'ภาคีแพทย์ฉุกเฉิน' เสนอ 5 ข้อ ต่อรัฐบาล เน้นรถพยาบาลปลอดภัย-หมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว
Posted: 01 Apr 2016 10:49 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยื่น ข้อเสนอเชิงนโยบาย เน้นรถพยาบาลปลอดภัย-หมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว-กำหนดหลักสูตรสอนการปฐมพยาบาลในทุกระดับต่อรัฐบาล  


1 เม.ย. 2559 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ.  2559  ภายใต้หัวข้อ “"เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย”  เป็นวันสุดท้าย  โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อร่วมกันพัฒนา ขับเคลื่อนวงล้อระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยปัจจุบันมีสถิติการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 1.4 ล้านครั้ง และในอนาคตคาดว่าจะมีแนวโน้มการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เราต้องเร่งพัฒนาระบบให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และครอบคลุม
“ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมกันทำงานเป็นอย่างดี  ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพ และฝึกอบรมอย่างหนัก  ซึ่งบางครั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยและส่งต่อผู้ป่วยก็ทำได้ลำบาก ทั้งต้องเคลื่อนย้ายผ่านรถ ส่งต่อผ่านเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ เนื่องจากบางพื้นที่เข้าถึงลำบาก มีระยะทางที่ห่างไกล แต่ทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินก็ไม่เคยย่อท้อ บางครั้งคิดถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยมากกว่าตนเอง ทำให้เราสามารถปิดช่องว่างในระบบการแพทย์ฉุกเฉินไปได้มาก  ซึ่งตนเองขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยให้ปลอดภัย และเสียสละอย่างถึงที่สุดบนพื้นฐานความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน ” นพ.อนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตามก่อนปิดการประชุม ผู้ปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาคุณภาพ การแพทย์ฉุกเฉินไทยต่อรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   5  ข้อ ดังนี้ 1.ต้องกำหนดนโยบายให้มีหลักสูตรการเรียนการสอน การปฐมพยาบาล และการช่วยฟื้นคืนชีพ ในหลักสูตรการเรียนทุกระดับ 2.กำหนดให้มีหมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว และเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทุกจังหวัด 3.กำหนดมาตรการรถพยาบาลปลอดภัย โดยกำหนดให้รถพยาบาลมีคุณลักษณะด้านความปลอดภัย และพนักงานขับรถผ่านการสอบใบขับขี่รถพยาบาลโดยเฉพาะ 4.กำหนดนโยบายการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งระบบ และ 5 ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ข้อกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เอื้อต่อการดำเนินการ และการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ขณะที่ พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข จะรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา ซึ่งทุกภาคส่วนเองก็ต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยให้ก้าวหน้าด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญที่สุด  คือ เรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ความปลอดภัยของรถพยาบาล เพื่อให้สามารถส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกนโยบายเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และให้ทุกหน่วยงาน  โรงพยาบาลต่างๆ นำไปเป็นแนวทางในปฏิบัติ คือ 1 บุคลากรทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรม โดยเฉพาะพนักงานขับรถพยาบาล  และที่สำคัญอยากให้พนักงานทุกคนได้ทดลองมานอนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย เพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริง เพื่อให้บริการอย่างเหมาะสม และคำนึกถึงความปลอดภัยมากที่สุด 2. สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในรถพยาบาล ทั้งการติดตั้งกล้องซีซีทีวี การติดจีพีเอส เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ  และ 3.เน้นย้ำเสมอว่าการขับรถเร็วไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยที่สุด เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้นขณะส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถสื่อสาร ปรึกษาอาการผู้ป่วยกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการได้ และยังสามารถประสานการเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งดีกว่ารีบไปถึง ทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม  และแนวทางนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือไม่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสี่ยงไปด้วย   โดยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายให้ขับรถพยาบาลได้ไม่เกิน 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎจราจรทุกครั้ง ไม่จำเป็นก็ไม่ควรฝ่าไฟแดง
“ส่วนตัวขอชื่นชมผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่เสียสละ และร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน  โดยผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นหากทำงานด้วยความปลอดภัย ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีความปลอดภัยต่อไปด้วย” พญ.มยุรา  กล่าว
นอกจากนี้การประชุมวิชาการครั้งนี้ยังมีการมอบรางวัลให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินที่เสียสละ  อาทิ นางศรีกัญญา เชื้อรถ พยาบาลวิชาชีพที่ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันขณะประสบอุบัติเหตุ , นายแพทย์ศุภฤทธิ ศิลรัตน์ แพทย์ที่เชิญชวนให้ความสำคัญกับการช่วยฟื้นคืนชีพ  หรือ CPR และแนะนำให้ทุกคนมาร่วมกันฝึกโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาล  และการมอบรางวัลให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เสียสละ และต้องเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วย  นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้กับบุคคลและหน่วยงานดีเด่นในการปฏิบัติงานและวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอีกกว่า 100 รางวัล

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.