Posted: 29 May 2018 10:21 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชำนาญ จันทร์เรือง

เรื่องของการกระจายอำนาจของไทยเราได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงและพยายามขับเคลื่อนมาหลายต่อหลายครั้งในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงก็ดี หรือการพยายามที่จะให้เชียงใหม่มีกฎหมายเป็นของตนเองในรูปแบบของการเป็นมหานครก็ดี จนต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 การกระจายอำนาจก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างจนได้มีการออกพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ที่มีหลักการสำคัญให้มีการกระจายรายได้และถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อมีการรัฐประหาร 2549 และมีรัฐธรรมนูญปี 50ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนรายได้ที่จะต้องแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 281 ก็ยังเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ปกครองตนเองโดยท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้และมาตรา 78 (3) ที่บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ “กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

จนเป็นที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ อันเป็นต้นแบบของ “จังหวัดจัดการตนเอง”กว่า 50จังหวัดต่อรัฐสภาโดยภาคประชาชนและตามมาด้วยการยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(ในสมัยนั้น)เพื่อให้ใช้เป็นกฎหมายกลาง แต่น่าเสียดายที่ทั้งร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ที่เสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2556 และการพยายามรณรงค์ร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองปกครองตนเองฯ ในต้นปี2557ต้องมีอันเป็นไปด้วยเหตุแห่งการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 แล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 40และ50 ทำให้ผู้คนที่มุ่งหวังที่จะให้มีการกระจายอำนาจมองไม่เห็นทางที่จะเดินต่อไป

แต่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้มีการเสนอร่างข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ปี พ.ศ.2561 เสนอต่อที่ประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้การรับรอง โดยในหมวด 1 ลักษณะ 2ว่าด้วยนโยบายของพรรคการเมือง ข้อ 7 (3)นโยบายด้านการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดไว้ว่า

“พรรคอนาคตใหม่สนับสนุนการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น กำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะในแต่ละพื้นที่เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก และราชการส่วนกลางมีอำนาจกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เฉพาะเท่าที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ราชการส่วนกลางเห็นว่าข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือการดำเนินการใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ราชการสวนกลางไมอาจออกคำสั่งยับยั้งได้ แต่ให้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือการดำเนินการนั้น

พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้แก่องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น โดยการพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นขั้นตอนเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในที่สุด ให้คงเหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น ในส่วนของราชการส่วนท้องถิ่นจะแบ่งเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล

ในช่วงขั้นตอนระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค พรรคอนาคตใหม่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆเพื่อลดทอนอำนาจของราชการส่วนกลางและราชการสวนภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนทองถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ พรรคอนาคตใหม่จะสนับสนุนให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาจากความพร้อมของท้องถิ่นและความสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ

พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีและมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ของตน โดยต้องกำหนดสัดส่วนการแบ่งภาษีระหว่างราชการส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีได้เอง โดยไม่ต้องให้ราชการส่วนกลางเป็นผู้จัดเก็บแล้วจึงแบ่งโอนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นนอกจากภาษี ไมว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือรายได้จากวิสาหกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พรรคอนาคตใหม่ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ คนในท้องถิ่นยอมมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆขององค์กรปกครองสวนท้องถิ่น การออกเสียงประชามติในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการตรวจสอบ การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

จากข้อบังคับฯ ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้ขับเคลื่อนในเรื่องของการกระจายอำนาจและผู้ที่อยากเห็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกทำให้หยุดชะงักและพยายามที่จะทำให้ถอยหลังกลับไปไกลกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งปวงนี้จะประสพความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มี พ.ร.บ.เกิดขึ้นมารองรับไม่ว่าจะเป็นในชื่อหรือรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งโอกาสในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะนี้โดยภาคประชาชนได้ถูกปิดลงโดยสิ้นเชิงเพราะไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 ว่ากฎหมายที่จะเสนอโดยการเข้าชื่อของภาคประชาชนจะต้องเสนอในหมวดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของรัฐเท่านั้น จึงเหลือเพียงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปเท่านั้น

ฉะนั้น การกระจายอำนาจจะมีผลในทางปฏิบัติก็ย่อมขึ้นอยู่กับการที่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดก็ตามที่มีแนวนโยบายเช่นนี้ได้รวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะเช่นนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ เพราะโอกาสที่ภาคประชนที่จะเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ได้ถูกปิดลงไปแล้ว

อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจย่อมขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนโดยแท้ที่จะผลักดันให้พรรคที่มีแนวนโยบายเช่นนี้ซึ่งมีอยู่หลายพรรคได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภาฯ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไปข้างหน้านี้ นั่นเอง

อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจอยู่ในมือท่านแล้วครับ



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.