70 ปี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) เป็นหน่วยงานยุติธรรมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ดำเนินงานมาครบ 70 ปีในปีนี้ โดยในวันพุธที่ 20 เม.ย.นี้ นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็นจะเข้าร่วมการฉลองวาระครบรอบ 70 ปี ของศาลแห่งนี้ที่วังสันติภาพ ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ไอซีเจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โดยตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีจำนวน 15 คน และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี คำพิพากษาของไอซีเจถูกมองว่าเป็นคำตัดสินเด็ดขาดสุดท้ายในคดีพิพาทระหว่างรัฐ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า ขอบข่ายอำนาจที่มีอย่างจำกัดทำให้ไอซีเจไม่สามารถเข้าไปแก้ไขข้อพิพาทและความขัดแย้งใหญ่ ๆของโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มที่
ไอซีเจ จะสามารถพิจารณาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศต่าง ๆได้ก็ต่อเมื่อประเทศคู่กรณีทุกฝ่ายให้การยอมรับอำนาจศาลในการพิจารณาคดีเท่านั้น ซึ่งในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ไอซีเจ ได้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่าง ๆไปแล้วราว 200 คดี อาทิ ข้อพิพาททางการทูต ข้อพิพาทสิทธิทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อพิพาทเรื่องเขตแดน ซึ่งกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนบริเวณปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา ก็เป็นหนึ่งในคดีที่เคยผ่านการพิจารณาของไอซีเจ
แอรอน แมตตา นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเพื่อการยุติธรรมโลกแห่งกรุงเฮก บอกว่า ข้อจำกัดเรื่องอำนาจศาล ทำให้บางครั้งไอซีเจไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ อาทิ การล่าวาฬในทะเลแถบขั้วโลกใต้ของญี่ปุ่น และการสู้รบระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย เป็นต้น
ขณะที่เซซิลี โรส อาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยไลเดน ในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า ปัญหาข้อจำกัดเรื่องอำนาจศาลทำให้ ไอซีเจ เหมาะที่จะรับพิจารณาข้อพิพาทขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ ไอซีเจ ก็ไม่มีอำนาจตัดสินคดีอาญาเหมือนเช่นศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี)


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.