Posted: 02 Aug 2017 03:23 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผู้หญิงใน 'Silicon Valley' ใช้โซเชียลมีเดียต่อต้านการคุกคามทางเพศ


ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีที่ Silicon Valley ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อต้านการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่มาภาพประกอบ: startupstockphotos.com (CC0)

สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น และเป็นกระบอกเสียงในการส่งผ่านการสนับสนุนหรือต่อต้านแนวคิดเดิม ๆ ในสังคม ล่าสุด ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีที่ Silicon Valley ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อต้านการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศ

สาว ๆ ในเมือง San Mateo รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมใจกันสวมชุดซูเปอร์ฮีโร่ และปั่นจักรยานร่วมกันอย่างสนุกสุดฤทธิ์สุดเดชในคลาสฟิตเนส SoulCycle ยามบ่าย กิจกรรมนี้ไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการประท้วงของผู้หญิงในแวดวงเทคโนโลยี เพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเพศใน Silicon Valley

ไม่เพียงแต่การคุกคามในองค์กร ธุรกิจ Start-Up ที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของก็ได้รับผลกระทบ เมื่อพวกเธอถูกบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยผู้ชายมักปฏิบัติกับพวกเธออย่างไม่เหมาะสม

Wendy Dent อดีตนางแบบที่ผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Cinemmerse ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นสำหรับนาฬิกา Smart Watch บอกว่า เธอเผชิญกับการคุกคามทางเพศจากผู้ที่ควรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเธอก็หาทางออกกับเรื่องนี้ไม่ได้

เสียงสะท้อนของพวกเธอไม่ใช่เรื่องที่บริษัทด้านเทคโนโลยีจะมองข้ามไปได้ง่ายๆ อีกต่อไป เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Travis Kalanick อดีตซีอีโอของ Uber ต้องลาออกจากบริษัทที่เขาร่วมสร้าง หลังพบว่ามีพนักงานหญิงร้องเรียนเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่คุกคามและเหยียดเพศ

ตามมาด้วยผู้บริหารชายอีก 2 คน ทั้ง Justin Caldbeck จาก Binary Capital และ Dave McClure จาก 500 Startups ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกัน

ด้าน Kate Mitchell หนึ่งในนักลงทุนสถาบัน มองว่า ผู้หญิงสามารถใช้การเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นโรงขึ้นศาล เพื่อสะท้อนปัญหาการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้

อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากกล้าจะออกมาเผชิญหน้ากับการคุกคามทางเพศมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าหดหู่ใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งสัญญาณไปถึงระดับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าข่ายคุกคามและเหยียดเพศ รวมทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันทางสังคม

ที่มา: voathai.com, 19/7/2017

เกาหลีใต้ใช้หุ่นยนต์ ‘Troika’ ให้บริการในสนามบิน

เกาหลีใต้จะใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ ‘Troika’ ของบริษัท LG Electronics คอยให้บริการและช่วยเหลือผู้โดยสารที่เดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (Incheon International Airport) ตั้งแต่เดือน ก.ค. นี้เป็นต้นไป โดยหุ่นยนต์ตัวนี้มีหน้าจอคล้ายสมาร์ทโฟนยักษ์ไว้แสดงข้อมูลเที่ยวบิน แผนที่ภายในสนามบิน ข้อมูลสภาพอากาศภายนอก ช่วยพาผู้โดยสารไปยังประตูขึ้นเครื่องบิน และช่วยทำความสะอาดภายในสนามบินได้ด้วย ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ต้อนรับของเกาหลีใต้ครั้งนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกที่เมืองพยองชาง (Pyeongchang) ในปี 2018

ที่มา: scmp.com, 4/7/2017

หม้อไอน้ำในโรงงานทอผ้าบังกลาเทศระเบิด คนงานเสียชีวิต-บาดเจ็บระนาว

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของบริษัทมัลติแฟบส์ (Multifabs) ในเขตกาซิปุระ (Gazipur) บังคลาเทศ แรงระเบิดทำให้ตัวโรงงานเสียหายอย่างหนัก มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน บาดเจ็บ 50 คน และสูญหาย 6 คน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของบังคลาเทศมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เพลิงไหม้ อาคารถล่ม ทำให้คนงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ที่มา: firstpost.com, 4/7/2017

Microsoft เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก ระบุเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร

บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการปลดพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก ไมโครซอฟต์เปิดเผยว่าพนักงานที่จะถูกปลดออกมีจำนวนไม่ถึง 10% ของพนักงานในฝ่ายขาย และราว 75% ของการปลดออกจะเกิดขึ้นนอกสหรัฐ ทั้งนี้ไมโครซอฟต์มีพนักงาน 71,000 คนในสหรัฐ และ 121,000 คนทั่วโลก และการปรับโครงสร้างองค์กรของไมโครซอฟต์เพื่อพุ่งความสนใจไปในผลิตภัณฑ์ Azure ซึ่งอยู่ในธุรกิจ cloud ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 93% ในไตรมาสที่ผ่านมา

ที่มา: cnbc.com, 6/7/2017

ลูกจ้าง 'สตาร์บัคส์' ระบุบริการแย่ลงเพราะขาดแคลนพนักงาน

รายงานสำรวจของบริษัท Coworker.org ระบุว่า แผนของซีอีโอคนใหม่ของบริษัทกาแฟ Starbucks ที่ต้องการเพิ่มความใส่ใจลูกค้า รวมทั้งลดความคับคั่งและเวลาการเข้าคิวรอตามร้าน Starbucks ทั่วสหรัฐฯ ต้องประสบอุปสรรคสำคัญจากการขาดแคลนพนักงานตามร้านสาขาของ Starbucks เอง

รายงานสำรวจชิ้นนี้ชี้ว่า ราว 62% ของพนักงานร้าน Starbucks ระบุถึงปัญหาขาดแคลนคนงานดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการของร้านสาขาต่าง ๆ และอีกปัญหาหนึ่งที่ลูกจ้างของ Starbucks บอกว่าทำให้บริการล่าช้าลง คือระบบสั่งกาแฟผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Mobile Ordering ที่ยิ่งทำให้มียอดออเดอร์เพิ่ม ขณะที่คนทำงานไม่เพิ่ม ส่งผลให้ลูกค้าในร้านต้องรอนานขึ้น จนหลายคนไม่พอใจ เดินออกจากร้าน และเขียนตำหนิวิจารณ์ร้านกาแฟ Starbucks ในโลกออนไลน์กันอย่างมากมายเช่นกัน

ที่มา: voathai.com, 7/7/2017

Facebook ลงทุนสร้างหมู่บ้านให้พนักงาน แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

เฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดเผยว่าว่าทางบริษัทต้องการลงทุนสร้างหมู่บ้าน 'Willow Village' พื้นที่ 1.75 ล้านตารางฟุต เป็นอาคารสำนักงานและอีก 125,000 ตารางฟุตเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้า สำหรับพนักงานของเฟซบุ๊กและชุมชนใกล้เคียง โดยจะมีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยขนาด 1,500 ยูนิตที่เปิดให้กับทุกคนไม่เฉพาะพนักงานเฟซบุ๊กเท่านั้น โดย 15 % ของพื้นที่นี้ จะกันไว้ให้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้มาตรฐานด้วย ซึ่งเฟซบุ๊กคาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ที่มา: fortune.com, 7/7/2017

ตั้งข้อหาบริษัทญี่ปุ่นหลังพนักงานฆ่าตัวตายเพราะงานหนักเกินไป

บริษัทเดนท์สุ (Dentsu Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาชั้นนำแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดมาตรฐานด้านแรงงาน หลังจากที่นางสาวมัตซูริ ทากาฮาชิ (Matsuri Takahashi) พนักงานอายุ 24 ปี ฆ่าตัวตายในปี 2015 เพราะการทำงานหนักเกินไป เพื่อนของทากาฮาชิ ซึ่งเข้ามาทำงานที่บริษัทแห่งนี้ไม่ถึงหนึ่งปี ระบุว่าเธองานยุ่งมาก และได้นอนเพียงสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงเท่านั้น การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปเป็นเรื่องที่ค่อนข้างธรรมดาในญี่ปุ่น ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกการตายเช่นนี้ว่า 'คาโรชิ' (karoshi)

มีรายงานว่า มีช่วงหนึ่งก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ทากาฮาชิทำงานล่วงเวลา 100 ชั่วโมงต่อเดือน เธอเสียชีวิตในวันคริสต์มาสของปี 2015 จากรายงานระบุว่า ข้อความที่เธอทิ้งไว้ให้แม่ของเธอรวมถึงข้อความว่า: "ทำไมอะไรก็ยากไปหมดขนาดนี้?"

หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน (Asahi Shimbun) รายงานว่า ทางบริษัทกำลังถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับ การให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอัยการกำลังเสนอให้ลงโทษปรับ ส่วนสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo) รายงานว่า เมื่อตั้งข้อหาแล้วก็จะส่งให้การสอบสวนยุติลง คดีนี้เป็นการดำเนินคดีนิติบุคคลของบริษัทเดนท์สุ ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่สำนักข่าวเกียวโด รายงานโดยอ้างคำพูดของแม่นางสาวทากาฮาชิว่า เธอ "ไม่มั่นใจ" เกี่ยวกับการที่หัวหน้าของลูกสาวเธอรอดพ้นจากข้อกล่าวหา

คดีที่มีผู้ให้ความสนใจนี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานที่ยาวนานในญี่ปุ่นอีกครั้ง รวมถึงการทำงานล่วงเวลาโดยไม่รับค่าจ้างอย่างผิดกฎหมายด้วย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปหลายร้อยคน แต่นักรณรงค์ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านั้น

เดนท์สุ ได้เปลี่ยนแปลงหลายอย่างซึ่งเป็นผลมาจากกรณีที่เกิดขึ้นกับนางสาวทากาฮาชิ โดยมีรายงานว่าทางบริษัทปิดไฟตอน 22.00 น. ทุกคืน เพื่อบังคับให้พนักงานออกจากบริษัท นายทาดาชิ อิชิอิ (Tadashi Ishii) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดนท์สุ ได้ขอลาออกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา: bbc.com, 8/7/2017

ค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงของเกาหลีใต้จะเพิ่มอีก 16.4% ในปี 2018

ค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงในเกาหลีใต้จะได้รับการปรับขึ้นอีก 16.4% เป็น 7,530 วอน หรือ 6.64 ดอลลาร์ในปี 2018 หลังตัวแทนภาคแรงงานและฝ่ายบริหารเจรจาต่อรองกัน การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะมีขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงไป 7% ในปีนี้ สู่ระดับ 6,470 วอนต่อชั่วโมง ทั้งนี้นายมูน แจ อิน (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 10,000 วอน ก่อนที่จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของตนเองในเดือน พ.ค. 2022

ที่มา: koreaherald.com, 15/7/2017

หนุ่มอเมริกันอายุ 21-30 ปีว่างงานมากขึ้น นักวิจัยชี้เล่นเกมส์มากกว่าทำงาน

งานวิจัยเกี่ยวกับการมีงานทำของหนุ่มอเมริกันชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดย Princeton และ University of Chicago พบว่าชายอเมริกันอายุระหว่าง 21-30 ปี ว่างงานมากขึ้น ตัวเลขปี 2016 เผยว่ามี 15% ที่ไม่ได้ทำงาน หรือทำแต่ไม่ได้ทำเต็มเวลาเพิ่มขึ้นจากปี 2000 ถึงเท่าตัว นอกจากนี้เวลาทำงานเฉลี่ยต่อวันก็ลดลง 12% นับจากปี 2000 และ 67% ของชายที่ว่างงานยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือญาติ เพิ่มขึ้นจากปี 2000 ที่มีเพียง 47% ทั้งนี้นักวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่าพวกเขาหวังพึ่งพาครอบครัวในระยะยาว พวกเขายังใช้เวลา 520 ชั่วโมงต่อปีไปกับคอมพิวเตอร์ และ 60% ใช้ไปกับการเล่นเกมส์

ที่มา: fortune.com, 16/7/2017

ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ Carrier ของสหรัฐฯ เตรียมเลิกจ้างงานพนักงาน 300 คน

บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ Carrier เตรียมบอกเลิกจ้างงานพนักงาน 300 คน โดย 6 เดือนก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าตนสามารถช่วยรักษาตำแหน่งงาน 800 อัตราไว้สำหรับคนอเมริกัน ด้วยการจูงใจให้ Carrier ไม่ย้ายโรงงานไปที่ประเทศเม็กซิโก การเตรียมเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ซึ่งเป็นระลอกแรกของการปลดลูกจ้าง 630 ตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ Carrier ตั้งใจดำเนินการอยู่แล้ว ตั้งแต่การเจราจาระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และผู้บริหารบริษัทในครั้งนั้น

บริษัทจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะจ้างคนที่โรงงานในเมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา จำนวน 1,100 คน แต่ในอนาคตบริษัท United Technologies Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Carrier เตรียมเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก 700 คน ที่เมืองฮันติงตั้น รัฐเดียวกัน

ที่มา: voathai.com, 20/7/2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.