‘วิโรจน์’ ชี้ การเป็น LGBT เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ได้มาโดยกำเนิด ย้ำการจะออกกฎหมายคุ้มครองต้องคำนึงถึง Human Right เป็นสำคัญ ด้านนักกฎหมาย เผย พ.ร.บ. รับรองเพศเน้นคุ้มครองกลุ่ม Transgender เป็นหลัก ชี้กฎหมายเป็นทางเลือกที่ไม่มีสภาพบังคับ แต่ให้สิทธิในการคุ้มครองหากต้องการความช่วยเหลือ
วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ LGBT ยุค Baby Bloomer
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘สิทธิเพศทางเลือกกับจุดยืนในประเทศไทย’ ขึ้น ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบหาก พ.ร.บ.รับรองเพศประกาศใช้ และปัญหาที่ต้องแก้ไขหากไม่มี พ.ร.บ. รองรับ
วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ในฐานะหนึ่งใน LGBT รุ่น Baby Bloomer กล่าวว่า
“เท่าที่เราดูจากวิวัฒนาการวัฒนธรรมของมนุษย์ LGBT เกิดขึ้นมาพร้อมมนุษย์ ในยุคของอาจารย์คือเป็นรุ่น Baby Bloomer ในช่วงนั้นมีคำเดียวเท่านั้นที่ใช้เรียกคือคำว่า ‘กะเทย’ คำว่า ‘เกย์’ ก็ยังไม่มา ตอนเด็กๆ ฉันต้องทำตัวเป็นผู้ชาย ลำบากมาก เพราะกะเทยเป็นเพศที่เป็นเสนียดต่อสังคมและวงศ์ตระกูล พอโตขึ้นมาเข้าธรรมศาสตร์ก็เริ่มมีคำว่า ‘เกย์คิง’ กับ ‘เกย์ควีน’ พอสักพักหนึ่งคำว่าคิงกับควีนหายไป คือยุคที่อาจารย์โตแล้ว อายุราวๆ 50 ปี อาจารย์ก็ได้เป็นนายกกะเทยคนแรกของประเทศไทย เรียกว่า ‘สมาคมฟ้าสีรุ้ง’ พอเข้ามาทำก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ เริ่มมีคำว่า ‘Queer’ เกิดขึ้นมา หลังจากนั้นก็เกิด Queer Conference ทั่วโลกเยอะมาก
“ในขณะที่สังคมเราเกิดคำว่า Queer ประชากรของคนกลุ่มนี้ก็เยอะขึ้น การเปิดตัวก็เยอะขึ้น ในขณะนั้นที่อาจารย์ยังเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ไม่มีการแต่งหญิงเข้าเรียนหนังสือ พอหลังจากนั้นช่วง 2520 กว่าๆ เริ่มมีแต่งหญิงถึงขนาดที่คณบดีคณะศิลปศาสตร์เรียกมาถามก่อนรับปริญญาว่า ‘หนูจะไปกล้อนผมเป็นชายแล้วขึ้นไปรับ หรือว่าหนูจะแต่งหญิงขึ้นไปรับ’ ตอนนั้นสามารถแจ้งกับคณบดีได้แล้ว ถ้าจะเป็นหญิงคณบดีจะอ่านชื่อว่า ‘นางสาว’ แต่มันก็มีเคสหนึ่งที่มีกะเทยสวยมาก ไว้ผมม้า ทานฮอร์โมน เรียนแพทย์ศิริราช แต่งหญิงไปเรียน ตรงกับยุคที่คณบดีของธรรมศาสตร์ยอมให้ใช้คำว่านางสาว ส่วนทางแพทย์เรียกไปคุย บอกว่าคุณฉลาดมาก คะแนนสูงมาก แต่คุณจะแต่งหญิงมาเรียนแพทย์นั้นไม่สมควร ‘มีทางเลือกให้ ถ้าคุณจะเรียนแพทย์คุณต้องไปกล้อนผมและหยุดฮอร์โมน แต่ถ้าคุณยังจะแต่งหญิงอยู่ คุณต้องลดตัวลงไปเรียนเภสัช’ สุดท้ายคือเธอลดเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นหญิง
“จนช่วงปี 2540 กว่าๆ ก็เริ่มมีคำว่า ‘LGBT’ เข้ามา L คือเลสเบี้ยน G คือเกย์ B คือไบเซ็กชวล และ T คือทรานส์เจนเดอร์ พอจะขึ้น 2550 ทฤษฎีใหม่ก็มาอีกแล้ว เช่น วันนี้เป็นกะเทย พรุ่งนี้จะเป็นทอม ตอนนั้นที่อาจารย์ยังนั่งเป็นนายกอยู่ก็มีกะเทยที่แต่งหญิงอยู่กินกับทอม มีเพศสัมพันธ์ มีลูก ออกสื่อ นี่คือวิวัฒนาการตั้งแต่ยุค Baby Bloomer และมันไปไกลมากแล้ว
“ในเรื่องการร่างกฎหมาย คิดว่าปัญหามันเยอะมาก จะยากกว่าในการร่างกฎหมายอื่นๆ และกินแรงเยอะมาก ถามว่าในเรื่อง LGBT เป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆ ไหม มันไม่ใช่ มันมีเรื่องสังคมเข้าไปด้วย ต้องมีการบูรณาการ ในขณะที่อาจารย์ยังนั่งเป็นนายกสมาคมฯ อยู่ มีการประชุม Queer เกิดขึ้น ทุกคนก็จะพูดว่าน้อยใจ เพราะประเด็นต่างๆ ของโลกถูกเสนอเข้าไปในสหประชาชาติแล้ว เป็น International Issue จนถึงกระทั่งคนที่ติดยาก็ยังมีสิทธิได้รับยาบรรเทาอาการลงแดง นี่คือ Human Right หรือแม้แต่ Sex Workers ก็เป็น World Issue แล้ว แต่ของ Queer ยังไม่เป็น World Issue ในยุคของโคฟี่ อันนัน พวกเรานี่น่าน้อยใจมาก เป็นกะเทยยังสู้กะหรี่ไม่ได้เลย
“คนทั่วโลกยังไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ คิดว่ากลุ่มนี้เป็นพวกแปลกปลอม พวกผ่าเหล่า เป็นภัยสังคม โดยที่ไม่ได้นึกเลยว่าจริงๆ เขาก็เกิดมาเป็นของเขาเอง แม้แต่คนไทยเรา เรายังนึกเลยว่าคนพวกนี้มันเสือกเลือกของมันเอง และขอบอกเลยว่าฉันไม่ได้เลือก ผู้ชายถามว่าเกิดมามันเลือกไหม ก็ไม่ได้เลือก เกิดมาก็เป็นผู้ชาย ผู้หญิงเกิดมาก็เป็นผู้หญิง ฉะนั้น การเป็นกะเทยก็ Born to Be จริงๆ เพราะฉะนั้นนักกฎหมายกรุณาอย่าใช้คำว่า ‘เลือก’ เพราะการเลือกมันต้องมี Process ในการ Production แต่นี่มันเป็น Process ของธรรมชาติ มันจึงไม่ใช่การเลือก
“มีปัญหาอีกอันหนึ่งคือบางทีพวกเรากันเองต้องยอมรับว่าเราเป็น Minority เพราะพวก Majority ยังเป็น Straight บางครั้งเวลาเราลุกขึ้นมาพูดตรงนี้เราจะมีอารมณ์เยอะมาก แล้วเราจะไป Abuse พวกเขา บางทีการ Abuse นี้ก็ไปถึงสถาบันครอบครัว ต้องระวังให้ดี เราต้องทำตัวให้ซอฟต์ลง คนที่ทำงานตรงนี้ก็จะต้องมีความรู้เรื่อง Human Right อย่างมาก เราต้องสมานฉันท์กัน ต้องยกย่องชาย หญิง และตัวเราเอง เราต้องเกาะกระแส Human Right แล้วเพิ่ม Issue ของเราลงไปด้วย อย่าแยกของเราออกมาเดี่ยวๆ”
ขณะที่ มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน กล่าวว่า
มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ หนึ่งในทีมวิจัย พ.ร.บ.รับรองเพศ
“กฎหมายจริงๆ มันตั้งอยู่ใน 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องของสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สองคือเรื่องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นกติกาที่ออกมาจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ประชากรไม่ได้มีแค่ ‘เรา’ หรือ ‘เขา’ ในเรื่องเพศจริงๆ แล้วมนุษย์เป็นคนกำหนดขึ้นว่ามาโดยกำเนิด จำแนกคนโดยใช้อวัยวะเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ใช่มีแค่กายภาพ แต่มันมีอารมณ์ ความรู้สึก มีความนึกคิดและความต้องการ
“แล้วประชากรที่เราเรียกกันในงานวิจัยว่ากลุ่ม ‘เพศทางเลือก’ เราใช้ชื่อนี้เพราะเราตระหนักดีว่าเรามีชื่อเรียกเยอะมาก นักกฎหมายจึงใช้คำนี้เพราะว่าอยากสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาเหล่านั้นก็มีสิทธิในการเลือก เมื่อเขามีสิทธิในการเลือก เราจึงคิดว่าคำนี้จึงเหมาะกับพวกเขา แล้วจริงๆ ก็สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้รับการศึกษามาจาก 6 ทวีป เราเลือกศึกษาเชิงลึก 4 ทวีป 16 ประเทศ เราพบว่าจริงๆ แล้วทิศทางของประเทศส่วนใหญ่ของโลกมีแนวโน้มในทางเดียวกันคือยอมรับข้อเท็จจริงทางธรรมชาติข้อนี้แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายจะทำออกมาในระดับไหน ด้วยวิธีการใด มันเป็นความแตกต่างของแต่ละสังคม
“ในงานวิจัยร่างกฎหมายรับรองเพศทางเลือกนี้ เราจะแยกคนเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ Transsexual หรือกลุ่ม Trans คือมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างชัดเจน กลุ่มที่สองคือแค่แสดงออกให้ปรากฏชัด เช่น แต่งหญิงแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ส่วนกลุ่มที่สามคือเก็บไว้อย่างมิดชิด เห็นเป็นผู้ชายเท่ หล่อ แต่ก็ชอบผู้ชายด้วยกัน กลุ่มนี้จะตรวจสอบยากและลื่นไหลง่ายมาก เรามาดูการวิจัยก็เห็นว่าแต่ละประเทศเขาทำแตกต่างกัน ต่างประเทศเปิดมาก เช่น อาร์เจนตินา ถ้าคุณตัดสินใจอยากจะมีเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดก็เดินไปที่นายทะเบียนแล้วแจ้งได้เลยว่าขอเป็นเพศอะไร กฎหมายก็จะรับรองให้ ดูเป็นสวรรค์ของกลุ่มเพศทางเลือก
“แต่เราไม่ได้อยู่ในโดดเดี่ยวในสังคม ฉะนั้น ถ้าปล่อยไปหมดอาจกระทบคนอื่นที่อยู่ในสังคม ด้วยนิสัยของคนชาติเราอาจไม่ได้เหมือนชาติอื่น เราใช้กฎหมายที่เปิดขนาดนั้นในก้าวแรกของสังคมก็จะเกิดปัญหามากกว่า เราเลยลองหันไปดูประเทศที่ค่อยๆ มีพัฒนาการ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ค่อนข้างมุ่งคุ้มครองประชากรกลุ่มแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเขาไปทำร่างกายให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่เลือกแล้ว เราจึงควรให้สิทธิเขา ในขณะที่อีกสองกลุ่มที่เหลือจะมีการลื่นไหล เห็นในข่าวเยอะแยะว่าเปลี่ยนจากหญิงไปเป็นชาย แสดงออกชัดเจนแล้ว แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจมาเป็นหญิงสวยเหมือนเดิม ถ้าเอากฎหมายไปรับรองคงจะปวดหัวเหมือนกัน ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคุ้มครอง เพราะมันเป็นรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงได้
“ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายเราก็พูดอยู่ตลอดเวลาว่ากฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษที่พอมีปัญหาอะไรในสังคมขึ้นมาก็เขียนกฎหมายแล้วทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย จริงๆ มันเป็นเรื่องของสังคมมากกว่า เช่นตัวอย่างที่อาจารย์วิโรจน์พูดเกี่ยวกับเคสของนักศึกษาแพทย์ คือน่าแปลกที่คณะแพทย์จะต่อต้านรุนแรง ทั้งๆ ที่เป็นตัวต้นงานวิจัยของพวกเรา เป็นคนที่บอกว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ แต่อาจมีเพศสภาพที่แตกต่างจากสิ่งที่เขาต้องการเป็น และก็มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่รับรองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รู้ตัวเองว่าเป็นเพศใดตั้งแต่ 2-3 ขวบด้วยซ้ำ ในขณะที่คณะทางสังคมศาสตร์ ถามว่ามีอาชีพอื่นอีกไหมที่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ จริงๆ มันมีอีกหลายอาชีพที่ถูกมายาคตินี้ครอบงำ จริงๆ อาชีพในสายนิติศาสตร์ก็มีหลายขั้นตอนที่ถูกมอง ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ หรือศาล ผู้พิพากษา บังเอิญว่ายังไม่เคยมีคดีเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าให้เดาคือ ถ้าเรายังมีความเข้าใจที่ฉาบฉวยสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นกับวิชาชีพนี้แน่นอน
“เช่นเดียวกับมายาคติของสังคมที่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ ที่บอกว่าคนที่เป็นอย่างนี้จะชอบใช้ความรุนแรง โวยวาย กรี๊ด หรือต้องสวย เก่ง เลิศ ฉลาด พวกนี้จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่สังคมคิดไปเอง จริงๆ แล้วคนที่ใช้ความรุนแรงก็เป็นคนที่มีเพศตามกำเนิด ผู้หญิงใช้ความรุนแรงกับผู้ชาย กับลูก ผู้ชายไล่ยิงผู้หญิง นี่ก็เป็นเพศแท้ๆ ฉะนั้น มันเป็นเพียงมายาคติที่เราสร้างขึ้นมา ในแง่ของกฎหมายจึงไม่เอาสิ่งพวกนี้มาพัวพัน คนทำกฎหมายจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เราจะคุ้มครองสิทธิของกลุ่มนี้ก็เพื่อการอยู่ร่วมกัน
“สำหรับคนที่แปลงเพศแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากในการคุ้มครอง เพราะเขาต้องผ่านตั้งแต่กระบวนการทางจิตวิทยา การทานฮอร์โมนเป็นปี ต้องอดทนต่อผลกระทบทางการแพทย์ต่างๆ จนปลายทางบางคนก็อาจจะไม่แปลง เพราะก็ไม่มีงานวิจัยรับรองว่าในบั้นปลายชีวิตจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่า ฉะนั้น ในกฎหมายที่เราบอกว่าพยายามแก้ปัญหาเราจึงเริ่มต้นจากกลุ่มนี้ก่อน แต่เราก็มีข้อยกเว้นด้านสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา เพื่อจะเปิดช่องให้กับกลุ่มที่อาจมีเงื่อนไขพิเศ
“กฎหมายที่เราตั้งใจจะทำที่มาเน้นการคุ้มครองเป็นหลัก เป็นกฎหมายทางเลือก ไม่ได้มีสภาพบังคับ เพราะถ้าเป็นกฎหมายสภาพบังคับก็ต้องเป็นกฎหมายอาญา อาจจะทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันอีก ว่าเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ฉันจึงเดือดร้อน เราจึงทำมาเพื่อเป็นทางเลือกให้เขา ก็แปลว่าถ้าบางคนที่เป็นคนกลุ่มนี้สบายดี ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีบางคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ กฎหมายนี้ก็จะไปเป็นทางเลือกให้เขา”
แสดงความคิดเห็น