Posted: 10 Nov 2018 05:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-11-10 20:52


ทวีศักดิ์ เกิดโภคา/กาญจนพงค์ รินสินธุ์ สัมภาษณ์-เรียบเรียง

คชรักษ์ แก้วสุราช/กิตติยา อรอินทร์ ภาพ

หลังจากศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่ MV เพลงประเทศกูมีหนึ่งในปฎิกริยาโต้กลับที่เกิดขึ้น คือการยัดข้อหาว่า 'ชังชาติ' ทำร้ายประเทศ ประชาไทชวน อาจารย์เดือนตุลาฯ พูดคุยหาแก่นแท้ความเป็นชาติ ลัทธิชังชาติ เป็นมาอย่างไร ทำไมชาติถึงมีศัตรูที่อยู่ภายใน และเราจะเดินต่อไปในความขัดแย้งที่รออยู่ในอนาคตอย่างไร

เพลงประเทศกูมี นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ที่เป็นภาพสะท้อนของการเมืองวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ผู้คนต่างเก็บความอัดอั้นตันใจเอาไว้ หลากหลายเรื่องราวที่ต้องการจะพูดถูกทำให้มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อพูดแล้วมีปัญหา การนิ่งเฉยและปล่อยผ่านจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ความเงียบ..... จึงกลายเป็นเสียงสะท้อนถึงความกลัวที่โอบคลุมสังคมไทย

ไม่แปลกอะไรนักเมื่อศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่เพลง ประเทศกูมี ซึ่งมีคนพูดถึงและเข้าไปฟังกว่า 30 ล้านครั้ง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะฝ่ายรัฐตั้งธงว่าจะออกหมายเรียกผู้แต่งเพลงมาสอบสวน แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เนื้อเพลงแต่ละถ้อยคำถูกร้องอยู่ในหัวของคนจำนวนหนึ่งมานานแล้ว เพียงแต่เขาไม่กล้าพูดมันออก และเมื่อมีคนมาพูดแทน พวกเขาก็พร้อมจะที่ฟังมัน และส่งต่อ

เพลงดังกล่าวทำหน้าที่สื่อสารว่า ประเทศนี้มีปัญหาอะไรบ้าง แต่ยังไม่ทันจะนำไปสู่การแก้ไข คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยก็พากันปักป้าย ตีตราให้กับพวกเขาอย่างเบ็ดเสร็จว่า พวกมึงมันชังชาติ ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และมีคนหนุ่นหลังให้มาทำร้ายประเทศตัวเอง จนถึงขั้นขับไล่ให้พวกเขาออกจากประเทศแห่งนี้ไป

ปฎิกริยาโต้กลับลักษณะนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แรกสุดทำให้เรานึกถึงการสร้างศัตรูของชาติขึ้นในคำใหม่ว่า ‘ลัทธิชังชาติ’ จากเดิมที่เราเคยได้เห็นมันในคำอื่นมาก่อน พวกคอมมิวนิสต์-พวกขายชาติ-พวกล้มเจ้า-พวกขี้ข้าทักษิณ ความคิดถัดมามันพาเราไปสู่การทำตั้งคำถามง่ายๆ ว่าชาติคืออะไร ทำไมชาติถึงต้องมีศัตรูที่อยู่ภายใน แล้วเราจะเดินกันอย่างไรต่อไปในความขัดแย้งที่รออยู่ในอนาคต เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือชื่อหนึ่งที่โดดขึ้นมา เมื่อเราคิดถึงบทสนทนาเรื่องดังกล่าว นั่นอาจเป็นเพราะยังคงจำคำพูดของเขาในคลาสเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทยเมื่อหลายปีก่อนได้ดีว่า “ชาติมันสร้างขึ้นในหัวคุณ”

‘ชาติ’ สร้างได้ด้วยการสร้างจินตนาการร่วม แม้สิ่งเหล่านั้นอาจไม่มีอยู่จริง

ก่อนจะตอบคำถามว่า ลัทธิชังชาติคืออะไร คงต้องเดินหลายก้าวหน่อยกว่าจะมาพูดถึงเรื่องชังชาติ เอาเข้าจริงผมได้ยินคำนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี (2561) เริ่มเห็นคนหยิบคำนี้มาใช้ถ้าจำไม่ผิดคำนี้มาจากปัญญาชนที่แสดงความรักชาติ แสดงความจงรักภักดีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเขาหมายถึงกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ให้ผมเดาก็คือ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล ต่อสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามีการโต้กลับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งโดยมากทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจรัฐบาล พวกเขาอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้คือ การทำร้ายประเทศ ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศ และตั้งคำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นลัทธิชังชาติหรือไม่

เริ่มต้นกันแบบนี้ ทันทีที่คุณพูดถึง ชาติ คุณพูดถึงชุมชนในจินตนาการ/ชุมชนจินตกรรม (imagined community) คนที่เสนอเรื่องนี้คือครูเบ็น แอนเดอร์สัน ท่านเสนอว่า การจะรวมเป็นชาติมันจะต้องเริ่มจากความรู้สึกว่า เรามีบางอย่างที่ร่วมกัน การจะมีอะไรบางอย่างรวมกันสำหรับคนหลักสิบล้าน หรือเกือบร้อยล้านคนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะมันมีความแตกต่างหลากหลายมาก คุณนึกภาพดูจากเชียงรายลงไปถึงเบตง ดังนั้นที่สุดแล้วสิ่งที่คนจำนวนมากจะมีร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมีจินตการถึงบางอย่างร่วมกัน

พูดให้ง่ายคือ เพื่อจะมีชุมชนในจินตกรรม คุณต้องพยายามจินตนาการว่า คนที่อยู่ในพื้นที่นี้มีความร่วมกันบางอย่าง หลักๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ imagined common past มีอดีตร่วมกัน imagined common place มีพื้นที่ร่วมกัน และมี imagined common tie มีสายสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน ทั้ง 3 สิ่งนี้อยู่ในจินตนาการทั้งสิ้น ดังนั้นมันไม่ใช่อะไรที่คุณสัมผัสจับต้องได้โดยอัตโนมัติในชีวิตประจำวัน

คุณต้องสร้าง imagined common place คือต้องมีสถานที่ร่วมกัน เครื่องมือสำคัญในการทำให้คนจำนวนมากซึ่งอยู่ไกลกัน และชาตินี้อาจไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็ได้ รู้สึกว่า ชิบหายแล้วพวกเราสังกัดอยู่ในสถานที่เดียวกัน เครื่องมือที่ว่านี้คือ แผนที่ เพราะมันทำให้คุณสามารถจินตนาการเห็นว่า เรามีพื้นที่ที่สังกัดอยู่ร่วมกัน

นอกจากแผนที่ คุณต้องจินตนาการได้ว่าคุณมีอดีตร่วมกัน ปกติแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอดีตร่วมกัน ต่างคนต่างอยู่ มีพื้นเพความเป็นมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณต้องสร้างอะไรซักอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีอดีตร่วมกัน สามารถสาวกลับไปได้ว่าเรามีทวดของทวดของทวดเรามีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันมาอย่างไร เครื่องมือในการสร้างอดีตที่มีร่วมกัน คือประวัติศาสตร์ ซึ่งคุณจะพบกับคำอธิบายว่า เราแตกยอดมาจากเทือกเขาอัลไตมาถึงสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

สุดท้ายคือ imagined common tie คือมีสายสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน พูดถึงที่สุดเราไม่ได้มีสายสัมพันธ์ติดต่อถึงตัวกันจริงๆ ชีวิตเราต่างดำเนินไปตามเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคม เราต่างใช้ชีวิตประจำวันของเราไป ผมกับอาจารย์ที่สอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่ กับอาจารย์ที่สอนอยู่ที่ ม.วลัยลักษณ์ อาจจะไม่ได้เคยคุยกันเลยก็ได้ในชั่วชีวิตนี้ แต่เครื่องมือสำคัญในการสร้างจินตนาการว่าเรามีสายสัมพันธ์ร่วมกันคือ การใช้สัญลักษณ์ เช่นธงชาติ เพลงชาติ เครื่องแบบบางอย่าง หรือการแต่งกายบางอย่าง

อันนี้จะเห็นชัดสุดเวลาเราไปเชียร์กีฬา ไม่ว่าจะชกมวยสากล หรือการแข่งขันกีฬาประเภทใดก็ตาม ผมเข้าใจว่าเราจะเห็นดาราตลกคนหนึ่งที่แกชอบใส่ชุดทหารสมัยอยุธยา สวมหมวก ถือธงชาติแล้วก็วิ่งไปวิ่งมา ทันทีที่คุณเห็น คุณก็รู้ว่า เนี่ยแหละไทย เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือสัญลักษณ์(symbol) ทั้งนั้น แล้วสัญลักษณ์นี้ทำให้คุณรู้สึกว่าคนที่ชกอยู่ต่อหน้าคุณ คนคนนี้คือพวกเรา เราสามารถจินตนาการถึงสายสัมพันธ์ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่ได้มีระหว่างเรากับคนที่ชก หรือคนที่เชียร์

ชาติจึงเป็นชุมชนที่จินตนาการขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้มีจุดร่วมกันบางอย่าง คุณต้องสร้างบางอย่างที่ร่วมกันขึ้นมา ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการจินตนาการขึ้น มีสถานที่ร่วมกัน ใช้แผนที่ มีอดีตร่วมกัน ใช้ประวัติศาสตร์แห่งชาติ มีสายสัมพันธ์ร่วมกัน ใช้สัญลักษณ์ เวลาเราพูดถึงชาติ เราพูดถึงอะไรที่เราจินตนาการว่ามันมีบางอย่างร่วมกันอยู่
เมื่อมีชาติหนึ่ง ก็มีชาติอื่นด้วย เมื่อมีความเหมือน ก็มีความต่าง แต่ความต่างบางประเภทกลับถูกผลักให้กลายเป็นศัตรู

งานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล เรื่อง Siam Map ได้อธิบายความสำคัญด้านกลับของชาติไว้ แกบอกว่า การเกิดชาติขึ้นในโลกนี้ มันไม่ได้มีแต่ความเหมือนเท่านั้น มันมีความต่างด้วย เพราะมันไม่มีชาติไหนหรอกที่ครอบครองพื้นที่ทั้งโลก ทันทีที่คุณพูดถึงชาติ ชาติหนึ่ง ชาติไทย คุณกำลังพูดถึงชาติกัมพูชา ชาติพม่า ชาติลาว คือพูดง่ายๆ ทันทีที่พูดถึงชาติ มันเป็นพหุพจน์(Plural) มันมีหลายชาติในโลก

ทันทีที่เราคิดถึงความเป็นชาติของเรา ก็จะมีความเป็นชาติชาติอื่นด้วย ย่อมมีความเป็นไปได้ของความต่าง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ระหว่างชาติ ซึ่งจินตนาการถึงความต่าง จะจัดวางความต่างในฐานะมิตรก็ได้ หรือที่จะเป็นศัตรูกันก็ได้ จากจินตนาการนี้เราได้สร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้ที่ หน่วยชาติต่างๆ ในโลกจะเป็นมิตรหรือศัตรูกันก็ได้ และไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นมิตรหรือศัตรูกันตลอดไป แต่ตราบใดที่โลกยังจัดระเบียบกันเป็นชาติต่างๆ อยู่ มันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกันตลอดเวลา จนกว่าคุณจะรวมทั้งโลกเป็นชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

คราวนี้ทันที่มีชาติหลายชาติ บางชาติอาจเป็นศัตรูของคุณ แต่ศัตรูของชาติไม่ได้มีแต่ข้างนอก ศัตรูของชาติยังเป็นไปได้ว่ามีอยู่ข้างในด้วย เพราะมีการคิดด้วยการเชื่อมโยงคนข้างในกับคนข้างนอก คุณจะเห็นว่ามันการกล่าวหากัน อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เช่น ไอ้นี่มันรับใช้ฝรั่ง ไอ้นี่มันรับใช้จีน ไอ้นี่มันรับใช้ลาว ไอ้นี่มันรับใช้พม่า คุณเชื่อมโยงแล้วคุณก็ได้สร้างศัตรูภายในขึ้นมา เป็นศัตรูซึ่งอยู่ในแผนที่เดียวกันแผนที่ของคุณ เป็นคนซึ่งควรจะมีจินตนาการถึงอดีตแบบเดียวกับคุณ เป็นคนซึ่งควรจะมีสัญลักษณ์ซึ่งผูกสายสัมพันธ์เดียวกันกับคุณ แต่เขากลับเป็นคนอื่นที่อยู่ข้างใน(the others within) คำว่า ’ลัทธิชังชาติ’ มันงอกขึ้นมาบนวิธีคิดแบบนี้แหละ คือการมุ่งเป้าใส่คนข้างใน ซึ่งคุณมองว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่พวกเดียวกับคุณ เขาเป็นคนอื่น เป็น the others แต่ดันเป็น the others ซึ่งอยู่ with in the border เป็นคนอื่นที่อยู่ข้างใน

เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์การกำหนดศัตรูของชาติไทยเรา จะพบว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าคิดคร่าวๆ คือ ในอดีตศัตรูคือพม่า ในยุคต่อมาเราก็ให้ศัตรูของเราเป็นจีนคอมมิวนิสต์ ในยุคถัดมาศัตรูของเราเป็นพวกคอมมิวนิสต์อินโดจีน พอหมดยุคคอมมิวนิสต์แล้ว ศัตรูของเรากลายเป็นพวกค้ายาว้าแดง หรือคิดในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสี เสื้อสีแดงอาจจะเป็นศัตรูของชาติ เป็น the others within

แก่นแท้/แก่นสารของชาติ ศัตรูของของชาติ และการควบคุมความคิดคน

การมีศัตรูของชาติ ไม่ต่างจาก imagined common past, imagined common place, imagined common tie เพราะ มันเป็นศัตรูในจินตนาการ มันเป็น imagined common enemy เป็นศัตรูร่วมกันในจินตนาการที่เราคิดขึ้น เพียงแต่เป็นคนข้างใน แล้วเป็นพลเมืองไทย ในทางปฏิบัติมันแปลว่าอะไร ง่ายที่สุดคือ ทันทีที่คุณสร้าง the others within ทันทีคุณสร้าง imagined common enemy ที่อยู่ในพรมแดน คุณกำลังปักป้ายเขตห้ามเข้าทางความคิด คุณกำลังบอกว่า ถ้าเป็นคนไทยอย่าคิดแบบนี้ อย่าเข้าไปในพื้นที่ความคิดแบบนี้ ต้องอยู่ข้างนอก อยู่ฝั่งที่คิดถูกต้อง แต่การปักป้ายศัตรูของชาติที่เป็นคนข้างในจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัย ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจมีการประกาศว่าเรามีอดีตร่วมกันอย่างไร พื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร สายสัมพันธ์เราผูกโยงกันอย่างไร และศัตรูร่วมของเราคืออะไร

แก่นสารของความเป็นชาติมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในยุคของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แก่นสารของความเป็นชาติคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเน้นความสำคัญไปที่สถาบันฯ พอคณะราษฎรขึ้นมากุมอำนาจได้ แก่นสารความเป็นชาติก็เปลี่ยน ตอนแรกเป็นลัทธิรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ แต่เราเริ่มเห็นการเปลี่นแปลงแก่นสารความเป็นชาติได้ชัดก็ตอนที่ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรก ในคำปราศรัยครั้งแรกของท่าน ในครั้งรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ท่านนิยามความเป็นชาติไทยใหม่

ท่านบอกว่าสถาบันสำคัญของชาติ หรือสิ่งสำคัญของชาติ มี 4 อย่าง รัฐบาล รัฐสภา พระมหากษัตริย์ และกองทัพ แต่อะไรคือสถาบันสำคัญที่สุดของชาติ และเป็นแก่นสารของชาติ ในความเข้าใจของพันเอกหลวงพิบูลสงครามซึ่งได้อธิบายต่อมาว่า ถ้าเรามาดู 4 สถาบัน รัฐบาลก็พ้นจากตำแหน่งได้ไม่ได้ยั่งยืนถาวร รัฐสภาก็ยุบได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นบุคคลก็อาจจะเสด็จสวรรคตได้ มีแต่กองทัพเท่านั้นที่ยั่งยืนสถาพร หากกองทัพไม่แล้ว ความเป็นชาติก็ไม่เหลือ

เห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 30 ปี วิธีนิยามแก่นสารความเป็นชาติมันเปลี่ยนไปตามคณะบุคคลที่ขึ้นมากุมอำนาจซึ่งเห็นว่าสถาบันไหนสำคัญ และผมคิดว่าเกมนี้ดำเนินมาเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าคณะบุคคลใด กลุ่มไหนขึ้นมากุมอำนาจก็จะนิยามแก่นสารความเป็นชาติที่เปลี่ยนไปตามฐานผลประโยชน์ ตามฐานอุดมการณ์ของตน

แต่ว่าสิ่งที่แบบเห็นผลทางปฏิบัติมากกว่า คือ imagined common enemy ศัตรูร่วมที่เราจินตนาการขึ้นมาซึ่งส่งผลทันที เพราะมันคือการปักป้ายเขตห้ามเข้าทางความคิด ถึงที่สุดแล้วการสร้างศัตรูของชาติขึ้นมาก็คือ การสร้างกลไกในการควมคุมความคิดคน

ผมไม่แน่ใจว่าคนตั้งลัทธิชังชาติเขาตั้งใจหรือไม่ แต่ในช่วงที่หลวงวิจิตรวาทการนิยามลัทธิชาตินิยม เขาเรียกมันว่า ลัทธิชูชาติ ผมไม่รู้ว่าคนคิดคำว่า ลัทธิชังชาติ ไปเอาคำนี้มาจากไหน หรืออาจจะเห็นว่ามีคำว่า ลัทธิชูชาติ ก็เลยบิดมาใช้เป็น ลัทธิชังชาติ แต่ทั้งหมดมันงอกมาจากคอนเซปต์นี้แหละ มันต้องไล่มาตั้งแต่ชาติเป็นชุมชนในจินตกรรม เรามีบางอย่างร่วมกัน ผ่านแผนที่ ประวัติศาสตร์ และสายสัมพันธ์ แล้วค่อยมาถึงจุดที่จะเห็นมันต่างจากชาติอื่นๆ ซึ่งทำให้มีเงื่อนไขที่ว่าจะเห็นชาติอื่นๆ ที่มีความแตกต่างเป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะสร้างศัตรูที่อยู่ข้างนอกชาติ และศัตรูของชาติที่อยู่ข้างใน และการปักป้ายเขตห้วงห้ามทางความคิด
เป็นไปได้หรือไม่ที่ชาติจะไม่มีศัตรู

ในทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่อย่าลืม ทันทีที่พูดประโยคนี้มันมีเงื่อนไขความเป็นไปได้อยู่เสมอ ที่ในกระบวนการสร้างชาตินั้นจะมีศัตรูของชาติอยู่ นึกออกไหมมันเป็นความเป็นไปได้ที่คุณปฏิเสธไม่ได้ทั้งสองทาง คุณอาจจะบอกว่า เป็นไปได้มั้ยครับ ที่เราจะสร้างชาติโดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้ที่ได้รับเกียรติเป็นศัตรูของชาติ ในทางหลักการ ทฤษฎีเป็นไปได้ แต่เข้าใจไหมครับว่าโดยเงื่อนไขความเป็นชาติในโลกปัจจุบันเนี่ยซึ่งต้องมีมากกว่าหนึ่งชาติเสมอเนี่ย มันจึงมีความเป็นไปได้ของการสร้างศัตรูของชาติ และในบางเงื่อนไข บางโอกาส บางสภาวการณ์ มันสร้างศัตรูของชาติได้ง่าย และพอสร้างศัตรูของชาติได้ง่าย คุณก็สร้างเป็นชาติโดยคิดกลับตาลปัตรกันง่าย ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ห้ามเข้าทางความคิด คุณเป็นชาติเดียวกับเรา

ความเป็นไปได้ของการสร้างชาติโดยไม่มีการกำหนดศัตรูของชาติ มันจะผลักพาไปสู่การมีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับคนอื่น กับประเทศอื่น มันจะผลักพาไปสู่การรวมตัวระดับภูมิภาคที่ใหญ่กว่าชาติ อันนี้แหละคือที่มาขององค์กรอย่าง สหภาพยุโรป


การเกิดขึ้นของลัทธิชังชาติ สะท้อนให้เห็นถึงนิยามความเป็นชาติที่แตกต่างกัน?

ในเมื่อชาติเป็นชุมชนในจินตกรรม ในพื้นที่รัฐชาติหนึ่งจึงมีจินตนการเกี่ยวกับชาติได้มากกว่าหนึ่งเสมอ ผมคิดว่าน้อยมากที่มันจะเป็นมีจินตนาการเกี่ยวกับชาติที่เป็นเอกพจน์ ดังนั้นการมีจินตนาการเกี่ยวกับชาติที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ให้ความสำคัญต่อสถาบันที่เป็นแก่นสารของชาติหลายแบบมันจึงเป็นไปได้เสมอ และจริงๆ เกิดขึ้นในสภาวะปกติธรรมดาด้วย

แต่มันยุ่งตรงที่ว่า ฝั่งหนึ่งซึ่งให้คำนิยามชาติ ได้ขึ้นไปเถลิงอำนาจรัฐ และความจริงที่สำคัญคือ ชาติไม่เพียงแต่เป็นจินตนาการถึงอะไรที่มีร่วมกัน ชาติยังเป็นโปรเจกต์ที่เราจะต้องมีร่วมกันด้วย เพราะเมื่อเราจินตนาการถึงชาติร่วมกัน เราล้วนคิดถึงชาติที่วิ่งไปในอนาคตข้างหน้าเสมอ มันจะมีแผนงาน มีความพยายามผลักพาไปสู่การบรรลุโปรเจกต์บางอย่างเสมอ

ปัญหาเกิดตรงที่ รัฐ อำนาจรัฐคือ เพชรยอดมงกุฎ สำหรับการนำไปการบรรลุโปรเจกต์ชาติ โปรเจกต์ชาติมีได้มากกว่าหนึ่งเสมอ มักจะเป็นพหูพจน์ แต่ว่าเวลาคุณมีโปรเจกต์คุณก็อยากจะทำให้มันเป็นจริง เครื่องมือสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงอย่างที่จินตนาการไว้ได้คือ คุณต้องมีอำนาจรัฐ

อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้จะพูดยังไง แต่ว่า เท่าที่ผมเข้าใจ ตรรกะมันเป็นแบบนี้ ถ้าผมจินตนาการถึงชาติไว้แบบนึง ให้ความสำคัญกับสถาบันจำนวนหนึ่งว่านี่คือแก่นสารของความเป็นชาติ คุณจินตนาการไปอีกแบบ คุณให้แก่นสารของความเป็นชาติไว้อีกแบบ อดีตร่วมของคุณกับอดีตร่วมของผมก็ไม่เหมือนกัน แต่งนิทานกันคนละเรื่อง พื้นที่ร่วมคุณ พื้นที่ร่วมผมก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกันทั้งหมด แต่สมมติว่าร่วมกันก่อน สายสัมพันธ์คุณกับสายสัมพันธ์ผมก็ไม่เหมือนกัน ของคุณใช้เสื้อสีนี้ ของผมใช้เสื้อสีนั้น เพื่อบอกความเป็นพวกเดียวกัน ที่สุดแล้ว นี่คือพูดถึงโปรเจกต์สองโปรเจกต์ และโปรเจกต์ใหญ่ขนาดชาติ ไม่ใช่หมู่บ้าน โรงเรียน คณะ เครื่องสำคัญที่จะบรรลุมันได้คือ อำนาจรัฐ ดังนั้นมันจึงวิ่งมาสู้จุดที่ต้องปะทะกัน

คราวนี้พยายามจะกลับไปที่คำถาม คุณเริ่มตรงที่ว่า เพราะว่าคนเรามีจินตนาการถึงชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะที่คุณว่าฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชนมีจินตาการแตกต่างกัน ผมเห็นด้วยว่า มันได้มากกว่าหนึ่ง มันเป็นพหูพจน์ ที่ยากกว่านั้น ยุ่งกว่านั้นก็คือว่า เส้นแบ่งมันไม่ง่ายขนาดนั้นไง ฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาชนกันเองก็ไม่เหมือนกัน มันมีตั้งหลายจินตนาการ แล้วฝ่ายรัฐเองผมก็ไม่แน่ใจนะว่าเหมือนกันซะทีเดียว

ความแตกต่างหลากหลายอาจจะมีอยู่ได้ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐจะพยายามจัดแถว ตบแถว ให้คิดแบบเดียวกันกับรัฐบาล ดังนั้นเรามักจะเห็นเส้นแบ่งของผู้มีอำนาจรัฐ ก็ด้วยเหตุที่เขาอยากได้อำนาจรัฐที่จะทำให้เขาบรรลุโปรเจกต์ชาติ กับฝ่ายที่ไม่มีอำนาจรัฐ แต่อย่าไปคิดว่าจะมีเอกภาพในแต่ละฝ่าย ชัดเจนซะทีเดียว มันอาจจะมีได้มากกว่าหนึ่ง ทั้งฝ่ายผู้ไม่มีอำนาจรัฐคือประชาชน กับฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ

คราวนี้ขยับต่อคือ พูดให้ถึงที่สุด คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกลัทธิชังชาติ ในความเข้าใจของผม คือพวกเขาเป็นลัทธิรักชาตินี่ล่ะ และเขาอยากจะช่วยเหลือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชาติ เพราะเค้าเชื่อว่าชาติดีกว่านี้ได้ คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นลัทธิชังชาติเนี่ยก็คือคนที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นจริง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ในสภาพของชาติปัจจุบัน และเขาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเตรียมย้ายไปอยู่ประเทศอื่นหรือ เปล่า เขาวิพากษ์วิจารณ์ภาษาไทยในพื้นที่ประเทศไทย และทำไมเขาทำแบบนั้นทำไมเขาแบบไม่เก็บของแล้วอพยพไปอยู่ที่อื่น เพราะเขารักชาติ เขาอยากจะเปลี่ยนชาติ แก้ไขปัญหาที่เขาเห็นว่าเป็นจุดบกพร่อง เขารู้สึกว่ามันไม่ดี เขาอยากจะให้ประเทศกูไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้

ทำไมเขาอุส่าห์ลงทุนลงแรง ร้องเพลงแร็พ หรือนั่งลำดับว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะเขาเชื่อว่าชาติดีกว่านี้ได้ ในความหมายหนึ่งเขามีความหวัง เขาอยากจะเห็นชาติที่ดีกว่านี้ และเขาเชื่อว่าเป็นไปได้ คนที่ถูกตราหน้าว่าลัทธิชังชาติ ปัญหาของมันคือมันรักชาติมากเกินไป (หัวเราะ) คือถ้ามึงรักชาติน้อยกว่านี้หน่อยแล้วมึงหุบปาก มันก็ไม่มีปัญหา มึงเสือกรักชาติแล้วมึงพูดออกมา แล้วมึงเสียเวลาพูดออกมา มึงก็รู้ว่ามึงพูดออกมามึงก็โดนเขาด่า โดนเขากล่าวหาว่าชังชาติ มึงพูดมาทำไม เพราะมึงรักชาติเกินไป และมีความหวังว่าชาติจะดีกว่านี้ได้ น่าสงสารเนาะ

คือถ้าไม่รักชาติก็สบาย เสือกรักชาติ ในบทเรียนของผม ผู้ที่รักชาติมากๆ มักจะตายก่อนเพื่อน พอชาติประสบความเดือดร้อนมันจะวิ่งแอ่นอกไปก่อนเพื่อน ตายก่อนเพื่อน คือผมคิดว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าลัทธิชังชาติ ข้างหลังคืออันนี้ คือเขารักชาติ เขาเลยวิจารณ์ชาติ ในภาษาอังกฤษท่าทีแบบนี้ เรียกว่า erotic irony คือเหมือนกับคุณประชดประเทียด คุณประชดประเทียดเพราะคุณรักมัน แล้วมึงรักมันทำไมมึงประชดประเทียด เพราะมึงคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้มันเป็นปัญหา คุณประชดประเทียดมันเพราะคุณหวังว่ามันจะดีกว่านี้ได้ คือ พูดให้ถึงที่สุด ประเทศกูมี คนทั้งหลายที่ออกมาวิจารณ์ชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาทำไปเพราะเขารักชาติ แต่พอคุณได้ยินคำวิจารณ์ คุณก็หาว่า ไอ้นี้ชังชาติ ไอ้นี่ทำร้ายชาติ อันนี้นี้ทำให้คุยไม่รู้เรื่อง


เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราจึงเป็นสังคมที่ไม่อาจรับฟังความแตกต่างที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงได้

เท่าที่ผมสามารถเข้าใจได้ผมคิดว่าสังคมไทยถูกออกแบบ และฝึกอบรมมา ให้เปราะบางยิ่งต่อความเห็นต่างบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง เปราะบางถึงขนาดที่ว่า มันไม่สามารถ พูดออกมาได้ หรือยอมรับได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยจะคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้ มันบางมาก พอคนไทยด้วยกันคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้ปั๊บ มันแตกเพล้งเลย และทางเดียวที่มันจะรักษาไม่ให้แตกเพล้งได้ คือบอกว่า มึงไม่ใช่ ถีบแม่งออกไป ไม่รักชาติออกไปจากที่นี่ซะ

แปลกมากเลยนะ เหมือนกับชาติที่เขาจินตนาการออกแบบไว้ แล้วอบรมให้เชื่อกันมาว่าชาติเราเป็นแบบนี้ มันบางเสียจนกระทั่งมันยอมรับให้คนไทยด้วยกันหรือคนที่สังกัดหน่วยเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน คิดต่างกันในเรื่องนี้ไม่ได้ การคิดต่างในเรื่องนี้ มันเหมือนกับสิ่งที่มึงสร้างมาทั้งหมดนี่แตกเพล้งเลย มันบ๊างบางว่ะ

นึกออกไหมฮะ บางประเทศที่เขาจะทำลายรัฐชาติกัน บางสังคมต้องมีสงครามกลางเมือง บางสังคมนี่ต้องมีคนที่นับถือศาสนาต่างกันลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันชิบหายวายป่วงหมด ซีเรียเป็นประเทศหนึ่งที่แบบกำลังจะหมดความเป็นประเทศ ฆ่ากันด้วยเรื่องที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ฆ่าฟันกันเป็นเรื่องเป็นราว คนตายเป็นหลายแสนคน

ส่วนประเทศไทยมันบาง มึงคิดไม่เหมือนกูเรื่องนี้เดี๋ยวชิบหายเลย คือกระทั่งความต่างทางความคิดเห็นบางอย่างก็มิอาจจะปล่อยให้มีอยู่ได้ ระบอบเปราะบางเกินกว่าที่จะยอมรับความต่างแค่เรื่องความคิดเห็น ยังไม่พูดถึงการปฏิบัติด้วยซ้ำ แค่คิดเห็นก็รับไม่ได้แล้ว เห้ย ทำไมมึงบางงี้วะ คือทำให้ผมมีความรู้สึกว่าแบบ อะไรที่มันรองรับจินตนาการถึงชาติ ชุมชนร่วมกันแบบนี้น่ะ มันบางงงงมากเลย ไอห่าคุณกับผมเชียร์ฟุตบอลต่างทีมกัน คุณกับผมชอบดาราต่างคนกัน คุณกับผมชอบอาหารคนละอย่าง นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องต่างกันไม่ได้ ทันทีที่ต่างปั๊บ พังเลย พื้นแตกเลยอ่ะ แล้วคุณก็ต้องลุกขึ้นมาไล่ฆ่าฟัน หรือไล่เขาไม่ให้อยู่ประเทศเดียวกันกับคุณ มันสะท้อนว่าอะไรที่รองรับเนี่ย มันบางมาก
ความเปราะบางเกิดจากอะไร ทั้งที่มีความพยายามก่อร่างสร้างฐานกันมานาน ทำไมจึงเปราะบาง

เพราะมันถูกกำหนดสร้างจากคนกลุ่มเดียว จากเบื้องบน มันไม่ใช่พื้นฐานความร่วมกันที่มาจากคนส่วนใหญ่ ที่มีสิทธิ ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการจะบอกว่า ความเป็นไทยคืออะไร เพราะสร้างชาติกันแบบนี้มานานไง ตรงไปตรงมาก็เพราะสร้างโดยชนชั้นนำจำนวนไม่มากที่มีอำนาจปกครอง บอกว่าอันนี้คือพื้นฐานจุดร่วมของความเป็นชาติของเรา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามามีปากเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดว่า พื้นที่ร่วมของความเป็นชาติของเราว่ามันคืออะไรกันแน่ ได้แต่ถูกนิยามชุดหนึ่งวางกดทับไว้ตลอด

ขณะที่เวลาล่วงเลย และโลกที่หมุนเปลี่ยนไป ความหลากหลายมันเพิ่มขึ้น สังคมไทยมีเศรษฐกิจที่ต่างแบบกันมากขึ้น มีสังคมที่ต่าง เราเปิดรับความหลากหลายจากนานาชาติ จากนานาวัฒนธรรมมากขึ้น แล้วการหวังให้คนไทย ในประเทศที่เคยมีคน 10 ล้านคน 20 ล้านคน ทุกวันนี้ 70 กว่าล้านคน ให้มันมีความหลากหลายน้อยลง มันเป็นไปไม่ได้ มันมีแต่จะหลากหลายมากขึ้น และไอ้พื้นที่เคยที่เคยใช้ครอบพวกเขาไว้ รองรับพวกเขาไว้ทั้งหมดเนี่ย มันยังเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดจากคนส่วนน้อยเบื้องบนอยู่ดี ซึ่งไม่สามารถรองรับความหลากหลายได้

ดังนั้นเมื่อมันเจอกับหลากหลายนอกเหนือไปจากที่เคยคาดคิดไว้ มันก็สั่น มันก็พร้อมจะแตก มันเปราะบางเกินไป แล้วมันจะไม่ลดความเปราะบางหรอกจนกว่าคุณจะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายมีส่วนเป็นเจ้าของชาติในความหมาย นิยามชาติ กำหนดชาติ บอกขึ้นมาว่าอะไรคือความเป็นไทย ถ้าคุณไม่มีสิทธิเสรีภาพ คุณไม่มีประชาธิปไตย เขาจะมีส่วนร่วมในการนิยามความเป็นไทยได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นการนิยามจากบางคนบางกลุ่ม ทุกวันศุกร์ ตอนกลางคืน ความเป็นไทยคือแบบนี้ มี 12 ข้อแล้วให้ถ่องตามๆ กัน

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้เรียกได้ว่าเป็นสงครามการช่วงชิงนิยมความเป็นชาติหรือไม่

ตามความเข้าใจผมมันจะเกิดในช่วงสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยน คนกลุ่มใหม่โผล่ขึ้นมาในสังคม และเขารู้สึกว่าระเบียบในสังคมที่เป็นอยู่มันไม่เอื้อเฟื้อเท่าที่ควร จุดเริ่มไม่ได้เริ่มต้นจากกระหายอำนาจ แต่มันเริ่มที่สังคมเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน เขาประกอบอาชีพใหม่ เขาเป็นคนกลุ่มใหม่ เขาเริ่มมีฐานะดีขึ้น มีความมั่งคั่งมีความต้องการทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างไปจากคนที่อยู่เดิม ก่อตัวเป็นก้อนกลุ่มคนใหม่ขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งเขาก็จะสังเกตว่าระเบียบอำนาจที่เป็นอยู่ ไม่เอื้อเฟื้อต่อเขา เขาอยากให้ระเบียบอำนาจเปลี่ยนไป

พูดง่ายๆ คือ ขอส่วนแบ่งอำนาจกูมั่ง แบบที่ออกแบบอยู่นี้ กูมีส่วนแบ่งอำนาจน้อยเกินไป หรือไม่มีเลย ถึงจุดที่มีการปะทะต่อสู้กันทางการเมือง ในเรื่องความสัมพันธ์อำนาจแบบเดิมไม่เอื้อเฟื้อ ระเบียบอำนาจไม่เอื้อเฟื้อต่อคนกลุ่มใหม่ เมื่อถึงจุดนั้นความเป็นไทยจะกลายเป็นโจทย์ คนจะตั้งคำถามต่อความเป็นไทย คนจะท้าทายกับระเบียบอำนาจเดิม คนจะท้าทายกับความสัมพันธ์ทางอำนาจเดิม มันก็จะพาคุณไปสู่จุดที่ทำให้คนตั้งคำถามว่าตกลงความเป็นไทยคืออะไร และความเป็นไทยที่ควรจะเป็นคืออะไร และตอนนี้ผมคิดว่าเรากำลังไปสู่จุดนั้น

เราจึงได้เห็นเพลงประเทศกูมี เห็นเพลงไทยแลนด์ 4.0 ไม่แปลกเลย มันเคยเกิดมาแล้วตอนช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พยายามจะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยก็ต้องทะเลาะกับสยามเก่า มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2475 ช่วง 2475 ก็คือระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ฝ่ายระบอบเดิมกับฝ่ายระบอบใหม่ เคยเกิดมากช่วง 14 ตุลา มันเคยเกิดมาช่วงคุณทักษิณ ตอนนี้ผมคิดว่ากำลังเกิด ความสงบสันติที่เกิดขึ้นใน 3-4 ปีที่ผ่านมาหลังจากเรามีม็อบแทบไม่หยุดทุกปี มาเป็นเวลาเป็นสิบปี แต่เห็นชัดเลยว่าโจทย์ข้างในยังไม่ได้เคลียร์ ดังนั้นมันแสดงออกมาเป็นแบบรูปแบบการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

ผมเรียกอย่างนี้ว่าการเมืองวัฒนธรรม มันไม่ใช่การเมืองม็อบ ก็คุณไม่ให้เขาม็อบ เขาไปรวมตัวกันไม่ถึงกี่สิบคน จับเขาหมด ฟ้องศาลจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ขึ้นศาลบ่อย (หัวเราะ) คือในแง่กลับกันเนี่ย ถ้าคุณคิดว่ามันหายไป เพราะคุณไปเด็ดยอด ปิดกั้นคน แต่อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนแล้ว เศรษฐกิจเปลี่ยนแล้ว คนรู้สึกว่าระเบียบอำนาจเดิมไม่เอื้อเฟื้อ ถึงจุดหนึ่งมันจะปะทุออกมาในรูปแบบนี้ ผมคิดว่าล่าสุดคือประเทศกูมีนี่แหละ ลัทธิรักชาติมากเกินไปเสียจนกระทั่งทนปล่อยให้ชาติเป็นอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ ก็เลยออกมาพูดความจริงว่าชาติมีปัญหาแบบนี้ เพราะหวังชาติจะดีกว่านี้ได้ กับคนที่บอกว่า It’s OK ไม่มีปัญหาห่าไรเลย ทุกอย่างเรียบร้อยหมด มาร่วมโปรเจกต์เรา โปรเจกต์ตัดถนนไป 4.0
ประเทศกูมี เพลงแห่งการปลดปล่อย และการเดินต่อไปในอนาคตที่ขัดแย้ง

ผมมาคิดย้อนดู 4 ปีที่ผ่านมา คุณอยากพูดความเป็นจริงแต่พูดไม่ได้ เขาไม่ยอมให้คุณพูดอะไรใช่ไหม คนก็อึดอัด คือเราอยากจะพูด ซึ่งไม่ได้อยากพูดอะไรมากหรอก เราอยากจะพูดซักแค่ 6 หรือ 7 เท่านั้นแหละ แต่ในหลายปีที่ผ่านมา แค่พูด 3-4 บางทีก็ยังเชิญไปปรับทัศนคติ แล้วอยู่มาวันดีคืนดีมีคนมาพูดยาวเป็นเพลงแล้วมันพูดไปถึง 13 โอโห้ มันเป็น psychological เป็น cultural liberation มันแบบ อ่าห์ อยากพูดอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว แล้วที่คิดว่าจะพูดยังไม่เท่านี้ด้วยซ้ำไป แล้วสิ่งที่เขาพูดมันจริง มันไม่ได้จริงน้อยลงเพราะเราไม่ได้พูดมัน มันไม่ได้จริงน้อยลงแม้แต่นิดเดียว

การที่คุณห้ามถูกคนพูดถึงมัน ตรงกันข้ามคนอยากพูดมันมากขึ้น ถ้าคุณปล่อยให้สังคมมันได้พูดถึงปัญหา และแก้ปัญหา คิดหาทางแก้ปัญหาไปอย่างปกติสุข นี่จะเป็นเพลงแร็พ เพลงหนึ่งในอีกร้อยเพลงเลย ไม่มีความหมายห่าอะไรเลย เพราะคุณทำให้เขาไม่ได้พูดความจริง ที่มันเป็นปัญหามาแล้ว 3-4 ปี พอเขาพูดออกมาคนมันฮือ ดังนั้น เข้าใจตัวท่านเอง (หัวเราะ) นี่เป็นผลจากการใช้อำนาจของท่าน ท่านกำลังเสพผลบั้นปลายจากการใช้อำนาจแบบที่ท่านใช้นั่นแหละ อย่าตกใจไปเลย

อย่างไรก็ตาม ผมพบจากบทเรียนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและจากบทเรียนที่ คสช. ขึ้นมาปกครอง ผมคิดว่าสังคมไทยมีเรื่องต้องทะเลาะกันอีกเยอะ ถึงแม้คนทั้งหลายจะบอกว่า ไม่ละ เราถึงเวลาปรองดองแล้ว ไม่ใช่ครับท่าน (หัวเราะ) เรายังมีเรื่องที่จะทะเลาะกันเยอะชิบหาย เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ เรื่องการกระจายความมั่งคั่ง เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ เยอะชิบหายหลายเรื่องที่เราจะทะเลาะกัน มีอีกแยะ เพราะในแต่ละเรื่องสำคัญใหญ่ๆ เรามีเดิมพันกันทั้งนั้น ผลประโยชน์ของท่านกับผลประโยชน์ทั้งหลายของสังคมมันไม่แน่หรอกว่าจะตรงกัน ดังนั้นในโอกาสต่อไปข้างหน้า ที่เราเล็งเห็นว่าสังคมไทยยังเรื่องที่ต้องทะเลาะ ที่ต้องคุยกันอีกเยอะไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการมีใครกุมอำนาจซักคนแล้วสั่ง คิดว่านี่จะเป็นทางแก้ปัญหา ไม่ ไม่จบ ในเงื่อนไขแบบนี้เนี่ย ขั้นต่ำสุดที่จะทำให้เราทะเลาะกันโดยไม่ฆ่ากันได้คือ สิทธิมนุษยชน การต่อสู้อย่างสันติ

ผมคิดว่าเจ้าของโจทย์เยอะไปหมด เจ้าของโจทย์ที่เป็นเจ้าของสวนปาล์ม เจ้าของโจทย์ที่เป็นเจ้าของไร่อ้อย เจ้าของโจทย์ที่เอาตัวที่เป็นมะเร็งไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วพบว่า ยาที่ตัวเองมีสิทธิได้เบิก ตอนนี้เบิกไม่ได้แล้ว เจ้าของโจทย์ไม่ใช่คนที่แต่งเพลงประเทศกุมี เพลงประเทศกุมีและคนแต่งมันเพียงแต่ไปฟังสิ่งที่คนทั้งหลายอยากจะพูดเต็มที่ แล้วก็มาร้องให้ฟัง

สิ่งที่ทำให้ผมเศร้าใจมากคือ พื้นที่ที่เราจะพูดความจริงได้อย่างปลอดภัยมันหดแคบลงมาก ภายใต้ระเบียบอำนาจของ คสช. พื้นที่ที่คุณจะพูดความจริงได้อย่างปลอดภัย พูดในสิ่งที่คุณเชื่อ และเห็นต่างจากผู้มีอำนาจได้อย่างปลอดภัยมันหดแคบลงมาก อันนี้คือที่มาของคำถาม ทำไมคนฮือเรื่องประเทศกูมี เพราะคุณไม่ให้พื้นที่เหล่านั้น พอมีคนพูดแบบนี้ ก็ปิดทีวีเขามั่งล่ะ คุณไปปิดเว็บเขามั่งล่ะ แล้วนึกออกไหมคนมันอึดอัด ดังนั้นคืนพื้นที่ คืนการทะเลาะกันโดยปกติของสังคมอารยะให้แก่ผู้คน มันไม่มีสังคมอารยะที่ไหนไม่ทะเลาะกัน

อารยะไม่ได้แปลว่าไม่ทะเลาะ อารยะแปลว่าทะเลาะกันอย่างสันติ เพราะเรายังมีเรื่องอีกเยอะมากที่ยังต้องคิด แล้ววิธีที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้คือก็ให้ทุกคนที่เค้ามีเดิมพันเป็นเจ้าของประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แล้วเราไม่ได้ทำอย่างนี้มา 3-4 ปี แล้วปัญหาพวกนั้นมันหายไปได้เองหรือ ไม่หายหรอก

คุณบังคับใช้มาตรการบางอย่างซึ่งทำให้คนบางกลุ่มแฮปปี้ คนกลุ่มอื่นไม่แฮปปี้ อะไรที่คุณแก้มา ปัญหาป่าเสื่อมโทรม ปัญหาราคาพืชผล ปัญหาสิทธิเสรีภาพ หรือปัญหาทั้งหลายเนี่ย หาบเร่แผงลอย คุณใช้อำนาจฟันลงไป แล้วคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำเป็นกลาง ไม่เป็นกลางหรอก ในทุกปัญหาที่คุณฟันลงไปมันมีกลุ่มได้ประโยชน์กลุ่มเสียประโยชน์ แล้วคุณไม่ให้เขาพูด คุณทำอย่างนี้กับหลายปัญหามาตลอด 3-4 ที่ผ่านมา คนอัดอั้นตันใจเยอะมาก สิ่งที่คุณควรทำตอนนี้คือ คืนพื้นที่ปกติให้สังคมมีเสรีภาพ มีความปลอดภัย ความมั่นคงที่จะเถียงกัน พูดถึงความจริงของปัญหาได้อย่างปกติ เหมือนคนในโลกเขา เราไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องการพื้นที่เสรี ปลอดภัย เสมอภาค ในการทะเลาะกันเหมือนคนทั้งหลายในโลกนี่แหละ คืนมาซักทีสิ เราจะได้เป็นผู้เป็นคน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.