Posted: 18 Aug 2017 08:02 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินให้ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา ต้องโทษจำคุก 5 ปี ในคดีแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทยที่มีเนื้อหาถึงพระราชประวัติของรัชกาลปัจจุบัน แต่เนื่องจากไผ่ “ให้การสารภาพ” ศาลจึงลดโทษให้เหลือ 2 ปี กับ 6 เดือน

คำตัดสินนี้ไม่ได้เพียงแต่ตัดสิทธิและจำกัดชีวิตของไผ่ในปัจจุบัน แต่มันมีแนวโน้มที่จะหมายถึงการทำลายอนาคตทั้งชีวิตและความฝันที่ไผ่ฝันจะเป็นด้วย เพราะการตัดสินโทษของเขานี้ แปลว่าไผ่หมดโอกาสที่จะได้เป็นทนายความสิทธิมนุษชนที่เขาวาดหวังไว้ไปโดยปริยาย การขังคุกที่จองจำทางกายภาพของไผ่อาจจะสิ้นสุดที่ 2 ปี 6 เดือน แต่สิทธิเสรีภาพของเขา กลับต้องโดนบั่นทิ้งไปตลอดชีวิต

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณวิบูลย์ (คุณพ่อของไผ่) ที่ว่า “ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสิน ศาลได้เรียกไผ่และครอบครัวไปคุยเกี่ยวกับคดีความ ก็ไม่ได้คุยแบบนี้แบบที่ตกลงกันในช่วงเช้า ที่คุยกันก็คือโทษจำคุกหากไผ่รับสารภาพไม่ใช่ 5 ปี แต่ตนขอไม่ลงรายละเอียด...ตอนนี้เราผิดหวังว่า ที่เราได้คุยกันกับศาลจนไผ่รับสารภาพนั้น มันตระบัดสัตย์ ทั้งที่ปกติไผ่จะไม่รับสารภาพง่ายๆ แบบนี้”[1] แล้ว ผมไม่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าผมโกรธ ผมเซ็ง ผมหดหู่มาก แต่มากไปกว่านั้นคำถามที่เฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ มาหลายครั้งดูจะร้องรัวๆ อยู่ในหัวว่า

เพียงเพราะอะไร(วะ)? ประเทศที่อ้างตัวว่ารักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์จับเขาเข้าคุกเพราะไผ่แชร์ข่าวที่มีเนื้อหาถึงพระราชประวัติพระราชา จะเอาอย่างงี้กันจริงๆ หรือ? เราจะอยู่กันอย่างตลกไม่ออก และวิปริต (Perverted) แบบนี้กันจริงๆ หรือ แล้วต่อไปอะไรคือถูก อะไรคือผิด?

หากพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเขียนประวัติศาสตร์แล้ว รูปแบบที่เรียกได้ว่ามาตรฐานดั้งเดิม โอลด์สกูลที่สุดมันก็คือ “การเล่าเรื่อง” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง ซึ่งการเล่าเรื่องนี้ก็มีได้หลายวิธีหลายแบบ แบบกรีกโบราณที่อาจจะมีการเล่าซ้อนทับต่อยอดจากของเดิมที่เคยมีคนเล่าแล้ว จับมาเล่าต่อเลยดื้อๆ (เพราะตอนนั้นยังไม่มีคอนเส็ปต์เรื่องการลอกงาน หรือ Plagiarism) เป็นต้น ฉะนั้นหากจะให้มีสิ่งที่เรียกว่า “การบันทึกประวัติศาสตร์” จริงๆ ขั้นต่ำที่สุดก็ต้องยอมรับหรืออนุญาตให้มีการ “เล่าเรื่อง และบันทึกการเล่าเรื่องนั้น” เพราะฉะนั้นแล้ว หากเพียงแค่ “การเล่าเรื่อง” โดยเฉพาะเล่าในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือนำสิ่งที่มีการบันทึกจริงๆ มา “เล่าซ้ำ” ในฐานะตัวบททางประวัติศาสตร์ กลายเป็นสิ่งที่ “ผิด” ไป แล้วก็คงยุ่งยากมากจริงๆ ครับที่จะตัดสินความถูกผิดในสังคมประเทศไทยนี้

หากทางการไทยคิดจริงๆ ว่าเนื้อหาข่าวที่ “เล่าเรื่อง” พระราชประวัติเป็นเรื่องที่ผิด เราจะทำอย่างไรกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ครับ?

“กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ( = สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ) นั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานุศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” จากพระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา ภาค 2[2]

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระภรรยาเจ้าและพระมเหสีรวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ และในทางประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักแล้ว ในบรรดาพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี อาจจะพอนับได้ว่ารัชกาลที่ 4 นั้นทรงมีพระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนามากที่สุดแล้วพระองค์หนึ่ง ทั้งการก่อตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น มีการประพันธ์วรรณกรรมทางศาสนาพุทธขึ้นมากมาย ฯลฯ

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระปิยะมหาราช (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระภรรยาเจ้าและพระมเหสีรวมทั้งสิ้น 153 พระองค์ ในขณะที่พระองค์ได้รับสมญาเป็น 1 ใน “มหาราช” ของราชวงศ์จักรี

ในส่วนนี้เราจะพบด้วยว่าในทางหลักการแล้ว ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะได้รับการยกย่องเป็น “มหาราช” อย่างในราชวงศ์จักรีเอง จนถึงบัดนี้ก็มีเพียง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 นั่นหมายความว่าแม้แต่ระบบวิธีคิดตามจารีตของไทยเอง คุณงามความดีและผลงานพระราชกรณียกิจของพระราชาเอง ก็เกิดจากการสั่งสมและต้องได้รับการยอมรับจากสังคมเสียก่อน เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้รับการยอมรับโดยทั่วถ้วนและมากพอแล้วจึงจะได้รับการยอมรับเป็น “มหาราช” กล่าวคือ แม้แต่วิธีคิดในทางจารีตดั้งเดิมของไทยเอง ก็มีการเปรียบเทียบคุณงามความดีและผลงานของพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ในตัวระบบความคิดอยู่แต่ดั้งเดิมแล้วนั่นเอง ฯลฯ

ทีนี้ผมถามจริงๆ ครับว่าเนื้อหาข่าวของทางบีบีซี มันผิดอย่างไร? เราจะทำอย่างไรกับมันดี?

คำตอบง่ายๆ ครับคือ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เพราะการมีอยู่ของเนื้อความแบบนี้ “ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร!!!” เพราะฉะนั้นหลังจากที่เกิดกรณีความไม่เป็นธรรมขึ้นกับไผ่แล้ว หลายฝ่ายที่เอาใจช่วยไผ่ หรืออาจจะไม่เอาใจช่วยแต่เกิดความฉงนสงสัยต่อการที่ไผ่โดนลงโทษอยู่คนเดียว จนนำไปสู่คำถามว่า

“ทำไมบีบีซีไทยไม่โดนบ้างล่ะ? ทำไมโดนแต่ไผ่คนเดียว คนอื่นไม่โดนด้วย?”

การถามแบบนี้มันเป็นปัญหาครับ เพราะการทำแบบนี้เท่ากับเป็นการเปิดช่อง หรือยอมรับว่า “การมีอยู่ของข่าวพระราชประวัตินั้นมันผิดจริง แค่ยังจับคนมาลงโทษไม่ครบ” ฉะนั้นการถามแบบนี้จึงเท่ากับการยอมรับสภาพความผิดของการมีอยู่ของบทความนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ผิด รวมไปถึงเป็นการอนุญาตกลายๆ ให้มีการจับ เหยื่อผู้บริสุทธิไปลงโทษอีกได้

วันนี้ผมจึงอยากจะเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยหวังจะยืนยันให้ชัดเจนว่า “การมีอยู่ของข่าวบีบีซีชิ้นนั้นไม่ผิด และคนที่แชร์ก็ไม่ผิดเช่นกัน” หากมันจะมีอะไรที่ผิด ก็คงจะเป็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ มันคือคำตัดสินของประเทศนี้ และมันคือกฎหมายของประเทศนี้ครับ

กฎหมายสามารถผิดได้ สามารถถูกวิจารณ์ได้ และสามารถถูกเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และผมอยากจะยืนยันให้ชัดเจนลงไปในที่นี้ว่า กฎหมายที่บังคับให้คนบริสุทธิ์ต้องกลายเป็นเหยื่อ กฎหมายที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมในตัวกลไกของกฎหมายข้อนั้นๆ เอง กฎหมายนั้นคือกฎหมายที่ผิดครับ และนั่นคือกฎหมายที่ทำให้ไผ่กลายเป็นเหยื่อ และมันเป็นกฎหมายที่คุมขังความเป็นคน ความเป็นประชาชนของประเทศเรานี้ทั้งหมดด้วย

หากกฎหมายเป็นสิ่งที่แช่นิ่ง ถูกต้องเสมอ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็คงจะยังพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรมจากการลุยไฟ, ดำน้ำ, ว่ายน้ำข้ามฟาก, ฯลฯ[3] กันอยู่ ตามวิธีพิสูจน์ความจริงตามกฎหมายตราสามดวงโน่น นี่แหละครับคือกฎหมายที่ผิด เพราะมันบังคับให้คนบริสุทธิกลายเป็นเหยื่อ หรือหากกฎหมายเปลี่ยนไม่ได้ เราก็คงวนเวียนอยู่กับการลงโทษที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากทีเดียว เคยรู้จักโทษประหารระดับรุนแรงของกฎหมายตาสามดวงไหมครับ? ที่เราดูซีรี่ส์ Game of Thrones แล้วแรมซี่ย์ โบลตั้นปล่อยให้กองทัพหมาของเขามากัดกินคนแทนการประหารที่เราว่าโหดๆ นั้น ก็มีในกฎหมายตามสามดวงนี้ครับ อยู่ในสถานที่ 15 ซึ่งว่ากันตรงๆ นับว่า “โหดน้อยแล้ว” หากเทียบกับสถานอื่นๆ ที่ผมขออนุญาตยก “สถาน” ที่พี๊คๆ มาให้ลองดูกันสักนิดนะครับ


“สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม

สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย

สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดคอ รูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก

สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้ กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย”

และนี่คือการลงโทษประหารที่ไม่สนใจว่าเป็นหญิงแก่แม่ม่าย ลูกเด็กเล็กแดงอะไรนะครับ โดนแบบเดียวกันหมด นี่คือกฎหมายที่ “ผิด” เพราะมันไร้ซึ่งมนุษยธรรมครับ

ผมคงพูดไม่ได้ว่าสิ่งที่ไผ่โดนมันไร้มนุษยธรรมแบบโทษประหารโบราณ 21 ประการในกฎหมายตราสามดวง แต่การที่คนซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิดเลยคนหนึ่ง ต้องถูกจองจำด้วยกลไกของกฎหมาย แล้วยังไปทำลายความฝันในอนาคตทั้งหมดของเขา ผมก็คิดว่า เราคงไม่สามารถพูดได้เช่นกันว่ากฎหมายที่ว่านี้มีมนุษยธรรม หรือพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปก็คือ กฎหมายและระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายส่วนในประเทศนี้ยังคงย่ำต๊อกอยู่กับที่ อยู่ในโครงสร้างวิธีคิดแบบกฎหมายตราสามดวงเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ก่อนที่ประเทศเราจะรู้จักระบบกฎหมายสมัยใหม่และสิทธิมนุษยชนเสียด้วยซ้ำ...ก่อนที่จะรู้จักกับคอนเส็ปต์ที่เรียกว่า “มนุษย์” กันเลยทีเดียว

ใช่ครับ ประเทศเราวิปริตขนาดนั้นเลยนั่นแหละ และที่น่าแปลกประหลาดยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ประเทศนี้เองก็ดูจะยอมรับในส่วนนี้ด้วย เพราะสิ่งที่ฉาบเคลือบและปกปักรักษาความวิปริตนี้ให้คงอยู่มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ เห็นจะหนีไม่พ้นคำว่า “ความเป็นไทย” หรือ “วัฒนธรรมอันดีของไทย” หรือ “แบบไทยๆ” นั่นเอง ประเทศนี้ดูจะขยันปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการท้วงติงเห็นต่างด้วย “คำ” เหล่านี้ ราวกับว่ามันเป็นสิ่งวิเศษเหลือแสน เป็น “ภาษาที่มีไว้เพื่อฆ่าภาษาชุดอื่นๆ ทั้งหมด” แต่ประเทศนี้ก็คงจะหลงลืมไปด้วยว่า พร้อมๆ ไปกับการสถาปนาสถานะความวิเศษและยิ่งใหญ่ให้กับ “ความเป็นไทย” เหล่านี้ มันย่อมมีค่าเท่ากับยอมรับการรวมศูนย์ของความวิปริตและขัดกับกระแสอันเป็นสากลไว้ภายใต้คำเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะคำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อปกป้องความวิปริตจากการถูกกล่าวถึงในท้ายที่สุด

ผมคงไม่ถึงกับต้องย้อนไปอภิปรายถึงความลักลั่นของการอ้าง “วัฒนธรรมไทย ในฐานะข้อห้ามของการวิจารณ์” อะไรอีก เพราะเพิ่งเขียนถึงเมื่อสองสัปดาห์ก่อนนี้เอง คงจะบอกได้เพียงว่ามีหลายประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อนประเทศไทย และยังคงมีอยู่ แต่ประเทศใดก็ตามที่มุ่งมั่นจะเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ จารีตต่างๆ ก็ต้องปรับตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอื่นๆ นั้นจึงให้คุณค่ากับสิทธิและเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออก ในการมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มากกว่าการปลอดซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันทางการเมืองใดๆ และไม่มาหุบปากคนด้วยข้ออ้างว่า “นี่คือความเป็นอังกฤษ” หรือ “นี่คือวัฒนธรรมอันดีของเนเธอร์แลนด์” หรือห้ามด่าเพราะนี่คือวิถี “แบบญี่ปุ่นๆ” ... ผมคิดว่าในจุดนี้เรามาถึงทางสองแพร่งที่จะต้องตอบตัวเองให้ชัดแล้วล่ะครับว่าเรายังคิดจะเป็นประเทศประชาธิปไตยกันอยู่หรือเปล่า? หากคิดจะเป็น ความวิปริตเหล่านี้คงต้องหาทางยุติลง พร้อมๆ กับคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของความวิปริตนี้

เป็นธรรมดาที่ไผ่ หรือคนที่สนับสนุนไผ่จะรู้สึกอึดอัด รู้สึกถูกลิดรอน ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในประเทศที่มีเงื่อนไขและการใช้อำนาจทางกฎหมายแบบนี้ คำว่ามนุษย์หรือคนในระบบวิธีคิดของยุคสมัยใหม่นั้นนอกจากร่างกายในฐานะมนุษย์แล้ว มันต้องมี “คุณค่าหรือสิทธิในฐานะมนุษย์” ประกอบด้วย เมื่อสิทธิในฐานะมนุษย์ถูกจำกัดด้วย “ความเป็นไทย” และ “กฎหมายแบบไทยๆ” แบบนี้ ก็คงจะมีคุกที่มีไว้ขังไผ่และคนแบบไผ่ไปเรื่อยๆ และคนอื่นๆ ที่เห็นความปกตินี้ก็คงจะได้แต่นิ่งเงียบในสถานะมนุษย์แต่ในนามต่อไป

“เวลาเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน แต่ความยุติธรรมกับผมยังคงเดิม” ไผ่กล่าวคำนี้ไว้หลังจากถูกจองจำได้ 5 เดือน...มาวันนี้มันยิ่งดูจุกอกหนักกว่าเดิม



เชิงอรรถ


[1] โปรดดู http://isaanrecord.com/2017/08/15/pai-sentenced-to-prison/


[2] โปรดดู สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. (2455), พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา ภาค 2


[3] โปรดดู http://oknation.nationtv.tv/blog/kritwat/2012/06/28/entry-3



เกี่ยวกับผู้เขียน กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช เป็นเจ้าของผลงาน Thou Shall Fear: เจ้าจงตื่นกลัว ก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Terrorism Studies จากมหาวิทยาลัย Aberystwyth ประเทศสหราชอาณาจักร

ปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกียวโต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.