ทูตสหรัฐฯ เยือนตรัง หารือแนวทางแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย-สนับสนุนการท่องเที่ยว
วันนี้ (11 เม.ย.) สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่านายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยภริยา เดินทางไปยังจังหวัดตรัง และพบกับนายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อหารือด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตรัง รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ในฐานะที่ตรังเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและพื้นที่การทำประมงที่สำคัญของไทย โดยแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนรัฐบาลทั้งสองฝ่าย
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานความคืบหน้าปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าหน่วยงานรัฐต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน รวมถึงองค์กรในประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ร่วมกันพัฒนาระบบการจัดการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงไทย ทำให้ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าว 149,623 รายได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงและการผลิตอาหารทะเลในไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากจากจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยที่ลงทะเบียนไว้เพียง 6,864 รายจากการสำรวจเมื่อปี 2557
ระหว่างเดือน พ.ย.2558 - มี.ค.2559 แรงงานประมงต่างด้าวในไทยได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองด้านสิทธิแรงงาน จึงสามารถเปลี่ยนตัวนายจ้างได้ในกรณีที่เงื่อนไขการว่าจ้างไม่เป็นธรรม แบ่งเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล 7,176 ราย และแรงงานบนเรือประมง 3,235 ราย และทางการไทยสามารถสกัดเรือประมงผิดกฎหมายไม่ให้ออกไปประกอบการในทะเลได้มากกว่า 8,000 ลำ
ด้านศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปผม.) ประกาศให้เรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่จะออกไปทำประมงในน่านน้ำไทยช่วงเริ่มปีการทำประมงใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.59 – 31 มี.ค.61 จะต้องแสดงใบอนุญาตทำการประมงที่ออกให้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเรือประมงพาณิชย์ต้องระบุเลือกแหล่งที่จะทำการประมงว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามันเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมการทำประมงไทยให้คำนึงถึงค่าผลผลิตสูงสุดอย่างยั่งยืน (MSY) ตามแนวทางจัดระบบการทำประมงในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.