ภาพย้อมสีจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของแบคทีเรียอี.โคไล ซึ่งเป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่ถูกใช้ในงานวิจัย (ที่มา:วิกิพีเดีย)
Posted: 29 May 2018 09:51 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ผลวิจัยจากกลุ่มนักระบาดวิทยาล่าสุดชี้ ภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ผู้วิจัยคาด เชื้อดื้อยาอาจคร่าชีวิตคนมากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593
29 พ.ค. 2561 สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมีผลร้ายต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่าที่คิด มีการรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น กลุ่มผู้วิจัยในเรื่องนี้คือนักระบาดวิทยาจากหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต
บทคัดย่อของงานวิจัยระบุว่าแบคทีเรียหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะได้กลายเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก และอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้มากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593 เดเรก แมคฟาร์เดน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อผู้มีส่วนร่วมเขียนงานวิจัยนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีการวิจัยเรื่องที่โลกร้อนมีผลกระทบต่อโรคติดเชื้อหลายโรค แต่ในคราวนี้เป็นครั้งแรกที่พบว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้เชื้อดื้อยาโดยไม่จำกัดแต่เฉพาะในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใดที่หนึ่ง
นักวิจัยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเชื้อโรคที่มักจะพบกรณีการดื้อยาได้แก่ E. coli, K. pneumoniae และ S. aureus (staph) โดยอาศัยข้อมูลจากสถานพยาบาลหลายร้อยแห่งจาก 41 รัฐ พวกเขาพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 10 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 5-6 องศาเซลเซียส) จะทำให้ E. coli ดื้อยามากขึ้นร้อยละ 4.2 ทำให้ K. pneumoniae ดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ S. aureus ดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
นักวิจัยระบุอีกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการดื้อยาของเชื้อโรคคือการเพิ่มขึ้นของประชากร พวกเขาระบุว่าการเพิ่มขึ้นของประชากร 10,000 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ไมล์ (ราว 1.6 กม.) เขื้อ E. coli จะดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ขณะที่ K. pneumoniae จะดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
จอห์น บราวน์สไตน์ หัวหน้าแผนกนวัตกรรมและผู้อำนวยการกลุ่มระบาดวิทยาเชิงคำนวณจากบอสตันและฮาร์วาร์ดกล่าวว่าการค้นพบนี้ควรจะมีการวิจัยต่อยอดไปอีกเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวแปรเหล่านี้มีการเชื่อมโยงกันยังไง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคภัย ยารักษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
หน่วยงานควบคุมโรคของสหรัฐฯ เคยบันทึกว่ามีประชากรสหรัฐฯ 2 ล้านคนต่อปีติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 23,000 รายต่อปีจากการติดเชื้อเหล่านี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลกเคยประกาศว่าการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียถือเป็นภัยร้ายแรงระดับต้นๆ ต่อสุขภาวะประชากรโลก ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาในยุคปัจจุบัน
เรียบเรียงจาก
Climate Change Could Supercharge Threat of Antibiotic Resistance: Study, Common Dreams, May 25,
Antibiotic resistance increases with local temperature, Nature, May 21, 2018
แสดงความคิดเห็น