Posted: 13 Jun 2018 01:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
คำถามว่า พระรับเงินผิดหรือไม่? ในแง่ธรรมวินัยพุทธะกล่าวไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีศรัทธาเลื่อมใสมอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า พวกท่านจงจัดหาของที่สมควรมาถวายแก่พระคุณเจ้าด้วยเงินทองนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของที่เป็นกัปปิยะ จากเงินทองนั้น แต่เรามิได้กล่าวไว้เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ " (วิ.มหาวิ. 2/149 , วิ.มหาวิ.อฏ. 1/862)
ความหมายของข้อความข้างบนคือ หากมีชาวบ้านเขาอยากถวายของที่จำเป็นแก่พระ แต่ตัวเองไม่สะดวกที่จะหาสิ่งของนั้นมาถวายเอง เขาก็ฝากเงินทองไว้แก่ “กัปปิยการก” คือคนที่คอยจัดหาของจำเป็นสำหรับถวายพระได้ (ปัจจุบันเรียก “ไวยาวัจกร”) พุทธะไม่ให้พระรับเงินทองไว้เอง และถือว่าการยินดีในเงินทอง และยินดีในการแสวงหาเงินทองด้วยวิธีใดๆ เป็นสิ่งที่ผิดสำหรับพระผู้ละการใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้ว ส่วนของที่จำเป็นหรือเหมาะควรแก่ชีวิตพระเรียกว่า “กัปปิยะ” ก็มีไม่กี่อย่างเรียกว่า “อัฐบริขาร” คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ ดังนั้น เงินที่ชาวบ้านฝากไว้กับไวยาวัจกรก็มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อนำไปจัดหา “ของที่จำเป็น” ดังกล่าวนี้เท่านั้น ถ้านำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นนอกจากนี้ก็ผิดจุดประสงค์
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในบริบทสังคมชมพูทวีป เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ที่เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิตผู้คนเหมือนยุคปัจจุบัน และวิถีชีวิตพระสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็ต่างกันมาก ดังนั้นเพื่อปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก พระในโลกสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องรับเงิน
แต่การที่พระรับเงินในยุคปัจจุบัน ก็มีปัญหาพื้นฐานสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ปัญหาหลักการธรรมวินัยและหลักการของรัฐสมัยใหม่
1. ปัญหาหลักการธรรมวินัย เมื่อมีธรรมวินัยระบุว่าพระรับเงินเป็นสิ่งที่ผิด (ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์) ก็ต้องยอมรับว่าผิด ไม่ใช่เลี่ยงบาลีว่าไม่ผิด คือควรยอมรับตรงไปตรงมาว่าวิถีชีวิตพระในโลกสมัยใหม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงจำเป็นต้องได้รับการ “ยกเว้น” ไม่ปฏิบัติตามวินัยพระข้อนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็น “ความจำเป็น” ก็มีข้อพิจารณาคือ ประการแรก จะเห็นว่าเจตนารมณ์ของธรรมวินัยคือไม่ต้องการให้พระสะสมเงินทอง เพราะขัดกับวิถีชีวิตสมณะ แต่ในความเป็นจริงพระในปัจจุบันกลับมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้เป็นแสนเป็นล้าน หรือสิบล้าน ร้อยล้านก็ได้ โดย “ไม่ต้องเสียภาษี” นี่เป็นความจำเป็นที่ขัดเจตนารมณ์ธรรมวินัยแน่นอน แต่ก็เป็นปัญหาที่วงการสงฆ์แก้ไม่ได้ หรือไม่เคยแก้
ประการที่สอง การอ้างว่าพระจำเป็นต้องรับเงิน เท่ากับเป็นการยืนยัน “สิทธิ” ส่วนบุคคลของพระในการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว และสิทธินี้ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับพระสามารถอ้าง “สิทธิมนุษยชน” เพื่อ “ยกเว้น” การไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัยบางข้อได้ แต่ปัญหาคือ พระไทยยืนยันว่าการบวชภิกษุณีต้องทำให้ถูกต้องตามธรรมวินัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถอ้างสิทธิมนุษยชนมาเป็นข้อยกเว้นได้
จะเห็นได้ว่า ข้ออ้างดังกล่าวสะท้อนลักษณะ “ศรีธนญชัย” 2 ด้าน คือ “การตีความธรรมวินัยแบบ 2 มาตรฐาน” คือพระตีความธรรมวินัยในเชิงผ่อนปรนสำหรับความจำเป็นของตนเอง แต่ไม่ยอมผ่อนปรนสำหรับความจำเป็นของคนอื่น และ “อ้างสิทธิแบบ 2 มาตรฐาน” คือตัวเองมีสิทธิได้รับการยกเว้นไม่ทำตามธรรมวินัยบางข้อได้ แต่คนอื่น(ผู้หญิงที่ต้องการบวชภิกษุณี)ไม่มีสิทธิเช่นนี้
2. ปัญหาหลักการของรัฐสมัยใหม่ ในวงการพุทธศาสนาบ้านเรามีการอ้างเสมอว่า กษัตริย์อุปถัมภ์พุทธศาสนามาแต่โบราณ เช่นให้ที่ดินแก่วัดต่างๆ ให้สมณศักดิ์แก่พระ และเบี้ยหวัดเงินเดือน หรือ “นิตยภัต” แต่พระตามลำดับสูง ต่ำทางสมณศักดิ์ ดังนั้นพระก็รับเงินกันเป็นประเพณีมายาวนานแล้ว รัฐก็อุปถัมภ์พุทธศาสนามายาวนาน และพระสงฆ์ก็ทำประโยชน์แก่สังคมไทยมายาวนานเช่นกัน
ข้ออ้างดังกล่าว ขาดการพิจารณาจำแนกแยกแยะหลัก “ความชอบธรรม” ของรัฐสมัยเก่ากับรัฐสมัยใหม่ กล่าวคือ ที่ว่ารัฐสมัยเก่าทำแบบนั้น เพราะเป็น “รัฐพุทธศาสนา” ที่พุทธศาสนาสถาปนากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว, สมมติเทพ และกษัตริย์ที่มีสถานะเช่นนั้นซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ย่อมมีความชอบธรรมที่จะให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ แต่รัฐสมัยใหม่ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยถือหลักการว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและให้หลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา รัฐไม่ได้มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ
ดังนั้น จึงมีปัญหาสำคัญว่า การที่พระ (และผู้นำศาสนาอื่นๆ ) มียศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือน และรับงบประมาณอุปถัมภ์ศาสนาจากรัฐ เป็นการขัดหลักความเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาหรือไม่ รัฐมีความชอบธรรมในการทำหน้าที่ทางศาสนาเช่นนี้หรือไม่ หรือศาสนาต่างๆ มีสิทธิหรือมีความชอบธรรมอะไรในการเอาอำนาจสาธารณะ(กฎหมาย)และเงินภาษีประชาชนของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาไปใช้ในการปกป้องและอุปถัมภ์การเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนา อันเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มศาสนาของตนๆ
ดังนั้น การแก้ปัญหาในวงการสงฆ์ หรือการปฏิรูปพุทธศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งโจทย์เดิมๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะปฏิรูปให้พระสงฆ์สอนถูกปฏิบัติถูกหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก เพราะไม่มีทางทำได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่ควรตั้งโจทย์ใหม่ที่ถูกต้องว่า จะจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาใหม่ให้มี “ความชอบธรรม” ตามหลักการของรัฐประชาธิปไตย ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้อย่างไร
ถ้าตั้งโจทย์ถูก ย่อมสาสารถนำไปสู่การแก้ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญได้คือ แก้ปัญหา “ความไม่ชอบธรรม” ที่รัฐไปให้ยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือนแก่พระสงฆ์และผู้นำศาสนาต่างๆ และให้งบฯอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ (ที่ว่า “ไม่ชอบธรรม” เพราะขัดหลักความเป็นกลางทางศาสนาและหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา)
ส่วนการนักบวชในพุทธศาสนาพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ รับยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือน งบฯอุปถัมภ์จากรัฐ ก็ “ไม่ชอบธรรม” ตามหลักธรรมวินัยและหลักศาสนาของตนเองเช่นกัน เพราะศาสนาควรอยู่ด้วยเงินบริจาคจากศรัทธาของประชาชนที่นับถือศาสนานั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่รับเงินภาษีที่บังคับเอาโดยกฎหมาย และเป็นเงินที่มาจากประชาชนทุกคนรวมทั้งของคนไม่มีศาสนา หรือคนที่นับถือลัทธิ ความเชื่อ ศาสนาบ้านๆ ที่รัฐไม่รับรองและอุปถัมภ์เหมือนศาสนาหลักๆ ด้วย
สรุปคือ เรื่องปัญหาพระรับเงินถูกหรือผิด เผยให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนอื่นๆ อีก ซึ่งปัญหาพื้นฐานที่สำคัญคือ ปัญหาความไม่ชอบธรรมตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ และปัญหาความไม่ชอบธรรมตามหลักการธรรมวินัยเอง ดังที่กล่าวมา
แสดงความคิดเห็น