Posted: 09 Jun 2018 07:44 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prahatai.com)

ก.แรงงาน แจง จบ ป.ตรีเตะฝุ่นมีหลายสาเหตุ แนะเรียนสาขาตลาดรองรับมีงานทำ

9 มิ.ย. 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวตัวเลขของผู้จบปริญญาตรีตกงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่นนั้น พบว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน และข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนพฤษภาคม 2561 ยอดคนตกงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 170,900 คนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีใหม่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเดิม ซึ่งในภาพรวมการตกงานมีหลายสาเหตุ เช่น การเลือกเรียนในสายที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่เป็นการเลือกตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาตกงาน หรือได้งานทำไม่ตรงกับสาขาที่เรียน หรือทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำ เนื่องจากอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อ หรือพักอยู่กับบ้าน ผู้ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี บางส่วนมีความต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเท่านั้น เพราะครอบครัวมีธุรกิจหรืออาชีพที่ต้องการให้บุตรหลานรับช่วงต่อ รวมถึงเป็นผู้ที่ลาออกจากงานเดิม และต้องการเปลี่ยนงานใหม่เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงาน

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงระดับปริญญาตรี เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวจัดส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหางาน อีกทั้ง ยังได้มีบริการแนะแนวอาชีพ แก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ทราบถึงอาชีพและลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มีตลาดแรงงานรองรับ

ทั้งนี้ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 180,180 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 22,345 อัตรา โดยผู้สนใจสามารถเลือกใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ทางเว็บไซต์ http://smartjob.doe.go.th และ Smart Job Center Application By Smartphone หรือโทรสายด่วน 1506 กด 2

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 9/6/2561

เตือนแรงงานต่างด้าวเร่งพิสูจน์สัญชาติ ภายใน 30 มิ.ย.นี้

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกำชับให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรีบพาแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาไปพิสูจน์สัญชาติ และจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระยะที่ 2 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 23 วัน ที่จะต้องปิดศูนย์ภายในวันที่ 30 มิ.ย. นี้

จึงขอย้ำให้เร่งดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวอย่ารีรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะอาจไม่ทันเวลา ทั้งยังอาจไม่ได้รับความสะดวก และขอเน้นย้ำชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกอย่างแน่นอน

โดยขณะนี้คงเหลือแรงงาน 3 สัญชาติที่ต้องพิสูจน์สัญชาติจำนวน 37,414 คน เป็นกัมพูชา 30,122 คน ลาว 6,452 คน เมียนมา 840 คน จากยอดที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น 134,491 คน เป็นกัมพูชา 104,457 คน ลาว 12,327 คน เมียนมา 17,707 คน ส่วนแรงงานคงเหลือที่ต้องเข้าศูนย์ OSS มีจำนวน 93,657 คน เป็นกัมพูชา 61,295 คน ลาว 10,205 คน เมียนมา 22,157 คน จากจำนวนที่ต้องเข้าศูนย์ OSS 360,222 คน

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หากพ้นกำหนด 30 มิ.ย. นี้ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ ซึ่งกรมการจัดหางานจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

ขณะเดียวกัน นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่มา: Voice TV, 8/6/2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาก่อนได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นหากนายจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกติหรือทำงานล่วงเวลาจะต้องให้ลูกจ้างยินยอมก่อนที่จะมีการทำงานล่วงเวลาทุกครั้ง อย่างไรก็ตามกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานมีความจำเป็นต้องทำติดต่อกันไปหากหยุดจะเสียแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเท่าที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากลูกจ้าง

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ที่ทำด้วย และหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/6/2561

กรมการจัดหางานเผยแรงงานไทยถูกระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุด

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถิติเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีคนหางานถูกระงับการเดินทางเนื่องจากมีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 75 คน ซึ่งมีจำนวนลดลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุด จำนวน 45 คน รองลงมาเป็นบาห์เรน จำนวน 10 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 9 คน จีน จำนวน 5 คน อินเดีย จำนวน 2 คน ไต้หวัน จำนวน 1 คน มอลโดวา จำนวน 1 คน รัสเซีย จำนวน 1 คน และตุรกี จำนวน 1 คน

ขณะที่คนหางานเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 8,379 คน โดยส่วนใหญ่ไปทำงานในแถบทวีปเอเชียมากที่สุด จำนวน 5,504 คน 3 อันดับแรก คือ 1. ไต้หวัน 3,355 คน 2. อิสราเอล 816 คน 3. ญี่ปุ่น 675 คน รองลงมาเป็นประเทศในแถบทวีปตะวันออกกลาง 1,538 คน และประเทศในแถบทวีปยุโรป 711 คน

นายอนุรักษ์ กล่าวว่า คนหางานส่วนใหญ่มักจะถูกหลอกให้หลงเชื่อยอมจ่ายเงินเพื่อไปทำงานต่างประเทศผ่านทางสื่อโซเชียล ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยอ้างว่าจะมีรายได้สูง สวัสดิการดี มีการส่งภาพสถานที่หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศมาให้คนหางาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงขอแจ้งเตือนว่าอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างดังกล่าว และขอให้สอบถามข้อมูลให้รอบคอบกับกรมการจัดหางานก่อน โดยติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: Voice TV, 7/6/2561

พนักงาน กฟภ. 3 จังหวัดชายแดนใต้แต่งดำต่อเนื่องค้าน RPS

นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่า พนักงาน กฟผ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังแต่งชุดดำจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อคัดค้านแนวคิดของรัฐบาลในการจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าตั้งขึ้นแล้วประโยชน์อยู่กับใคร โดยหากในแง่ผู้ใช้ไฟฟ้า 500,000 รายในพื้นที่จะมีความเสี่ยง เพราะบริษัทนี้จะเข้ามาดูแลไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งบริษัทจะต้องคำนึงถึงกำไรถึงจะอยู่ได้ แต่ปัจจุบันการจำหน่ายไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีกำไร มีการนำเงินจากนอกพื้นที่มาช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐในพื้นที่มีการจ่ายค่าไฟฟ้าล่าช้า ทาง กฟภ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจก็เอื้อให้จ่ายล่าช้าได้ แต่หากเป็นบริษัทตั้งขึ้นมาแล้วจะดำเนินการรูปแบบนี้ได้หรือไม่ ซึ่งวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ทาง สร.กฟภ.ภาคใต้จะพบผู้บริหาร กฟภ.เพื่อรับทราบการชี้แจงในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันหากตั้งขึ้นเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล หากเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นบริษัทรับซื้อต้องมาขายแพง ประชาชนก็ต้องซื้อไฟฟ้าแพงหรือไม่

"ตามแผนที่ตั้ง RPS ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีที่ปรับปรุงหม่ ต้องโอนผู้ใช้ผู้ใช้ไฟฟ้า 500,000 ราย ไปบริษัทใหม่ แล้วพนักงาน กฟภ.ในพื้นที่ 500-600 คนจะถูกลอยแพหรือไม่ ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะได้รับการดูแลอย่างไร ก็ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ และเรื่องเช่นนี้ควรให้คนในพื้นที่รับทราบก่อนดีหรือไม่" นายสมชาย กล่าว

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พื้นที่ไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลก็เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคงและเรื่องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอชี้แจงรายละเอียด

ทั้งนี้ เอกสารของกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า การจัดตั้งบริษัท RPS จะมีผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย กฟภ.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานละร้อยละ 24.5 ส่วนอีกร้อยละ 51 ถือหุ้นโดยกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และในอนาคตวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จะเข้ามาถือหุ้นทดแทนกองทุนอนุรักษ์ฯ โดยทาง กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.จะเป็นผู้คัดเลือกจัดตั้งขึ้นเพื่อกระจายรายได้และสร้างการเจริญเติบโตในท้องถิ่นกระจายอำนาจให้ชุมชนให้ชุมชนมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของและรักษาระบบไฟฟ้า

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 7/6/2561

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งช่วยเหลือลูกจ้างพนักงานดูแลต้นไม้บริเวณสวนหย่อมศาลากลาง จ.พัทลุง ไม่ได้รับค่าจ้าง

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์แรงงานกรณีพนักงานดูแลต้นไม้บริเวณสวนหย่อม และพนักงานทำความสะอาดบริเวณศาลากลาง จ.พัทลุง จำนวน 10 คนเข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า ถูกบริษัทจ้างเหมาแห่งหนึ่งลอยแพ ไม่จ่ายเงินเดือนมา 2 งวดแล้ว พร้อมสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบและให้การช่วยเหลือคุ้มครองลูกจ้าง เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พัทลุง พบว่า หจก.สมบัติทิพย์การก่อสร้างแอนด์ คลีนนิ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 16 ม.11 ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนายสมบัติ ชุมทอง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำสัญญารับจ้างทำความสะอาดอาคารสถานที่กับศาลากลาง จ.พัทลุงทั้ง 2 หลัง

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พัทลุง ได้มีหนังสือเรียกพบ หจก.ฯ เพื่อสอบข้อเท็จจริง แต่ หจก.ฯ ไม่มาพบพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พัทลุง ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอกันเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง แต่จังหวัดได้แจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างกับหจก.ฯ แล้ว และจังหวัดจะนำเงินริบประกันมาจ่ายให้กับลูกจ้าง แต่ไม่สามารถนำจ่ายได้เนื่องจากนำเงินคืนคลังไปแล้ว พนักงานตรวจแรงงาน จึงได้มีคำสั่งที่ 3/2561 ลงวันที่ 30 พ.ค.61 ให้หจก.ฯ จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. – 30 เม.ย. 61 เป็นเงิน 118,400 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เริ่มสัญญาจ้าง 1 ต.ค. 60 – 30 เม.ย.61 เป็นเงิน 229,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 347,500 บาท เป็นค่าจ้างให้ลูกจ้างตามสิทธิต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 6/6/2561

ผู้ประกันตนใช้สิทธิ "ทำฟัน" ไม่ต้องสำรองจ่ายเพิ่มขึ้น เผย 4 เดือน ยอดพุ่ง 7.4 แสนครั้ง

สปส.เผยผู้ประกันตนใช้สิทธิทำฟันไม่ต้องสำรองจ่ายเพิ่มขึ้น แค่ 4 เดือน พุ่ง 7.4 แสนครั้ง ประกันสังคมควักจ่ายแล้ว 500 กว่าล้านบาท สะท้อนผู้ประกันตนพึงพอใจ ผู้มีรายได้น้อยเข้ารักษามากยิ่งขึ้น เผยคลินิกเข้าร่วมโครงการไม่ต้องสำรองจ่ายแล้ว 1,504 แห่ง

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีสิทธิประโยชน์ทันตกรรมเบิกจ่ายตรงค่ารักษา ไม่ต้องสำรองจ่าย ว่า ยอดล่าสุด ม.ค. - เม.ย. 2561 มีผู้ประกันตนมาใช้บริการระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบไม่ต้องสำรองจ่ายแล้วกว่า 742,950 ครั้ง สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 500 กว่าล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความพึงพอใจในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน และจากข้อมูลตัวเลขผู้ประกันตนที่มาใช้บริการกรณีทันตกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำนวนการใช้สิทธิของผู้ประกันตนมีปริมาณที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นระบบจ่ายตรงแล้ว พบว่า มีผู้ประกันตนที่ไม่เคยไปรับบริการกรณีทันตกรรมเลย เนื่องจากไม่มีเงินสำรองจ่าย สามารถเข้ารับการบริการกรณีทันตกรรมได้เพิ่มมากขึ้น

นพ.สุรเดช กล่าวว่าปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชนหรือคลินิกเข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ประกันตนจำนวน 1,504 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนสามารถสังเกตป้ายสติกเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยผู้ประกันตนใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมในอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี สำหรับกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานคือ ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อ สปส.พื้นที่ จังหวัด หรือสาขาทั่วประเทศ เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์ ผู้ประกันตนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สปส.ทั่วประเทศ หรือศูนย์บริการสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: MGR Online, 4/6/2561

ข่าวดี ! รับสมัครไปทำงานด้านการบริการ 13 อัตราที่มาเก๊า รายได้สูงสุดเดือนละกว่า 57,000 บาท

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รับสมัครพนักงานเพื่อจัดส่งไปทำงานมาเก๊า กับบริษัท Wynn Palace ในงานด้านการบริการ จำนวน 4 ตำแหน่ง 13 อัตรา ค่าจ้างสูงสุดกว่า 57,000 บาทต่อเดือน สมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ฟรีไม่มีค่าบริการแต่อย่างใด

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครพนักงานเพื่อไปทำงานที่มาเก๊า กับบริษัท Wynn Palace จำนวน 4 ตำแหน่ง 13 อัตรา คือ 1. ตำแหน่ง F&B Server Team Leader (หัวหน้างานบริการ) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 14,000 PATACA มาเก๊า (MOP) หรือประมาณ 57,312 บาท คุณสมบัติมีอายุ 21 ปีขึ้นไป 2. ตำแหน่ง F&B Hostperson (พนักงานต้อนรับ) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 11,000 PATACA มาเก๊า (MOP) หรือประมาณ 45,031 บาท คุณสมบัติ มีอายุ 21 ปีขึ้นไป สูง 168 เซนติเมตรขึ้นไป ทำงานเป็นกะได้ 3. ตำแหน่ง F&B server (พนักงานเสิร์ฟ) จำนวน 4 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 9,000 PATACA มาเก๊า (MOP) หรือประมาณ 36,843 บาท คุณสมบัติ มีอายุ 21 ปีขึ้นไป สูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป 4. ตำแหน่ง F&B Busperson (พนักงานบริกร) จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 8,000 PATACA มาเก๊า (MOP) หรือประมาณ 32,750 บาท คุณสมบัติ มีอายุ 19 ปีขึ้นไป สูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป ทั้งนี้ ทุกตำแหน่งรับผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป ในสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม การจัดการงานบริการ หรือภาษาจีนกลาง สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมากหรือภาษาจีนได้ดี มีทักษะในการสื่อสารดี มีบุคลิกภาพดี และทำงานเป็นทีมได้ นอกจากนี้ หากมีประสบการณ์การทำงานด้านอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เงื่อนไขในการจ้างงาน คือ ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง สัญญาจ้างงาน 2 ปี นายจ้างจัดหาที่พัก อาหาร ชุดทำงานและรถรับส่งให้ในระหว่างปฏิบัติงาน นายจ้างรับผิดชอบค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจยื่นประวัติการทำงาน (Resume หรือ Curriculum Vitae) ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 สมัครฟรีไม่เสียค่าบริการใดใด สำหรับวิธีการคัดเลือกนั้น นายจ้างจะคัดเลือกจากประวัติของคนหางานในรอบแรก และรอบสองจะคัดเลือกโดยนายจ้างเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้ โดยหลอกให้เสียเงินเป็นค่าสมัคร ค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย เพราะอาจเสียเงินฟรีแล้วไม่ได้ไปทำงาน สอบถามข้อมูลและสมัครได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ชั้น 10 อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 และทาง E-mail : iom_overseas1@outlook.com หรือโทร. 02-245-1034 และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 4/6/2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.