Posted: 02 Aug 2017 05:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

“กางเกงขาว” เป็นที่รู้จักกันในฐานะจุดเด่นของเครื่องแบบพิธีการของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่เคยได้กล่าวอ้างถึงความเป็นรัฐนาฎกรรมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้วในบทความนี้ จุฬาฯ ขออีกหน่อยละกัน: CU A while longer สำหรับผู้ที่ยังนับตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิ่งโวยวายไปว่าผู้เขียนหาเรื่องโจมตี หรือไม่รักก็ออกไป ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าท่านจะเห็นต่างไปจากความเห็นของข้าพเจ้าก็ดี หรือเห็นสอดคล้องก็ดี ขอให้พิจารณาเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์ กล่าวคือ ถึงจะจั่วหัวว่าเป็นเรื่องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เอาเข้าจริงแล้วมันเกี่ยวโยงกับเรื่องอำนาจนิยมในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะเรียนที่ไหน คำนำหน้าเป็นนักศึกษาหรืออะไรก็ต้องเจอเหมือนกันทั้งนั้น

วันนี้ (30 กรกฎาคม 2560) เพจสำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความ เชิญชวนให้นิสิตรุ่นใหม่แต่งกายด้วย “เครื่องแบบพิธีการ” มาในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งที่ในปัจจุบันเครื่องแบบดังว่ามานี้ไม่มีในข้อบังคับใด ๆ ที่ออกโดยมหาวิทยาลัย[1]


ซึ่งประกาศนี้ไม่น่าจะครอบคลุมถึงนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา แน่นอนว่าโดยสามัญสำนึก พิธีกรรมทำนองนี้มันไม่ควรจะครอบคลุม แต่ที่นี่คือมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่คับฟ้าคับดิน นิสิตระดับปริญญาโทปริญญาเอกก็ “ถูกเชิญชวน” ให้ไปเข้าพิธีถวายบังคมเหมือนกัน โดยจัดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันกับนิสิตปริญญาตรี คือ พิธีกรรมเป็นส่วนพ่วงท้ายพิธีการปฐมนิเทศ ส่วนที่ต่างคือ “พี่” แต่งกายสุภาพมาเรียนก็แต่งกายตามนั้นถวายบังคม ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบกางเกงขาว หรือราชปะแตนแต่ประการใด

จากการตรวจสอบอย่างผ่าน ๆ พบว่าในทางปฏิบัติรุ่นพี่จำนวนมากกล่าวในทำนองว่า “นิสิตทุกคน” ต้องแต่งกายแบบนี้ (และหมายความว่าต้องมาร่วมงาน) ดูตัวอย่างที่นี่

เงื่อนไขของการวิพากษ์วิจารณ์พิธีกรรมถวายสัตย์ฯ ในรอบนี้จึงมีดังต่อไปนี้

1. พิธีการนี้ มีการบังคับเข้าร่วมเกิดขึ้น (สนใจสภาพที่เกิดจริงมากกว่าที่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร)

2. พิธีการนี้ ครอบคลุมนิสิตทุกระดับของจุฬา ฯ

3. พิธีการนี้ นอกจากจะมีการบังคับให้เข้าร่วมเกิดขึ้นแล้ว ยังผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองในการหาซื้อกางเกงพิธีการสีขาว

ประเด็นที่ 1: มีการบังคับให้เข้าร่วมเกิดขึ้น

แล้วการบังคับเข้าร่วม หรือแค่โน้มน้าวให้เข้าร่วมมันผิดตรงไหนหรือ?


คำตอบ ตอบแบบตามกฎหมายเลย คือ ไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิที่มหาวิทยาลัยในฐานะผู้จัดงานจะทำได้ และที่ไหน ๆ เขาก็มีการปฐมนิเทศกันทั้งนั้น ปัญหาคือสิ่งที่เขาไม่มีกัน คือ การถวายบังคมอะไรในลักษณะนี้ (ไม่นับโรงเรียนนายร้อยหรือสถาบันที่พยายามจะมีอัตลักษณ์พิเศษต่างๆ ฯลฯ) สำหรับจุฬาฯ เคยมีกรณีพิพาทกันใน พ.ศ. 2512 เรื่องเล่าย่อๆ ก็มีอยู่ว่า (ย้ำว่าเป็นแค่เรื่องเล่าที่จำมาผิดๆ ถูกๆ ซึ่งไม่ตรงกับประวัติฉบับทางการของคณะผู้จัดงาน NITAD) ผู้นำนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์มีปัญหากันกับนิสิตอีกหลายคณะ เนื่องด้วยแย่งกันถือธงในพิธีปฐมนิเทศ ผู้นำนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งสมมติตนว่าเป็นคณะผู้นำไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้คณะอื่นได้ถือธงมหาวิทยาลัยกับเขาบ้าง[2] กรรมการสโมสรนิสิตคนอื่นจึงพร้อมใจกันลงมติให้เปลี่ยนแนวปฏิบัติผู้ถือธงมหาวิทยาลัย[3] ปัญหาในความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ก่อนสะสมจนทำให้สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ประกาศถอนตัวจากสโมสรนิสิตจุฬาฯ จนนำมาสู่ความพยายามจัดงานนิทรรศการวิชาการ (ซึ่งในปัจจุบันคือ จุฬาฯ วิชาการ และจุฬาฯ เอ็กซ์โป) ที่แยกจากส่วนกลาง ในชื่อ “นิทรรศการวิชาการทางวิศวกรรม” (NITAD : นิทัศน์?) ปัญหาเรื่องนี้คงลุกลามใหญ่โต เพราะน่าจะกระทบไปถึงเรื่องที่กินข้าวในโรงอาหารด้วย คนที่จะคบหากันข้ามคณะก็คงคุยกันไม่ได้ (นี่เป็นเพียงการสันนิษฐาน) และกระทบไปถึงแนวปฏิบัติการรับเสด็จพระราชดำเนินด้วย เมื่อนิสิตคณะวิศวฯ หมอบกราบ แต่คณะอื่นไม่ได้ทำเช่นนั้นก็คงมีเสียง “จิกกัด” อะไรบางอย่าง ไม่แปลกอะไรที่เรื่องนี้จะทราบถึงเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในที่สุด เพราะเรื่องนี้


“ไม่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ หรือออกวิทยุโทรทัศน์ มาถึงก็ได้สดับตรับฟังแล้ว แล้วทำให้นึกถึงว่า แต่ละคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้คิดถึงประโยชน์แท้จริงของตัว ถึงทำให้เกิดอลวนได้...แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งทีได้สดับตรับฟังมาแล้วก็ไม่เรียบร้อย แล้วน่าจะขจัดได้ด้วยความเข้าใจดี ”[4]


การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในคราวนั้นจึงมีพระบรมราโชวาทที่กล่าวถึงปัญหาเรื่องการหมอบกราบ แต่ไม่ได้เท้าความไปถึงความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้น มีพระราชกระแสถึงพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงยกเลิกธรรมเนียมหมอบกราบ (เฉพาะกับไพร่ที่ไม่ต้องหมอบกราบเบื้องหน้ามูลนาย) แต่ไม่ได้ทรงยกเลิกการหมอบกราบในที่เฝ้าฯ เจ้านาย รัชกาลที่ 9 ทรงตักเตือนขยายความต่อไปอีกหลายประการ ทรงตีความว่าการหมอบกราบไม่ใช่การกดขี่ข่มเหงกัน แต่ใจความสำคัญ คือ การหมอบกราบนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันที่บุคคลจะพึงทำได้ ทรงเห็นว่า “เป็นเรื่องที่มาเหยียดหยามกัน ฟัดกัน โดยที่ไม่มีประโยชน์เลย ”[5] จากนั้นทรงวินิจฉัยต่อไปว่าการที่มีผู้มาขอพระราชทานธงใหม่ ไม่โปรดพระราชทาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง จากนั้นพระราชทานการแสดงดนตรีต่อไป

การหมอบกราบด้วยความจริงใจเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ “ก้าวหน้า” อะไรอยู่แล้ว ในกรณีที่ยังนับถือศรัทธาในประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรศึกษาความเป็นไปในเรื่องนี้จากพระราชดำรัส แน่นอนว่าการศึกษาจากบันทึกพระราชกระแสต่างๆ ยังสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการของรัฐบาลด้วย!

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการบังคับเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีการหมอบกราบ ไม่ควรบังคับกัน (นอกเหนือไปจากกิจกรรมโดยทั่วไปที่ไม่ต้องมีการบังคับอยู่แล้ว)

ก็ถ้ามีการบังคับกันจริง ควรแยกว่าความรับผิดชอบที่กล่าวมานี้เป็นของใคร?

พิธีปฐมนิเทศของนิสิตทุกระดับจัดขึ้นโดยสำนักบริหารกิจการนิสิต โดยมีการแบ่งหน้าที่กันเป็นอย่างดี ในการตกลงกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายทุนและสวัสดิการนิสิตรับผิดชอบเป็นการทั่วไป ส่วนสโมสรนิสิตเป็นผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์ให้นิสิตมาเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงการสรรหาผู้ปฏิบัติงานพิธีการบางส่วน นั่นหมายความว่าหากเกิดปัญหาขึ้นในพิธีนี้ ผู้ควรรับผิดและรับชอบจึงมีสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่เป็นคนทำงานและกลุ่มที่เป็นนิสิตผู้รับคำสั่งมา (แต่โดยที่น่าจะมีวิจารณญาณแล้ว ก็ยังไม่ไตร่ตรองอะไรให้รอบคอบ)

“กลุ่มนิสิต” ที่อ้างถึงในที่นี้เป็นขอบเขตที่กว้างมาก คือ ตั้งแต่นิสิตผู้ปฏิบัติงานระดับสูงสุดในวันจริง คือ นายกสโมสร เรื่อยเรียงไปจนถึงระดับล่างสุดของโครงสร้างนี้ คือ “นิสิตสัมพันธ์ – พี่เชียร์คณะ” สมมติว่านี่เป็นคดีที่ไต่สวนในศาลที่นูแรมบวร์ก คงมีคนถูกไต่สวนเป็นร้อย ๆ คน รวมกันทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารที่เป็นอาจารย์ ผู้บริหารของนิสิต นิสิตที่อยู่ในระดับรองลงไป ฯลฯ

ผิดจริง ถ้าอิงตามพระราชดำรัส แต่อย่าให้มันถึงขั้นเป็นคดีอะไรเลย

เพราะมันแค่ผิดในทางวัฒนธรรม ที่ไม่ได้ศึกษาคำผู้ใหญ่เท่านั้น กลับตัวกลับใจแล้วก็ก้าวเดินต่อไปได้ ไม่ได้มีอะไรยาก

ยกเว้นแต่รู้ข้อมูลแล้วยังดื้อ อันนี้ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี? ไม่ปฏิบัติตามพระราชดำรัสนี่ควรมีโทษสถานไหนหรือ? โดยเฉพาะกับจุฬา ฯ ซึ่งมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระบรมราชูปถัมภก (องค์อุปถัมภ์) ด้วยแล้วนั้น

ประเด็นที่ 2 : การบังคับใช้พิธีกรรมนี้กับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา

ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เพราะไม่เคยเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา แต่เห็นว่าไม่ควร เพราะ

1. ในระดับปรัชญา : บรรยากาศของมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น คือ พื้นที่ที่เปิดให้มีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในที่นี้ หมายถึงความเป็นกลางจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจะไม่สร้างเงื่อนไขอะไรให้สมาชิกของสถาบันนั้น ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์บางอย่าง

ทั้งนี้ ไม่เคยมีการทดลองในทางวิชาการ ว่าถ้าไม่มีการถวายบังคมสักสิบปีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น งานวิจัยของเราจะฟอร์มดีขึ้นหรือไม่ หรือมีและมันสัมพันธ์กับแนวโน้ม Ranking ของจุฬา ฯ ที่มีปัญหาหรือเปล่า[6]

2. ในระดับการจัดกิจกรรมนิสิต : คนพวกนี้ถวายบังคมไปก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น จุดประสงค์เริ่มแรกของมันคือการปฐมนิเทศ ให้มีการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่เท่านั้นเอง ระดับป.โท ป.เอก กันแล้ว อายุอานามก็มาก ยังต้องเรียนปรับตัวใหม่กันอีกหรือ?

3. ในระดับผู้เข้าร่วมกิจกรรม : สิ่งที่ควรระแวดระวังในเบื้องหน้าของชีวิตบัณฑิตศึกษา คือ การทำวิทยานิพนธ์ สิ่งที่ควรจะคิดมากกว่า คือ จับทุกคนอบรม Endnote ระบบการอ้างอิง โปรแกรมอ้างอิงอัตโนมัติ การใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ที่สำนักงานวิทยทรัพยากรอุตส่าห์ไปซื้อมา ทักษะการนำเสนอพาวเวอร์พอยต์ที่ดี หรือโปรแกรม E – Theses ที่ใช้กันสุดจะยากเย็น หรือจะทำเป็นคูปองให้ไปอบรมกันตามใจชอบก็ยังดีกว่า

ยกเว้นแต่ถ้ามองว่าการทำพิธีอะไรพวกนี้เป็นขวัญกำลังใจในการเรียน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มันใช่หน้าที่มหาวิทยาลัยหรือ?

4. อย่าลืมว่ากิจกรรมมีหน้าที่ในการหาเพื่อน (พ่อแม่ของผู้เขียนก็รู้จักกันตอนเรียน ป. โท) ถ้าเราไปตัดตอนกิจกรรมนี้สงสัยทารกจำนวนมากคงจะไม่ได้เกิด ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องไปคิดแทน เพราะจบปริญญาตรีก็ควรจะได้ชื่อว่ามีวุฒิภาวะได้แล้ว (จริง ๆ ควรมีตั้งแต่เรียนปริญญาตรีด้วยซ้ำ) อนึ่ง คนแก่เขาหาเพื่อนกันตามหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เช่น วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) วตท. (วิทยาลัยตลาดทุน) ซึ่งหาเพื่อนได้จริง เพราะช่วยเกื้อกูลกันในทางธุรกิจ[7]ได้ด้วย หรือของจุฬา ฯ ก็มี “หลักสูตรภูมิพลังแผ่นดิน”

ถ้าแก่ตัวลงแล้วไม่มีเพื่อนจริงก็เป็นเรื่องน่าสงสาร แต่มันช่วยไม่ได้ และไม่ใช่หน้าที่มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาถือเป็นความโชคดี ผู้เขียนก็โชคดีที่ได้เกิดมาเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ 3: ผู้จัดงานผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองในการหาซื้อกางเกงพิธีการสีขาว

กางเกงพิธีการสีขาวเคยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบพิธีการ (ไม่ใช่เครื่องแบบพระราชพิธี) ของนิสิตระดับปริญญาตรี แต่ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดย “ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2553”

สาระสำคัญอยู่ในข้อ 10 ของข้อบังคับ



“เครื่องแบบพิธีการสำหรับนิสิตชาย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตชาย โดยให้ผูกเนคไทมีตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย”


และเครื่องแบบปกติของนิสิตชายตามข้อ 6 (2)


“กางเกงขายาวแบบสากล ทำด้วยผ้ากรมท่าหรือสีดำ ไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก”

ก็ในเมื่อมีหลักเกณฑ์เช่นนี้อยู่แล้ว การที่มหาวิทยาลัยสั่งให้นิสิตแต่งเครื่องแต่งกายอื่นที่นอกเหนือไปจากเครื่องแบบที่กำหนด เพื่อใช้ในกิจกรรมเพียงกิจกรรมเดียวย่อมเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยกว่าปกติวิสัย บางคนอาจเถียงว่า ก็ถ้าต่อไปต้องใส่เครื่องแบบนิสิตพระราชพิธีหรือเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการก็จะได้มีเก็บไว้ใส่ได้ ผู้เขียนขออนุโมทนาในกรณีที่ท่านเรียนมหาวิทยาลัยโดยรอบเอวไม่ขยายเลย และยินดีกับท่านด้วยที่ท่านสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำนิสิตที่มีศักดิ์สูงพอที่จะใส่เครื่องแบบที่มีชุดราชปะแตนได้ (ยกเว้น นิสิตในชมรมประสานเสียงที่ได้ใส่กันอยู่แล้ว - คือจริงๆ ใครจะใส่ก็ใส่ได้หมด แต่ไม่มีใครเขาใส่กัน เพราะมีแต่พวกผู้ปฏิบัติงานที่มีโอกาสได้ใส่) นั่นหมายความว่าคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากกางเกงขาวแบบนี้มีน้อยนัก หลายคนก็ยกให้รุ่นน้องต่อไป บางคนก็เก็บไว้โดยไม่ได้ยกให้ใคร

ถามว่า จริง ๆ แล้วในข้อกฎหมาย มหาวิทยาลัยมีอำนาจสั่งให้นิสิตแต่งกายเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่มีข้อกำหนดอยู่แล้วได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้ เพราะ “มหาวิทยาลัยอาจออกประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการแต่งกายชุดสุภาพก็ได้ โดยจัดทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย” และ “ให้นิสิตแต่งเครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี เครื่องแบบงานพิธีการ หรือแต่งกายชุดสุภาพตามประกาศของมหาวิทยาลัย หรือตามที่ระบุในหมายกำหนดการ กำหนดการ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย”

ถ้าเรามองว่าเสื้อเชิ้ตกางเกงขาวเป็นชุดสุภาพ ชุดแบบนี้ก็ไม่มีประกาศรองรับอยู่ดี แต่ที่ผ่านมานิสิตทั่วไปก็ไม่เคยรับทราบหรือเคยเห็นกำหนดการ – คำสั่งของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นการประกาศแบบไม่เป็นทางการโดยตลอด คือ กิจการนิสิตสั่งผ่านสโมสรนิสิต ให้สโมสรไปประชาสัมพันธ์เช่นนั้น หรือไม่ก็ประกาศไปเองเลยเพราะที่ผ่านมาก็ทำกันแบบนี้จนเป็นประเพณีไปแล้ว ความลักลั่นที่เกิดขึ้นชวนให้เราคิดได้ว่า

1. ระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จริง ๆ แล้วมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน (มีผู้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาเปรียบเทียบให้ฟังว่าดีกว่ามหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด) ที่แน่ ๆ ก็คือ ไม่มีการประสานงานกันอย่างชัดเจน ตามหลัก เรื่องที่กระทบกับวิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ควรจะมีการปรึกษาหารือกับประชาคมสาธารณะก่อนด้วยซ้ำไป (และไม่ใช่การเรียกนายกสโมสรหรือประธานสภามาตั้งเป็นกรรมการ เพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ถามความเห็นนิสิตแล้ว ประเด็นนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในสังคมนิสิตจุฬา ฯ คือ ผู้นำสโมสรนิสิตจุฬา ฯ ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับนิสิตมานานมาแล้ว)

2. ถ้าเราให้น้ำหนักกับกางเกงขาวในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรม การใส่กางเกงเช่นนี้มางานต้องเกิดขึ้นก่อนข้อบังคับฉบับล่าสุดแน่นอน การประกาศบังคับใช้กฎระเบียบแบบนี้ หมายความว่ามหาวิทยาลัยกำลังแทรกแซงพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาคมของตนเอง ดังนั้น ที่ผ่านมา มันก็ไม่แปลกอะไรที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากรู้สึก “เฉยๆ” กับข้อบังคับนี้ เพราะมันแปลกแยกไปจากวิถีชีวิตของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ได้มีแค่กางเกงสีขาวที่ได้รับผลกระทบ แต่มันลากยาวไปถึง

1) กระโปรงทรงสอบยาว นิสิตหญิงชอบใส่กันโดยเฉพาะพวกพี่เชียร์ ผู้เขียนเคยไปสอบถามเพื่อนว่าเหตุไรจึงชอบนัก คำตอบที่ได้คือ ใส่แล้วมันสวย ไม่มีเหตุผลอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น

2) เนคไท ซึ่งตามข้อบังคับระบุไว้ว่าให้นิสิตใส่เนคไทตาม “แบบของมหาวิทยาลัย” แต่ข้อบังคับก็ไม่ได้แนบท้ายมาว่าจะเอาเนคไทแบบไหน นั่นหมายความว่าแบบที่ใส่ ๆ กันอยู่ ทั้งเนคไทรูปเกียร์ เนคไทติดเข็มพระเกี้ยวเงินอันเล็ก ๆ เนคไทติดติ้งรุ่น ฯลฯ ย่อมเป็นเครื่องแต่งกายที่กฎระเบียบไม่รองรับ เพียงแต่ว่าอนุโลมให้ใส่ไปก่อนเท่านั้นเอง (และมีขายในสหกรณ์จุฬา ฯ แทบทุกสาขา)

ในกรณีที่ไม่นิยมการแต่งชุดนิสิตไปเรียนอยู่แล้ว จะไม่พบปัญหาเช่นนี้เลย อย่างนิสิจคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เพราะจะเจอเรื่องอื่นแทน) และปัญหาต่อมาคือในแต่ละคณะก็บังคับใช้กฎแบบนี้ไม่ตรงกัน ตีความไม่เหมือนกันจนชวนงง

การที่กฎระเบียบไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ก็ชวนให้คิดอีกว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่าเหตุผลที่ได้สันนิษฐานไว้แล้วก็เป็นได้ แต่ในที่นี้ขอคิดเอาไว้ก่อนว่าเป็นเพราะความคิดเองเออเองของผู้ร่างซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน แต่พยายามไปกะเกณฑ์วิถีปฏิบัติของคนทั้งแคมปัส ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยแบบไทย ๆ ส่วนวิธีการตีความกฎหมายเป็นเรื่องของคนที่ทำงานแบบตามอำเภอใจ ไม่ได้ใช้ความรู้ที่เป็นวิชาการอะไร

กางเกงขาวก็คงมีที่มาของมัน เพราะเราพบว่าปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2498[8] (ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้แล้วตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 แต่ฝ่ายกิจการนิสิตก็ยังอ้างถึงอยู่เนือง ๆ) แล้วมหาวิทยาลัย (และผู้ที่ร่างข้อบังคับนี้ขึ้นมา) จะให้ความเป็นธรรมแก่นิสิตปริญญาตรีตาดำ ๆ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่เห็นมีใครแคร์ข้อบังคับนี้อยู่แล้ว) ซึ่งต้องสวมใส่มันอย่างไรได้บ้าง จุฬา ฯ ในปีหลัง ๆ ที่เริ่มมีการให้ทุนแก่นิสิตที่มีฐานะไม่ดีในนาม “ทุนจุฬา ฯ ชนบท” นั่นหมายความว่ามีสัดส่วนของนิสิตที่มีครอบครัวฐานะไม่ดี – ปานกลางในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จุฬา ฯ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยคนรวยอย่างที่เข้าใจกัน คนจำนวนมากทำตัวให้ดูรวยเฉย ๆ แต่จุฬา ฯ จะผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองหรือให้แก่ทุน (ในกรณีที่นิสิตได้รับ) ได้อย่างไร ?

ยกเว้นว่าถ้าบ้านรวยอยู่แล้วจะซื้อแจกคนทั้งคณะก็คงไม่มีใครบ่นว่าอะไร แต่ถ้าคนไม่มีเงินแล้วไปซ้ำเติมเขา ก็ถือว่าคนที่ทำงานนี้มีหัวใจที่มืดดำ (ตั้งแต่จำความได้ ไม่เคยมีประกาศจากงานกิจการนิสิตส่วนกลางว่าเปิดให้มีการให้ยืมกางเกงแต่ประการใด)


ภาพประกอบ: ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ บางส่วนที่มีการรวบรวมไว้ในคราวฉลอง 50 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2510) น่าสังเกตว่าสองชุดซ้ายน่าจะเป็น “บรรพบุรุษ” ของสิ่งที่เรียกว่าเครื่องแบบพระราชพิธีในปัจจุบัน ปัจจุบันจึงมีความพยายามจะรื้อฟื้นขึ้นมาบ้างผ่านการเดินแบบแฟชั่นโชว์ชุดนิสิตโบราณ ผู้เขียนไม่ทราบว่าในการปฐมนิเทศคราวนี้จะมีการเดินแบบให้ได้ยลกันหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานการก่อตัวของชุดพิธีการเสื้อเชิ้ตแขนยาวกางเกงขาวแต่ประการใด อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459 - 2509 หน้า 613.

บทสรุป – บทเรียนรู้สู่สังคมไทย


สำหรับผู้เขียน อำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องแย่ขนาดนั้น

ตราบเท่าที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิเหมือนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

แต่มันก็ทำให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยบกพร่องลงไปหลายส่วน เพราะทำให้การดำรงอยู่ของมันขาดนัยยะสำคัญต่อสังคม คือ เมื่อขนาดเป็นมหาวิทยาลัยยังกดขี่กัน พอเรียนจบก็จะใช้ความรู้ที่ตัวเองมีไปส่งเสริมภาวะอะไรที่มันไม่ดีอยู่แล้วให้มันทรงพลังขึ้นอีก

ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพจริงที่ว่าค่านิยม ความคิดบางอย่างที่บัณฑิตรุ่นใหม่ไม่สืบเนื่องต่อจากค่านิยมเก่า ก็เพราะแค่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ได้มีสำนึกอะไรที่เป็นอุดมการณ์ชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้นควรเริ่มต้นในทุกที่ แต่ในกรณีที่มีความดีเป็นแบบเฉพาะของตนเอง อะไรที่เชื่อมั่นศรัทธาก็จงทำต่อไปด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ถ้าท่านเชื่อว่ากิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมามันเป็นเรื่องที่ดี ก็ทำต่อไป ถ้ามีข้อบกพร่องก็ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความอดกลั้น “ปัญหา” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงอาจถูกมองว่าไม่ได้มีข้อเสียก็ได้ และทำให้การตีความของทุกเรื่องที่กล่าวมาพร้อมจะมีการเชือดเฉือน ตอบโต้ ต่อรอง และชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา

รวมทั้งอาจเป็นบทเรียน เพื่อการพัฒนา เพื่อการวิพากษ์ ให้กับมหาวิทยาลัยอื่น และกับเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมไทยได้ด้วย ซึ่งเคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้ว ว่าพิธีการถวายบังคมได้มีการแพร่กระจายไปยังสถาบันอุดมศึกษาในต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ พิษณุโลก ฯลฯ (ถ้าเข้าใจผิดต้องขออภัยด้วย)

ในประวัติศาสตร์โลก คุณสมบัติของผู้นำที่ดีคือการรับฟังความเห็นต่าง แม้ในวัฒนธรรมไทยก็กำหนดอยู่ในทศพิธราชธรรมเช่นเดียวกัน ในสมัยจารีต ผู้นำแทบทั้งนั้นเป็นฝ่ายขวา แต่มหาราชในอุดมคติก็ไม่ได้โง่หรือบ้ามุทะลุดุดัน หนำซ้ำยังสามารถรับฟังความเห็นทุกด้านเพื่อปรับปรุงการทำงานได้ เฉกเช่น จักรพรรดิถังไท่จง จักรพรรดิอัคบาร์ พระเจ้าจองโจ หรือแม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย

ควรตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนที่เอื้อให้เกิดนิสิตเด็ก ๆ ที่มีวัฒนธรรมใจแคบและไม่รับผิดชอบ

แต่คิดว่าจุฬา ฯ คงไม่มีคนแบบนั้น เพราะมหาวิทยาลัยเราเป็นเสาหลักของแผ่นดิน จึงหวังว่า “ผู้นำ” ที่มีส่วนในประเด็นปัญหาดังกล่าวจะแสดงตนออกมา อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบหรอก แต่ตอบอะไรบ้างก็ดี ให้เขารู้บ้างว่ายังมีสปิริตเหลืออยู่เหมือนอย่างเพลงเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่ร้อง ๆ กัน

มาเถิดมา ภราดาจุฬาฯทุกแหล่ง มาร่วมแรง รวมรักและสามัคคี
อาวุโสเทิดไว้ น้ำใจระเบียบเรานี้ พร้อมประเพณี เสริมให้มีแต่วัฒนา

สีชมพู เชิดชูไว้คู่แดนไทย แสนยิ่งใหญ่และเกรียงไกรในวิทยา
น้องพี่เราล้วนยิ้มแย้ม พักตร์แจ่มหฤหรรษา ยึดมั่นอุดมการณ์มา เพื่อผองประชาชาติไทยทั้งมวล

ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ
พร้อมกันอภิรักษ์ พิทักษ์ให้อยู่คู่ฟ้า วุฒิศักดิ์จุฬาฯ วัฒนาอยู่นิจนิรันดร์




เชิงอรรถ

[1] แต่เคยมี ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดย “ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2553” ดู http://www.cca.chula.ac.th/edocuments/images/files/rules/2553/rules53_02.pdf

[2] โดยคำบอกเล่า คณะวิศวกรรมศาสตร์มีค่านิยมภายในคณะที่ที่เน้นอาวุโสเหมือนกันกับคณะอื่น แต่มีจุดต่างที่สำคัญที่สุด คือ เชื่อว่าคณะของตนเป็นคณะที่ปลูกฝังภาวะผู้นำ และเชื่อกันเช่นนั้นอย่างจริง ๆ จัง ๆ

[3] ธงมหาวิทยาลัย เป็นธงที่หายสาบสูญไปแล้ว คำบอกเล่า คือ ปักเป็นรูปพระเกี้ยว บนผ้าสักหลาด ด้ามจับเป็นไม้ เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยก่อนที่จะนิยมใช้ “พระเกี้ยวงานบอล” ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ลอยตัว ทั้งนี้ พระเกี้ยวเป็นของพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ บรมนาถบพิตร พระราชทานในปีเดียวกันกับที่มีข้อพิพาท

[4] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ บรมนาถบพิตร, “วันทรงดนตรี วันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2512,” ใน 70 ปีจุฬา ฯ รำลึกอดีต (กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 184.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 185.

[6] มีปัญหาจริงในแง่ที่หนึ่ง คือ อันดับตกลงมาเรื่อยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับเป็นต้นมา แง่ที่สอง คือ การโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่ามีปัจจัยข้อใดที่ส่งผลต่อคะแนน และการวัดแบบนี้เป็นธรรมแล้วหรือไม่ อย่างไร ในแง่ที่สาม คือ ควรมีการวัดอันดับอะไรแบบนี้หรือไม่ เพราะการวัดผลแบบนี้เหมาะกับมหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไม่มีทางจะได้อันดับสูงกว่า ยกเว้นแต่มหาวิทยาลัยนั้นจะเปิดสอนในทุกสาขา แล้วก็ต้องโดดเด่นพร้อมกันในทุกสาขาที่เปิดนั้น เช่น MIT Harvard U. และ ฯลฯ ดู ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร, นวคุณ สาณศิลปิน และชลเทพ อมรตระกูล, นิสิตนิทัศน์ ประวัติจุฬา ฯ ฉบับนิสิต, (กรุงเทพ ฯ : สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559)

[7] ดู Pasuk Phongpaichit, Nualnoi Treerat, and Chris Baker, “Very Distinguished Alumni: Thai Political Networking” Access from : https://englishkyoto-seas.org/2016/04/vol-5-no-1-pasuk-et-al/ [31 July 2017]

[8] พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2498,” ใน ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459 - 2509,(กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหหาวิทยาลัย, 2510), หน้า 542.



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.