ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา มีบทความสองชิ้นที่คิดไว้ว่าอยากจะแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน
บทความแรกคือ งานเขียนส่งท้ายของ Thomas Fuller จาก New York Times ซึ่งอำลาตำแหน่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ไปรับตำแหน่งใหม่ที่ซานฟรานซิสโก ข้อเขียนนี้สรุปมุมมองจากประสบการณ์นับสิบปีของคนเขียนได้เป็นอย่างดี
โดยเนื้อหาหลักว่าด้วยวัฒนธรรมความไม่ต้องรับผิด (Culture of Impunity) ในภูมิภาคนี้ ที่ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจสามารถทำผิดได้หน้าตาเฉย และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
จากประสบการณ์การเป็นนักกฎหมาย ยิ่งอ่านจะรู้ว่า เป็นเรื่องจริงทุกประการว่าวัฒนธรรมการใช้บังคับกฎหมายในประเทศไทยนั้น ยังห่างไกลจากการอำนวยความยุติธรรมมากนัก ไม่ใช่กฎหมายไม่ดี แต่วัฒนธรรมของเราห้ามบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใหญ่ที่ยังมีบารมีอยู่ กฎหมายใช้บังคับเอากับคนยากคนจนไร้หนทางในสังคม นั่นล่ะ กฎหมายจะเข้าไปย่ำยีบีทาเอาต่างๆนานา
งานชิ้นที่สองนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัว พูดถึงกระแสการอพยพออกนอกประเทศของปัญญาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสังเกตมาได้สักระยะแล้ว ว่าคนที่พอมีทางไปได้นั่น สุดท้ายต้องออกจากประเทศไทยไป เนื่องจากเมืองไทยนั้นไม่เหมาะกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลังผลิตงานดีๆ
จริงอยู่ว่าช่วงแรกคนที่หนีออกไปคือคนที่หนีตายจากการจับกุมของเผด็จการ แต่ต่อให้เผด็จการลงจากอำนาจไป กระแสที่สองของปัญญาชน ศิลปินก็ต้องอพยพอยู่ดีเพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถรับกับวัฒนธรรมที่แข็งกระด้าง ปิดกั้นความเป็นปัจเจก จับผิดทุกย่างก้าว เน้นการประจบประแจงผู้ใหญ่ไม่เน้นคุณภาพผลงานที่แท้จริง ซึ่งผมเคยเตือนไว้นานแล้วว่า วัฒนธรรมเช่นนี้จะทำให้คนเก่งทิ้งองค์กร เหลือแต่คนแก่เน่าหนอนไว้คอยสูบกินทรัพยากรบุญเก่าจนทั้งคนและองค์กรตายไปด้วยกัน
งานชิ้นที่สองเป็นงานคุณภาพจาก Bangkok Post โดย Nanchanok Wongsamuth ซึ่งผมยินดีอย่างยิ่งที่เห็นงานเขียนในคุณภาพระดับนี้จากสื่อหนังสือพิมพ์ของไทยเอง ไม่ใช่สื่อต่างชาติ
ลองอ่านกันดูครับ โดยเฉพาะเยาวชนนักกฎหมายที่กำลังค้นหาหนทางในชีวิตของตัวเอง ว่าเราอยากจะเลือกอะไรต่อในชีวิต


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.