นักวิทยาศาสตร์ปลูกถ่ายหัวใจหมูในลิงบาบูน พบว่าสามารถทำงานได้นานกว่า 2 ปี
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯและเยอรมนี เปิดเผยว่า สามารถทำให้หัวใจหมูที่นำไปปลูกถ่ายในลิงบาบูนเต้นทำงานได้นานกว่า 2 ปี นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่อาจนำไปสู่การปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์ในร่างกายมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการปลูกถ่ายโดยใช้วิธีที่เรียกว่า Xenotransplantation ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างสัตว์ต่างสายพันธุ์ ในกรณีนี้หัวใจหมูไม่ได้เข้าไปแทนที่หัวใจของลิงบาบูน ทว่าถูกนำไปปลูกถ่ายในช่องท้องของลิง แล้วเชื่อมต่อกับระบบไหลเวียนโลหิตของลิงด้วยเส้นเลือดใหญ่สองเส้น
จากนั้นนักวิจัยได้ใช้วิธีการดัดแปลงพันธุกรรมควบคู่กับการให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายเข้าไป
ผลที่ได้พบว่า หัวใจหมูเต้นทำงานอยู่ในลิงบาบูนได้โดยเฉลี่ย 298 วัน และมีอัตราอยู่รอดนานสูงสุดถึง 945 วัน หรือกว่า 2 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จกว่าการทดลองในครั้งก่อนที่มีอัตรารอดโดยเฉลี่ย 180 วัน และอยู่รอดนานที่สุด 500 วัน
ดร.มูฮัมหมัด โมฮิอุดดิน หนึ่งในทีมนักวิจัยจากสถาบันโรคหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกว่า นี่เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการใช้อวัยวะสัตว์ปลูกถ่ายให้แก่มนุษย์ และเชื่อว่าหากประสบความสำเร็จ วิธีการนี้จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยที่ต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะได้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ทีมวิจัยเลือกใช้หัวใจหมูในการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากหัวใจหมูมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่โตเต็มวัยเร็ว และมีความเสี่ยงต่ำที่จะแพร่โรคติดต่อสู่มนุษย์เพราะไม่ใช่สัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับคนเรา


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.