ภาพจากเฟซบุ๊ค Sustarum Thammaboosadee

Posted: 30 Oct 2018 12:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-30 14:02


พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวปาร์ตี้ลิสต์สายแรงงาน จากภาคสิ่งทอ-ยานยนต์-กระดาษ ‘ษัษฐรัมย์’ โต้ ‘ใจ’ เรื่องพรรคนายทุน ชี้ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ปฏิรูปภาษี อยู่ในนโยบายพรรค แนะเช็คได้ในเว็บไซต์ ยันเข้าใจข้อกังวล ปีกแรงงานต้องขยายสมาชิกและรักษาประเด็นให้เข้มแข็ง

30 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคอนาคตใหม่ จัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิกพรรค ที่สภาแรงงานยานยนต์ (โรงหนังเก่า) จ.สมุทรปราการ พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปีกแรงงานของพรรค โดยมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค, พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค, พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึงสุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรคเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ร่วมกิจกรรมด้วย

ทั้งนี้มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เครือข่ายแรงงานในสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ 6 คน ได้แก่ วรรณวิภา ไม้สน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สุเทพ อู่อ้น ประธานสหภาพแรงงานอีซูซุ และเลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ดร.ภูพาน สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า สุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แห่งประเทศไทย ประมวล นาราอัสนีกร รองประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย และเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ



ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ภาพจากเว็บไซต์ humanonstreet.org


ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ถึงแนวทางการเลือกปาร์ตี้ลิสต์จากปีกแรงงาน ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เป็นการเลือกจากตัวสมาชิกจากปีกแรงงานซึ่งมาจากผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในโรงงานจริงๆ ซึ่งจะมีการจัดไพรมารี่โหวตของพรรคเพื่อจัดลำดับสมาชิกอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า แต่ทางพรรคของก็มีโควตาให้กับกลุ่มคนที่โดนกดในกลุ่มต่างๆ ซึ่งภาคแรงงานก็เป็นหนึ่งในนั้น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ถามข้อโต้แย้งของ ษัษฐรัมย์ ที่มีต่อบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเขียนวิจารณ์พรรคอนาคตใหม่ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เป็นเพียงพรรคที่อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก


ใจ อึ๊งภากรณ์: แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่

ษัษฐรัมย์ ได้โต้แย้งว่า จากบทความที่วิจารณ์พรรคอนาคตใหม่ว่าไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ ไม่มีนโยบายผู้ใช้แรงงานนั้น อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ปรากฎอยู่ชัดเจนมากในเว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่ เช่น นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรก็มีอยู่ใน การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การรับอนุสัญญา ILO การลดชั่วโมงการทำงาน อยู่ในนโยบายของพรรค และอยู่ในการสื่อสารกับผู้ใช้แรงงานอยู่ตลอด

ประเด็นถัดมาษัษฐรัมย์ชี้แจงว่า ที่วิจารณ์ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง กรณีตัวแทนของปีกแรงงาน คือ สุนทร บุญยอดซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่ได้อยู่ใน 6 คนที่จะลงปาร์ตี้ลิสต์ เพราะสุนทรยืนยันว่าคนที่จะมาเป็น สส. ของปีกแรงงานของพรรคอนาคตใหม่ต้องเป็นคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอย่างแท้จริง และใน 6 คนที่จะลงปาร์ตี้ลิสต์นั้นก็เป็นตัวแทนจากสหภาพต่างๆ เช่น สิ่งทอ กระดาษ ยานยนต์

ประเด็นต่อมาคือข้อกังวลที่ว่าผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกกดอยู่ภายใต้ธงใหญ่ของพรรค ษัษฐรัมย์อธิบายว่า ถ้าเราดูวันแรกที่พรรครับสมัครสมาชิก 3 วันได้ประมาณ 1,000 กว่าคน ส่วนปีกแรงงานวันแรกที่รับสมัครอย่างเป็นทางการก็มีคนมาสมัครสมาชิกอยู่ประมาณ 500 กว่าคน เพราะฉะนั้นตนคิดว่าการจะทำให้พรรคเป็นของผู้ใช้แรงงาน หากโครงสร้างของพรรคเป็นประชาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานก็สามารถผลักนโยบายหรือตัวผู้สมัครได้ ซึ่งมันก็จะขับเคลื่อนสู้กันไป

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างว่า สมมติถ้าสมาชิกพรรคทั้งประเทศมีอยู่ 10,000 คน ปีกแรงงานมีสมาชิกได้ 2,000-3,000 คน ก็อาจสามารถขับเคลื่อนให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น และอยู่ในสัดส่วนที่ทางพรรคประเมินว่าจะได้ สส. ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือหากปีกแรงงานลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะติดเรื่องของการลงคะแนนเสียงที่ให้ลงคะแนนตามภูมิลำเนา จึงทำให้ผู้ใช้แรงงานไปลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขตไม่ได้ เพราะฉะนั้นปาร์ตี้ลิสต์จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากสำหรับผู้ใช้แรงงาน และจะเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ของผู้ใช้แรงงานด้านการสร้างรัฐสวัสดิการ สังคมประชาธิปไตยให้กลายเป็นอุดมการณ์หลักของพรรค ซึ่งตนคิดว่าจะสามารถผลักดันได้ถ้าปีกแรงงานของพรรคเข้มแข็งพอ เพราะฉะนั้นต้องเป็นการทำงานมวลชนที่ต่อเนื่อง เป็นการแข่งขันภายในพรรคเพื่อสร้างตัวแทนที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ตั้งแต่ในขั้นโหวตไพรมารี่ตัวแทนปาร์ตี้ลิสต์นั้น

“แต่ผมก็เข้าใจอาจารย์ใจมากที่กล่าวว่าการมีพรรคนายทุนขึ้นมาแล้วผู้ใช้แรงงานเข้าไป พวกเขาจะมีบทบาทแค่ไหน ผมว่าข้อกังวลของอาจารย์ใจก็เป็นสิ่งที่มีค่า และปีกแรงงานก็จะต้องพยายามขยายสมาชิก พยายามรักษาประเด็นของตนเองให้มีความเข้มแข็งไว้ ซึ่งในแพลตฟอร์มของพรรคอนาคตใหม่มันเปิดโอกาสให้เป็นได้” ษัษฐรัมย์กล่าว

นอกจากนี้เรื่อง Negative Income Tax ที่ใจกล่าวว่า เป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย ษัษฐรัมย์มองว่า ส่วน Negative Income Tax เป็นนโยบายส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเพียงส่วนเสริมจากนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร นโยบายการปฏิรูปภาษี ซึ่งปรากฎชัดเจนในนโยบายพรรค และ Negative Income Tax ไม่ได้เป็นการคืนภาษีหรือลดภาษีคนจน ตัวหลักคิดของมันคือคุณยื่นภาษี แล้วถ้าปรากฎว่าคุณรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ คุณก็จะได้สวัสดิการที่มีความเฉพาะจากรัฐเพิ่มเติมจากตัวรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีให้อยู่แล้ว

“Negative Income Tax คือการวางระบบให้ทุกคนต้องยื่นภาษีไม่ว่าคุณจะมีรายได้เท่าไหร่ และถ้าปรากฎว่ารายได้คุณต่ำกว่าเกณฑ์ รัฐก็จะมีการช่วยเหลือในเงื่อนไขต่างๆ เช่น สมทบประกันสังคมให้ จัดสวัสดิการต่างๆ ให้เพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนบัตรคนจนซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในเรื่องการบริหารจัดการ

นอกจากนี้เรายังมีนโยบายจะยกเลิกการการงดเว้นภาษีต่างๆ ที่เคยงดเว้นให้กับกลุ่มคนรวย เช่น ภาษี BOI แล้วเราจะนำภาษีส่วนนี้มาจัดการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ษัษฐรัมย์ กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.