Posted: 17 Aug 2017 12:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รถเมล์ไทยกำลังเปลี่ยน อย่างน้อยตอนนี้ก็กำลังเปลี่ยนสี มันคงทำให้ชีวิตคนใช้รถเมล์ติดขัดขึ้นบ้างเพราะความไม่คุ้นเคย แต่คนพิการอาจติดขัดยิ่งกว่า และติดขัดมานานแล้วกับรถเมล์ชานสูงที่ต้องตะเกียกตะกายปีน ขณะที่เรากำลังถกเถียงเรื่องนี้ คนพิการอยู่ตรงไหนบนสายรถเมล์ที่กำลังเคลื่อนโดยลืมนึกถึงคนทุกกลุ่มในสังคม


ภาพโดย นันทินี แซ่เฮง

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมากระแสรถเมล์เปลี่ยนสีกำลังเป็นที่ฮือฮา ในฐานะคนนั่งวีลแชร์อย่างเรา ยอมรับตามตรงว่าไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนักหรอก -เพราะรู้ว่ายังไงก็ขึ้นไม่ได้อยู่ดี

ขณะที่โซเชียลมีเดียพาคนไปทำความรู้จักกับการปรับเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งรถเมล์ จากสายเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย กลายเป็นชื่อสีที่แบ่งตามโซนของกรุงเทพและปริมณฑล จนหลายคนโอดครวญว่า สายใหม่นั้นจำยากซะเหลือเกิน และที่เด็ดกว่านั้นคือ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งสำคัญ แต่ตัวรถนอกจากสีที่เปลี่ยนไป ก็ไม่ได้มีความทันสมัยขึ้นแต่อย่างใด และคนพิการ คนแก่ คนท้องหรือคนมีสัมภาระชิ้นใหญ่ ก็ยังขึ้นยากอยู่เหมือนเดิม

ช่วงปี 2450 เป็นช่วงที่รถเมล์เกิดขึ้นในไทย รถเมล์นายเลิศที่มีสโลแกนว่า "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย” ต้องปิดกิจการลงหลังเปิดมา 70 ปี เพราะรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

หลังผ่านมากว่าร้อยปี หน้าตาของรถเมล์ไทยในความดูแลของ ขสมก.ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก บันไดชัน ตัวรถสูง ประตูแคบ ฯลฯ น่าจะเป็นที่จดจำของใครหลายคน มีเพียงสีสัน ชื่อสาย หรือสภาพภายนอกจุกจิกเท่านั้นที่อาจมองเห็นได้ว่าเปลี่ยนไป แม้รถเมล์จะขึ้นชื่อได้ว่า เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงทุกกลุ่มประชากร หากรวมทั้งรถเมล์ รถปรับอากาศ รถบัสขนาดเล็ก ฯลฯ จะครอบคลุมกว่า 445 เส้นทางในกรุงเทพและปริมณฑล และมีรถกว่าหมื่นคัน แต่ก็เหมือนจะไม่เคยมีตัวตนของคนพิการที่ถูกเรียกว่า “ผู้โดยสาร” อย่างแท้จริง

‘คนพิการ’ ผู้โดยสารที่ไม่มีตัวตน


ย้อนหลังไปหลายปี ที่เคยมีคนพูดถึงรถเมล์ชานต่ำ (Low Floor Bus) น่าจะนับครั้งไม่ถ้วน หากแต่ครั้งที่เป็นที่จดจำคือเมื่อปี 2556 เมื่อ ขสมก.กำลังจะจัดซื้อรถเมล์รุ่นใหม่หลังคันเก่าใช้งานมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางข้อสงสัยต่างๆ มีเสียงเล็กๆ ของคนพิการเรียกร้องอยู่ในนั้นว่า ต้องการให้รถเมล์ที่จัดซื้อทั้งหมด เป็นรถเมล์ชานต่ำไร้บันได เนื่องจากตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยได้ใช้ระบบขนส่งสารธารณะชนิดนี้เลย ในที่สุด ขสมก.ก็ยอมเปลี่ยนรูปแบบรถประจำทางมาเป็นรถเมล์ชานต่ำ ทว่าการเปลี่ยนนั้น เป็นการเปลี่ยนเพียงแค่บางส่วน เพราะจากรถจำนวน 3,183 มีรถไร้บันได เฉพาะรถปรับอากาศ จำนวน 1,524 คันเท่านั้น คันที่เหลือไม่ได้กำหนดว่า จะเป็นรถเมล์แบบมีบันไดพร้อมตัวยก หรือลิฟต์ เพื่อนำคนนั่งวีลแชร์เข้าสู่ตัวรถแทน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการจัดซื้อรถเมล์ลอตดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลด้านราคา สภาพภูมิประเทศ และปัญหาน้ำท่วมขัง

ศุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ประสานงานโครงการภายในประเทศ โครงการคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (DPI-AP) กล่าวว่า คนพิการนั่งวีลแชร์เช่นตน แทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการเปลี่ยนสายของรถเมล์เลย เพราะไม่ว่าจะเดินรถแบบเดิม หรือแบบปัจจุบัน หากตัวรถไม่ได้มีการพัฒนา ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง คนใช้วีลแชร์ก็ไม่สามารถใช้บริการได้เหมือนเดิม เพราะรถเมล์เกือบทั้งหมดเป็นรถเมล์ชานสูง ต้องเดินขึ้นบันไดไม่น้อยกว่า 3 ขั้น ไม่มีเสียง ไม่มีไฟกระพริบ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการ นับๆ ดูแล้วก็มีเพียง 3 คันในตอนนี้ จากทั้งหมดที่มีลิฟต์บริการด้านข้าง ซึ่งเคยถูกนำมาวิ่งเส้นบางเขน-ลาดพร้าว และไม่วิ่งแล้วในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ ทรงกฤต พนาเรือง พ่อค้าขายของกิ๊ฟช็อป ซึ่งร่างกายใช้ภายใด้เพียงท่อนบนเล่าไว้ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ว่า

“เวลาขึ้นรถเมล์ ขาผมชอบไปเกี่ยวกับบันไดขั้นแรก แล้วประตูเองก็เล็ก กว่าจะโหนตัวขึ้นได้ก็ลำบากหน่อย วิธีที่ผมใช้ก็คือดึงตัวเองขึ้น ลากขาขึ้นอย่างนอนเลย บางทีมันก็บาดขา บางทีก็เกี่ยว เวลาลงก็ยิ่งลำบาก ต้องเอามือลงก่อน จากนั้นก็ไถลตัวลงไป แล้วคนช่วยก็มีน้อยมาก หลายครั้งก็เจออุบัติเหตุ ขายังขึ้นไม่เสร็จ แต่รถเมล์ออกแล้ว ผมก็ล้มตัวหลุดออกไปเลย โชคดีที่แค่ถลอกนิดหน่อย คือทีผ่านมา ผมว่ารถเมล์ไม่ค่อยอยากรับคนพิการเท่าไหร่ เขาจะชอบบอกว่าน้องมาทำไม มาให้เกะกะคนอื่น น่าจะอยู่บ้านเฉยๆ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน”

ศุภวัฒน์ได้ให้ความเห็นว่า นอกจากคนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์แล้ว คนที่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน หรือไม่สามารถงอขาก้าวขึ้นรถได้สะดวกนัก ก็ไม่สามารถใช้บริการรถเมล์ได้ นอกจากนี้คิดว่า คนตาบอดและตาเลือนรางจะเป็นคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถดังกล่าว

“คนตาบอด ตาเลือนรางจะอาศัยการจำว่าตัวเองจะไปที่ไหน และมักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างละแวกนั้น ให้ช่วยพาขึ้นรถในสายที่เขาต้องการ หากการประชาสัมพันธ์มีไม่ทั่วถึง เขาอาจบอกคนที่ให้ช่วยเหลือว่าไปสายนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ได้ไปทางที่เขาอยากไป” ศุภวัฒน์กล่าว

ซึ่งเมื่อบวกพ่วงกับความลำบากที่คนตาบอดต้องเจอเวลาขึ้นรถด้วยแล้ว อย่างที่อุดม อ่อนนาเลน ชายตาบอด เล่าไว้ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ว่า ตนเองใช้บริการรถเมล์จากพุทธมณฑลสาย 6 เพื่อมาทำงานที่จามจุรีสแควร์ทุกวัน ถึงจะเจอปัญหาน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น แต่บันไดก็เป็นอุปสรรคเพราะแต่ละสายมีขนาดบันไดไม่เท่ากัน บางคันบันไดสูง บางคันบันไดชัน ซึ่งเขาก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้ไม้เท้าคอยแตะไป เหมือนขึ้นบันไดสะพานลอย ก็ยิ่งทำให้การขึ้นรถเมล์ช่างยากลำบาก และเป็นการเดินทางที่ต้องเสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา

“ต้องยอมรับว่าการขึ้นรถเมล์มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะปัญหาที่เราเจอมีทั้งรถจอดไม่สนิท รถไม่จอดตรงฟุตบาธ หรือแม้แต่เรื่องบันไดเอง ซึ่งถ้าเป็นรถเมล์ที่ไม่มีบันได มันน่าจะสะดวกกว่า เพราะก้าวนิดเดียวก็ลงถึงพื้นแล้ว มันก็ช่วยลดความเสี่ยง ผมคิดว่า ที่ผ่านมาคนตาบอดไทยเองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่ออยู่ให้ได้ แต่ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามา คุณภาพชีวิตเราก็จะดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น”

จากข้อมูลที่ไปไม่ถึง สู่การเดินทางที่ไร้ประสิทธิภาพ

ศุภวัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การบอกเส้นทางเดินรถของรถเมล์นั้นเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก ที่ป้ายรถเมล์เองก็ไม่มีการบอกจุดหมายปลายทาง เส้นทางที่ผ่านอย่างชัดเจน ป้ายที่ติดบนตัวรถเองก็ดี เป็นป้ายแอบสแตรค อ่านแล้วไม่เข้าใจ ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนระบบการแบ่งสีแยกเขตวิ่งรถ ศุภวัฒน์ก็ยอมรับว่าน่าจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมทั้งมีการติดประกาศที่ป้ายและด้านข้างตัวรถชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้จึงอาจต้องขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ทั้งกับคนไม่พิการทั่วไป และคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินและการมองเห็น เพราถึงแม้จะมีตัวอักษรแนะนำเส้นทางเดินรถ แต่คนหูหนวกหลายคนไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีนัก รวมทั้งการสื่อสารกับกระเป๋ารถเมล์ก็อาจเป็นไปอย่างยากลำบาก

เช่นเดียวกับคนตาบอดที่อาศัยความคุ้นเคย และคนช่วยเหลือในการเดินทาง การเปลี่ยนสายน่าจะสร้างความสับสนและอาจต้องใช้การปรับตัวสักพัก เพื่อให้คุ้นชินเส้นทาง แม้การบอกข้อมูลการเดินรถกับคนตาบอด อาจทำได้โดยการมีแผนที่แบบนูน พร้อมอักษรเบรลล์ หรือการมีเทปเสียงบอกข้อมูล แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งอำนวยการเข้าถึงเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ และไม่มีทีท่าว่าจะได้ใช้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

หากย้อนดูประเทศใกล้ๆ เราอย่างสิงคโปร์ จะพบว่า รถเมล์ของสิงคโปร์เป็นรถชานต่ำ มีตัวอักษรไฟกระพริบ และเสียงบอกอย่างชัดเจน คนพิการ คนแก่ คนถือกระเป๋า ฯลฯ ก็จะไม่รู้สึกตัวเองเป็น No one อีกต่อไปเพราะพวกเขามีพื้นที่ยืนหรือนั่งในรถเมล์ได้เหมือนคนอื่นในสังคม

คนพิการจะใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อไม่มีสิทธิการเข้าถึง

เดิมในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาตรา 54 ระบุว่า คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรานี้หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งที่เป็นมาตราที่นำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายรองต่างๆ เช่น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 ฯลฯ และถึงแม้ในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 จะมีมาตราดังกล่าวบังคับใช้อยู่แต่ภาพความจริงกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะเรื่องนี้แทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพราะคนพิการมักถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อยของสังคม

ในส่วนหนึ่งของบทความ 'รถเมล์ชานต่ำ' ทางเลือกแห่งความคุ้มค่า : 'คุณภาพชีวิต' หรือ 'งบประมาณ' ? ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ในปี 2557 ได้มีการต่อสู้เรื่องรถเมล์ชานต่ำโดยกลุ่มคนพิการวางแผนจะบอยคอตไม่ใช่บริการจัดซื้อรถเมล์ชานต่ำ เพราะหากใช้ก็เท่ากับยอมรับความไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม

เพราะหลังจากรถเมล์ชานต่ำ กลายเป็นรถเมล์ติดลิฟต์ไปครึ่งหนึ่ง การขึ้นลงรถของคนพิการก็อาจต้องกินเวลากว่า 5 นาที เมื่อบวกกับสภาพการจราจรที่แน่นขนัดแล้ว คนพิการก็อาจถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมได้อย่างง่ายๆ กลุ่มคนพิการจึงเสนอให้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง TOR จัดซื้อรถเมล์ และย้ำว่าต่อให้ใช้เวลานาน 1-2 ปีก็จะสู้ เพื่อไม่ให้อีก 20-30 ปีข้างหน้า มีรถชานสูงเหล่านี้วิ่งบนถนน และทำให้โอกาสที่รถเมล์ชานต่ำจะถูกนำมาใช้ยิ่งมีน้อยลง


เส้นทางรถเมล์ 8 เส้นทางใหม่

สายสีเขียว (G- Green) G 21 ย่านรังสิต บางเขน G 59E มีนบุรี

สายสีแดง (R-Red) R 3 ย่านปากน้ำ คลองเตย R 41 สาธุประดิษฐ์

สายสีเหลือง (Y-Yellow) Y 61 ย่านพระประแดง Y 59 พระราม2 ศาลายา

สายสีน้ำเงิน (B-Blue) B 44 ย่านหมอชิต ดินแดง B 45 สวนสยาม


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ thisAble.me 'คนพิการอยู่ตรงไหน? เมื่อรถเมล์ไทยเปลี่ยนสี'

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.