Posted: 04 Aug 2017 11:15 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กสทช. หนุนสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ เชิญอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ก้าวสู่ยุคดิจิทัลในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560



4 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า เมื่อวันนี้ (4 ส.ค.60) สำนักงาน กสทช. จัดงานสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “Cyber Security : Challenges and Opportunities in the Digital Economy” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 400 คน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ Cyber Security รัฐ-เอกชนร่วมใจก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0”ว่า ยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดอันดับดัชนีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (GCI) ประจำปี 2560 ให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาด้าน Cybersecurity อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาทุกภาคส่วนไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งนั่นหมายถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งประเทศ

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งการระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ “Ransomware” ที่สร้างความตื่นตระหนกทั่วโลก ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนเกิดความตื่นตัวในการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติประจำปีนี้ สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้เห็นความสำคัญและเลือกประเด็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาเป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา โดยได้รับเกียรติจาก ริชาร์ด เอ. คลาร์ค (Richard A. Clake) อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสี่สมัย และผู้พัฒนายุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของงานเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการไซเบอร์โดยใช้ชื่อหนังสือ “Cyber War” และ “Warning” มาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “Cyber Security: Challenges and Opportunities in the Digital Economy”

พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงติดต่อกันทั่วโลกทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อทำให้มวลมนุษย์สามารถสื่อสารติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน การจะเฝ้าระวังผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะมาโจมตีโครงข่ายในทุกระดับ จึงจำเป็นต้องดำเนินการเป็นองค์รวมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่สามารถแยกเด็ดขาดออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้ ภาครัฐจึงมีความพยายามที่จะหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะไม่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของประชาชน และจัดทำยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการป้องกันหรือลดผลกระทบที่เกิดจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป แต่ทั้งนี้ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าเรื่องนี้จะเป็นวิกฤต หรือเป็นต้นทุนในการเตรียมการป้องกัน อยากให้ถือเป็นโอกาสที่จะเริ่มกิจการหรือธุรกิจความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ซึ่งยังขาดแคลนบริการและบุคลากรด้านนี้อีกมาก

ประวัติ ริชาร์ด เอ. คลาร์ค


ริชาร์ด คลาร์ค ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอบริษัท Good Harbor LLC บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง ริชาร์ดมีชื่อเสียงในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ความเสี่ยง และวิกฤติการณ์ ให้กับซีอีโอ, คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารของบริษัทระดับ Fortune 500 ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้นำประเทศอีกหลายราย รวมทั้งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คและเวอร์จิเนีย

ริชาร์ดเคยทำงานในทำเนียบขาวเป็นเวลายาวนานเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ปี โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ให้กับประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิ้ลยู. บุช, ประธานาธิบดี บิล คลินตัน และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช นอกจากนี้ ริชาร์ดยังให้คำปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและความปลอดภัยในชาติอีกหลายด้าน จนได้รับสมญานามว่า “Cyber-Czar” ซึ่งได้พัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ระดับชาติกลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐอเมริกา ริชาร์ดทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเวลาสิบปี โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์สโนว์เดน ประธานาธิบดีโอบาม่า ได้ขอให้ริชาร์ดร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข่าวกรองและเทคโนโลยีซึ่งมีคณะกรรมการทั้งสิ้นห้าคน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น ริชาร์ดทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวิกฤติการณ์แห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ ริชาร์ดเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการทางการเมืองและการทหารของกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช และรองหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน

ริชาร์ดเคยทำงานในทำเนียบขาว, เพนตากอน, ชุมชนข่าวกรอง และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายในกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้รับการรับรองโดยวุฒิสภาสหรัฐฯ

ริชาร์ดเคยสอนวิชาการจัดการวิกฤติและความเสี่ยงที่ Harvard’s Kennedy School of Government ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความคิดเห็นในรายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ABC โดยให้มุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวิกฤติ การก่อการร้าย และความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

ริชาร์ดแต่งหนังสือรวมทั้งสิ้นแปดเล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า Against All Enemies: Inside America’s War on Terror (ปี พ.ศ. 2547) ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง จัดอันดับโดยนิตยสาร New York Times ในฤดูใบไม้ผลินี้ เขาจะตีพิมพ์หนังสือชื่อ Warnings ซึ่งจะพูดถึงกรณีศึกษา 14 กรณี ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ทำนายวินาศกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่คำทำนายไม่ได้รับความสนใจ หนังสือของเขาเรื่อง Cyber War ได้รับการโหวตจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญมากงานหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ

ปัจจุบัน ริชาร์ดดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการผู้ว่าการสถาบันตะวันออกกลาง เขาได้รับเกียรติบรรจุเข้าเป็นสมาชิกในหอเกียรติยศแห่งชาติด้าน Cyber Security อีกทั้งยังได้รับรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award for Cybersecurity โดยการประชุมประจำปี RSA Conference

นอกจากนั้น ริชาร์ดยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนอย่าง Madison Dearborn และ Paladin Capital และนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารบริษัทเทคโนโลยี ได้แก่ Veracode, Carbon Black และ Multiplan

ริชาร์ดได้รับปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (B.A.) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี พ.ศ. 2515 และได้รับปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (SM) จากสถาบัน MIT เมื่อปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน เขาอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.