Posted: 31 Oct 2018 01:21 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-31 15:21
ธีร์ อันมัย
ประเทศกูมี
ความนิยมในมหรสพครบงันในงานบุญงานบวชของผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือเลื่อนไหลไปตามยุคสมัย
แต่ก่อนถ้าเจ้าภาพมีฐานะยากจนแถมฝนฟ้าไม่ปรานี จะเอาบุญทั้งทีแค่มีหมอลำกลอนหรือหมอลำคู่ก็นับว่าหรูหรา หากร่ำรวยมีหน้ามีตาก็จ้างหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอน หรือหมอลำเพลินกกขาขาวก็ย่อมได้
ยุคหนึ่งภาพยนตร์จอผ่าโลกพร้อมหนังชนโรงได้เข้ามาเบียดชิงพื้นที่หมอลำ เจ้าภาพไหนจ้างบริการใหญ่จอผ่าโลกแถมนักพากย์ชื่อดังมาได้ก็ยิ่งสะท้อนหน้าตาและสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพงาน
กลางทศวรรษที่ 1990 วัฒนธรรมป๊อปอย่างเพลงสตริงหรือวงสตริงคอมโบ ดิสโก้เธคเคลื่อนที่ได้มามีพื้นที่เป็นทางเลือกของเจ้าภาพในงานสมโภช
การมาถึงของเพลงสตริงเป็นช่วงปรับตัวครั้งใหญ่ของหมอลำกลอนและหมอลำเพลินและได้จุดลงตัวที่หมอลำซิ่ง เครื่องดนตรีนอกจากแคนแล้ว หมอลำซิ่งคือหมอลำคู่ที่มีกลอง เบส กีตาร์และแดนเซอร์เพิ่มเข้ามา จากนั้น เด้อนางเดอ เด้อเด้อนางเดอก็ทำงาน
ห้วงเวลาเดียวกันนี้ กันตรึมของขะแมร์เลอแถวสุรินทร์ บุรีรัมย์เองก็ปรับตัว จากที่มีแต่คนร้องชาย หญิง ดนตรีที่มีแต่ซอ กลองและฉิ่งฉาบก็เพิ่มเครื่องดนตรีสากลและแดนเซอร์เข้าไปด้วย เราจึงได้รู้จัก กันตรึมร็อค ดาร์กี้กันตรึมร็อค ร็อคคงคย-หยีหนอ
สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ผู้คนปรับตัว ในยุคทีวีครองห้องนั่งเล่นหรือที่ที่ดีที่สุดของครอบครัว หนังเร่ บริการภาพยนตร์ทยอยล้มหายตายจาก ที่ยืนหยัดได้ต้องปรับตัวหลายตลบกว่าจะพบวิถีที่พออยู่ได้
ในยุคสื่อออนไลน์ใครๆก็สื่อสารได้เราพบว่า คณะหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนมีคิวงานยาวเหยียด มีแฟนคลับ มีแฟนเพจที่มีคนติดตามแน่นหนา สนนราคาค่าจ้างเรือนแสน ส่วนหมอลำซิ่งก็ไม่ยอมน้อยหน้า อยู่ได้และยังมาด้วยวิธีเดียวกัน
มีงานวิจัยออกมาด้วยว่า กลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นของหมอลำหมู่นั้น นอกจากแม่ยกของดาราชูโรงของคณะแล้ว ก็มีกลุ่มเกย์ที่มีคู่รักเป็นแดนเซอร์ที่เหนียวแน่นมั่นแก่นยิ่งนัก ส่วนหมอลำซิ่งมีกลุ่มกะเทยหน้าฮ้านกระโดดเด้าเก้าชั้นกันผู้บ่าวไทบ้านที่เคยยึดหน้าฮ้านตีกันออกไปได้พอสมควร
ท่ามกลางการปรับตัวของหมอลำ บริการภาพยนตร์ที่มีสายป่านยาวก็พบหนทางใหม่คือการเพิ่มระบบแสงสีเสียง ให้ภาพยนตร์บวกกับดิสโกเธคในบริการเดียวกันก็พอประคับประคองเอาตัวรอดไปได้
แต่ยังมี “รถแห่” ความบันเทิงล่าสุดบนดินแดนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าจ้างเรือนหมื่น บนรถแห่มีนักดนตรี นักร้อง รอบคันรถคือลำโพงมหาศาลระบบเสียงสะท้านสะเทือนรอบทิศทาง
รถแห่มีดีที่เล่นดนตรีสด นักร้องก็ร้องสดระบบเสียงสุดสะเด่า เจ้าภาพไม่ต้องจ่ายแพง และรถแห่บางคณะก็มีแฟนคลับคอยติดตาม คอยตั้งตารอจะไปจ้วดจ้าดวาดลวดลายหน้ารถแห่
แต่ว่า ในยุคที่ความสงบเรียบร้อยเป็นสินค้า มันก็มีราคาที่เจ้าภาพต้องจ่ายเรื่องความเรียบร้อย บางงานมีตำรวจและอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือนก็ยังไม่พอ ต้องมี ท.ทหารอดทนมาถือปืนยืมคุมรถแห่ สนนราคาเป็นกันเอง กะละ 400 บาท เช่น แห่บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น จ่ายสี่ร้อย ช่วงกลางคืน หัวค่ำถึงเที่ยงคืนจ่ายอีกสี่ร้อย รับเนื้อๆไปวันหนึ่งคนละแปดร้อยบาท
อย่างล่าสุด ผมไปสังเกตการณ์รถแห่ในงานบวชกลางทุ่งกุลา เจ้าภาพบ่นอุบว่า รถแห่ไม่แพง แต่ค่าจ้างทหารที่มาเป็นเซ็ต 15 คนนั้น เงิน 12,000 บาทพร้อมข้าวปลาอาหารแบบอิ่มหนำทำเอาเจ้าภาพหน้าเหี่ยวไปถนัดตา
[right-side]
แสดงความคิดเห็น