ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้อินเตอร์เน็ต สื่อมวลชน และฝ่ายกฎหมายของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ กังวลว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขจะถูกนำไปใช้เพื่อกลั่นแกล้ง เหมารวม และปิดปากประชาชน แต่ที่ปรึกษาฯ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ยืนยันว่าการปรับกรุงแก้ไขกฎหมายจะช่วยลดจำนวนคดีหมิ่นประมาทออนไลน์ และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.น่าจะมีผลบังคับใช้ราวเดือน เม.ย.2560
งานเสวนา "ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการออนไลน์ หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559" ถูกจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (23 ธ.ค.) โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบต่อการประกอบกิจการของ "ผู้ให้บริการ" ออนไลน์ ที่อาจเกิดจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไปแล้ว
ประเด็นหลักที่พูดคุยรวมถึงมาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลที่อาจผิดกฎหมายหากได้รับแจ้งมา (notice and takedown) ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดไปด้วย และมาตรา 20 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ที่มีข้อมูลผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี
ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, notice and takedown, กมธ., เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ลาซาด้า, notice and noticeImage copyrightAP
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ร่างแรกมีเนื้อหาระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถปิดหรือบล็อกเว็บได้โดยไม่ต้องขอศาล แต่ร่างที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น มาตรา 14(1) ที่เดิมใช้ฟ้องหมิ่นประมาท ก็แก้ให้ชัดเจนว่าหมายถึงการปลอมตัวออนไลน์เพื่อไปหลอกเงิน หรือ phishing เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ต่อไปคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องตามมาตรานี้ถูกศาลยกฟ้องทั้งหมด โดยคดีน่าจะหายไปราว 5 หมื่นคดี
นายไพบูลย์กล่าวถึงมาตรา 15 ด้วยว่ามีการกำหนดนิยามของผู้ให้บริการให้ชัดเจนขึ้น พร้อมระบุว่าถ้าไม่มีส่วนรู้เห็นกับข้อมูลที่มีความผิด หากดำเนินการลบทำลายภายหลังก็จะไม่มีความผิดเช่นกัน และยืนยันว่าจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาให้ลบข้อมูล แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ และทันทีที่ลบก็จะไม่ต้องรับโทษ ส่วนมาตรา 20 มีการแก้ไขเรื่องการไต่สวน ซึ่งแต่เดิมให้ฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว ก็ให้เพิ่มเป็นการไต่สวน 2 ฝ่าย รวมถึงฝ่ายที่ถูกร้องเรียน และอีกเรื่องหนึ่งคือการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลว่าเรื่องใดขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ โดยจะมีตัวแทนจากภาคเอกชน 3 คน จากทั้งหมด 9 คน ได้แก่ ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องใดๆ เกิดขึ้น ก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งต้องผ่าน 4 ขั้นตอน คือ อนุกรรมการ กรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และศาล เมื่อคำสั่งออกมาก็ยังไปฟ้องศาลปกครองได้อีก เพราะเป็นคำสั่งทางปกครอง ส่วนร่างประกาศกระทรวงที่จะออกมาตามมาตรา 20 จะเสนอให้ตัดทิ้งเนื้อหาในส่วนที่เป็นปัญหา ซึ่งนายไพบูลย์ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายจับตาร่างประกาศอีกหลายฉบับที่จะออกตามมา พร้อมย้ำกับผู้คัดค้านว่าอยากให้เสนอแนะวิธีทางแก้ไขด้วย และคาดว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่จะมีผลใช้บังคับราวเดือนเมษายน 2560
ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, notice and takedown, กมธ., เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ลาซาด้า, notice and noticeImage copyrightDOMINIC LIPINSKI/GETTY IMAGES
ขณะที่หลักการ notice and takedown คือการให้แจ้งเพื่อลบข้อมูลออก เริ่มใช้ตั้งแต่ 20 ปีก่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมัยนั้นผู้ให้บริการกับเจ้าของเนื้อหายังเป็นคนๆ เดียว แต่ในปัจจุบันกลับแยกเป็น 2 คน คำถามคือหลักการนี้จะยังสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะแจ้งไปยังผู้ให้บริการเพื่อลดเนื้อหาออกทั้งที่ไม่ใช่เจ้าของเนื้อหา ส่วนที่ประเทศแคนาดาได้แก้กฎหมายให้ไปใช้หลัก notice and notice โดยให้ผู้ให้บริการแจ้งไปยังเจ้าของเนื้อหาเพื่อพิจารณาว่าจะเอาเนื้อหาลงเองหรือไม่ ซึ่งเป็นการคำนึงถึงสิทธิของเจ้าของเนื้อหาด้วย
ส่วนมาตรา 20 ที่เกี่ยวข้องกับการปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ นายอาทิตย์เห็นด้วยกับข้อเสนอว่าให้ทำเป็น 2 ขั้นตอน คือ ให้ผู้ให้บริการดำเนินการก่อน ถ้าไม่ทำจึงค่อยใช้วิธีอื่น เหมือนคนป่วยที่ต้องรักษาด้วยยาปกติก่อนจึงค่อยใช้ยาแรง จึงอยากให้ร่างประกาศที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาถึงมาตรการหนัก-เบาด้วย ไม่ใช่เอะอะก็ใช้ยาแรงเลย
ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, notice and takedown, กมธ., เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ลาซาด้า, notice and noticeImage copyrightCHINA PHOTOS/GETTY IMAGES
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า บทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือการใช้อำนาจโดยมิชอบของภาครัฐ ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศราเคยถูกผู้ให้บริการแจ้งขอให้ปิด URL ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ 2 ข่าว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจ แต่ไม่ระบุตัวผู้ออกคำสั่ง ถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 20 ระงับข้อมูลที่ถูกพิจารณาว่าผิดกฎหมาย แต่กลับใช้อำนาจผ่านผู้ให้บริการแทนที่จะไปศาล ส่วนมาตรา 15 ระบุว่าผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือจะไม่ต้องรับโทษ แต่ที่จริงควรกำหนดว่าผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษตั้งแต่แรก และร่างประกาศซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่มีความผิด อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องกลั่นแกล้งกัน และใช้เวลานานกว่าคดีจะสิ้นสุด
ส่วนมาตรา 20 เรื่อง "ศีลธรรมอันดี" นายประสงค์ระบุว่าอาจซ้ำรอยกับปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) พ.ศ.2551 ที่มีคำว่า "ศีลธรรมอันดี" เช่นกัน และผลปรากฏว่า กสทช.นำทุกเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาตรา 37 ทั้งหมด ทำให้อาจมองได้ว่า กสทช.ใช้มาตรานี้เล่นงานทีวีและวิทยุ และในกรณี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถ้ามีคนร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นพันๆ เรื่อง จะทำอย่างไร และผลสุดท้ายอาจทำให้ต้องนำข้าราชการมาเป็นกรรมการในสัดส่วนของภาคเอกชน 3 คนอยู่ดี
ขณะที่นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ Lazada กล่าวว่า สิ่งที่กลัวคือผู้ใช้กฎหมายมีวิธีคิดในการตีความตัวกฎหมายนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา Lazada มักพบปัญหาจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายอาหารและยา ทำให้ต้องประสานกับกองปราบปรามและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่บ่อยครั้ง และทั้ง 2 หน่วยงานใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นหลักในการดูการกระทำผิด แม้มาตรา 15 ที่แก้ไขทำให้ผู้ให้บริการสบายใจขึ้น เพราะกำหนดบทยกเว้นโทษไว้ แต่ร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องยังมีบางถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนและกำกวม อย่างไรก็ตาม Lazada คิดว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่จะไม่กระทบกับการตัดสินใจลงทุน
แสดงความคิดเห็น