Posted: 17 Aug 2017 11:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เผย 6 ข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหา พ.ร.ป. ความอิสระของ กสม. กระบวนการคัดสรรกรรมการ สภาไม่จริงจังกับรายงาน กสม. วอน กรธ. ฟังความกังวลภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศหลังโดนลดเกรด เผย อาจลดเกรดจากบีเป็นซีได้ รัฐประหารมีผลกับการลดเกรด การเงินไม่โปร่งใส ไม่มีรายงานงบประมาณประจำปีออกสู่สาธารณะและสภา

17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดงานเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีงานแถลงข่าวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทยโดยอากันทารันนันซาร์ จูอันดาร์ เลขานุการเครือข่ายภาคประชาสังคมเอเชียเพื่อสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ANNI) และชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย

แถลงการณ์รายงานติดตามการทำงานของ กสม. ประเทศไทย 2559 ระบุถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคมต่อการทำงานของ กสม. ดังนี้


  • ความเป็นอิสระของ กสม. เพราะจะมีผลต่อการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการละเมิดอาจมาจากนโยบายของรัฐ จากเจ้าหน้าที่รัฐ จากองค์กรธุรกิจ หรือจากประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองจะเห็นว่ามีความละเอียดอ่อนอย่างมากในการทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ
  • พ.ร.ป. ต้องแก้ไขให้การคัดสรรสามารถคัดสรรให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงในเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส
  • รัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซง ครอบงำการทำงานของ กสม. สำนักงานต้องเป็นอิสระ
  • รายงานของ กสม. และรายงานการทำงานของ กสม. ควรได้รับการพิจาณาอย่างจริงจังจากรัฐสภา
  • คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ควรรับฟังความเห็น และบรรจุข้อกังวลของภาคประชาสังคมใน พ.ร.ป. ด้วย เพราะ พ.ร.ป. จะมีผลต่อการเปลี่ยนสถานภาพของ กสม. ประเทศไทย จากบีเป็นเอ หรือจะทำให้สถานภาพถูกลดจากบีเป็นซีได้
  • หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการเลือกตั้งแล้วให้มีการคัดสรรคณะ กสม. ชุดใหม่ตามหลักการปารีส

ชลิดากล่าวว่า ทั่วโลกมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ 117 ประเทศ เป็นประเทศที่ได้ระดับ เอ อยู่ 74 ประเทศ ระดับบีมีอยู่ 33 ประเทศ ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และระดับซีอีก 10 ประเทศ เครือข่ายติดตามการทำงานของ (กสม.) ประกอบด้วยภาคประชาสังคมหลายกลุ่ม มีกลไกการตรวจสอบ กสม. ว่าได้ปฏิบัติการตามหลักการปารีสหรือไม่

อากันทารันนันซาร์ กล่าวว่า กสม. ประเทศไทยถูกลดเกรดจากเอเป็นปีไปแล้วเมื่อปี 2557 โดยดูจากขั้นตอนการคัดเลือก กสม. การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร และมีแนวโน้มว่าจะถูกลดไปเป็นเกรดซีอีกด้วยหากดูจาก พ.ร.ป. กสม.

แม้แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญกับภาวะวิกฤติหลายอย่างทั้งฟิลิปปินส์และติมอร์เลสเตก็ยังได้เกรดเอ ตัวแทนจาก ANNI จึงระบุเพิ่มเติมว่า ระบอบการปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งของการได้รับการลดเกรด เพราะว่าการคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำได้ยากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร นอกจากนั้น โดยหน้าที่ของ กสม. ภายใต้การรัฐประหารหรือภาวะฉุกเฉิน จะต้องเพิ่มความใส่ใจในการสอดส่องดูแล สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างไม่มีข้อยกเว้น

ชลิดากล่าวว่า นอกจากเรื่องกระบวนการคัดสรรและเนื้อหา พ.ร.ป. แล้ว ยังพบว่า กสม. ไม่ได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นที่ต้องร่วมงานกัน การตรวจสอบ กสม.นั้นเป็นไปเพื่อดูว่า กสม. ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสหรือไม่ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูเพราะเราไปวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนั้น เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส มีกรรมการ กสม. คนหนึ่งบอกว่า งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีนั้นมีมูลค่าราว 300 ล้านบาทและเพียงพอ ส่วนงบประมาณที่เหลือก็ไม่ต้องส่งกลับแต่ให้ทบเข้าไปในงบประมาณ แต่ กสม. ไม่เคยทำรายงานการเงินออกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย ทั้งนี้ ตนก็คิดว่า กสม. ชุดนี้ก็คงไม่อยู่ตลอดไป จะมีชุดใหม่มาเรื่อยๆ และหวังว่าจะมี กสม. ที่มีคุณภาพ โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

ทั้งนี้ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของ กสม. ก็ยังระบุว่า แม้ กสม. ประเทศไทยจะถูกลดเกรดไป ก็มีข้อเสนอแนะจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Universal Periodic Review ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (อังกฤษ: International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR แต่ก็ยังไม่มีการเอาข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ

หลักการปารีสเป็นแนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ซี่งกําหนดขึ้นจากการสัมมนาว่าด้วยสถาบันแห่งชาติและท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีการกำหนดแนวทางของอํานาจและหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นโดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ในมติที่ 48/134 โดยได้กําหนดแนวทางการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อวัตถุประสงค์ต่อไปนี้

  • ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
  • แนะนํารัฐบาลในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน
  • ทบทวนกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  • เตรียมรายงานสิทธิมนุษยชน
  • รับและสอบสวนเรื่องราวร้องทุกข์จากสาธารณชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.