Posted: 12 Jun 2018 10:47 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
จาก ข่าวล่าสุด ที่พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหมได้ออกมาโต้ข่าวลือจาก “ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง” ว่าพวกเขาไม่ได้มีโครงการจะทำดาวเทียมสอดแนม วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญด้านกฏหมายแต่เป็นเพียงผู้สนใจและศึกษาด้านอวกาศ จะพาทุกท่านไปดูกันว่าโครงการที่กระทรวงกลาโหมจะทำนั้นคืออะไร เราควรกังวลหรือไม่อย่างไร
หลังจากที่ประวิตร ได้โชว์วิสัยทัศน์ กลาโหมยุค”บิ๊กป้อม”เตรียมออกนอกอวกาศขยับดัน”ดาวเทียมทหาร”อ้างเพื่อความมั่นคง ก็มีข่าวเด็ด ๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวันและที่เป็นที่พูดถึง ณ ตอนนี้ก็คือโครงการดาวเทียมสอดแนม
สรุปแล้วกระทรวงกำลังจะทำอะไร
วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า “จะมีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้ กระทรวงกลาโหม จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิใช่เพียงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเท่านั้นทั้งนี้ วิสัยทัศน์กระทรวงกลาโหม เป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพใน การเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ”
ประวิตรกับนาฬิกาของเขา ไม่ปรากฏที่มา ผ่าน ThaiPublica
ซึ่งมันประจวบเหมาะกับการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะทำงานในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ได้เดินทางไปรับฟังบรรยายจาก THEIA GROUP เกี่ยวกับโครงการ Thailand Satellites Data Information Processing Center ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และอีกครั้งในเดือนเมษายนที่คุณ Ronald Fogleman ประธานบริษัท THEIA GROUP เดินทางมาไทย ซึ่งเป้าหมายหลักของดาวเทียมนั้นก็คือเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูลดิจิตัลในทุกมิติให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
และจากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ดาวเทียมทั้ง 112 ดวงจะมีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 91.2 พันล้านบาท โดยสำหรับบริษัท THEIA GROUP นั้นพวกเขาเป็นบริษัททำเทคโนโลยี Stealth หรือล่องหนที่ลึกลับจนเราแทบไม่พบข้อมูลเลย (ฮา) นอกจากว่ามันอยู่ในฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา กับชื่อท่านประธานที่ได้มาจากรายงานของไทย
เราสามารถอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ รองนายกรัฐมนตรี หารือเรื่องการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา
แล้วสรุป THEIA คือใคร
เราอาจจะรู้จัก Boeing, SpaceX, Space System Lorel, Lockheed Marin ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศชื่อก้องโลก ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เมื่อพูดถึง THEIA คำถามเลยก็คือ มันคือบริษัทอะไร จากที่ได้ลองศึกษาข้อมูลจาก cbinsights บริษัท THEIA ไม่มีข้อมูลด้านการนักลงทุน ไม่มีข้อมูลผู้ถือหุ้น รู้แค่ชื่อที่อยู่และก่อตั้งในปี 2015 เท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ THEIA เป็นบริษัททำดาวเทียมที่มีรายชื่ออยู่ร่วมกับบริษัทอื่น ๆ รวมถึง SpaceX ในการยื่นจดทะเบียนเพื่อส่งดาวเทียมแบบ Low Earth Constellation หรือโครงข่ายสื่อสารบนวงโคจรต่ำของโลก ในปี 2016 ที่ผ่านมา จำนวน 112 ดวง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงกับที่ออกมาเป๊ะเลย ข้อมูลนี้มาจากเว็บไซต์ Parabolic เว็บด้านการสำรวจอวกาศที่ละเอียดมาก ๆ เว็บนึง
ดาวเทียมแบบ Constellation ของ Iridium บรรจุใน Payload Faring
ของบริษัท SpaceX ที่มา – Iridium ผ่าน Spaceflight Insider
นั่นหมายความว่า THEIA นั้น ณ ปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ที่เห็นได้ชัด และยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FAA ให้ส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศด้วยซ้ำ ยังไม่นับเทคโนโลยีดาวเทียมที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นดาวเทียมแบบไหน อะไรยังไง งงไปหมดแล้ว และต่อให้ FAA อนุมัติ ถ้านับว่าตอนนี้ THEIA มีดาวเทียมอยู่ 0 ดวง กว่าจะสร้าง Constellation ได้ครบตามที่บอก อาจจะต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 3-10 ปี ยังไม่นับประสบการณ์ที่จะต้องตามบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกให้ทัน
ก็ถามตัวเองดูละกันว่าการเอาเงินเก้าหมื่นล้านไปทุ่มกับบริษัทที่ไม่มีบทบาทและเป็นเด็กหัดเดินในวงการอวกาศที่แข่งกันจะไปดาวอังคารแล้วมันคุ้มค่าหรือไม่
แล้วมันสอดแนมจริงเหรอ
จากสเปคของมันที่ว่าสามารถถ่ายรูปได้ที่ความละเอียด 0.5 เมตรทุก ๆ วินาทีนั้น มันคือนิยามของดาวเทียม Earth observation ที่โคจรอยู่ใน Low Earth Orbit (ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือแบบเดียวกันกับที่ใช้ใน Google Maps นั่นแหละ) ขนาดหน้าเว็บของ THEIA ยังบอกเองว่าดาวเทียมชุด THEIA นั้นเป็นดาวเทียมแบบ Communication ที่สามารถถ่ายรูปโลกได้
Digital Globe บริษัทดาวเทียมยักษ์ใหญ่ หนึ่งในผู้ถ่ายรูปโลกให้กับ Google มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เรียกว่า 30cm คือภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็แพงมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน แต่ก็นับว่าสุดยอดที่สุดแล้วสำหรับดาวเทียมใช้งานในเชิงพานิชย์ไม่ใช่ด้านการทหาร
ตัวอย่างภาพ 30cm จาก Digital Globe ที่มา – Digital Globe
สรุปชัด ๆ ตรงนี้ก็คือ เราจะไม่ได้ดาวเทียมสอดแนมมาสอดส่องคนในประเทศกันแน่ เพราะคุณภาพมันยังแอบห่วยกว่าภาพที่ Google เอามาใช้เลยด้วยซ้ำ แม้ว่าอาจจะมีข้ออ้างว่า ก็ถ่ายรูปซ้ำได้ทุก 1 นาทีทำให้ได้ภาพสด ๆ ณ ตอนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีบริษัทหลายบริษัทที่ทำภาพถ่ายดาวเทียมแนวนี้อยู่แล้ว
ไม่ต้องมีดาวเทียมเองแต่ต้องฉลาด
ยกตัวอย่างบริษัทดาวเทียมที่เน้นการถ่ายภาพบนพื้นโลก ด้วย Low Earth Constellation เช่น Planet Lab มีดาวเทียมขนาดเล็กนับร้อยดวงที่ถูกส่งขึ้นไป สามารถถ่ายภาพโลกได้อย่างชัดเจน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการทำงานในอุตสาหกรรมจะต้องมีดาวเทียมเป็นของตัวเองเสมอไป ยกตัวอย่างบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาดาวเทียมเอง แต่จะใช้ลักษณะการดีล และซื้อบริการจากบริษัทดาวเทียมอื่นและเน้นทำงานที่เกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียม เช่น การนำมาทำ Analysis การทำ Data Science อย่าง UretheCast
UretheCast อาศัยการแข่งขันของบรรดา startup ด้านอวกาศ และใช้ตรงนี้ในการเป็นบุคคลกลาง ทำให้บริษัทดาวเทียมด้านเทคโนโลยีได้ไปโฟกัสกับตัวดาวเทียม ทำให้ได้ภาพออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด เรื่องของการขายนั้นเขาจะจัดดีลให้ได้ราคาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ
ภาพนี้ถ่ายโดยดาวเทียมของ UrtheCast ที่มา – UrtheCast
ในช่วงยุคแรกเริ่มดาวเทียมที่มีกล้องนั้นถูกนับว่าเป็นดาวเทียมสอดแนม เนื่องจากวัตถุประสงค์มันคือการถ่ายภาพจากอวกาศ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการทหาร น่าจะทราบกันดีว่าเทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นมาจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ไม่ปฏิเสธว่าการมองโลกผ่านอวกาศเป็นสุดยอดแห่งการทำสงคราม เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โซเวียตถึงขนาดมีโครงการสถานีอวกาศที่ทำเพื่อสอดแนมโดยเฉพาะ (สามารถไปศึกษาต่อได้ ชื่อโครงการว่า Almaz) แต่ ณ ตอนนี้ อาจจะต้องลองย้อนคิดดูซักนิดว่าทุกวันนี้ เราแข่งกันด้านอวกาศเรากำลังแข่งอะไรกัน ? เหมือน 50 ปีก่อนหรือเปล่า
เรือดำน้ำก็แล้ว ยังจะมีดาวเทียมอีก
ผู้เขียนขอยก 2 ประเด็นหลัก ๆ มาใช้ประกอบการแสดงความเห็นในเรื่องนี้
ข้อแรก เรือดำน้ำ 3 ลำมีราคา 36 พันล้านบาท ดังนั้นดาวเทียมมีราคาแพงกว่าแน่นอน
ข้อที่สอง ดาวเทียมพวกนี้จะมีความสามารถเพียงแค่การถ่ายภาพบนโลกเท่านั้น (และสื่อสารนิดหน่อย) ที่สำคัญคือการทำ Constellation จำนวน 112 ดวงนั้นเป็นการลงทุนที่เหมือนขนเงินสดไปเผาทิ้งในอวกาศ แบบไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก และก็มีหลายบริษัทที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วดังเช่นที่กล่าวไปด้านบนว่าทุกวันนี้ นิยามของการครอบครองเทคโนโลยีอวกาศได้เปลี่ยนไป
ดาวเทียมในห้องทดสอบสัญญาณของบริษัท Lockheed Martin
ที่มา – Lockheed Martin
และที่สำคัญที่สุด THEIA GROUP ณ ตอนนี้ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ Boeing, SpaceX, DigitalGlobe, Planet, SSL, Lockheed Martin และอีกหลาย ๆ เจ้าที่เป็นบริษัททำดาวเทียมระดับโลก ถามว่าถ้าเราทุ่มเงินก้อนนี้เพื่อจะตามหลังชาวบ้านเขา 20-30 ปีแล้วมันจะคุ้มหรือไม่ ?
เงินเกือบแสนล้าน ทุ่มงบอวกาศได้มากแค่ไหน
สมมติถ้ากระทรวงเอาเงิน 91.2 พันล้านบาท (2.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ไปจ่ายค่าโครงการสำรวจอวกาศ พวกเขาจะได้โครงการเหล่านี้
ค่าใช้จ่ายยาน New Horizons ที่ไปสำรวจดาวพลูโตและวัตถุ 2014 MU69 ตลอดทั้งภารกิจ (700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ค่าใช้จ่ายยาน Juno ที่สำรวจดาวพฤหัสตลอดทั้งภารกิจ (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ค่าใช้จ่ายโครงการมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำตลอดทั้งภารกิจ (554 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ภาพถ่ายดาวพลูโต จากโครงการ New Horizons ที่ใช้เงินน้อยกว่า THEIA อะไรนี่อีก
ที่มา – NASA/John Hopkins University
นอกจากจะได้ทั้งสามภารกิจข้างต้นแล้ว ถ้าคุณเพิ่มงบไปอีกประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะได้งบค่าใช้จ่ายโครงการวอยาเจอร์ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 865 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งนั่นก็คือเราสามารถส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะได้ด้วยงบที่ใช้ซื้อ THEIA นี้ด้วยซ้ำ และการคำนวณงบข้างต้นนี้รวมค่าวิจัย ค่าดำเนินการ ค่าจัดส่งและทุกค่าใช้จ่ายตลอดภารกิจแล้ว (อย่าลืมว่า THEIA ไม่รวมค่าจัดส่ง)
สรุปแล้วเราจะได้อะไร โดนสอดแนมไหม
กระทรวงกลาโหมไม่ได้จะทำดาวเทียมสอดแนมหรือดาวเทียมทหารหรอก เพราะรุ่นที่เขาซื้อมันไม่ใช่ไง มันคือการเอาเงินไปเผากับของที่เราเชื่อว่าคนซื้อไม่ได้ศึกษา คนศึกษาไม่ได้ซื้อ
และสำหรับ THEIA กับดาวเทียม 112 นี้ แน่นอนว่าสิทธิทุกอย่างมันก็เป็นของ THEIA โดยในตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเงินหลักแสนล้านนั้นจะเอาไปใช้จ่ายกับบริการดาวเทียมโดย THEIA หรือไปซื้อดาวเทียมแบบ THEIA เป๊ะ ๆ THEIA ดวงมากันแน่ ถ้าท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายมาอ่านบทวิเคราะห์นี้อยากให้ช่วยตอบคำถามให้แน่ชัดด้วย สรุปแล้วมันคือการซื้อ Service หรือ Product ?
ถ้ามันไม่ใช่ดาวเทียมสอดแนม กระทรวงต้องสามารถออกมาให้คำตอบเรื่องดาวเทียมได้ การเอางบหลักแสนล้านไปลงทุนนี้พวกเราคิดว่าประชาชนควรที่จะได้รายละเอียดที่ชัดเจนและเพียงพอต่อการตัดสินใจ ไม่งั้นก็คงห้ามไม่ให้ประชาชนคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลรัฐประหารนี้ทำอะไรไม่คิดและไม่เคยทำอะไรที่ดูชาญฉลาดหรือมีกลยุทธ์อะไรเลย
ถ้าผู้เขียนเป็นรัฐบาล ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้
ได้ศึกษาโครงการดีหรือยัง และได้ศึกษาแนวโน้มพัฒนาการด้านอวกาศในโลกปัจจุบันหรือไม่
ทำไมเลือกบริษัทโนเนม ที่ไม่มีแม้กระทั่งใบอนุญาต และไม่มีประสบการณ์กับดาวเทียมซักดวง
สรุปแล้ว เป็นการซื้อขาด หรือ เช่า แล้วเราจะได้อะไรบ้าง หรือรู้ไหมว่าราคานี้เขาไม่ได้ขายให้นะ
คิดว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะที่รวยกว่าไทยอยากได้โครงการนี้ไหม และประเทศอื่นมีไหม ถ้าไม่มีทำไมเขาถึงไม่มีหรือไม่อยากได้
เมื่อไหร่จะออกไปซักที
Disclaimer : บทความนี้ไม่ใช่ข่าว และเว็บสเปซทดอทซีโอ เป็น Media ที่เน้นใช้ความเห็นของตัวเองเข้าร่วมในการนำเสนอเนื้อหา ทั้งนี้ข้อมูลต่าง ๆ ประกอบสามารถอ้างอิงได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์มีนโนบายไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางเมื่อไม่มีการบิดเบือนข้อมูลที่นำเสนอ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
ที่มา: http://spaceth.co/thailand-military-sat/
แสดงความคิดเห็น