได้ถูกลงโทษทางกฎหมาย แต่เป็นจำเลยของสังคม ถูกลงโทษทางสังคม

วรธิภาเสนอว่า เป็นไปได้ไหมว่าจริงๆ แล้วความคิดเรื่อง ‘ไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร’ ต่างหากที่เป็นของใหม่ สังคมอาจไม่ได้รังเกียจหญิงที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ แต่จะมองหญิงที่มีชู้ว่าไม่ดีมากกว่า อำแดงเขียน คือตัวอย่างของผู้หญิงที่มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง และมีอิสระทางเพศ แต่ทั้งนี้ก็มีราคาที่เธอต้องจ่าย แลกกับชื่อเสียงในสังคมของเธอ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่าผู้หญิงเหล่านี้มีความจำเป็นหรือความกดดันบางอย่างในชีวิตที่เป็นเงื่อนไขผลักดันให้แสดงออกถึงการประพฤติผิดทางเพศ

วรธิภากล่าวว่า ความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงต่อมากลายเป็นกรอบความคิดสิทธิสตรี ช่วงแรกอาจไม่เหมือนความคิดเรื่องสิทธิสตรีในปัจจุบัน เพราะในขณะที่มีแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการดำเนินชีวิต เลือกคู่ครอง มีสิทธิเหนือเนื้อตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันสังคมก็มีค่านิยม ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี แม่บ้านแม่เรือน อิทธิพลจากวิกตอเรีย อยู่ในกรอบมากกว่าเดิม เป็นเมียและแม่ที่ดี ช่วงนั้นจึงเป็นการปะทะระหว่างสยามแบบเก่าและวิทยาการและองค์ความรู้แบบใหม่ เปลี่ยนมโนทัศน์ที่มีต่อผู้หญิงในสังคม ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจากชนชั้นสูงอยากมีสามีศักดิ์ต่ำกว่า ก็จะผิดจารีตประเพณี ทั้งที่สังคมก็เริ่มมีแนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง


บุรุษบันเทิง: ประวัติศาสตร์ของความ ‘โป๊’ ที่แปรเปลี่ยนตามบริบทยุคสมัย


“ในอดีตเมืองไทยไม่รู้จักคำว่าโป๊ ความหมายของโป๊มันเปลี่ยนไป ความโป๊มันลักลั่น โป๊ไม่โป๊ขึ้นอยู่กับบริบทยุคสมัย”

อาชญาสิทธิ์กล่าวว่า การเปลือยกายในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติมายาวนาน ในสมัยอยุธยา จดหมายเหตุลาลูแบร์ เขียนชัดเจนว่า “โป๊เป็นเรื่องปกติ สยามเป็นเมืองร้อน ล่อนจ้อนปราศจากกามารมณ์” เช่นเดียวกับเซอร์จอห์น บาวริ่ง ก็ได้กล่าวไว้ว่า “การเปลือยกายในสยามไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่มีใครรู้สึกถึงกามารมณ์”

แต่นับตั้งแต่ปี 2441 หลังจากรัชกาลที่ 5 กลับมาจากอังกฤษ จึงทรงนำความคิดแบบวิกตอเรียเข้ามา ห้ามให้คนเปลือยกาย

ในขณะเดียวกัน "ครูเหลี่ยม" หรือ "หลวงวิลาศปริวรรต" นักเรียนทุนเรียนวิชาครูรุ่นแรกจากอังกฤษ นำเรื่องโป๊มาสู่เมืองไทย ครูเหลี่ยมนำเข้า วิกตอเรียนใต้ดิน เช่นเดียวกับที่ฟูโกต์บอกว่า ยุควิกตอเรียนควบคุมมากสุดแต่มีเรื่องโป๊มากที่สุด

ลักษณะการเขียนของครูเหลี่ยมเป็นร่าย คล้ายพระเวสสันดร พรรณนาการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยคำตรงไปตรงมา ใช้ฉากต่างประเทศคือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่ร่ำเรียนศึกษาและรับอิทธิพลทางนี้มา



ภาพปกและภาพหน้าแรกของหนังสือ 'กล่อมครรภ์' ผลงานของหลวงวิลาศปริวรรต หรือ 'ครูเหลี่ยม' หนังสือดังกล่าวผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ได้รับมาจากธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

อาชญาสิทธิ์ยกตัวอย่างหนังสือโป๊ในสมัยนั้นเรื่อง “กล่อมครรภ์” เนื้อเรื่องสะท้อนผู้หญิงท้องนอกสมรสต้องการจะทำแท้ง สังคมวิกตอเรียเคร่งมาก ท้องก็ทำงานไม่ได้แต่ห้ามทำแท้ง ผู้หญิงจึงต้องไปหาหมอเถื่อน การทำแท้งสมัยนั้นต้องเอาเหล็กแทง แต่หมอหลอกเอา ‘อย่างอื่น’ แทง ไปมีเซ็กส์นอกโรงนา ซึ่งเป็นความหมายถึงการ ‘ออกไปจากบ้าน’ แคร่หักผู้หญิงตกลงมาแท้ง ผู้หญิงจึงคิดว่าหมอทำแท้งสำเร็จ เป็นเรื่องโป๊เรื่องแรกๆ ของสังคมไทย

อาชญาสิทธิ์เห็นว่า สมัยก่อนเรื่องเพศเป็นเรื่องของครอบครัว ผู้ชายมีเซ็กส์กับใครต้องรับเข้ามาเป็นเมียไว้ที่บ้าน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือหนังสือโป๊ที่ครูเหลี่ยมเอามาเสนอว่า ชายไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ เช่น ชายสามารถไปมีเซ็กส์กับผู้หญิงอื่นแล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องพามาอยู่ภายใต้อำนาจของภรรยา มีเซ็กส์เสร็จก็แยกทางกันได้ เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องหฤหรรษ์ มีเซ็กส์เพื่อแสวงหาความบันเทิง ไม่ต้องรับผิดชอบ

คล้องจองกับเรื่อง โคลนติดล้อ ซึ่งเขียนไว้ว่า นักเรียกนอกยุคใหม่ติดวิธีการอังกฤษ ผัวเดียวเมียเดียวก็จริง แต่มีเมียลับ ไม่ต้องพามาบ้าน เมียลับนำไปสู่ปัญหาสำคัญทางสังคม คือ โสเภณี หนังสือพิมพ์สมัยก่อนเขียนถึงโสเภณีว่า แม่โค มาจากโคจร คือไปตามย่านต่างๆ

จุดเปลี่ยนสำคัญคือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารอาสาของไทยไปร่วมรบเมืองนอกที่ฝรั่งเศส เมื่อกลับมาจากสงครามทหารก็ได้นำโปสการ์ดฝรั่งเศสหรือภาพโป๊เข้ามา ซึ่งมากกว่าแค่การเป็นหนังสือโป๊ มีการสั่งเข้ามามหาศาล คนสั่งเป็นคนขายอุปกรณ์เครื่องเขียน นักเรียนเลยได้ดูภาพโป๊ด้วย ไทยจึงมีกฎหมายอาญาฉบับแรก มาตรา 240 ห้ามเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจาร

ปลายทศวรรษ 2460 ก่อนปฏิวัติ 2575 ภาพโป๊ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือพิมพ์วาบหวิว แต่อยู่ในหนังสือการเมืองด้วย มันจึงมีอิทธิพล เช่นเดียวกับในการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องมือสำคัญที่ใช้โจมตีพระนางมารี อ็องตัวแน็ตคือหนังสือโป๊ เพราะการเขียนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเพศของพระนางมารีเป็นการทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเท่าเทียมไม่แตกต่างระหว่างเจ้าและประชาชน

กล่าวโดยสรุป การเข้ามาของหนังสือโป๊ รูปโป๊ สิทธิสตรี ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นความย้อนแย้ง ลักลั่น การนำวัฒนธรรมวิกตอเรียเข้ามาบังคับใช้จากด้านบน แต่ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมวิกตอเรีย ‘ใต้ดิน’ ในช่วงเวลาเดียวกัน ประวัติศาสตร์จึงมีสองด้านเสมอ

ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สมัยหนึ่งดี ไม่ดี โป๊ ไม่โป๊ ก็เป็นแบบหนึ่ง ต่อมาก็อาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือใครนิยามว่าสิ่งนั้นดี ไม่ดี ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นสภาวะซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


ตัวอย่างคดีความในอดีตเกี่ยวกับสิ่งลามก

หลังเกิดลากมก รัฐไทยมีความกังวล เดิมที ลามก แปลว่า ไม่ดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มีหลายกรณีที่คนด่าหยาบๆ กันแล้วไปฟ้องความผิดฐานลามก คือการกระทำสิ่งลามกคือกระทำสิ่งไม่ดี

คดีเหล่านี้รกศาล เพราะผู้พิพากษาก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าอันไหนลามกหรือไม่ลามก และมีข้อต่อสู่เกี่ยวกับสื่อว่าเป็นศิลปะเพื่อการศึกษา ในยุคนั้นมีการพยายามสร้างบรรทัดฐาน เช่น ภาพผู้หญิงอย่างเดียวเป็นภาพศิลปะ แต่หากเป็นภาพผู้หญิงและผู้ชายจะส่อไปในทางเพศมากกว่า มีเคสที่ทนายถามตำรวจที่จับว่าคิดอย่างไรกับภาพนี้ ตำรวจบอกว่ารู้สึกซาบซ่าน ในขณะที่จำเลยบอกว่ามันเป็นศิลปะ ทนายจึงบอกว่าภาพนี้แล้วแต่คนมองว่าซาบซ่านหรือเป็นศิลปะ สรุปศาลจึงตัดสินให้จำเลยชนะคดี ดังนั้นโป๊หรือไม่โป๊เป็นข้อถกเถียงกันมาตลอด แต่ปัจจุบันแยกได้ชัดเจนแล้ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.