บทบาทของสื่อในการสร้าง ‘กระแสทรัมป์’ (The Role of the Media in Creating Trump)
Posted: 31 Mar 2016 09:44 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในช่วงปีที่ผ่านมาในสังคมอเมริกัน คงไม่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองใดจะถูกจับตามองมากไปกว่าการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ อายุ 69 ปี จากนิวยอร์กที่โด่งดังมาด้วยการใช้ชีวิตที่หรูหราและถูกจับตามองจากสื่อมาโดยตลอด จนไปถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ และล่าสุดได้ผันตัวเองมาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรครีพับลิกัน (Republican Party)  

จากผู้สมัครฯ ที่ในช่วงแรกมีสถานะความเป็นเซเลบ (celebrity) โดยถูกคาดการณ์กันว่าจะมีบทบาทเพียงการเติมแต่งสีสันของการเลือกตั้งในปีนี้ แต่เกือบ 9 เดือนผ่านไป ทรัมป์ กลับได้คะแนนความนิยมสูงสุดจากผู้ลงคะแนนฝั่งพรรครีพับลิกัน โดยตอนนี้ได้ไป 736 เดเลเกตส์ (delegates – ผู้แทน) ซึ่งผู้สมัครฯ ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 1,237 เดเลเกตส์ จึงจะชนะการเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน นอกจากนั้น ทรัมป์ ยังได้คะแนนห่างจากผู้สมัครฯ ที่ได้อันดับ 2 เท็ด ครู้ซ (Ted Cruz) อย่างมาก ตอนนี้ ครู้ซ ได้ไปแค่ 461 เดเลเกตส์เท่านั้น[1] และหากดูผลสำรวจความนิยมจากโพลล์สำนักต่างๆ ที่เว็บไซต์ข่าวสารทางการเมืองชื่อดังrealclearpolitics.com ได้รวบรวมไว้จะเห็นว่าความนิยม (popularity) ในปัจจุบันของ ทรัมป์ ยังมีสูงกว่าผู้สมัครฯ คนอื่นๆ จากทางฝั่งพรรครีพับลิกันอยู่มาก[2]

แม้ในช่วงแรกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ทรัมป์ ไม่น่าจะเป็นผู้สมัครฯ ที่มีโอกาสชนะได้ (not a serious candidate) เพราะ เขามีปัญหาและมีลักษณะบุคลิกหลายอย่างที่ตรงกันข้ามกับ ‘ideal candidate’ (ผู้แทนพรรคในอุดมคติ) เช่น ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมายาวนาน แถมยังเคยสนับสนุนพรรคเดโมแครท (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามมาก่อนด้วย, จุดยืนทางการเมืองไม่ชัดเจนกลับไปกลับมา และรวมถึงเรื่องการพูดที่มีลักษณะเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดศาสนา และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ได้เห็นว่าการคาดการณ์ต่างๆ เหล่านั้นล้วนผิดพลาดทั้งสิ้น

คำถาม คือ อะไรที่ทำให้มหาเศรษฐีฝีปากไวผู้นี้ได้รับคะแนนความนิยมสูงถึงเพียงนี้? มีการให้คำอธิบายที่หลากหลายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในตัว ทรัมป์ ก็จะอธิบายว่าสิ่งที่ ทรัมป์ พูดมันตรงใจคนอเมริกัน ทรัมป์ ประกาศอยู่เสมอว่าเขาไม่เหมือนนักการเมืองคนอื่นที่มักจะเลี่ยงการพูดในสิ่งที่ ‘ไม่ถูกต้องทางการเมือง’ (politically incorrect) เพราะกลัวจะเสียภาพพจน์ ทรัมป์ ไม่กลัวเสียภาพ แต่พูดตรงๆ ซึ่งทำให้ถูกใจบรรดาผู้สนับสนุนที่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือโกรธเคืองนักการเมือง ‘ในระบบ’ (establishment) แห่มาเทคะแนนให้กับ ทรัมป์ อย่างมากมาย[3]

แต่สำหรับกลุ่มคนที่ไม่นิยมชมชอบในตัว ทรัมป์ คำอธิบายที่ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับมากที่สุดชี้ว่าตัว ทรัมป์ เองเป็นนัก ‘ฉวยโอกาส’ (opportunist) ที่ชาญฉลาด และสามารถปลุกระดมความกลัวและความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งจำนวนมากเป็นคนชั้นล่าง ไม่มีการศึกษาสูง และเป็นพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ที่รู้สึกไม่พอใจกับการอยู่ในอำนาจมายาวนานของประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ที่เป็นลูกครึ่งผิวดำ การที่คนอเมริกันถูกแย่งงานโดยแรงงานผิดกฎหมาย การขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน และสถานการณ์การก่อการร้ายของกลุ่มไอสิส (ISIS – Islamic State of Iraq and Syria) นักสังเกตการณ์หลายคนชี้ว่าความนิยมของ ทรัมป์ มีรูปแบบคล้ายกับการขึ้นมามีอำนาจของอดีตผู้นำจากพรรคนาซี เยอรมนี ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ที่สร้างกระแสความตื่นกลัวให้วามกลัวและมประชาชนให้เกิดนาซี เยอรมนี ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ องการพูดที่ไปประชาชน แล้วปลุกความรู้สึกชาตินิยมแบบสุดโต่งเพื่อให้ตนเองได้มีอำนาจขึ้นมา[4]

แต่ไม่นานมานี้ได้มีความคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ตัว ทรัมป์ หรือสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เท่านั้น ที่เป็นปัจจัยให้ ทรัมป์ กลายเป็นกระแสที่ฉุดไม่อยู่ แต่ยังมี ‘สื่อ’ ด้วยที่ช่วยสร้าง ‘กระแส ทรัมป์’ จนอาจจะทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ แนวคิดนี้ถูกทำให้พูดถึงกันมากหลังจากที่ Nicholas Kristof คอลัมนิสต์ของ New York Times ได้เขียนบทความที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง (ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) โดยใช้ชื่อบทความว่า “My Shared Shame: The Media Helped Make Trump” (ความอับอายที่ข้าพเจ้ามีส่วนรับผิดชอบด้วย: สื่อได้ช่วยสถาปนา ทรัมป์) โดยเขียนวิพากษ์บทบาทของสื่อว่ามิได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเพียงพอในการตรวจสอบ โดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้มหาเศรษฐีผู้นี้มีโอกาสสูงที่จะได้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ Kristof ได้โทษสื่อว่ามิได้ท้าทาย ทรัมป์ด้วยคำถามที่เกี่ยวกับความสามารถของ ทรัมป์ อย่างจริงจังในการเป็นผู้นำประเทศ เช่น ข้อเสนอในเชิงนโยบาย หรือความสามารถในการบริหารประเทศ แต่กลับไปให้ความใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยของ ทรัมป์ เช่น บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมในสื่อสังคมใหม่ ซึ่งทำให้เขาได้พื้นที่ข่าวไปอย่างมากมาย[5]

นอกจากนั้น Jim Rutenberg ได้อธิบายว่าสื่อโทรทัศน์เองก็ได้รับประโยชน์กับการให้พื้นที่กับ ทรัมป์ เพราะมันทำให้เรทติ้ง (rating) ของสถานีพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง CNN สถานีโทรทัศน์ข่าวอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เมื่อ 18 เดือนที่แล้วถูกวิเคราะห์ว่าเรทติ้งตกต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปี แต่เมื่อมีกระแส ทรัมป์ เกิดขึ้น CNN ก็ได้อานิสงส์ไปด้วยโดยได้นำเสนอข่าวและถ่ายทอดการโต้วาทีของ ทรัมป์ อย่างหนักจนทำให้เรทติ้งของ CNN ในปีนี้สูงขึ้นกว่ากว่าร้อยละ 170 ไม่ใช่แค่ CNN เท่านั้นที่พยายามหาประโยชน์จากกระแส ทรัมป์ แต่สื่อโทรทัศน์อื่นๆ ต่างก็ต้องปรับตัว (หรือแม้แต่ปรับรูปแบบรายการและตารางการออกอากาศ) เพื่อให้มีเรื่องราวของ ทรัมป์ มาสนองความต้องการของผู้ชมที่จะเสพเรื่องราวของมหาเศรษฐีผู้นี้[6]

ผลของการที่สื่อให้ความสำคัญกับ ทรัมป์ ทำให้เขาได้พื้นที่สื่อไปโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อเหมือนผู้สมัครฯ คนอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการโฆษณาในสื่อ MediaQuant ที่เป็นบริษัทที่ศึกษาเกี่ยวกับสื่อและการเมือง MediaQuant ได้วิเคราะห์ว่า ทรัมป์ ได้พื้นที่สื่อ (เรียกว่า earned media) ไปทั้งหมดมีมูลค่าถึงเกือบ 1.9 พันล้านเหรียญดอลล่าร์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าที่ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ได้ไปกว่า 2 เท่า โดยฮิลลารีได้ไปเพียง 746 ล้านเหรียญดอลล่าร์ เท่านั้น[7] แต่ ทรัมป์ ใช้เงินจริงๆ ในการจ่ายค่าโฆษณาแค่ 10 ล้านเหรียญดอลล่าร์ ในขณะที่ ฮิลลารีใช้เงินไปถึง 28 ล้านเหรียญดอลล่าร์[8]

ยิ่งในช่วงที่ประเด็นที่ทำให้สังคมอเมริกันเกิดความรู้สึกตื่นกลัว (panic) เช่น หลังการก่อการร้าย เรทติ้งของ ทรัมป์ ก็จะพุ่งสูงขึ้นมาก ทรัมป์ ไม่ปล่อยให้โอกาสปล่อยให้นั่นหลุดลอยไป แต่จะแสดงความรู้สึกต่อต้านและเกลียดชังมิใช่แค่กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ของกลุ่มผู้ก่อการอีกด้วย ตัวอย่างในกรณีการก่อการร้ายในกรุงปารีส (Paris, 13 พฤศจิกายน ค.ศ.2015) และซาน เบอร์นาดีโน่ (San Bernardino, 2 ธันวาคม ค.ศ.2015) ที่หลังจากเกิดเหตุแล้ว ทรัมป์ เรียกร้องให้มี “การปิดกั้นการเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาของชาวมุสลิมโดยสิ้นเชิงจนกว่าสมาชิกรัฐสภาของเราจะคิดออกว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนี้”[9] ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความกังวลว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสร้างความแตกแยกในประเทศ และยังทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังที่คนมุสลิมในประเทศอื่นมีต่อสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นแบบไม่สนใจความรู้สึกของคนมุสลิมเช่นนี้กลับทำให้ ทรัมป์ ได้พื้นที่สื่อจำนวนมาก และมันยังทำให้คะแนนความนิยมของ ทรัมป์ ในกลุ่มพวกอนุรักษ์นิยมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย[10]

อย่างไรก็ตาม มิใช่สื่อมวลชนทุกคนจะโทษสื่อที่ไปช่วยสร้างกระแส ทรัมป์ บางคนชี้ว่า ทรัมป์ เองเป็นคนที่ชาญฉลาดในการสร้างกระแสในสื่ออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะมีการประกาศลงชิงฯ ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่แล้วเสียอีก ไม่ว่าพฤติกรรมของ ทรัมป์ ดูเหมือนจะงี่เง่า (non-sense) เพียงใดก็ตาม มันเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องบอกกับสาธารณชน แต่แน่นอนว่าสื่อที่ดีย่อมต้องให้ความสำคัญกับ ‘ประเด็นที่สำคัญ’ (real issues) มากกว่าประเด็นยิบย่อยที่สนองความบันเทิงมากกว่า นอกจากนั้น Eugene Robinson คอลัมนิสต์ของ Washington Post เตือนว่าการให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อมากเกินไปให้ทำให้เราหลงประเด็น สื่อเป็นแค่ผู้ส่งสาร (messenger) มิใช่ตัวสาร (message) สำหรับเขาประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ทำไมผู้ลงคะแนนจึงแห่กันไปลงคะแนนให้กับ ทรัมป์ ต่างหาก[11]

เชิงอรรถ
[1] ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nytimes.com/interactive/2016/us/elections/primary-calendar-and-results.html (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[3] http://www.bbc.com/news/magazine-35406324 (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[4] http://www.democracynow.org/2016/3/15/father_of_fascism_studies_donald_trump. (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[5] http://www.nytimes.com/2016/03/27/opinion/sunday/my-shared-shame-the-media-helped-make-trump.html?_r=0. (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[6] http://www.nytimes.com/2016/03/21/business/media/the-mutual-dependence-of-trump-and-the-news-media.html. (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[7] มูลค่าของพื้นที่สื่อนี้ถูกคำนวณขึ้นจากมูลค่าของอัตราค่าโฆษณา
[9] https://www.donaldjtrump.com/press-releases/donald-j.-trump-statement-on-preventing-muslim-immigration. (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).
[11] https://www.washingtonpost.com/opinions/no-the-media-didnt-create-trump-covering-him-is-their-job/2016/03/28/11ffc5 54-f516-11e5-9804-537defcc3cf6_story.html. (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2559).


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.