ภาพจาก เพจสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

Posted: 02 Nov 2018 07:26 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-02 21:26


หลังผลประชามตินิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์โหวตยกเลิกการประกวดดาว-เดือน และดาวเทียม เนติวิทย์ชี้ ปรากฎการณ์นี้สะท้อนว่า หน้าตาไม่ใช่สิ่งเดียวที่ตอบโจทย์ เผยก่อนหน้านี้มีการล่ารายชื่อยกเลิกจนมีความขัดแย้งในคณะ สุดท้ายหาทางออกกับสโมสรฯ จัดการความขัดแย้งด้วยการฟังเสียงนิสิตโดยตรง

2 พ.ย. 2561 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการลงประชามติในประเด็น “เห็นด้วยหรือยกเลิกจัดประกวด ดาว-เดือน และดาวเทียมของคณะรัฐศาสตร์” โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 260 คน จากจำนวนนิสิตทั้งหมด 288 คน คิดเป็นร้อยละ 90.28

สำหรับผลการออกเสียงประชาติ มีผู้เห็นด้วยให้มีการยกเลิกทั้งหมด 142 เสียง ร้อยละ 54.62 ไม่ให้ด้วยให้มีการยกเลิก 113 เสียง หรือ ร้อยละ 43.46 และมีบัตรเสีย 5 ใบ ร้อยละ 1.92 มีผลให้การประกวดดาว-เดือน และดาวเทียมของคณะรัฐศาสตร์ประจำปี 2561 มีผลยกเลิกไป

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปี 3 คณะรัฐศาสตร์และอดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า การจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้ เป็นผลจากการที่กลุ่มของตนเปิดให้มีการล่ารายชื่อนิสิตในคณะรัฐศาสตร์ เพื่อ ให้ยื่นเสนอให้มีการพิจารณายกเลิกการประกวดดาวเดือน-ดาวเทียม เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมการดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผลิตซ้ำการให้คุณค่ากับหน้าตา และสนับสนุนมายาคติเรื่องเพศและภาพลักษณ์ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมกันมายาวนาน ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการจัดประกวดเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการคัดเลือกทูตกิจกรรมให้แก่คณะ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการประกวดเห็นว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะนำเสนอความเป็นรัฐศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ที่สุดแล้วการล่ารายชื่อนี้ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในคณะ ทางฝ่ายสโมสรนิสิต และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมประกวดดาว-เดือน และดาวเทียม จึงหาทางออกร่วมกันโดยการลงประชามติ


ภาพจาก เพจสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เนติวิทย์ ระบุด้วยว่า สาเหตุที่ผลประชามติออกมาในลักษณะนี้เป็นเพราะ นิสิตปีที่ 1 ต่างก็เข้าใจดีว่าการจัดกิจกรรมเป็นเพียงการให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตาเท่านั้น ขณะที่การประกวดดาวเทียมถูกมองว่า มีลักษณะของการสร้างภาพประทับตราให้กับกลุ่ม นิสิต LGBT ว่ามีลักษณะเป็นคนทะลึ่ง หื่นกาม

เขาให้ข้อมูลต่อว่า สาเหตุที่ทำให้นิสิตออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 90.28 อาจมีผลจากการตื่นตัวจากการเรียนวิชาตรรกะ เพราะในการเรียนการสอนได้ใช้ประเด็นการประกวดดาว-เดือน และดาวเทียมในการให้นิสิตได้ฝึกออกความคิดเห็นกัน นิสิตจึงตื่นตัวมาก อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่าการใช่ประชามติในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการจัดการกับความขัดแย้งเท่านั้น ซึ่งมีอีกหลายปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ด้วยการออกเสียงในลักษณะนี้ หรือกระทั่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการพูดคุย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.