Posted: 12 Nov 2018 04:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-12 19:45


ไม่มี ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ มีแต่ ‘ผู้ชายยิงหัว’ ยังลอยนวลคดีไม่ไปถึงศาล ขณะที่ ‘จ๋า นฤมล’ ติดคุกปีกว่า ก่อนมีคำพิพากษาไม่ผิด ‘ณัฐวุฒิ’ กล่าวคำไว้อาลัยการจากไปของหญิงแกร่งตัวตนชัดเจนในขบวนการประชาธิปไตยกับการต่อสู้ร่วมกันยาวนาน 10 กว่าปี

12 พ.ย.2561 การเสียชีวิตของ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.' ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากการที่เธอถูกกล่าวหาว่า ในเหตุการณ์การชุมนมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ว่าเธอใช้ปืนยิงไปที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารขณะที่กำลังโปรยใบปลิวและทิ้งแก็สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม โดยศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย และศาลฎีกาไม่รับฎีกาของอัยการโจทก์ในคดีนี้เป็นผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยที่เธอถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว

ในพิธีฌาปนกิจ นฤมล เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่วัดเทวสุนทร ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวคำไว้อาลัยในพิธีฌาปนกิจดังกล่าว เผยแพร่ในเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' โดยมีรายละเอียดดังนี้


ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมอยากจะพูดว่ารู้สึกเป็นเกียรติ แต่ที่อยู่ในใจจริงๆ คือรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะว่าเราได้มารวมตัวกันในวาระของการสูญเสียบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน

ถามว่า ถ้าพี่จ๋าคือบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่ง แล้วใครคือคนที่สำคัญมากกว่า หรือใครคือคนที่สำคัญน้อยกว่าคุณจ๋า นฤมลคนนี้?

คำตอบคือ ไม่มี เพราะในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ทุกคนสำคัญเท่ากัน หนึ่งชีวิตหนึ่งอิสรภาพของทุกคนถูกวางไว้เป็นเดิมพันตลอดเส้นทางกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แล้วไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ถูกวางไว้เป็นเดิมพันต่อเนื่องในสถานการณ์ภายหน้า

ผมได้พบพี่จ๋าครั้งแรกที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 23 มี.ค.2550 คราวนั้นเราเปิดเวที PTV ต่อต้านเผด็จการเป็นครั้งแรก ลงมาจากเวที ผมได้ยินเสียงเรียกอย่างสนิทสนมว่า ‘ณัฐวุฒิ สู้นะ ณัฐวุฒิ สู้นะ’ หันมาตามเสียง เจอสุภาพสตรีคนหนึ่งนั่งอยู่บนเบาะมอเตอร์ไซต์ มีสุนัขตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งนั่งอยู่ในตะกร้าข้างหน้า ตอบตัวเองได้ทันทีว่า ผมไม่เคยรู้จักผู้หญิงคนนี้มาก่อน

แต่แน่นอนที่สุดครับ คนอย่างเธอ ไม่ยอมเปลืองเวลาแม้เพียงเสี้ยววินาทีที่จะประกาศอย่างองอาจผ่าเผย ว่า ‘นี่พี่จ๋าเอง’ นี่คือ ‘จ๋า’

ผมเห็นว่า ด้วยท่วงทำนองและบุคลิกดังกล่าวของพี่จ๋า มันอธิบายความรู้สึกของประชาชนคนเล็กๆ คนธรรมดาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ที่อยากจะประกาศให้ใครก็ตามในบ้านเมืองนี้รู้ว่า

‘นี่ฉันไง ฉันประชาชน นี่ฉันไง ฉันคือคนเท่าๆ กันกับพวกคุณ ตั้งแต่เกิด ดำรงอยู่ และตกตายไป’

ผมจดจำผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่วันนั้น แล้วก็พบหน้าต่อเนื่องกันมาต่างกรรมต่างวาระในสถานการณ์ต่อสู้

คืนวันที่ 10 เมษายน ผมเดินทางจากแยกราชประสงค์ ไปที่เวทีผ่านฟ้า เพราะทราบว่าสถานการณ์ที่นั่นลุกลามบานปลายแล้ว ไปถึงก็พยายามเจรจากับฝ่ายผู้มีอำนาจ ให้ยุติปฏิบัติการสลายการชุมนุม ยุติการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายของทุกฝ่าย

เหตุการณ์คืนนั้นหนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตผม ผ่านพ้นจากเหตุการณ์ไป มีเรื่องราว มีวาทกรรมมากมาย หนึ่งในวาทกรรมที่เกิดขึ้นจากคืนนั้นก็คือคำว่า ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ ซึ่งหมายถึงคุณจ๋า นฤมล วรุณรุ่งโรจน์

ผมเรียนทุกท่าน ตรงไปตรงมาครับ เหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ผมไม่เคยเชื่อและไม่เคยยอมรับว่ามีผู้หญิงยิง ฮ. แต่ผมเชื่อมาตลอดเวลาจนบัดนี้ว่า มีผู้ชายยิงหัว (เสียงปรบมือจากผู้ฟังในงาน)

ภายหลังเหตุการณ์นั้น ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ ติดคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่มีความผิด

แต่ ‘ผู้ชายยิงหัว’ ยังอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองลอยนวลสบายๆ (ผู้ฟังส่งเสียงโห่และปรบมือ)
โดยคดีไม่ไปถึงศาล ติดตามทวงถามก็เสมือนว่า ความตายร่วมร้อยชีวิตเป็นเรื่องว่างเปล่า ไร้ค่า

แต่ท่านเชื่อผมเถอะครับ ไม่มีชีวิตใดเกิดขึ้นเพื่อให้ถูกทำลายอย่างไร้ค่า ตราบเท่าที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ยังไม่หยุดต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรม

ผมได้ข่าวการจากไปของพี่จ๋า อาลัย ใจหาย ไม่นึกว่า ผู้หญิงที่แกร่งมากๆ คนหนึ่ง จะจากไปเสียง่ายๆ แต่นี่มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติครับ เป็นเรื่องชีวิต เป็นเรื่องวันเวลา

ผมหวังใจว่า ถ้าพี่จ๋ารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็จะทำให้การเดินทางของพี่จ๋านับจากวินาทีนี้ไป จะไปที่ไหนๆ ก็ตาม ใครก็ไม่กล้ามองข้าม นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ เพราะในวันเวลาที่มีชีวิตอยู่ ได้สร้างความยอมรับ ได้สร้างความนับถือต่อผู้คนมากมายหลายแวดวง จนมารวมตัวกันเช่นวันนี้

ผมคงพูดอะไรได้ไม่ยาว เนื่องจากว่า ความรู้จักความผูกพันระหว่างพวกเรามันยืดยาวเกินกว่าจะอธิบายในระยะเวลาสั้น

ต่อจากนี้ จะไม่มีอีกแล้ว สุภาพสตรีที่คงความเป็นเอกลักษณ์ เป็นแบบฉบับ เป็นตัวตนที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

พี่จ๋า เหมือนออกมาจากวรรณกรรมของไม้เมืองเดิม แล้วออกมาเดินอยู่บนถนนการต่อสู้ เมื่อหมดภาระหน้าที่ เธอก็กลับเข้าไปอยู่ในวรรณกรรมเล่มนั้น เล่มที่มีคนอีกหลายคนอยู่ร่วมกัน เช่น ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เช่น วีรชนผู้เสียสละ ผู้สูญเสียอีกมากมาย

วันนี้ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ ได้จดจารบันทึกชีวิตตัวเอง ไว้ในหัวใจของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่มีใคร หรือวันเวลาใดจะลบเลือนเธอไปได้ ถ้าถามผมว่ากล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปถึงที่สุดหรือไม่ ผมตอบว่ากล้า แต่ถ้าถามว่ากล้าลืมจ๋า นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ ไปจากชีวิตหรือไม่ ผมตอบว่า ผมไม่กล้า เพราะเธอยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะลืมได้

ขอดวงวิญญาณของพี่จ๋าสุขสงบ ในสัมปรายภพ ขอดวงวิญญาณของพี่จ๋า หลุดพ้นจากการถูกกดขี่บีฑาในทุกรูปแบบ ทุกกรณี และขอดวงวิญญาณของพี่จ๋า จงเคียงข้างเพื่อนมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์ ปกป้องดูแลเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพื่อเราจะเดินไปข้างหน้าในวันที่เราหวัง ในวันที่เราเชื่อมั่นร่วมกันต่อไป

‘นฤมล วรุณรุ่งโรจน์’ เธออาจจะไม่รู้จักคำว่าปรองดอง เธออาจจะไม่รู้จักคำว่าปฏิรูป เธออาจจะไม่รู้จักคำพูดสวยงามใดๆ ที่เขาอธิบายกันอยู่วันนี้

แต่เธอยึดมั่นกับคำว่า กูจะสู้มันถึงที่สุด กูจะไม่ยอมมัน ยังไงกูก็ยอมมันไม่ได้ และนี่ล่ะครับ คือเธอที่เราต้องมาร่วมกันคารวะ ขอบคุณครับ"

ลมหายใจที่ไม่แพ้: ทศวรรษแห่งการต่อสู้ของพี่จ๋า กองหน้าเสื้อแดง
'จ๋า-ผู้หญิงยิงฮ.' เสียชีวิตแล้ว ส่งนิติเวช รพ.ตำรวจชันสูตร

สำหรับ นฤมล นั้น เธอถูกตั้งข้อหาใช้ปืนยิงไปที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารขณะที่กำลังโปรยใบปลิวและทิ้งแก็สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 โดยที่เธอและจำเลยอีก 2 คนถูกสั่งฟ้องในข้อหา ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม โดยมีหลักฐานเป็นปืน AK47 จำนวน 5 กระบอก, ปืนกล M16 จำนวน 1 กระบอก, ระเบิดหลายชนิดเกือบ 20 ลูก, กระสุนปืนแบบต่างๆ เกือบพันลูก ไม่นับตะไล ปืนคาร์ไบน์ ระเบิดเพลิง แต่จากการสืบพยานไม่พบลายนิ้วมือแฝงบนอาวุธ

เธอถูกจับเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2553 โดยถูกคุมขังมาจนถึงวันที่ 5 ก.ย.2554 รวมเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว และถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุดแต่นฤมลก็ไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าศาลต้องพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ มิใช่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ต่อมาเธอยังถูกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหารด้วย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.52 ในที่ชุมนุมของนปช.โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้นฤมลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สั่งจำคุก 1 ปี จากข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังทำร้ายร่างกายนายทหารนอกเครื่องแบบ หลังพ้นโทษออกจากเรือนจำ เธอใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นานกว่าจะตั้งหลักด้วยการประกอบอาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณในเวลากลางวันและทำขนมหวาน ชาสมุนไพรฝากขายและวางขายตามที่ชุมนุมของกลุ่มผู้รักประชาธิปไตย จนกระทั่งเสียชีวิตผ่านมาภายในห้องเช่าหลังห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยไม่ทราบเวลาและสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่าน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.