Posted: 14 Jun 2018 06:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

พสิษฐ์ ไชยวัฒน์

ใครหลายคนมักสงสัยและตั้งคำถามว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ เรียนอะไรกัน ทำไมเนื้อหาวิชาถึงมีความสลับซับซ้อนจนยากแก่การเข้าใจ หรือมีสูตรและสมการคณิตศาสตร์ที่คนในสายงานเท่านั้นที่จะอธิบายได้ และบางครั้งเวลาฟังการให้สัมภาษณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจแล้ว ทำให้รู้สึกว่า ช่างเป็นเรื่องไกลตัวที่เกินกว่าการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ซึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่นั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออก หรือเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นหรือลงของอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์อยู่รอบตัวเราและใกล้ตัวมากกว่าที่คาดคิดไว้ ซึ่งเราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ เพราะทุกอย่างมีความเป็นเหตุเป็นผล สามารถประเมินค่าและจับต้องได้ หากประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาเรียนรู้หรือเข้าใจเนื้อหาเบื้องต้นแล้ว ก็จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็แล้วตามที

อ.ดร.เณศรา สุขพานิช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ Indiana University สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.เณศราเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งที่ได้กลับมาทำงานที่คณะ และเป็นหนึ่งในอาจารย์รุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ได้อธิบายความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า

“…เศรษฐศาสตร์คืออะไร คงมีตำราหลายเล่มเขียนอธิบาย โดยมากมักจะกล่าวถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำถามที่อาจจะอยู่ในใจหลายๆ คน คงมีว่า แล้วจัดสรรทรัพยากรอะไร ใครเป็นคนจัดสรร จัดสรรอย่างไร และใครควรเป็นผู้ได้รับทรัพยากรต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์..”

“…เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิชาหรือศาสตร์ที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ หลายคนมักคิดว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วคงต้องไปทำงานด้านการเงินการธนาคาร แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่จบเศรษฐศาสตร์เข้าไปทำงานในองค์กรหลากหลายรูปแบบทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะแท้จริงแล้วองค์กรต่างๆ ต่างก็มีทรัพยากรอย่างจำกัด เช่น จำนวนพนักงานมีจำกัด , งบประมาณค่าใช้จ่ายมีจำกัด , ช่องทางการจัดจำหน่ายมีจำกัด , เทคโนโลยีมีจำกัด , เวลามีจำกัด , วัตถุดิบมีจำกัด เป็นต้น ทำให้ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรืออาจจะเป็นองค์กรที่จะต้องตัดสินใจ หรือมีส่วนในการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรใดทรัพยากรหนึ่งหรือหลายชนิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด…”

“…คำถามถัดมาคือ แล้วการเรียนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรนั้นเรียนอะไร ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดนึง คือ เศรษฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ดีที่สุด หรือการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เกิดประโยชน์กับใครนั้น และประโยชน์ด้านใด ก็อาจจะต้องไปแจกแจงกันดูอีกที) ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยแนวคิดหรือเครื่องมือที่จะมาอธิบายการตัดสินใจนั้น ทางเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ


1. แนวคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงการตัดสินใจของหน่วยย่อย เช่น การตัดสินใจของผู้ผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ผู้บริโภค หรือครัวเรือน เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์สูงสุด (ประโยชน์ที่แต่ละคนต้องการอาจแตกต่างกันไป เช่น ผู้ผลิตอาจต้องการได้รับกำไรสูงที่สุดจากการผลิตสินค้าจำหน่าย , ผู้บริโภคอาจต้องการความพึงพอใจสูงที่สุดจากการบริโภคสินค้า เป็นต้น) ภายใต้ข้อจำกัดที่แต่ละคนหรือแต่ละองค์กรมี แนวคิดหรือทฤษฎีดังกล่าวเรียกว่า แนวคิดหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค

2. แนวคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงการตัดสินใจของหน่วยที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ ไม่ได้พูดถึงผู้ผลิตหรือผู้บริโภคสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการผลิตและการบริโภคสินค้า และการจัดสรรทรัพยากรโดยรวมของกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น ของจังหวัดหรือของประเทศ เป็นต้น แนวคิดหรือทฤษฎีดังกล่าวเรียกว่า แนวคิดหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นแนวคิดที่พยายามอธิบายความเชื่อมโยงของภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการผลิต , ภาคครัวเรือน , ภาครัฐ , ภาคการเงิน และภาคต่างประเทศ เป็นต้น ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม…”

“…ทั้งนี้นอกจากสาขาวิชาหลักอย่างเศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์ยังมีการนำเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคมาวิเคราะห์การจัดสรรทรัพยากรในด้านต่างๆ จนก่อให้เกิดสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เฉพาะหลากหลายสาขาวิชา เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน , เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (ว่าด้วยเรื่องการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ) , เศรษฐศาสตร์การคลัง (ว่าด้วยเรื่องรายรับ รายจ่าย และหนี้สาธารณะของภาครัฐ) , เศรษฐศาสตร์การพัฒนา , เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม , เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ , เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ , เศรษฐศาตร์เกษตร เป็นต้น…”

“…กล่าวโดยสรุป ถ้าถามว่าเศรษฐศาสตร์เรียนอะไร อาจจะตอบสั้นๆ ได้ว่า เศรษฐศาสตร์สอนหลักในการคิดวิเคราะห์เพื่อก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จากคำตอบนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดคนที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์จึงมักทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง หรือไปทำงานให้องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพราะทุกๆ ภาคส่วนต้องอาศัยบุคลากรที่สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่แต่ละองค์กรมีอยู่…”


ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Newcastle upon Tyne สหราชอาณาจักร อดีตหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน , อาจารย์พิเศษ , วิทยากรรับเชิญ และเจ้าของ Pocket Book ขายดีหลายเล่ม ผู้ผันตัวเองมาทำงานภาคเอกชน ตำแหน่งปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สายกลยุทธ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร งานในหน้าที่หลักก็คือ “…ในช่วงเช้าก่อนเริ่มทำงาน จะมีการสรุปข่าวสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งภาพรวมและพัฒนาการเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงนัยยะ (Implication) ให้กับทีมงานฝ่ายการตลาด…”

“…หลังจากนั้นงานหลักจะเป็นงานรายเดือน คือ การเตรียมประเด็นนำเสนอกับทางคณะกรรมการสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) ของธนาคาร โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศแบบรายเดือน ประเด็นความเสี่ยง รวมถึงโอกาสทางธุรกิจให้แก่คณะกรรมการ…”

“…นอกจากนั้น จะเป็นงานตามความต้องการของหน่วยงานอื่นๆ เช่น (1) สายความเสี่ยง ที่จะขอให้ฝ่ายวิจัยทำการประมาณการเศรษฐกิจและตัวแปรต่างๆ ในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดมา รวมถึงสถานการณ์ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ทางฝ่ายวิจัยกำหนดเองเพื่อนำไปให้ฝ่ายอื่นๆ วิเคราะห์ต่อเนื่องถึงผลกระทบที่จะมาสู่กลุ่มธุรกิจการเงินฯ (2) สายลงทุนและสายสินเชื่อบรรษัท ที่จะขอให้วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจมหภาคและความเสี่ยงของประเทศเพื่อนบ้านที่กลุ่มธุรกิจสนใจจะไปลงทุน และ (3) สายสินเชื่อธุรกิจ ที่จะขอให้วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศที่สายสินเชื่อนั้นๆ สนใจเพื่อหาโอกาสในการลงทุน รวมถึงระมัดระวังในประเด็นความเสี่ยงต่างๆ…”

ดร.ปิยศักดิ์ ให้ภาพความแตกต่างระหว่างวิชาที่เรียนจากในห้องเรียนกับชีวิตการทำงานที่เกิดขึ้นจริงว่า

“…เศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาจะเป็นเชิงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจนำมาใช้ในงานได้ประมาณ 50% สาเหตุที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้เต็ม 100% นั้น เนื่องจากในเชิงทฤษฎีจะเป็นแนวคิดในเชิงวิชาการ ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องนำบริบทอื่นมาประกอบด้วย เช่น การทำแบบจำลองเพื่อใช้ประมาณการทางเศรษฐกิจ (Macroeconomic Model) หากให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 100% ตัวแปรต่างๆ จะประสบปัญหาทางเศรษฐมิติ (Econometric) ทำให้ไม่สามารถทำได้ เราจึงต้องผ่อนคลายลงบ้าง รวมถึงนำปัจจัยที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจเข้ามาคำนึงในการประมาณการด้วย…”

“…ในส่วนของการวิเคราะห์นั้น แม้ว่าเราจะต้องแม่นในหลักการทางเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์มหภาค , เศรษฐศาสตร์การเงินและระหว่างประเทศ ที่จะมีผลต่อการวิเคราะห์คาดการณ์ตัวแปรต่างๆ ที่ภาคธุรกิจคำนึงถึง) แต่ในบางกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในประเทศชั้นนำทั่วโลก , ภาวะเทคโนโลยี 4.0 ที่พลิกเศรษฐกิจและธุรกิจโลก (Disruptive Technology) , ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) รวมถึงภาวะปกติใหม่ (New Normal)...”

“…สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและยังไม่มีทฤษฎีใดสามารถวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบ VUCA Risk Management โดย V ย่อมาจาก Volatility หรือความผันผวน , U ย่อมาจาก Uncertainty หรือความไม่แน่นอน , C ย่อมาจาก Complexity หรือความซับซ้อน และ A ย่อมาจาก Ambiguity หรือความคลุมเครือ โดย (1) ต้องคาดการณ์ผลต่อธุรกิจและ/หรือการลงทุนในกรณีต่างๆ (Scenario Analysis) (2) ทำแผนฉุกเฉินรองรับในกรณีต่างๆ ที่คาดการณ์ข้างต้น (Contingency Plan) (3) ทำการกระจายความเสี่ยง (Diversification) และ (4) ทำการประกันความเสี่ยง (Insurance)…”

หลายคนมักสงสัยและถามกันว่า เศรษฐศาสตร์มีประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน ซึ่ง ดร.ปิยศักดิ์ ได้ให้ความกระจ่างว่า “…มีประโยชน์มากในการวิเคราะห์และการทำงาน แต่ตามที่เรียนข้างต้นว่า หลักการเชิงเศรษฐศาสตร์แม้ว่าจะสำคัญและใช้เป็นทักษะหลักในงานที่ทำ แต่จำเป็นต้องนำความรู้และทักษะด้านอื่นๆ มาร่วมด้วยเพื่อให้การทำงานและการดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ เช่น การบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (หลักการด้านเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น) , การแบ่งเวลาระหว่างการทำงานและเวลาของครอบครัว (Quality Time) , การบริหารความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานรวมถึงคนในครอบครัว , การบริหารการเงินระหว่าง รายรับ/รายจ่าย เงินออม/เงินลงทุน เป็นต้น…”


คุณพสิษฐ์ ไชยวัฒน์โสภณ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายรับประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการพิจารณารับประกันภัยและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งแผนประกันอุบัติเหตุและประกันการเดินทาง รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมตัวแทน เป็นอีกคนหนึ่งที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วก็ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา ได้ให้ทัศนะไว้ว่า

“..ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีความรู้เศรษฐศาสตร์ก็คือ ทำให้เข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น รวมทั้งเข้าใจผลลัพธ์ทางนโยบายของรัฐบาลได้มากขึ้นด้วย เช่น การนำหลักอุปสงค์/อุปทาน , ต้นทุนค่าเสียโอกาส , การคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ มาวิเคราะห์ปัญหาในชีวิตประจำวันและงานประจำที่ทำ เป็นต้น อีกทั้งยังเฝ้าสังเกตการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราเงินเฟ้อนั้น สุดท้ายแล้วย่อมมีผลต่อเนื่องมาถึงชีวิตประจำวันของตัวเราไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นจึงสามารถคาดการณ์และเตรียมตัวรับผลกระทบได้อย่างมีสติ เปรียบเสมือนมีกล้องส่องทางไกลอยู่ในมือที่สามารถมองเห็นสึนามิลูกใหญ่ที่กำลังมุ่งหน้าถาโถมเข้าหาฝั่งได้เร็วกว่าคนทั่วไป พร้อมทั้งเตรียมหาทางหนีทีไล่ได้ทันท่วงที..”

“..ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สามารถนำมาวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัยได้ดีขึ้น ทำให้มองเห็นแนวโน้มการตลาดและภาพรวมของธุรกิจได้ อีกทั้งนำข้อมูลสถิติมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ทำงานทุกคนต้องฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะองค์ความรู้ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค Internet of Things หรือยุคดิจิทัล 4.0 แล้ว ภาคธุรกิจต้องการคนที่รอบรู้ , มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เสมอ อีกทั้งต้องประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจปัจจุบันได้ด้วย ส่งผลให้คนรุ่นเก่าบางคนที่ปรับและเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน ก็จะกลายเป็นภาระของบริษัทและอาจต้องสูญเสียงานประจำที่ทำในที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า งานเก่ากำลังหดหาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดงานใหม่ขึ้นมามากมายเช่นกัน..”

“..ทักษะทางภาษา , ทักษะการนำเสนอผลงานและการโน้มน้าวใจผู้บริหารเพื่อให้อนุมัติแผนงานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วย ทักษะการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและการประสานงานจากฝ่ายต่างๆ จะส่งผลโดยตรงให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น ดังนั้นการฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมทั้งต้องหาโอกาสเข้ารับการอบรมหลักสูตรหรือความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะติดตัวไปตลอด..”

“..คำแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็คือ ความคาดหวังหรือความฝันอาจตรงข้ามกับชีวิตการทำงานจริง ดังนั้นอย่าท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค อีกทั้งต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่นอกห้องเรียน ต้องทำตัวเป็นแก้วที่น้ำยังไม่เต็ม และที่สำคัญ ต้องเปิดใจรับสิ่งที่จะเข้ามาอย่างไม่คาดคิดและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจด้วย นั่นจะทำให้เริ่มนับหนึ่งในชีวิตจริงได้อย่างมั่นคง ประสบการณ์จะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง รวมทั้งการก้าวเดินของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของแต่ละช่วงเวลาด้วย สุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องค้นหาแรงบันดาลใจหรือหาความชอบของตัวเองให้พบ และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด..”

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.