ภาพกิจกรรมที่ให้ผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงานเข้าฝึกในค่ายทหาร โดยบริษัทให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย” ; ดูรายละเอียดการล่ารายชื่อ http://www.industriall-union.org/thailand-olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers
Posted: 12 Nov 2018 06:18 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-12 21:18
อินดัสทรีออลล์ฯ และ เลเบอร์สตาร์ต ออกแคมเปญลงนามต้านละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานใน บ.มิตซูบิชิฯ ชี้ยังขัดกับนโยบายด้วยความยั่งยืนของการจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมจัด เผยมีการกดดันให้ร่วมฝึกในค่ายทหาร โดย บ.ให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย” อีกด้วย
12 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน (IndustriALL Global Union) สหพันธ์แรงงานสากลซึ่งมีสมาชิก 50 ล้านคน จากกว่า 140 ประเทศ ได้ร่วมกับ เลเบอร์สตาร์ต (LabourStart) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านกิจกรรมรณรงค์และการต่อต้านการละเมิดสิทธิแรงงาน ในการออกแคมเปญ[1]เพื่อเชิญชวนให้มีการลงนามต่อต้านการละเมิดสิทธิและการทำลายสหภาพแรงงานไปถึง Norikazu Ishikawa ผู้อำนวยการบริหารและ ประธาน บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) หลังจากเกิดข้อพิพาทแรงงานซึ่งนำมาสู่การปิดงานในช่วงเดือนมกราคม 2561 จนข้อพิพาทสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
แคมเปญระบุด้วยว่า บริษัทฯ ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการกดดัน และทำให้ผู้นำรวมทั้งสมาชิกสหภาพ ฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อเรียกร้องและกิจกรรมของสหภาพ ฯ ในช่วงที่ถูกปิดงาน เกิดความเครียดและอับอายรวมทั้งเกิดความกดดันในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสหภาพฯ ซึ่งรวมถึงการบังคับให้ผู้นำและสมาชิกเหล่านี้ต้องทำการฝึกในค่ายทหาร โดยบริษัทให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย”
นายจ้างมิตซูบิชิฯ ปิดงานงดจ้าง หลังเจรจาปรับสภาพการจ้างไม่คืบ คนงานจ่อไปทำเนียบ
เจรจาพิพาทแรงงาน มิตซูบิชิฯ ครั้งที่ 11 ยังไม่คืบนัดใหม่ ผวจ.ชลบุรี นั่งหัวโต๊ะ
'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานมิตซูบิชิ
เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของอินดัสทรีออลล์ได้ลงบทความ[2]พูดถึงประเด็นความขัดแย้งซึ่งนำมาสู่ข้อพิพาท การปิดงาน และการมุ่งทำลายสหภาพฯ หลังการปิดงาน เมื่อปลายปี 2560 ทั้งบริษัท ฯ และสหภาพฯ ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ โดยข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นปัญหามากที่สุด คือ ข้อที่บริษัทต้องการให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างการปรับเงินเดือนจากขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเงินขึ้นอัตราคงที่ปีละ 400 บาท บวกเพิ่มด้วยหลักเกณฑ์ที่ สหภาพฯ เห็นว่าไม่ชัดเจน และการขอเปลี่ยนการทำงานจากสองกะเป็นสามกะ ซึ่งบริษัทอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องที่กำหนดมาจากสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาบริษัทได้ปิดงานสมาชิกสหภาพฯ ร่วม 1800 คน ในวันที่ 29 ธ.ค. 2560 รวมทั้งประกาศงดค่าจ้างและสวัสดิการทั้งหมด อีกทั้งสวัสดิการการรักษาพยาบาลและเงินประกันชีวิต ต่อมาคืนค่าจ้างและสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้กับเฉพาะคนงานที่ท้องก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้ในวันที่ 29 ม.ค. 2561 โดยทางสหภาพฯ ยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทเกือบทั้งหมด รวมทั้งยอมให้มีเงินขึ้นในอัตราคงที่และเพิ่มกะการทำงานเป็นสามกะ
หลังจากข้อเรียกร้องสิ้นสุด และบริษัทมีพันธะต้องเรียกคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่บริษัทกลับประกาศว่าจะทยอยเรียกคนงานที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงาน เนื่องจากบริษัทต้องมีการปรับสภาพความพร้อมในโรงงานก่อนที่จะรับกลับ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้บริษัทได้มีการประกาศรับสมัครคนงานใหม่เข้ามาทำงานอยู่เป็นระยะ รวมทั้งสร้างเงื่อนไขให้กับคนงานที่เคยถูกปิดงาน เช่น การเรียกสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลและตั้งคำถามชี้นำให้คนงานยอมรับว่าถูกผู้นำสหภาพฯ ยั่วยุเพื่อกล่าวให้ร้ายบริษัทในช่วงที่ถูกปิดงาน การให้พนักงานที่ใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมายเขียนจดหมายเพื่อขอโทษบริษัท รวมทั้งให้คนงานเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อ "สร้างระเบียบวินัยและปรับทัศนคติ" ไม่ว่าจะเป็น การฝึกที่ค่ายทหาร 4 วัน การถูกฝึกอบรมจากบริษัทด้านการบริหารบุคคลเพื่อให้สำนึกผิดเป็นเวลา 5 วัน การทำความสะอาดบ้านพักคนชรา 1วัน และการเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดอีก 3 วัน โดยถึงแม้คนงานที่ไม่ได้กลับเข้าทำงานจะได้รับค่าจ้างที่เป็นเงินเดือน แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับสวัสดิการและเงินพิเศษต่าง ๆ ซึ่งได้จากการเข้าทำงานในโรงงาน
รายงานยังระบุอีกว่า แม้คนงานที่รอกลับเข้าทำงาน จะยอมเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากกลัวว่าบริษัทจะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่รับกลับ แต่บริษัทก็เลิกจ้างคนงาน 24 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ โดยปัจจุบันมีคนงาน 48 คน ซึ่งเป็นกรรมการ หรือ อดีตกรรมการสหภาพฯ หรือเป็นสมาชิกสหภาพฯ ที่มีบทบาทในการเจรจาต่อรองร่วมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน และบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องกับคนงานกลุ่มนี้ เพื่อขอให้บริษัทมีอำนาจในการกำหนด ค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพการจ้างเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งให้คนงานเหล่านี้ไปทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศที่ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) มีโรงงาน สำนักงาน หรือ มีบริษัทคู่ค้าอยู่ ส่วนคนงานที่ได้กลับเข้าทำงานแล้ว บริษัทใช้วิธียื่นข้อเรียกร้องเป็นรายบุคคล(โดยไม่ผ่านสหภาพฯ) รวมทั้งแจ้งว่า ถ้าพนักงานเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมกับสหภาพ ฯ ในภายหลัง บริษัทจะเรียกคืน เงินขึ้น โบนัส และสวัสดิการทั้งหมดกลับคืนมา
ทั้งนี้ แคมเปญของ อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน และ เลเบอร์สตาร์ต ได้มีการระบุว่า สิ่งที่บริษัทกระทำ เป็นการละเมิดมาตรฐานสากลด้านสิทธิสหภาพแรงงานและเสรีภาพการสมาคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิแรงงานรวมทั้งการใช้วิธีกดดันเพื่อให้คนงานเกิดความเครียดและอับอาย ยังเป็นการขัดกับนโยบายด้วยความยั่งยืน ของการจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ซึ่งบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เป็น พาร์ทเนอร์ร่วมในการจัดอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
[1] http://www.industriall-union.org/thailand-olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers?utm_source=Newsletters+in+english&utm_campaign=f72dc5cbc4-EMAIL_CAMPAIGN_2018_11_08_02_59&utm_medium=email&utm_term=0_65751b77d5-f72dc5cbc4-19096281
[2] http://www.industriall-union.org/olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers-in-thailand
แสดงความคิดเห็น