ภาพชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International)
Posted: 13 Nov 2018 02:04 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-13 17:04
พม่าเตรียมพร้อมรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 2,000 คนในบังกลาเทศกลับประเทศ หลังมีข้อตกลงกับบังกลาเทศมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ยูเอ็นชี้ ยังไม่ปลอดภัยที่จะกลับไปเพราะยังมีกลุ่มชาวพุทธต่อต้าน บังกลาเทศระบุ การย้ายกลับเป็นไปตามสมัครใจ ผู้สังเกตการณ์วิเคราะห์ ส่งตัวผู้ลี้ภัยออกไปเพื่อคลายแรงต้านทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งทั่วไปในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. นี้
เมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่พม่าได้ระบุว่า พม่าพร้อมจะรับชาวโรฮิงญามากกว่า 2,000 คนที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ หลังจากเดือนที่แล้วมีการทำข้อตกลงระหว่างพม่าและบังกลาเทศว่าจะส่งชาวโรฮิงญากลับถิ่นฐานเดิมจำนวนทั้งสิ้น 5,000 คน
ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญาที่จะถูกส่งกลับจำนวนมากกว่า 20 คนที่กล่าวกับรอยเตอร์ว่าพวกเขาจะปฏิเสธการเดินทางกลับไปยังตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งบังกลาเทศระบุว่าจะไม่มีการบังคับให้ใครกลับไป ด้านยูเอ็นก็ออกมาระบุว่าชาวโรฮิงญายังไม่มีความปลอดภัยที่จะกลับไป เนื่องจากกลุ่มชาวพุทธพม่ามีการประท้วงข้อตกลงการเดินทางกลับ
หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้ชาวโรฮิงญารับรู้เงื่อนไขในพม่าก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับ
วิน เมียต เอย์ รัฐมนตรีด้านสวัสดิการสังคมและการตั้งถิ่นฐานใหม่ของพม่าระบุว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มแรกที่ถูกเตรียมให้เดินทางกลับนั้น มี 2,251 คนที่จะเดินทางด้วยเรือในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ส่วนกลุ่มที่สองอีก 2,095 คนจะเดินทางด้วยการขนส่งทางบก หลังจากผ่านกระบวนการแล้ว ชาวโรฮิงญาจะถูกส่งไปยังศูนย์ที่ให้ที่อาหารและที่อยู่อาศัย รวมถึงว่าจ้างให้พวกเขาสร้างบ้าน
ผู้ที่จะเดินทางกลับถิ่นฐานนั้นจะได้รับอนุญาตให้เดินทางอยู่ภายในชุมชนมองดอว หนึ่งในสามพื้นที่ที่พวกเขาถูกขับไล่ออกมา และการเดินทางนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีเอกสารยืนยันตัวตนที่ชาวโรฮิงญาปฏิเสธมาตลอด เนื่องจากมองว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการตีตราชาวโรฮิงญาเป็นคนต่างชาติ ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่มีสภาวะเป็นคนไร้รัฐจากการถูกกระทำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษต่างคัดค้านการเดินทางกลับพม่าหากไม่มีการการันตีเรื่องสัญชาติและเสรีภาพในการเดินทาง
ข้าหลวงผู้ลี้ภัย UN ปัดมีส่วนในข้อตกลง
เมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา คริส เมลเซอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ประจำการในคอกบาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ได้เน้นย้ำว่า UNHCR ไม่ได้เป็นภาคีกับข้อตกลงการส่งชาวโรฮิงญากลับไป และเรียกร้องให้การส่งตัวกลับเกิดขึ้นบนการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนและไม่เป็นการบังคับ
ชาวโรฮิงญาหลักแสนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในคอกบาซาร์มานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว หลังถูกกองทัพพม่าขับไล่ด้วยความรุนแรงออกมาจากรัฐยะไข่ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้มีข้อตกลงกับ UNHCR ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับยูเอ็นในการสร้างเงื่อนไขที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีสำหรับชาวโรฮิงญาในการเดินทางกลับรัฐยะไข่ จะการันตีในเรื่องความปลอดภัย เสรีภาพในการย้ายถิ่นและหนทางสู่การมีสถานะเป็นพลเมืองด้วย แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขใดๆ ได้ และ UNHCR ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงรัฐยะไข่
- ผลประเมินระบุ กรรมการสิทธิฯ อาเซียนเชื่องช้าต่อเหตุการณ์การละเมิด-ไม่โปร่งใส
- ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา
- 5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา
ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับนั้นมีแรงขับดันจากปัจจัยทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา เนื่องจากบังกลาเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ และนโยบายการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาอย่างต่อเนื่องกลายสภาพเป็นแรงกดดัน ทั้งที่จากเดิมนั้นเป็นผลดีในทางการเมืองต่อชีค ฮาซีนาในช่วงแรกๆ
แปลและเรียบเรียงจาก
Myanmar prepares for first Rohingya returnees, but UN warns against rushing, The Strait Times, Nov. 12, 2018
UN criticises Rohingya deal between Myanmar and Bangladesh, The Guardian, Oct. 31, 2018
แสดงความคิดเห็น