Posted: 30 Oct 2018 07:24 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-30 21:24
สมบัติ นพรัก
การกำหนดกรอบคุณวุฒิตามมาตรฐานสากล (International Qualification Framework) จะอธิบายการเรียนรู้ในระบบ (Formal Learning) ในด้านระดับคุณวุฒิ (level) ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) หน่วยกิต (Credit) มาตรฐานหน่วยกิต (Unit Standard)
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ดังนี้
1. ระดับคุณวุฒิ (degree level)
2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes)
3. มาตรฐานหน่วยกิต (unit standard)
4. ความรู้วิชาชีพครู (professional knowledge)
5. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities)
6. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy)
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิข้างต้น ควรมีการกำหนดแนวคิดบนหลักการของหลักสูตรครูที่มีคุณภาพ เช่น ประเทศฟินแลนด์ และประเทศสิงคโปร์ ดังนี้
1. ระดับคุณวุฒิ (degree level) ควรมีการกำหนดกรอบคุณวุฒิให้ครอบคลุมทั้ง หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี (bachelor degree) หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี (master degree) และหลักสูตรปริญญาเอก 3 ปี (doctoral degree)
เหตุผล กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ปัจจุบันมีเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี)แต่มีการผลิต หลักสูตรปริญญาโท (หลักสูตรสองปี) และหลักสูตรปริญญาเอก (หลักสูตรสามปี) เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย โดยอาศัยเกณฑ์การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรของคุรุสภา และไม่ควรมีการกำหนดกรอบมาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ถือเป็นการยกเลิกไม่ให้มีการผลิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอีกต่อไป
2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes) ควรมีเป้าหมายที่ สมรรถนะ (competency) ทักษะ (skill) และอุปนิสัย (character) ของผลผลิตและผลลัพธ์ คือคุณภาพบัณฑิต ที่สอดคล้องกับทักษะคนในศตวรรษที่ 21 ดังนี้
1) สมรรถนะ (competency) ที่สามารถถ่ายทอดทักษะ (skill) ในแต่ละด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) ด้านความรู้ในเนื้อหา (2) ด้านการจัดการเรียนรู้ (3) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู และ (4) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน
2) ทักษะ (skill) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และ (2) ทักษะการจัดการ ได้แก่
(1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การรู้จักแก้ปัญหา “9 C" ได้แก่ 1) มีวิจารณญาณ (“C”ritical Thinking), 2) คิดอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ (“C”reativity), 3) เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม (“C”ross-cultural Understanding), 4) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (“C”ollaboration), 5) แก้ปัญหาความขัดแย้ง ("C"onflick solving) 6) รู้จักสื่อสารและใช้สื่อเป็นอย่างรู้เท่าทัน(“C”ommunications-Media Literacy), 7) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น (“C”omputing and ICT Literacy) ทักษะทางวิชาชีพ (“C”areer Skills) 9) วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ("C"ulture of life-long learning)
(2) ทักษะการจัดการ " 5 “S" ได้แก่ 1) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (Personnel Management "S") 2) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity "S"kill) 3) ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making "S"kill) และ 4) ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation "S"kill) 5) ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด (Thinking Elasticity “S”kill)
3. มาตรฐานหน่วยกิต (unit standard) และความรู้ (knowledge) ได้แก่ หน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร (curriculum unit) ซึ่งสามารถศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานหน่วยกิตรวมของหลักสูตรครูปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป ได้แก่
1) หลักสูตรครูปริญญาตรีของประเทศฟินแลนด์ กำหนดให้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิต (ECTS) จากจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรปริญญาโทของหลักสูตรครูประจำชั้นและครูประจำวิชา (300 ECTS) และหลักสูตรปริญญาตรีครูอนุบาล (180 ECTS) ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติวิชาครูสำหรับหลักสูตรครูประจำชั้น และครูประจำวิชา จะเป็นการฝึกสอนจำนวน 20 ECTS และ 25 ECTS สำหรับหลักสูตรครูอนุบาล
กลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/5 ของจำนวนหน่วยกิตรวม 300 หน่วยกิต และการฝึกปฏิบัติ 20 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/3 ของกลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS
จากการคำนวณเทียบเคียงหน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) กับ ECTS ตามเกณฑ์การเทียบเคียง 7.25 ECTS = 5.25 TCTS โดยหลักสูตร Bachelor Degree 180 ECTS เทียบได้กับ 130.345 TCTS ผู้เขียนจึงเสนอให้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี มีหน่วยยกิตรวมไม่น้อยกว่า 131 หน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร สกอ. และเกณฑ์คุรุสภา (โดยเทียบเคียงจากหน่วยกิตรวมหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี)
ดังนั้น จึงสามารถกำหนดสัดส่วนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี โดยเทียบเคียงสัดส่วนกับหลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มยุโรป ได้ คือ วิชาชีพครู 1/5 ของ 131 TCTS เท่ากับ 26.2 TCTS และการฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู 1/3 ของ 26.2 TCTS เท่ากับ 8.34 TCTS
โครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 137 หน่วยกิต (หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีของ สกอ. และ เทียบได้เกินกว่าเกณฑ์หลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป) ดังนี้
1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก ไม่น้อยกว่า 69 หน่วยกิต
3) หมวดวิชาชีพครู ไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
4) หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
4. ความรู้วิชาชีพครู (professional knowledge) และหมวดวิชาเอก (major subjects)
4.1 หมวดวิชาชีพครู 32 หน่วยกิต จำแนก ดังนี้
1. ความเป็นครูและนวัตกรรมเทคโนโลยี (Pedagogy &Innovation Teachnology) 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา (จิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นครู)
2. ศาสตร์การสอน (Didactics) 6 หน่วยกิต 2 รายวิชา (ความชำนาญศาสตร์การสอนวิชาเอก และการสอนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
3. วิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา (Research & Educational Quality Assurance) 3 หน่วยกิต 1 รายวิชา (แสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อการประกันคุณภาพ)
4. การปฏิบัติการวิชาชีพครู (Professional Practice) 11 หน่วยกิต 4 รายวิชา (ฝึกประสบการณ์เพื่อทักษะและสมรรถนะวิชาชีพ) ดังนี้
ปีที่ 1 ฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน (Schooling Experience) 1 หน่วยกิต 2 สัปดาห์
ปีที่ 2 ฝึกเป็นผู้ช่วยสอน (Teaching Assistance) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์
ปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติการสอน 1 (Practicum 1) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์
ปีที่ 4 ฝึกปฏิบัติการสอน 2 (Practicum 2) 6 หน่วยกิต 18 สัปดาห์
4.2 หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก 69 หน่วยกิต เรียน 23 รายวิชา (ความรู้นำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพ)
5. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities)
การสร้างทักษะ (skill) สู่การมีสมรรถนะ (competency) ควรมีกิจกรรม 5 ด้าน ตลอดระยะเวลาการศึกษาทุกปี โดยไม่กำหนดจำนวนครั้ง โดยจัดทำหลักฐานเป็น แฟ้มสะสมงาน (portfolio) ที่มีผู้รับรองการทำกิจกรรมโดยอาจดำเนินการ ดังนี้
ปีที่ 1 การพัฒนาตนสู่ความเป็นครู (กิจกรรม มุ่งพัฒนาตน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านบุคลิกภาพ และด้านสุนทรียภาพ)
ปีที่ 2 ความเป็นผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง (กิจกรรม ศึกษาข้อมูล กระตุ้นตนเองลงมือทำ นำชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง)
ปีที่ 3 การมีภูมิคุ้มกัน (กิจกรรม การไม่ข้องเกี่ยวข้องอบายมุข มีความสุข ด้วยคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำจิตด้วยหลักศาสนา)
ปีที่ 4 การสร้างสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม (กิจกรรม รู้เท่าทันเทคโนโลยี มีความติดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างสื่อการเรียนรู้และสื่อเทคโนโลยี)
ปีที่ 1-4 การมีจิตสาธารณะเพื่อสังคม (กิจกรรม ใส่ใจต่อสังคม อุดมด้วยจิตสาธารณะ เสียสละโดยไม่เห็นแก่ตัว)
6. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy)
กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา(exit exam) โดยการทดสอบการรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy) ตามเกณฑ์ ดังนี้
นิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ และวิชาเอกภาษาอังกฤษ ต้องผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษระดับปริญญาโท
หมายเหตุ การปฏิบัติการวิชาชีพครู ชั้นปีที่ 1-3 สามารถทำได้โดย ภาคการศึกษาที่ 2 ของทุกปี กำหนดปฏิทินการเรียน 20 สัปดาห์ เรียนรายวิชา 15 สัปดาห์ สัปดาห์ที่ 16 สอบปลายภาค สัปดาห์ที่ 17-20 ปฏิบัติการวิชาชีพ โดยการนิเทศออนไลน์ ระบบ e-PLC ส่วนชั้นปีที่4 ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู 1 ภาคการศึกษา
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
โดยที่แนวคิดการสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี4 ปี อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียนหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรดำเนินการเชิงนโยบาย ดังนี้
1. ผู้เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี (รหัส 57, 58 และ 59) ต้องเข้าทดสอบข้อสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อใช้คะแนนเฉลี่ยประเมินคุณภาพการผลิตของสถาบันฝ่ายผลิตในการจัดสรรทุนครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และให้ถือว่าผู้เข้าทดสอบเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ
2. ในปีการศึกษา 2562 หากนิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี ที่เข้าเรียนปีการศึกษา 2560 (รหัส 60) ขึ้นเรียนชั้นปีที่ 3 และ ปีการศึกษา 2561 (รหัส 61) ขึ้นเรียนชั้นปีที่ 2 มีความประสงค์จะเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ให้สามารถเทียบโอนได้ตามความสมัครใจ
เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก เป็นคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
แสดงความคิดเห็น