สถาปนิกและนักวิชาการผังเมืองวิจารณ์โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไร้ส่วนร่วมจากชุมชน
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย กรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะนำร่อง 14 กม. ภายใต้การดูแลของ กระทรวงมหาดไทย และสำนักการโยธา กทม. เพื่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งว่า เป็นตัวอย่างของการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ไม่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากความต้องการของประชาชน หรือความต้องการทางด้านวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายภูมิทัศน์และวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ นับเป็นทัศนคติการทำงานที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก โดยตนมองว่าวิธีที่เมืองจะพัฒนาไปได้ดีที่สุดคือการที่รัฐลงไปทำงานกับชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้นำเสนอแนวทาง แม้ชุมชนอาจบอกไม่ได้ว่าควรทำอย่างไร แต่ข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจะเป็นตัวกำหนดบริบทของการทำงาน
“ในเมืองไทยมักจะมีวิธีทำตัวเลือกให้ชาวบ้านเลือกว่าชอบแบบไหน อันนี้ไม่ใช่กระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนที่มีโครงการ 14,000 ล้าน ควรจะมีกระบวนการนี้เกิดขึ้นไปก่อนแล้ว ประชาชนเขาอยากได้อะไรในพื้นที่ อะไรคือสิ่งจำเป็น เป็นประโยชน์ต่อเขา ซึ่งอาจจะไม่ออกมาในรูปแบบถนนเลียบแม่น้ำ อาจเป็นรูปแบบอื่นก็ได้”
เมื่อถามถึงกรณีคณะทำงานของโครงการ ชูสิทธิ์การเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมนั้น ดวงฤทธิ์มองว่าเป็น “บทสนทนา” ที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะปัจจุบันบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสันติชัยปราการ เป็นต้น หรือแม้แต่ภาคธุรกิจบริการที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าชมทัศนียภาพริมแม่น้ำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทว่าแนวคิดที่จะนำมาซึ่งทางเดินสาธารณะเพื่อให้คนนอกเข้าไปใช้ประโยชน์ จำต้องแลกมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยหากินกับแม่น้ำมาตั้งแต่ดั้งเดิม ถูกตัดขาดจากแม่น้ำ ตนจึงไม่แน่ใจว่าการพูดเรื่องของ “ความเท่าเทียม” นี้จะเท่าเทียมกันได้อย่างไร
ด้าน ศ.ดร. ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า แม้รู้สึกชื่นชมที่รัฐบาลมีความตั้งใจทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย แต่การพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยานับเป็นโครงการระดับชาติ เพราะเป็นแม่น้ำที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศ อีกทั้งเส้นทางที่มีการพัฒนาเกี่ยวเนื่องกับย่านชุมชน ภาคธุรกิจ ตลอดจนส่วนราชการ ควรมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ความเสี่ยง และการเจรจากับทุกภาคส่วน ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 7 เดือน แต่หากทำตามกระบวนการ จะช่วยสร้างความรู้สึกร่วมของทุกภาคส่วน อันเป็นการแนวทางสู่การดูแลพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืน
“แบบนี้ถึงจะเรียกว่าทุกคนมีความเป็นเจ้าของ มีมติร่วมกัน ความขัดแย้งจะเกิดน้อยมาก เพราะคนทุกกลุ่มทุกระดับ เขาร่วม เขาแย้งกันตั้งแต่ต้น เวลาเราสร้างพื้นที่สาธารณะ เขาจะเฝ้าระวังดูแลเอง เป็นกระบวนการที่ถูกต้องที่สุด โดยคุณแทบไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐในการดูแลเลย เพราะว่าทุกคนจะเข้ามาใช้และดูแล มันจะเกี่ยวกับความยั่งยืนของพื้นที่ด้วย”


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.