ชัยภูมิ ป่าแส


Posted: 06 Jun 2018 03:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ทนายชี้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพนักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ไม่ชี้ว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ออกหมายเรียกหลักฐานกล้องวงจรปิดแม้ร้องขอถึง 2 ครั้ง หวั่นอาจส่งผลให้อัยการสั่งไม่ฟ้องได้ จับตาคดีขึ้นศาลอาญาหรือศาลทหาร เหตุไม่เคยมีทหารถูกดำเนินคดีสักรายแม้แต่เหตุในภาคใต้ เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่กลาง ก.ค. ถกปัญหากระบวนการยุติธรรมในคดีวิสามัญฆาตรกรรมโดยทหาร

6 มิ.ย.2561 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนเรื่องชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาชนชาวลาหู่ กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ตรวจค้นยาเสพติดในรถยนต์และอ้างว่านายชัยภูมิขัดขืนการจับกุม มีพฤติกรรมจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงป้องกันตัวด้วยการยิง 1 นัดทำให้ชัยภูมิเสียชีวิตบริเวณใกล้กับด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ทั้งนี้ กระบวนการในวันนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีอาญาต่อไป

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความกลุ่มพิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และทีมทนายความคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า ตามมาตรา 150 นั้นศาลจะพิจารณาว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร และสามารถระบุผู้กระทำได้ว่าเป็นใคร ส่วนพฤติการณ์ที่มีการโต้แย้งกันว่า นายชัยภูมิ มียาเสพติดอยู่ในครอบครองหรือไม่ พยายามที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่กระทำไปเพื่อป้องกันตัวหรือไม่ ศาลไม่ได้วินิจฉัยให้ ศาลถือว่าเป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันอยู่

“ศาลไม่ได้ลงรายละเอียดในการวินิจฉัยว่า การตายของชัยภูมิเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ และการวิสามัญฯ นั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หรือเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลบรรยายเหมือนที่สาธารณชนรู้อยู่แล้วตามข่าว แต่ความจริงคืออะไรต่างหากที่อยากรู้” สุมิตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรา 150 เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้น ข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นเรื่องต้องไปต่อสู้กันเมื่อมีการฟ้องคดีในชั้นศาลไม่ใช่หรือ

“การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ศาลตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะตายในการควบคุมตัว หรือโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ ศาลต้องชี้ให้เห็นบางอย่างว่า เป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะเอาผลการไต่สวนนำไปสู่การที่พนักงานสอบสวนหรืออัยการสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าทำแค่นี้มันไม่มีประโยชน์ต่อการทำสำนวนในทางสอบสวนเลย ข้อมูลที่ศาลสั่งไปเท่ากับที่พนักงานสอบสวนมีอยู่แล้ว” สุมิตรชัยกล่าว

“ตอนนี้เรากำลังถกเถียงกันในทางหลักการของกฎหมาย เพราะวันนี้มีองค์กรหลายองค์กรที่เข้าสังเกตการณ์รวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมายด้วย เรากำลังคิดว่าจะต้องจัดเวทีวิชาการเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าหากศาลสั่งแค่นี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสอบสวน เพราะการวิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่การฆาตกรรมปกติ เพราะตายโดยอำนาจรัฐ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ มีความจำเป็นที่รัฐเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตาย หรือกระทั่งเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำการไปโดยชอบแล้ว” สุมิตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลมีคำสั่งแบบนี้ มีความเป็นไปได้ไหมที่อัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง

“เป็นไปได้ เพราะว่าหลักฐานสำคัญไม่ได้เข้ามา คือ กล้องวงจรปิด เราขอให้ศาลเรียกหลักฐานดังกล่าว 2 ครั้ง ศาลไม่เรียกเพราะเห็นว่าหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีนั้นเพียงพอแล้วในการมีคำสั่ง ในมุมของศาลก็ถูกต้องหากศาลจะสั่งเพียงเท่านี้ แต่หากต้องการชี้ความจริงบางประการ กล้องวงจรปิดเป็นส่วนสำคัญมากในการวินิจฉัย ทั้งนี้ตอนนี้ในชั้นสอบสวน ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการยังมีอำนาจในการเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้ เพราะสำนวนการสอบสวนยังไม่สรุป ทั้งสองหน่วยงานยังมีอำนาจเรียกกล้องวงจรปิดได้” สุมิตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมกระบวนการต่างๆ ในคดีนี้จึงยาวนาน โดยปกติแล้วมีกำหนดเวลาตามป.วิอาญาไหม

“หากเป็นคดีปกติที่เอกชนฆ่ากันจะมีกำหนดชัดเจนว่าอัยการต้องส่งสำนวนภายในเวลาเท่าไร แต่วิสามัญฆาตกรรมไม่มีเดทไลน์ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร อัยการต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อที่อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และไม่มีกำหนดเวลาในกฎหมาย นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคุยกันในเวทีวิชาการในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” สุมิตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำ ต้องขึ้นศาลอาญาหรือศาลทหาร

“ต้องดูว่าอัยการเจ้าของสำนวนจะสรุปส่งไปที่ศาลอาญาหรือศาลทหาร ถ้าไปศาลทหารก็จะลำบากเพราะในกฎหมายศาลทหารผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้อัยการทหารฟ้องเท่านั้น” สุมิตรชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาคดีอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้วิสามัญฆาตกรรมคดีไปที่ศาลทหารหรือศาลอาญา

“คดีลักษณะนี้ถ้าจะมีก็เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่ศาลเลยสักคดี มีแต่คดีแพ่งคดีฟ้องศาลปกครอง เราจึงไม่เห็นต้นแบบว่าไปศาลไหน เราคิดว่าระบบเป็นปัญหา เราอาจต้องรวบรวมคดีทางภาคใต้ด้วยเพื่อจัดเวทีพูดคุยปัญหา” สุมิตรชัยกล่าว

นายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทีมทนายความคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า ศาลได้ทำคำสั่งในข้อเท็จจริงที่ว่า นายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนปืนทำให้ถึงแก่ความตาย ที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ส่วนประเด็นที่อัยการกล่าวอ้างในคำร้องว่าเจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัว เพราะว่าชัยภูมิ ป่าแส จะใช้อาวุธมีดทำร้าย หรือใช้ระเบิดจะขว้าง เจ้าหน้าที่ทหารนั้น ศาลไม่ได้มีการวินิจฉัยในส่วนนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากทางญาติผู้ตายอ้างว่าชัยภูมิ ไม่ได้ต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยศาลได้ให้สิทธิในการไปฟ้องร้องในคดีนี้ได้ โดยคำสั่งในวันนี้ไม่ได้ตัดสิทธิญาติผู้ตายในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหาย แต่ในทางอาญาคงฟ้องร้องทหารไม่ได้ เพราะกฎหมายทหารจำกัดอำนาจการเข้าถึงของประชาชน ศาลทหารต้องให้อัยการศาลทหารเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง ดังนั้นจากที่ทีมทนายได้พยายามให้ข้อเท็จจริงสู่ศาลให้ได้มากที่สุด การที่จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดที่จุดเกิดเหตุที่ด่านรินหลวง ซึ่งไม่ได้เข้ามาสู่สำนวนคดี เพราะกล้องที่ทหารส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่งพิสูจน์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าไม่พบข้อมูลภาพในเหตุการณ์วันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น. แสดงว่าภาพเหตุการณ์ในจุดสำคัญได้หายไป ดังนั้นต้องฝากไปยังผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร และผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานตำรวจ ต้องสั่งการณ์สอบสวนว่าภาพหลักฐานสำคัญนี้ที่ได้ทำสำเนาไว้ตามคำสั่งอยู่ที่ใคร เพราะเป็นที่สนใจของสาธารณชนและถือเป็นประเด็นสำคัญทางคดี
ลำดับเหตุการณ์ คดีวิสามัญฆาตกรรม ‘ชัยภูมิ ป่าแส’

17 มี.ค.2560 – ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต

20 มี.ค.2560 – ทหารที่เป็นผู้ยิงชัยภูมิเข้ามอบตัว

23 มี.ค.2560 – พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่าชัยภูมิพัวพันคดียาเสพติด พร้อมระบุว่า “ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้”

25 เม.ย.2560 – เจ้าหน้าที่ทหารส่งมอบฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดให้กับพนักงานสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ส่งต่อฮาร์ดดิสก์ไปยังกองพิสูจน์หลักฐานทันที

18 พ.ค.2560 – ทนายความในคดีชัยภูมิระบุว่าภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดยังไม่ถึงมืออัยการ

29 พ.ค.2560 – ตำรวจและทหารบุกตรวจค้นบ้านกองผักปิ้ง จ.เชียงใหม่ พร้อมจับกุมสมาชิกครอบครัวของชัยภูมิ และไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ ผู้ตั้งคำถามกับการวิสามัญฆาตกรรมในคดีชัยภูมิ

5 ก.ย. 2560 – ศาลเชียงใหม่ไต่สวนคดีชัยภูมินัดแรก มีการสอบปากคำทหารผู้ยิงชัยภูมิ แต่ไม่มีการนำภาพบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุมาประกอบการไต่สวน

13-16 มี.ค.2561 – ศาลเชียงใหม่ไต่สวนพยานในคดีชัยภูมิเพิ่มเติม

24 เม.ย.2561 – ศาลเชียงใหม่พิพากษาปล่อยตัว ‘นาหวะ จะอื่อ’ ผู้ดูแลชัยภูมิ หลังถูกฝากขัง 331 วัน

6 มิ.ย.2561 – ศาลเชียงใหม่นัดฟังไต่สวนการตายของนายชัยภูมิ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.