Posted: 09 Nov 2018 06:17 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-09 21:17


แรงงาน 101 นักวิชาการชี้ช่วงปลายปีคือฤดูกาลที่สหภาพแรงงานจะมีข้อเรียกร้องทั้งโบนัส ค่าแรงและสวัสดิการ เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งกฎหมายก็กำหนดให้ต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนที่อายุข้อตกลงสภาพการจ้างจะหมดลง ไม่ใช่การล้ำเส้นกฎหมาย ส่วนการนัดหยุดงานหลายที่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

9 พ.ย.2561 จากกรณีวานนี้ (8 พ.ย.61) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ต.ค.2561 ว่า มีแนวโน้มลดลง โดยมีข้อเรียกร้องของสถานประกอบกิจการในภาคเอกชนและรัฐวิสากิจ จำนวน 480 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีข้อเรียกร้อง 544 แห่ง พบว่าลดลง 64 แห่ง โดยในช่วงปลายปีของทุกปีจะมีข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเรื่องเงินโบนัส ขอขึ้นเงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ หากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่าย อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธีนัดหยุดงานรวมตัวชุมนุมเรียกร้อง จึงอาจทำให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย

"ขอเตือนไปยังนายจ้าง ลูกจ้าง ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน เจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการในปีนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมา และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" วิวัฒน์ กล่าว

วันนี้ (9 พ.ย.61) ประชาไท สัมภาษณ์ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม ผู้ติดตามประเด็นสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง ถึงประเด็นของรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ดังกล่าว โดย บุษยรัตน์ กล่าวว่า อ่านข่าวนี้แล้วไม่สบายใจอีกทั้งคนที่ออกมาพูดก็คือ ว่าที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน น่าจะมีความเข้าใจ กระทั่งความรู้ในคำว่า “พิพาทแรงงาน” ที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานของลูกจ้าง การปิดงานของนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่น่าจะขยายความสื่อสารได้มากกว่านี้

บุษยรัตน์ ยังข้อสังเกต 5 ประเด็น ดังนี้


(1) ว่าที่อธิบดีน่าจะหมายถึง “การผละงาน” มากกว่า เพราะมีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 61 ที่บริษัท ไทย โตโย เดนโซ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่มีลูกจ้างกว่า 300 คน “ผละงาน” คือ ออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถ้าหากเป็นการนัดหยุดงาน จะมีระเบียบปฏิบัติบอกว่า ต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งสมัยนี้เราพบการนัดหยุดงาน โดยไม่ผ่านขั้นตอนแบบนี้น้อยมากๆ

พูดง่ายๆ คือ เป็นเวลาทำงานในไลน์ผลิต แต่ลูกจ้างออกมาชุมนุมแทน และก็ชุมนุมภายในบริษัทนั้นๆ เนื่องจากไม่พอใจที่บริษัทประกาศจ่ายโบนัสประจำปี 2561 จำนวน 5.5 เดือน แต่ลูกจ้างต้องการให้บริษัทจ่ายเงินบวกเพิ่มพิเศษอีกจำนวน 6,000 บาท และไม่สามารถตกลงกันได้ และส่งผลให้ต้องหยุดกระบวนการผลิต แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้

(2) ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีงบประมาณจำนวนมากแต่ละปีพอสมควรในการจัดเวทีเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีการให้รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นด้วยซ้ำ

คำถามก็คือว่า หากไม่จัดแค่ให้จบๆ ไป แค่ได้จัด ตามที่จัดกันทุกปีอย่างที่เป็นมา และคนก็กลุ่มเดิมๆ ในการเข้าร่วม กรมสวัสดิการฯประเมินไม่ออกเชียวเหรอ ว่าพื้นที่อุตสาหกรรมใดมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง พื้นที่ใดจะชุมนุมบ้าง และหาแนวทางวิธีการป้องกันไว้ก่อน

อย่างเช่นสมัยหนึ่งซัก 3-4 ปีมาแล้ว ที่ทาง สสค.ปราจีนบุรี รู้ว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ลงมาทำงานกับองค์กรแรงงาน กับสหภาพแรงงาน กับนักจัดตั้งแรงงานในพื้นที่ที่ฝังตัวทำงานอยู่แล้ว และหาแนวทางป้องกัน มากกว่าจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา และมองว่าลูกจ้าง คือ “ตัวปัญหา เรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุด”

(3) ในประเทศไทย ฤดูกาลเจรจาข้อเรียกร้องประจำปี ส่วนใหญ่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมและอาจล่วงเลยไปมกราคมในปีถัดไป หากเจรจาไม่ยุติแต่ก็มีไม่มากนัก หากไม่ใช่เข้าสู่กระบวนการพิพาทแรงงาน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติทั่วไปอยู่แล้วที่ “ช่วงปลายปีของทุกปีจะมีข้อเรียกร้องจากสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ และเกี่ยวข้องกับเรื่องโบนัส เงินขึ้น สวัสดิการ” นี้คือเรื่องพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเน้นย้ำ กล่าวอ้าง และทำให้ดูราวกับว่าลูกจ้างกำลังทำอะไรไม่ถูกกฎหมายเลย

และหากไปอ่านกฎหมายก็จะเห็นว่า กฎหมายเองกำหนดให้สหภาพแรงงานก็ต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนที่อายุข้อตกลงสภาพการจ้างจะหมดลงก่อน 60 วัน และเรื่องอะไรที่ลูกจ้างสามารถยื่นข้อเรียกร้องได้บ้าง กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ระบุชัดเจน นี้จึงไม่ใช่การล้ำเส้นกฎหมายแต่อย่างใด

(4) เอาเข้าจริงแล้ว จากจำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทยปี 2560 มีจำนวน 1,365 แห่ง รวมลูกจ้างที่เป็นสมาชิก 440,000 กว่าคน แต่มีสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องเพียง 544 แห่ง ตามที่ให้ข่าวมา หรือคิดเป็นเพียง 40% เท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

คำถาม คือ แล้วสหภาพแรงงานอื่นๆที่ไม่ยื่นข้อเรียกร้อง คืออะไร สะท้อนอะไรได้บ้าง เช่น ทำข้อตกลง 2-3 ปี, ไม่อยากขัดแย้งหรือมีปัญหากับนายจ้าง, สหภาพแรงงานตายแล้ว หรืออื่นๆ

เหล่านี้เป็นประเด็นที่กรมสวัสดิการควรให้ความสนใจ ถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ กระทั่งทำอย่างไรให้สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง และเป็นปากเป็นเสียงให้ลูกจ้างให้สมาชิกมากกว่ามิใช่เหรอ มากกว่ามาสนใจแค่จำนวนข้อเรียกร้องที่มากขึ้น-ลดลง ซึ่งมันไร้ความหมายต่อการทำให้องค์กรแรงงานแข็งแรงเสียเหลือเกิน

ทั้งๆ ที่สหภาพแรงงาน คือ องค์กรนิติบุคคล คือองค์กรภาคประชาสังคม เป็นหุ้นส่วนรัฐในการพัฒนาประเทศ ที่มีกฎหมายรองรับ ให้อำนาจในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อปรับสภาพการจ้างให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

(5) สำหรับประเด็นการที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย ดูเหมือนนี้คือคำห่วงใยจากกรมสวัสดิการที่มาถึงลูกจ้าง จริงๆ แล้วหากเราไม่ปิดตาข้างหนึ่งพูด และยอมรับความจริงกันว่า นายจ้าง ลูกจ้าง คือ หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากการลงแรงกายมาตลอดทั้งปี

และโบนัส เงินขึ้น สวัสดิการต่างๆ ก็คือ ภาพสะท้อนว่า กฎหมายแรงงานประเทศไทยมันห่วย เพราะมันไม่สามารถทำให้คนงานอยู่ดีกินดีมีสุขภาวะที่ดีได้จริง ค่าแรงขั้นต่ำมันไม่เพียงพอ จนคนงานต้องทำโอที สวัสดิการต่างๆที่กฎหมายกำหนด มันไม่สามารถสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริง แม้กระทั่งแค่ตัวคนงานเอง ไม่ต้องพูดถึงครอบครัว พ่อแม่ที่บ้านนอกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นโบนัสมันจึงสำคัญ สวัสดิการหลายๆอย่างมันจึงจำเป็น เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดหรือบังคับให้นายจ้างต้องจ่าย ต้องเพิ่มตามอัตราค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป

"การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองทั้งในรูปแบบสหภาพแรงงาน การลงลายมือชื่อตามมาตรา 13 ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเรียกร้องสิ่งพึงมีพึงได้ตรงนี้จึงจำเป็น แน่นอนดิฉันยอมรับว่า พี่น้องแรงงานบางที่ก็เปรี้ยว บุกตะลุย หัวชนฝา กระทั่งกินเหล้าเมายาในที่ชุมนุม ก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ดิฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องจำแนกแยกแยะ และพิจารณาเป็น case by case มากกว่าเหมารวม และสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การป้องกัน การปรึกษาหารือร่วม กระทั่งการมองคนงานเป็นคน ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา รู้ร้อนรู้หนาว อยากมีอยากได้อยากเป็น รักโลภโกรธหลง ไม่ต่างจากเราในฐานะข้าราชการ ในฐานะนายจ้างเลย ใครๆ ก็ปรารถนาชีวิตที่ดีทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คนงานที่ออกมาเรียกร้องปาวๆ เท่านั้น" บุษยรัตน์ พร้อมกล่าวด้วยว่า นี้คือการช่วยมอง ช่วยขยายความให้มากขึ้น และหวังว่า เราจะมองแรงงานเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและเท่ากับเรา เป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงไม่ใช่แค่คำสวยๆ ในกระดาษ ในเวทีเสวนาเท่านั้น


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.