Posted: 17 Aug 2017 10:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ย้ำจุดยืนสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง เลขาฯ สมาคมนักข่าว ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน


17 ส.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือ สื่อมวลชน เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ โดยไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างไร ให้​ใช้ครีเอทของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างเสริม เพื่อประชาชนได้ประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือให้สื่อโทรทัศน์สถานีต่างๆ เตรียมลงพื้นที่เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. 60

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังแสดงความกังวลต่อการกระทำของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วยว่า อาจเป็นการคุกคามแทรกแซงสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติติดตามนำเสนอข่าวและผลิตสกู๊ปพิเศษให้รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่แต่ละท่านตามที่ทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ
เลขาฯ สมาคมนักข่าว ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

ขณะที่ มงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกคำแถลงแสดงความห่วงกังวล ต่อกรณีที่ รัฐบาล โดยรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการเชิญบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อประชุมเตรียมการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21 – 22 ส.ค.นี้นั้น

มงคล ระบุว่า เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวอาจถูกมองได้ว่าเป็นการสร้างแนวทางปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทางตรงหรือทางอ้อม หรือเข้าข่ายเป็นการจำกัดทางเลือกในการใช้เสรีภาพตัดสินใจของสื่อมวลชน ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติว่า “สส. ส.ว.พึงระวัง แทรกแซง ขัดขวางการใช้สิทธิของสื่อ ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม”

วิธีการที่เหมาะสม และแสดงถึงความเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกันนั้น คือการหารือในลักษณะของการเสนอให้ความร่วมมือ เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในขอบเขตที่ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้องทั้งเอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อในการตัดสินใจทำข่าว หรือนำเสนอข่าวดังกล่าวหรือไม่ มากกว่าการกำหนดบุคคล หรือประเด็นให้สื่อไปทำข่าว ซึ่งเป็นไปในทำนองการกำหนดวาระชี้นำต่อสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม

ขอยกตัวอย่างที่หลายองค์กรมีการปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานอยู่ เช่นสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ดำเนินการประสานสื่อมวลชนในการทำข่าวการรายงานผลการเลือกตั้ง โดย กกต. จะไม่มายุ่งกับสื่อว่าจะต้องไปทำข่าว กกต. คนใดใน กกต. ทั้งห้าคน เพียงแค่อำนายความสะดวกในการแจ้งหมายข่าว สถานที่ หรือยานพาหนะรวมทั้งการจัดสถานที่ให้กับสื่อมวลชนเท่านั้น

"การทำให้สื่อสนใจในกิจกรรมของรัฐมนตรีใด อยู่ที่ศิลปะการบริหารจัดการให้เกิดสิ่งดึงดูดความสนใจของสาธารณะ และขึ้นกับสาระสำคัญของกิจกรรมนั้น ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับรัฐบาลใดก็ตาม จนไม่เป็นการปฏิรูปการทำงานของราชการ และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน จนอาจเกิดปรากฏการณ์เพียงแค่รัฐมนตรีไปตัดริบบิ้น ปล่อยลูกโป่ง ก็มากะเกณฑ์ให้สื่อมวลชนให้ไปทำข่าว" เลขาธิการสมาคมนักข่าวกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลพึงระมัดระวังการดำเนินการใดที่กระทบต่อเสรีภาพโดยชอบในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขอสนับสนุนความร่วมมือในการทำหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.