Posted: 31 May 2018 09:32 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

วิบากกรรมชาวแม่อายถูกอำเภอถอนสัญชาติยังไม่จบ แม้ชนะคดีศาลปกครองสูงสุดจนได้คืนสัญชาติเมื่อปี 2548 แต่ล่าสุดชาวบ้าน 154 รายร้องเรียนว่ายังถูกอำเภอ "ขึ้นบัญชีแดง" ออกหนังสือว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ต้องไปติดต่อขอพิสูจน์ตัวตน-จะได้ยกเลิกรายการแจ้งเตือนในสารบบ ชาวบ้านเผยลูกสาวทำงานกรุงเทพฯ ไปต่ออายุบัตรประชาชน กลับถูกสำนักงานเขตแจ้งว่าโดน "ขึ้นบัญชีแดง" ต้องเสียเวลากลับมาทำเรื่องถึงแม่อาย ด้านนักกฎหมายชี้การออกหนังสือและขึ้นบัญชีแดงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องกรมการปกครองยกเลิกวิธีปฏิบัติดังกล่าว

ชาวบ้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เดินทางมาที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 8 กันยายน 2548 รอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ชาวบ้าน อ.แม่อาย ฟ้องกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอแม่อาย ที่จำหน่ายชื่อชาวบ้าน 1,243 คน ออกจากทะเบียนบ้าน ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านได้สัญชาติไทยคืน แต่ล่าสุดยังมีกรณีชาวบ้านถูก "ขึ้นบัญชีแดง" ต้องเสียเวลากลับมาพิสูจน์ตัวตนที่อำเภอ ด้านกฎหมายชี้วิธีปฏิบัติของราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องกรมการปกครองเลิกวิธีดังกล่าว (ที่มา: พันทิพ/แฟ้มภาพ)

31 พ.ค. 2561 จากกรณีเมื่อปี 2545 ชาวบ้านแม่อาย โดย น.ส.ผ่องศรี อินหลู่และพวก ได้ยื่นฟ้องกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอแม่อาย ที่ออกคำสั่งในการจำหน่ายรายการบุคคลชาวบ้านแม่อาย จำนวน 1,243 คน ออกจากรายการทะเบียนบ้านคนมีสัญชาติไทย โดยมีประกาศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านแม่อายทั้ง 1,243 คนได้รับเอกสารและรายการเป็นคนมีสัญชาติไทยเช่นเดิม


ต่อมานางสุ ดวงใจ อายุ 54 ปีชาวบ้านแม่อายเปิดเผยว่า ตนและครอบครัวเป็นชาวบ้านแม่อายที่เคยถูกสำนักทะเบียนแม่อายจำหน่ายชื่อออกจากการมีสัญชาติไทย แต่ได้กลับคืนมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อไม่นานมานี้ลูกสาวของตนที่ไปทำงานที่กรุงเทพ ไปติดต่อขอต่อบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งหมดอายุ ทางสำนักงานเขตแจ้งว่า โดนขึ้นบัญชีแดงในระบบฐานข้อมูล (Caution Sign) ให้ไปติดต่อกับทางสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางกลับมาและหาพยานไปยืนยันตนเอง ทั้งที่เดิมสามารถต่อบัตรประจำตัวประชาชนที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีพยาน เพราะในรายการมีรูปถ่ายยืนยันตนอยู่แล้ว

นางสุกล่าวว่า ทางอำเภอแม่อายได้มีหนังสือถึงชาวบ้านแม่อาย 154 คน ซึ่งลูกของตน 3 คนก็ได้รับหนังสือด้วย ในหนังสือบอกให้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานอำเภอแม่อาย เพื่อยืนยันตัวบุคคล หากยืนยันได้จึงยกเลิกการแจ้งเตือนในโปรแกรมของกรมการปกครอง ซึ่งทำให้ตนและลูกๆ มีความกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากตนและลูกๆ รวมไปถึงบรรพบุรุษเป็นคนไทยที่เกิดและทำมาหากินในอำเภอแม่อายตลอดมา ไม่เคยทำเรื่องผิดกฎหมาย แต่ต้องมาโดนขึ้นบัญชีแดง เมื่อไปติดต่อกับทางอำเภอก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างคนไทยสมบูรณ์ได้

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ซึ่งให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแม่อายในการฟ้องศาลปกครองตั้งแต่ปี 2545 กล่าวว่า ชาวบ้านแม่อายกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 1,243 คน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้คงมีสัญชาติไทย เนื่องจากคำสั่งของอำเภอแม่อายสมัยนั้นในการจำหน่ายรายการชาวบ้านออกจากรายการสัญชาติไทย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 30 ที่ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงหลักฐานก่อน ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมายการทะเบียนราษฎรในปี 2551 ได้เพิ่มเติมแก้ไขอย่างชัดเจนว่า กรณีที่มีข้อมูลหลักฐานเชื่อได้ว่ารายการทะเบียนราษฎรไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดจากความเป็นจริง ให้อำนาจนายทะเบียนสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อน เพื่อรอการชี้แจงหรือโต้แย้ง

สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ทางกรมการปกครองขึ้นบัญชีแดง ชาวบ้านแม่อาย 154 คนเป็นบุคคลเฝ้าระวัง โดยยังไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด เป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้กรมการปกครองยกเลิกบัญชีแดงเฝ้าระวังในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรในทันที และให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร คือ ถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่าชาวบ้านคนใดมีรายการโดยมิชอบหรือผิดจากความเป็นจริง ก็ให้ระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียน และแจ้งเหตุที่มิชอบหรือผิดจากความจริงให้ชาวบ้านมาชี้แจงหรือโต้แย้งต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.