นายกฯไม่พอใจ พรรคการเมืองไม่ยอมรับคำถามพ่วงในการทำประชามติ รธน.
เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกรณีฝ่ายการเมืองมีความกังวลต่อเนื้อหาคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำถามเรื่องให้ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีว่า คำถามนี้ถามแล้วทำให้ประเทศเลวร้ายลงมากกว่าเดิมไหม ประชาชนมีความทุกข์มากขึ้นหรือไม่ หรือนักการเมืองที่ไม่ดีจะเป็นจะตาย เกรงว่าจะทำอะไรที่เลวร้าย เหมือนที่เคยทำมาไม่ได้อีก อยากถามว่าที่ผ่านมาแก้ปัญหาอะไรสำเร็จบ้างโดยไม่มีปัญหาตามมา ทั้งนโยบายประชานิยมที่ได้สร้างความเสียหาย ประชาชนแตกแยก ปัญหาประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ปัญหาการบิน การคอร์รัปชัน คดีความที่ค้างคาจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองไร้ระเบียบ กดดันจนข้าราชการและตำรวจทำงานไม่ได้ ส่งผลเศรษฐกิจประเทศไม่เข้มแข็ง
“วันนี้คสช.ทำอะไรไม่สนใจ ทำเป็นไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ดีเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชน แต่วันนี้ยังกล้าออกมาพูดตำหนิคสช.ตำหนิการปฏิรูป เพราะเห็นว่า หากปล่อยให้คสช.ทำไปแล้วสำเร็จ ประชาชนจะไม่เลือกนักการเมือง สิ่งที่ถามคสช.มาทุกเรื่อง สื่อลองถามกลับไป แล้วให้เขาตอบว่า หลายสิบปีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำไมเรื่องเหล่านี้จึงไม่เกิด และหากได้มาเป็นรัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร วันนี้ที่ออกมาโวยวายรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร ใครได้ประโยชน์ที่ผ่านมาทำไมไม่ออกมา ไม่สนใจ ขณะเดียวกันสื่อวันนี้ก็มีส่วนทำร้ายประเทศด้วย ไม่มีจรรยาบรรณวิจารณ์การทำงาน คสช.” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน (10 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ได้ออกมาแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมรับคำถามพ่วงเรื่องให้ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าผิดหลักการ เพราะส.ว.ที่มาจากการสรรหามาจากที่มาเดียวกัน คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้เลือก และหากจะให้ส.ว.สรรหามาลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะถือว่าขัดเจตจำนงค์ของประชาชนในการเลือกตัวแทนมาบริหารประเทศ หากคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาไม่ใช่คนเดียวกับคนที่ส.ว.เลือก ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งผิดหลักการรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการปฎิเสธอำนาจของประชาชน
“ส.ว.สรรหาที่มาจากคสช.หากจะไปจับมือกับพรรคเสียงข้างน้อยเลือกจนได้นายกรัฐมนตรี ก็จะได้รัฐบาลที่ทำงานลำบาก หรือหากจะจับมือกับพรรคเสียงข้างมากก็จะทำให้การทำงานของฝ่ายค้านยิ่งมีปัญหา ทำให้ถูกมองเป็นเผด็จการรัฐสภา ดังนั้นไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ไม่ควรมีคำถามพ่วงให้เป็นเงื่อนไข ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต และหากดูตามกรอบโรดแมป เท่ากับส.ว.สรรหาชุดนี้มีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 รอบ ซึ่งถือว่ายิ่งไม่สมควร ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ยึดในหลักการนั้น”นายอภิสิทธิ์ กล่าว


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.