ซิมบับเวจับตาธุรกิจต่างชาติจะโอนหุ้นให้คนพื้นเมืองหรือไม่ หลังเส้นตายผ่านไปแล้ว
เส้นตายให้ธุรกิจต่างชาติโอนหุ้นให้ชาวซิมบับเวผ่านไปโดยที่ยังไม่ชัดเจนว่ามีกิจการกี่รายที่ทำตามคำสั่งดังกล่าว ก่อนหน้านี้รัฐบาลสั่งการให้ธุรกิจต่างๆโอนหุ้นให้กับชาวซิมบับเวภายในสิ้นเดือนมีนาคม ตามข้อบังคับตามกฎหมาย ซึ่งในทางทฤษฏี ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามอาจจะไม่ได้ใบอนุญาตให้ทำธุรกิจ

โครงการนี้เป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์หาเสียงของโรเบิร์ต มูกาเบ้ในการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีที่แล้ว โดยตอนนั้นเขาบอกว่า คนผิวดำถูกเลือกปฎิบัติตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม แต่ข้อเสนอของเขากลับดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หลายคนบอกว่า โครงการนี้จะทำให้คนไม่กล้าไปลงทุนในประเทศ สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรัฐมนตรีแพททริค ชูวาว ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้บอกว่า ธนาคารต่างประเทศและกิจการเหมืองที่เป็นของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่นั้นไม่ได้นำเสนอแผนโอยความเป็นเจ้าของให้คนพื้นเมือง แต่หวังว่าพวกเขาจะทำหลังจากนี้ ในขณะเดียวกัน เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีบอกว่ามาตรการดังกล่าวไม่น่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติตีจากซิมบับเว เขายืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ต้องการแก้ไขความไม่สมดุลที่ลัทธิเหยียดผิวสร้างเอาไว้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิค

ในบรรดาธนาคารที่อยู่ในซิมบับเว มีสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์และธนาคารบาร์เคลยส์รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีกิจการเหมืองแร่แองโกล อเมริกัน พลาตินัม และอิมพาลา พลาตินัม ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า ความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้เมื่อสองปีที่แล้วไม่ได้รับความสนใจจากกิจการต่างๆ แต่หนนี้รัฐบาลบอกว่าจะเอาจริง

การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของธุรกิจให้เป็นของคนพื้นเมืองเป็นแผนการที่สอดคล้องกับแผนปฎิรูปที่ดินที่เริ่มเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ในช่วงนั้นมีชาวนาผิวขาวที่ทำนาเชิงพาณิชย์ถึง 4,500 ราย เริ่มปล่อยความเป็นเจ้าของให้กับชาวซิมบับเวจำนวน 170,000 ครอบครัว แต่ต่อมามีเสียงวิจารณ์ว่าเรื่องนี้มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่ม แต่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยซัสเซคซ์เมื่อห้าปีที่แล้วพบว่า โครงการดังกล่าวส่งผลในทางบวกอยู่บ้าง และความคิดที่ว่าการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวเป็นเรื่องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.