Posted: 14 Jun 2018 08:05 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (12 มิถุนายน 2561) เวลาประมาณ 10.45 น. ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี

มูลเหตุของคดีนี้มีที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ปฏิบัติการตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 4 บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงของผู้ฟ้องคดีทั้งหกด้วย รวมแล้วมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาจำนวน 98 หลัง

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

วันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ่งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละ10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับเต็ม)

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี

ในการฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้มีผู้ฟ้องคดีที่ 2 , 4 ผู้แทนผู้ฟ้องคดีที่ 5 และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 มาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 มาศาล

ก่อนอ่านคำพิพากษา ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาได้ชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก แม้ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ขอให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล นอกจากนี้ ตุลาการยังได้อธิบายด้วยว่า เหตุที่ศาลปกครองต้องเร่งรีบในการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีที่จะช่วยวางบรรทัดฐานสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาแจ้งว่า คำพิพากษามีความยาวทั้งสิ้น 57 หน้า แต่ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาจะขออ่านเฉพาะในส่วนคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคู่กรณีใน 2 ประเด็น คือ (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม)

ประเด็นแรก สิทธิในการฟ้องคดีและการยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสูดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว

ส่วนประเด็นที่สอง เป็นการวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกหรือไม่ และหากเป็นการละเมิด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก ให้ชดใช้ค่าเสียหายรายละเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท

ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นย่อยๆที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ก้าวหน้าและประเด็นที่คงที่ จึงขอหยิบยกบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้

ประเด็นแรก ศาลปกครองสูงสุดยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 49)

ประเด็นนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต่อสู้มาตลอดว่าพวกเขาเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดิน โดยบรรพบุรุษเกิดและอาศัยในบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีหลักฐานต่างๆที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิม อาทิ เหรียญชาวเขาที่ทางราชการได้แจกให้เป็นที่ระลึกเมื่อปี พ.ศ. 2512 – 2513 รวมถึงหลักฐานจากการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้เดินเท้าสำรวจประชากรชาวเขา เมื่อ 22 เมษายน 2531 ณ พื้นที่บริเวณบ้านใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน และบ้านโป่งลึก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนอยู่อาศัยเป็นชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว

เดิมทีในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ไม่ได้ยอมรับการดำรงอยู่ของบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในฐานะเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า การอยู่อาศัยและทำกินในบริเวณดังกล่าวเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าแปลงใหม่ ไม่ใช่การดำเนินการในพื้นที่ที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยศาลมองว่าบริเวณชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงมีเพียงที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านบางกลอยหมู่ที่ 1 หรือหมู่บ้านโป่งลูกหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพียง จังหวัดเพชรบุรี (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 28) แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พื้นที่บริเวณที่ศาลบอกว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมนั้น เป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชาวบ้านโปร่งลึก แล้วรัฐนำมาแบ่งให้ชาวบ้านบางกลอยบน/ใจแผ่นดินที่ถูกอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมนับแต่ปี 2539 จำนวนหนึ่งได้อยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองพื้นที่พอสมควร อีกทั้งพื้นที่ที่นำมาจัดสรรให้นั้น ก็ไม่สามารถจัดสรรได้ครบตามจำนวนผู้ที่ถูกอพยพลงมา และพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตเดิมได้

ประเด็นที่สอง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก

เดิมทีในคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีแล้ว เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ การปฏิบัติการดังกล่าวจึงถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 25)

อย่างไรก็ดี ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ได้กลับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในประเด็นดังกล่าว โดยเห็นว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก พร้อมทั้งได้วางบรรทัดฐานการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ไว้อย่างละเอียด กล่าวคือ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 48 – 49)
การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในอันที่จะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจหรือโดยพละการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเขาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิอื่นใดอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายเกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ

พนักงานเจ้าหน้าที่สมควรต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของตนเสียก่อน

แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจะมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการเข้าทำลายหรือถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ในทันที ต้องแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกระทำการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควร โดยระบุค่าใช้จ่ายหรือจำนวนค่าปรับทางปกครอง ระยะเวลาดำเนินการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ โดยแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร พร้อมทั้งปิดประกาศคำสั่งแจ้งเตือนดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีตำรวจภูธรแห่งท้องที่และสถานที่ที่จะดำเนินการแห่งละ 1 ชุดก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร แล้วจัดทำบันทึกการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐาน

ภายหลังจากดำเนินการแล้ว ต้องจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการบัญชีทรัพย์สินที่ทำลายหรือรื้อถอนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้เก็บรักษาไว้ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่ แผนที่สังเขปบริเวณที่ดำเนินการ พร้อมภาพถ่ายแล้วนำเรื่องราวทั้งหมดพร้อมพยานหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรธรแห่งท้องที่ในทันที

ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังที่กล่าวมา จึงเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวและเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก

ประเด็นที่สาม ศาลปกครองสูงสุดนำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาใช้ประกอบการวินิจฉัยการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อุทยานฯด้วย

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นหนึ่งในประเด็นข้อต่อสู้ที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดียกขึ้นมาอ้างอิงทั้งในชั้นศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโดยรัฐ และให้ศาลปกครองรับรองมติดังกล่าวเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในชั้นของศาลปกครองกลางนั้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยว่าพื้นที่พิพาทไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ศาลจึงวินิจฉัยว่ามติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ไม่สามารถนำมาใช้ได้ โดยศาลให้เหตุผลว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ความคุ้มครองเฉพาะในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางป่าในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าแปลงใหม่ (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 27 – 28)

ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยต่างไปจากศาลปกครองกลาง โดยได้นำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม มาประกอบการวินิจฉัยในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าอุทยานแก่งกระจานว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย (กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่สอง) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศาลปกครองสูงสุดได้ยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ศาลปกครองสูงสุดจึงนำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2503 มาประกอบการวินิจฉัยด้วย

ประเด็นที่สี่ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมอุทยานฯรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรื้อถอนเผาทำลายบ้านและยุ่งฉางด้วย

เดิมทีศาลปกครองกลาง วินิจฉัยให้กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะแต่ในส่วนของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นสิ่งของที่จำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งของในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ อยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สิน แล้วนำมาเก็บรักษา เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลัง หรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่อสร้างที่จะเผาทำลายได้ โดยศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ผู้กรมอุทยานฯ ชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท

ส่วนค่าสินไหมทดแทนกรณีความเสียหายต่อเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางนั้น เนื่องจากศาลปกครองกลางเห็นว่าการรื้อถอนเผาทำลายดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ศาลจึงไม่พิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่าการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลุกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีดังที่กล่าวไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดค่าสินไหมทดแทนใหม่ โดยให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีการรื้อถอนเผาทำลายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางด้วย โดยในคำวินิจฉัยส่วนนี้ศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน ศาลปกครองสูงสุดอธิบายว่า “….ไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากเครื่องอาศัยยังชีพ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้งบุคคลไม่อาจถูกจำกัดแค่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆเท่านั้น แต่ต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วย หากสิทธิดังกล่าวถูกลิดรอนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเสียหาย บุคคลนั้นย่อมต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหาย คดีนี้เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทำการไปโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวและใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 การที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรง กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินของผู้ถูกผู้ฟ้องคดีทั้งหกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย..” (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 50)

โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าเสียหายจากการที่สิ่งปลูกสร้าง บ้านและยุ้งฉางถูกรื้อถอนเผาทำลายเป็นเงินกึ่งหนึ่งของราคาประมาณการก่อสร้าง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วศาลพิพากษาให้รายละ 41,000 บาท ส่วนค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ศาลพิพากษาให้ชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกคนละจำนวน 10,000 บาทเช่นเดิมตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ดังนั้น โดยรวมแล้ว ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายจะได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 50,000 บาท

ประเด็นสุดท้าย ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีสิทธิกลับคืนบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เพราะอยู่ในเขตอุทยานฯและผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานแสดงการอนุญาตจากทางราชการ

การขอกลับคืนถิ่นฐานเดิมที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมต่อสู้มาตลอดทั้งในศาลปกครองกลาง ต่อเนื่องมาจนถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแม้ศาลสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะยอมรับว่า บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ไม่อาจจะพิพากษาให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพราะพื้นที่พิพาทดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปแล้ว และชาวบ้านก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารมาแสดงว่าได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ศาลปกครองสูงสุดจึงออกคำบังคับในเรื่องนี้ให้ไม่ได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 56)

ปัญหาเรื่องกฎหมายบุกรุกคน เป็นเรื่องที่มีการต่อสู้กันทางกฎหมายมาอย่างยาวนาน แม้หลายกรณีชาวบ้านจะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน หรือเขตอุทยานก็ตาม แต่เมื่อปรากฎว่าพื้นที่เหล่านั้นถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนหรืออุทยานแล้ว หากไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากรัฐให้อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านก็จะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย เป็นคนบุกรุกป่า และต้องออกจากพื้นที่ การพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริงว่าอยู่มาก่อนโดยไร้เอกสารทางการที่อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินได้ ย่อมไม่ช่วยให้ชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจช่วยได้อย่างมากก็เพียงให้ชาวบ้านรอดพ้นจากความผิดอาญาจากการเป็นผู้เจตนาบุกรุกป่า แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านก็ต้องออกจากพื้นที่ ดังเช่น คดีชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ 2 คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าสงวน ที่แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาว่าพวกเขาไม่มีความผิด เพราะในข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่าพวกชาวบ้านทั้งสองอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน จึงไม่มีเจตนาบุกรุก แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแล้ว พวกเขาก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยต่อไป ต้องออกจากพื้นที่ (คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแม่อมกิ )

ผู้เขียนยังไม่รู้ว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร แต่ผู้เขียนก็คิดว่า ศาลคงทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องช่วยกันต่อไปคงต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ “คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร”



ที่มา: http://naksit.net/2018/06/

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.