Posted: 30 Jul 2017 11:36 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังอาบน้ำร้อนมาก่อน นักวิชาการถาม งบ เจ้าหน้าที่ การมีส่วนร่วมเพียงพอหรือไม่ หวั่น ก.ม. ลูกไม่ยังออกพาลทำงานมีปัญหา เปิด 3 ข้อกังวล เกรงปริมาณ คุณภาพเจ้าหน้าที่ไม่พอคุมกฎหมาย นาวาเอกแนะเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว ประธานสมาคมประมงฯ อัด ก.ม. เข้มงวดซี้ซั้วตามใจอียูทำประมงไทยอยู่ยาก หรือจะให้ประมงเรือนหมื่นไปหน้าทำเนียบฯ ย้ำ แรงงานต่างด้าวทำเงินมหาศาลรัฐควรดูแลอย่างดี

21 ก.ค. 2560 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “นโยบายแรงงานต่างด้าว ตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ” ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน พิชิต นิลทองคำ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน นาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ จากกองทัพเรือ มาในฐานะผู้แทนจากหน่วยงานราชการอื่น มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศใน มาในฐานะตัวแทนนายจ้าง ศ.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ตัวแทนภาคประชาสังคม ในงานมีป้ายตัวแทนลูกจ้างแต่ไม่มีใครมา มีผู้ให้ความสนใจเต็มห้องประชุม
นักวิชาการถาม งบ เจ้าหน้าที่ การมีส่วนร่วมเพียงพอหรือไม่ หวั่น ก.ม. ลูกยังไม่คลอดจะทำงานกันไม่ได้จริง


สุภางค์ จันทวานิช (ที่มา:chula.ac.th)

สุภางค์กล่าวว่า ในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการ ตามหลักวิชาการ การที่มีนโยบายหรือมาตรการใหม่แล้วอยากทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องดูปัจจัย 4 ด้าน ด้านแรกคือภาวะผู้นำทางการเมือง ตอนนี้มีเต็มที่ เพราะที่ พ.ร.ก. ออกมาได้ก็เพราะเป็นรัฐบาลนี้ ในภาวะผู้นำทางการเมืองนี้ เมื่อใช้ยาแรงเสร็จแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 มีสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการก่อนการตรากฎหมายเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) ที่ต้องทำ ดิฉันไม่รู้ว่าในกระบวนการทำ พ.ร.ก. จะทำกระบวนการดังกล่าวได้ถึงขั้นไหน ได้ทราบว่ามีการเชิญคนบางกลุ่ม เอ็นจีโอบางกลุ่มไปประชุมว่า จะเอา(พ.ร.ก. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว) แล้วนะ แล้วผลตอบรับที่ได้จากคนเหล่านั้นได้เอาไปทำอะไรไหม เคยคุยกับนักวิชาการที่ไปแล้วก็ได้ยินว่า ถ้าจะทำขนาดนี้ต้องเปิดให้จดทะเบียน แต่ก็ไม่เปิด พ.ร.ก. นี้จึงเป็นยาแรงที่สุดท้ายก็ค่อยๆ ผ่อนลง ทั้งหมดนี้ถ้าภาครัฐตัดสินใจเอาเองทั้งหมดก็ต้องถามว่าผ่านกระบวนการที่ว่าเพียงหรือเปล่า ในเมื่อกฎหมายนี้เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ คนจำนวนไม่ได้น้อยได้รับผลกระทบ

อีกข้อกังวลคือเรื่องบุคลากรและงบประมาณ คำถามคือพอหรือไม่ ในฟิลิปปินส์มีบริษัทจัดหางานอยู่กว่า 2,000 บริษัท แต่มีคนที่ทำหน้าที่ตรวจบริษัทแค่ 10 คน ทำให้ไม่เพียงพอ บริษัทก็ทำผิดไปหมด จะลงโทษก็ไม่ได้เพราะยังไปตรวจไม่ได้ แล้วยังแรงงานอีกเป็นล้านคนที่ต้องตามไปตรวจที่สถานประกอบการอีก ของเราที่แล้วมาก็ตรวจได้แค่โรงงาน แต่จากนี้ต้องเปลี่ยนไปตรวจบ้านที่จ้างแม่บ้านไปทำงานด้วย เพราะไม่เคยไปตรวจ ถึงเป็นภาคส่วนที่คนหละหลวม ดิฉันเคยตามไปตรวจโรงงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สมุทรสาคร พนักงานไปยืนเหมือนขอทานอยู่ที่หน้าโรงงาน มีกล้องวงจรปิดส่อง แล้วก็พูดคุยกับเขา(โรงงาน) ผ่านกล้องจนชัดเจนแล้วเขาจึงค่อยเปิดประตูเหล็กเข้าไปได้ คิดดูว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตาม พ.ร.ก. ที่ยิ่งใหญ่ พอไปปฏิบัติจริงแล้วอำนาจหายไปไหน จะทำอย่างไรถึงจะมีดาบอาญาสิทธิ์ที่ใช้ได้จริงๆ

ในเรื่องงบประมาณ งานนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล กรมประมงตอนทำเรื่อง ศปมผ. (ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) ได้ตำแหน่งนิติกรณ์เพิ่มไป 200 ตำแหน่ง กรมการจัดหางานก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะให้เงินเพิ่มเท่าไหร่ เพิ่มตำแหน่งอีกเท่าไหร่เพื่อทำสิ่งนี้ ถ้าไม่เพิ่มก็ทำให้ไม่ได้ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการปัญหาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอเมริกา เขาดูการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้เต็มที่ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อรอง

ในเรื่องกฎหมายลูกที่จะออกตามมาอีก 36 ฉบับ เมื่อฟังแล้วก็ยังกลุ้มใจ เพราะกฎหมายลูกใหม่ก็ต้องออก และต้องรื้อกฎหมายเก่าด้วย เช่น อาชีพที่สงวนให้คนไทยทำที่ได้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำได้ มีอีกหลายอย่างมากที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้บอกว่าจะต้องมีตามมาแล้วทำให้คนมีคำถาม เช่น การวางหลักประกันก็ไม่ได้ระบุว่าการวางหลักประกันของนายจ้างที่อยากจ้างลูกจ้างมาทำงานเองต้องวางหลักประกันเท่าไหร่ กระบวนการต้องเป็นอย่างไร ลงท้ายแล้วก็จะทำไม่ได้ฉลุยอย่างที่อยากให้เกิดขึ้นเพราะรายละเอียดยังไม่มี ต้องรอไปก่อน แล้วลำพังกลุ่มที่ไม่มีอะไรเลยที่ให้เข้ามาดำเนินการในอาทิตย์หน้า(การกรอกใบร้องข้อและกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ) ในที่สุดก็จะมีเอกสารจำนวนมากมายที่จะต้องเข้ามาทำการพิสูจน์ภายใต้กรอบเวลา 5 เดือน ก็เป็นงานที่รออยู่เยอะ แล้วยังมีงานที่ต้องทำ แต่ติดค้างตรงระเบียบยังไม่ออกก็ต้องปล่อยเอาไว้ก่อน ทำให้ปัญหาการจ้างแรงงานผิดกฎหมายจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แล้วบัตรที่ออกมาในอนาคตจะเป็นบัตรที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นไม่รับรองเพราะว่าหมดอายุความ มันก็จะไม่แก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากตัวแรงงาน

ประการสุดท้าย ท่าทีของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งมีท่าทีที่ทั้งอยากเชียร์และอยากเบรค ที่อยากเชียร์คือท่าทีของรัฐบาลที่เอาจริงแล้วทำให้เกิดแรงกระเพื่อมกันมาก แต่ส่วนที่คิดว่าจะเอาจริงแค่ไหน ทั้งเรื่อง พ.ร.ก. ฉบับนี้ เรื่องภาคการประมง เรื่องอียู ต้องเอาจริงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศไทย ไม่ใช่ตอบสนองข้อเรียกร้องจากต่างประเทศ ตั้งแต่อียูให้ใบเหลืองมา เขาไม่ได้ยุติการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศไทย มีบางบริษัทที่เลิกซื้อ แต่โดยรวมไม่ยกเลิก ยอดซื้อสัตว์น้ำก็ไม่ได้ลดลงมากมาย แปลว่า สิ่งที่อียูเรียกร้องมาไม่ได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในแง่การส่งออก แต่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการประมงพื้นบ้านและคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เหมือนเราอยากทำในสิ่งที่เขาอยากบอกให้เราทำจนเลือดมันไหลข้างใน อียูไม่มีอำนาจบอกให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็นแค่ภาคีของอนุสัญญาชื่อว่า UNCLO ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เราทำตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ก็เพียงพอแล้ว แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ไม่มีข้อมูลทั้งหลาย เช่นเดียวกับในเรื่องการรายงานการค้ามนุษย์ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้ไทยต้องทำรายงานเสนอไป เขาจะจัดอันดับอะไรก็สุดแท้แต่เขา
เปิด 3 ข้อกังวลเรื่องบริษัทนายหน้า การออกวีซ่าลูกจ้างแบบใหม่ เกรงปริมาณ คุณภาพเจ้าหน้าที่ไม่พอคุมกฎหมายใหม่

สุภางค์กล่าวว่า ปัญหาในภาพรวมอย่างหนึ่งคือ ถ้านโยบายของรัฐต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ต้องถามว่าสื่อไทยพร้อมหรือไม่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้การดำเนินการโดยรวมไปในทางที่พึงประสงค์หรือเปล่า เช่น “พ.ร.ก. ฉาว เมียนมาร์เมินหน้า ไม่ส่งคนมาเมืองไทยแล้ว” ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในช่วงแรก

ในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการในประเด็น พ.ร.ก. ฉบับใหม่ และข้อกังวลต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐ ว่าจะไปไกลแค่ไหน อย่างไรและจะรักษาดุลยภาพอย่างไรให้เหมาะสม ในส่วน พ.ร.ก. ใหม่ คิดว่ามีบางส่วนที่ยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ ประการที่หนึ่ง การนำลูกจ้างต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นตัวแสดงสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จของมาตรการรัฐ แต่คนไปพูดถึงแต่เรื่องค่าปรับ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในไทยทำที่ไม่ได้เป็นเพราะนายหน้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ดิฉันเดาเองว่า พ.ร.ก. นี้ ตั้งใจจะทำให้นายหน้าดำเนินการไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีตด้วยบทบัญญัติการลงโทษก็ดี หรือต้องมีอะไรขึ้นก็ดี ที่รัดกุมขึ้นมาก จนไม่แน่ใจว่าขณะนี้มีบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังว่าอยู่กี่บริษัท แล้วการดูแลบริษัทเหล่านี้ให้เขาทำในทิศทางที่เราต้องการจะทำอย่างไร เราทราบดีว่ามีบริษัทนายหน้าที่ส่งออกแรงงานไทยมากว่า 200 บริษัท แต่ก็ถูกแทรกแซงมาตลอดไม่ว่าจากนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงานก็ดีและต่างๆ นานามากมาย เป็นจุดสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจต่อไป

ประการที่สอง ส่วนที่บอกว่านายจ้างสามารถพาลูกจ้างมาทำงานได้เอง โดยขออนุญาตจากอธิบดีกรมจัดหางานแล้ววางเงินประกันก็ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรม แต่นวัตกรรมดังกล่าวจะนับว่าเป็นอะไร เป็น MOU หรือว่าอะไร ถ้าสมมติว่าอยากจ้างล่ามมาแปลภาษา แล้วติดต่อไปที่ประเทศต้นทางโดยตรง สถานทูตจะออกวีซ่าแบบไหนให้ที่ไม่ใช่วีซ่าท่องเที่ยว ทำไมเราไม่เปิดส่วนนี้ให้เป็นมากกว่า MOU

ประการที่สามคือบทบาทพนักงานและเจ้าหน้าที่ ในหมวดที่ 7 พนักงาน เจ้าหน้าที่คือคนที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง รวมแล้วเรามีคนที่จะตรวจแรงงานได้จำนวนเท่าไหร่เพื่อตรวจสอบว่าลูกจ้างและนายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขการทำงาน ที่ต้องถามเพราะเป็นเรื่องของการติดตามและบังคับใช้ด้วยเหตุว่า พ.ร.ก. เป็นยาแรง พอเป็นยาแรง การตรวจก็ต้องทำอย่างเข้มแข็ง นั่นหมายถึงจำนวนคนที่จะไปทำตรงนี้ นึกถึงตัวอย่างที่ตอนเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ลงไปตรวจเรือประมงแล้วหล่นลงน้ำ ทหารเรือก็ต้องกระโดดลงไป เพราะว่าพนักงานจากหลายกระทรวงก็ไม่ได้ถูกสร้างขีดจำกัดให้มาทำงานเหล่านี้เหมือนกันทุกคน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization-ILO) ก็มาพยายามมาเพิ่มความสามารถ แต่ว่าจะทำได้มากแค่ไหน อย่างไร
ประธานสมาคมประมงฯ อัดเนื้อหา ก.ม. เข้มงวดซี้ซั้วตามใจอียูทำประมงอยู่ยาก หรือจะให้ประมงเรือนหมื่นไปหน้าทำเนียบฯ


(ซ้าย) มงคล สุขเจริญคณา

มงคลกล่าวว่า รัฐควรจะทำเรื่องแรงงานที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย การส่งแรงงานต่างด้าวกลับบ้านแล้วส่งกลับมาใหม่ ค่าใช้จ่ายและภาระทั้งหลายก็ต้องตกอยู่ที่ลูกจ้าง กลับบ้านไปก็เสียค่าเดินทางกัน 2-3 พัน กลับมาโดนค่าหัวอีก 2 หมื่นก็ตายแล้ว ท่านนายกฯ ก็เลยออกมาตรา 44 ออกมา แต่ติดที่นิดเดียวคือ 15 วันให้จัดการลงทะเบียนนั้นน้อยไป จะเป็นปัญหาตรงที่เวลาที่สั้นทำให้คนที่จะรับรู้เรื่องนี้อาจจะไม่ทำ กฎหมายที่แรงก็ดี สามารถคุมภาคประมงได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เอาจริงการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในประมงมาจากต่างประเทศ แต่แก้ไปแก้มา รัฐไทยซัดในประเทศเละราพณาสูร แรงงานหนึ่งคนมีไม่รู้กี่กฎหมายกี่ระเบียบที่ผูกโยงอยู่ แล้วจะมีคนอยากทำประมงอีกไหม แล้วพวกผมจะอยู่ได้ไง อย่างการแจ้งเข้าแจ้งออกผิดเวลานิดหน่อยแค่ชั่วโมงเดียวถึงกับยึดเรือเลย เขียนกฎหมายกันซี้ซั้วแบบนี้เพราะอียูบอกมาก็เขียนตามนั้น ที่นี่ประเทศไทย การแก้ปัญหาจากภาครัฐนั้นคุยกับภาคประมงน้อย แต่ออกกฎหมายมาแล้วกระทบเยอะ พวกผมจะอยู่ได้ยังไง เผลอเมื่อไหร่ผิดกฎหมายทันที ในส่วนผลกระทบเรื่องของแรงงาน จริงๆ แล้วเราควรมามองหลายๆ ส่วน ภาคประมงเองขาดแคลนแรงงานประมาณ 74,000 คน ตอนนี้เรือประมงถูกกฎหมายจอดท่ามาแล้ว 7 เดือน จำนวน 3,500 ลำ เป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจเดือนละ 2 หมื่นล้าน มันเลยทำให้เศรษฐกิจชะงัก อีกทั้งหน่วยงานที่ใช้ พ.ร.ก. ประมงมาตรา 83 คือกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังลังเลอยู่ แต่ถ้าไม่เปิดก็จะมีปัญหา ก็ไม่รู้ว่าจะให้ชาวประมงเป็นหมื่นจะไปหน้าทำเนียบไหม ท่านอยากให้ไปไหม เราแค่ไปยื่นหนังสือพอให้รู้ว่าเกิดปัญหา แล้วขอให้รัฐแก้ตามหน้าที่ที่จะต้องทำ

เรื่องใบเหลือง ก็ต้องดูว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลแบบไหน ขณะนี้เราเป็นรัฐบาลเลือกตั้งไหม ทำไมเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ทำแค่นั้นก็ได้ใบเหลือง แต่ของเราทำขนาดที่ว่าสั่งเจ้าหน้าที่ลงถึงรายละเอียด คิดว่าประเทศเราควรเป็นแบบนี้ไหม ผมว่าจะลุยอียู อีกรอบว่าคุณละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยมากเกินไป ถามว่า ไทยร้องขอ แต่คุณไม่ควรมานั่งบงการขนาดนี้มั้ย อเมริกายังไม่บีบเราขนาดนี้เลย แล้วอียูเขาค้าขายอะไรกับเรามากมาย เราเสียเอกราชเกินไปแล้ว การมีบทลงโทษทางกฎหมายสูงก็เป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนไม่กล้าทำผิด แต่ถ้ามีคนกล้าทำ แปลว่าต้องมีคนรับเงิน หน่วยงานรัฐบางหน่วยก็ดีใจที่มีบทลงโทษแรง ซึ่งมันมีทุกหน่วย หน่วยงานที่อยากทำให้ตามกฎหมายมันก็ดี แต่หน่วยงานที่มาทำเรื่องไม่ดีก็เยอะ กฎหมายแรงก็เป็นดาบสองคม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็มีเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ เวลาเอาไปปฏิบัติงานจริง สุดท้ายไทยควรต้องเอาแรงงานเข้าสู่ระบบเสียที ถ้าไม่ใช้กฎหมายดังกล่าวก็คงจะพากันจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายกันอีก การมีกฎหมายแรงก็คงไม่กล้าจ่ายกัน
ภาคประมงยังมีคุมไม่ได้บ้าง ย้ำ แรงงานต่างด้าวทำเงินให้ไทยมหาศาล รัฐควรดูแลอย่างดี

มงคลกล่าวว่า แท้จริงในกฎหมายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวมีผลกระทบมากในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคการประมง เพราะว่าภาคประมง มี พ.ร.ก. ประมง มาตราที่ 153 บังคับใช้อยู่แล้ว แต่ก็มีที่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่ง คือเรือประมงที่ไม่ได้ถูกบังคับตาม พ.ร.ก. ประมง มาตรา 153 คือเรือประมงที่น้ำหนักน้อยกว่า 30 ตันกรอส และเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่มีการแจ้งเข้า-ออกกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) อันนี้เขาไม่ต้องทำ Seabook ก็ไม่มีกฎหมายมาตรา 153 บังคับ ในส่วนประมงพื้นบ้านมีประมาณ 2-3 หมื่นลำ ถ้าตีว่าแต่ละลำใช้แรงงานลำละ 2 คน จะมีแรงงานผิดกฎหมายบนเรือพื้นบ้านไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคน ถ้าไม่มีการผ่อนผันหรือมาตรา 140 ประมงพื้นบ้านก็คงอาการหนัก แต่พอมีกฎหมายฉบับที่ 33 ออกมาก็ทำให้ผ่อนคลายขึ้น ในส่วนประมงพาณิชย์ นโยบายผ่อนคลายของกระทรวงแรงงานที่ให้นายจ้างลูกจ้างมาเจอกันแล้วมาแจ้งหน่วยงานรัฐ ตรงนี้ประมงพื้นบ้านก็ทำได้เพราะไม่มีสัญญาจ้าง แต่ประมงพาณิชย์ไม่สามารถใช้แรงงานผิดกฎหมายได้ เพราะต้องมีสัญญาจ้าง กฎหมายนี้ไม่คุมให้ประมงพาณิชย์ ที่มี พ.ร.ก. ประมงคุมอยู่อีกอันในเรื่องของการควบคุม ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ผมเรียนว่า การที่เราจะมองลูกจ้าง โดยเฉพาะรัฐ ถ้ารัฐมองว่า ลูกจ้างที่มาเป็นประโยชน์ กรณีที่คุณดรณ์บอกว่าลูกจ้างส่งเงินกลับบ้าน แต่คุณดรณ์ไม่รู้ว่า ลูกจ้างที่เข้ามาในไทยสร้างมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ อย่าไปมองว่าเขาส่งเงินออกไป จริงๆ มันไม่ได้ไหลไปไหน ทางเมียนมาร์ซื้อสิ้นค้าไทยล้วนๆ ผมไปมาหลายครั้ง สินค้าที่เข้ามาตีตลาดก็มีสินค้าจีนที่เขาไม่เชื่อถือเท่า ถ้ารัฐมองว่าแรงงานเป็นประโยชน์หรือปัญหาก็แก้กันไปคนละแบบ แต่ตอนนี้รัฐมองว่าเป็นประโยชน์ เพราะดูจากกฎหมายที่ออกมา ถ้ามองคนต่างด้าวเป็นปัญหาก็ต้องส่งแรงงานต่างด้าวกลับบ้านให้หมด แต่ถ้าทำแบบนั้นก็ลองดูว่าเศรษฐกิจไทยจะทรุดขนาดไหน เพราะขนาดแรงงานที่ต้องใช้คนไทยล้วนๆ ยังต้องขอยกเว้นให้ใช้แรงงานต่างด้าวเพราะไม่มีแรงงาน แต่อุตสาหกรรมของไทย ในประเทศไทยกลับไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานต่างด้าว เราต้องมองว่าเศรษฐกิจในประเทศมันพึ่งแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะภาคการเกษตร ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวก็เจ๊งทันที นั่นคือสิ่งที่เขามองไม่เห็น ถามว่า แล้วทำไมคุณไม่เข้าประเทศอย่างถูกต้อง คำตอบคือเพราะภูมิประเทศตามขอบชายแดน ในกรณีประเทศเมียนมาร์เองมีกี่ร้อยชนเผ่า รวมทั้งปัญหาการสู้รบระหว่างชนเผ่าต่างๆ กับรัฐบาล ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ชนเผ่าที่สู้กับรัฐทั้งหลายที่เข้ามาทำงานในไทยจะพิสูจน์สัญชาติอย่างไร ลาว เมียนมาร์และกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและมีแรงงานที่ดี โดยเฉพาะเมียนมาร์ เขาเป็นคนที่มีค่า มีประโยชน์กับประเทศไทย รัฐก็ควรต้องดูแลเขา
นาวาเอก ชี้ ยกค่าปรับให้คนกลัว เปิดแนวทาง เงื่อนไขกำกับแรงงานประมง แนะเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว


(กลาง) ดรณ์ ทิพนันท์

ดรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ความพยายามของรัฐบาล คสช. และภาครัฐทั้งหมดคือความพยายามทำให้แรงงานผิดกฎหมายถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาคือการจับแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าระเบียบ ขณะนี้ประเด็นที่มาของแรงงานให้พักไว้ก่อน ยังไม่เจาะลึกลงไป เอาแค่มีนิติสัมพันธ์กับนายจ้าง จากนั้นค่อยพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง ซึ่งก็มีนโยบายและเอกสิทธิ์ของประเทศต้นทางว่าจะทำอย่างไร แต่ไทยที่มีโอกาสทำงานในระดับไร้ทักษะ (No skill) จำนวนมาก ก็ต้องการแรงงานเข้ามาอยู่ในระบบของประเทศ ในแง่ความมั่นคง ถ้าเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครในสังคมก็จะมีอันตราย ทำให้เราต้องการอัตลักษณ์ได้รับการยอมรับจากมาตุภูมิของเขาซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่เป็นอยู่ เพราะคนเข้ามาสู่เขตเศรษฐกิจไทยแล้วมาแจ้งข้อมูลใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเขาตาย ประสบอุบัติเหตุ การชดเชยจะจ่ายให้ใครถ้าข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไม่มีตัวตนจริง

ต่อมาคือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่ออกมากระทบแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะโทษแรงขึ้นจากเดิมปรับไม่เกินหมื่น พอเข้ากระบวนการมาแล้วก็ปรับไม่เกินพัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า economy of crime(เศรษฐศาสตร์อาชญากรรม - ผู้สื่อข่าว) คือยังสามารถสร้างประโยชน์จากเศรษฐกิจได้จากการทำผิดกฎหมาย แต่พอค่าปรับมันยกขึ้นทำให้ต้นทุนการทำผิดกฎหมายสูงขึ้น ขณะเดียวกัน นายจ้างต้องมองว่าเป็นเรื่องเชิงสังคม ที่คนทำถูกก็อยู่ไป คนทำไม่ถูกก็ได้รับผลกระทบ นายจ้างที่เคยใช้งานแรงงานผิดประเภท หรือลูกจ้างที่ทำงานผิดนายจ้าง ไม่ตรงตามเงื่อนไขก็มีโทษปรับแต่เดิม ปรับหลักพัน ก็เกิด economy of crime ที่ต่างคนทำผิดกฎหมายแต่ยังคงได้ผลกำไรทางเศรษฐกิจ ทางเจ้าหน้าที่ก็สะดวกใจ ยอมให้มีการทำผิดกฎหมายเพราะเกิดกรณีดังกล่าวผุดเป็นดอกเห็ด จึงเกิด economy of crime ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานรัฐ

ในส่วนของแรงงานภาคประมง เป็นแรงงานที่รัฐบาลต้นทางไม่เคยส่งมา เราทำบันทึกความเข้าใจกับต่างประเทศมา 3 ปี มีประมาณ 30 คนจากแรงงานที่เข้ามาเป็นหลักแสน แรงงานไม่เข้ามาในเส้นทางนี้ แต่ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ต้องแก้ไขปัญหากันต่อไป แต่ทำอย่างไรไม่ให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน หรือเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือไม่ทำให้การใช้แรงงานในภาคการประมองถูกตราหน้าว่าค้ามนุษย์กันทั้งระบบ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว แรงงานภาคประมงทุกคนต้องมีเอกสารที่เราเรียกว่า sea book ในกรณีแรงงานต่างด้าว แต่ของคนไทยเป็น seaman book กรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 ให้คนต่างด้าวที่มาเป็นลูกเรือประมง โดยผ่านเงื่อนไขการตรวจเอกสารส่วนบุคคลแสดงตน และต้องมีสัญญาจ้าง และใบอนุญาตทำงาน และผ่านกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน จากนั้นจึงเก็บอัตลักษณ์ส่วนบุคคลต่างๆ เข้าระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบจากฐานข้อมูลดิจิทัล

สิ่งที่ไปไกลกว่านั้นคือ ภายใต้กองทัพเรือมีโครงข่ายร่วมมือระว่างหน่วยงานราว 6 หน่วย ชื่อศูนย์อำนวยการประสานการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล แล้วก็สร้างระบบอีกระบบต่อยอดจากฐานข้อมูลแรงงานประมงเชื่อมต่อไปถึงการดำเนินคดี ซึ่งจะถูกส่งไปให้กับเจ้าพนักงานสอบสวนเมื่อมีเหตุการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

การประมงต้องการแรงงานประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน ขณะนี้มีคนไทยมายื่นขอ seaman book อีก 5 หมื่นคน แล้วก็มีแรงงานต่างด้าวที่มาขออีกประมาณ 5 หมื่นคน รวมกันก็ประมาณหนึ่งแสน แต่ก็ยังมีแรงงานที่ยังขาดอยู่อย่างน้อย 5-7 หมื่นคน ทำให้มีเรือกว่า 3 พันลำ ออกเรือไม่ได้เพราะไม่มีแรงงาน สาเหตุเพราะ หนึ่ง ลูกเรือหนึ่งคนจะต้องมีชื่อโยงยึดกับเรือตายตัว 1 ลำ อยู่ในบัญชีคนประจำเรือตามกฎหมายการเดินเรือน่านน้ำไทย มาตรา 285 สอง อยู่ในบัญชีลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และสาม อยู่ในบัญชีลูกจ้างตามกฎหมายประมง ฉะนั้น แรงงานหนึ่งคนบนเรือจะโยงอยู่กับกฎหมาย 3 ฉบับ ทำให้ถ่ายคนไปมาไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

ภาพของแรงงานผู้ได้รับผลกระทบไหลออกทำให้เกิดความวิตกกังวล สำหรับแรงงานประมง ก็มีการแก้ปัญหาให้มีการเปิดช่องเฉพาะของแรงงานประมง คนต่างด้าวสามารถเข้ามาที่ศูนย์รับแรงงาน แจ้งความจำนงว่าจะทำงานเป็นลูกเรือประมง นายจ้างก็อาจมาพบกัน ถ้าตกลงกันได้ตรงนั้น จากนี้ไปค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนต่างๆ นายจ้างจะเป็นคนดูแลให้ แต่ถ้าตรวจสุขภาพไม่ผ่านก็กลับไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมประมงเป็นผู้ยกร่าง กับร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยในการใช้ผ่อนผันบางประการ พอแรงงานประมงเข้ามา ก็จะได้รับตรวจสุขภาพ ได้รับ sea book ซึ่งในระเบียบ สำนักนายกฯ ก็จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และ พ.ร.ก. ประมง อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 ปี แล้วจากนั้นก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในระยะยาว

ตนมีข้อสังเกตบางประการ หนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ยอมให้แรงงานเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาไทยก็ได้ แถมบางคนก็อ่านภาษาตัวเองไม่ออก เมื่อเราลงไปพูดคุยในเรื่องสัญญา หรือการนั่งอ่านงานวิจัยก็พบว่า แรงงานจะบอกว่าพิมพ์ลายนิ้วมือหรือเซ็นสัญญาไปเฉยๆ โดยไม่เข้าใจอะไรในสัญญา ในกลุ่มนั้นมีทั้งกลุ่มที่ไม่เข้าใจความหมายของสัญญาทั้งๆ ที่มีภาษาของประเทศต้นทางกำกับอยู่ สอง ไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่แรงงานไร้ฝีมือหลบหนีมาพร้อมครอบครัว มาเกิดที่เมืองไทยแล้วมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เพราะความคลุมเครือด้านทะเบียน สาม ไทยยังเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การสิ้นสุดสัญญาการเป็นนายจ้างลูกจ้างเมื่อแรงงานสตรีตั้งครรภ์ ในต่างประเทศต้องส่งกลับ เพื่อประโยชน์ของลูกในท้องที่เมื่อเกิดมาจะมีสถานะทางกฎหมาย สี่ การใช้แรงงานจากต่างด้าวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับนโยายของประเทศต้นทาง อาจจะต้องมีช่องทางพิเศษที่จะทำ เช่น แรงงานพม่าจะมาเป็นคนทำงานในบ้าน ก็อาจจะต้องใช้สิทธิ์ของเราเองมาเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานตามความต้องการแรงงานของไทย ขณะนี้ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะยอมให้คนต่างด้าวเปลี่ยนวีซ่าผ่านทางมาเป็นวีซ่าทำงานได้ ขณะนี้ก็มีการหารือแล้วว่า ถ้าเป็นในส่วนงานที่จำเป็นก็อาจจะเปิดให้ยืดหยุ่นได้ แต่ในส่วนที่จำเป็นตอนนี้ก็ต้องมาดูว่าจะทำได้หรือไม่

เรื่องของภาษีบำรุงสังคม ในเมื่อไทยให้ค่าแรงประมาณ 300-500 บาท ในบางภาคส่วนอาจจะมีการเอาเปรียบแรงงานแตกต่างไปจากนี้ แต่ตามสภาพถือว่าสูงกว่าประเทศรอบข้างเป็นเท่าตัวยกเว้นเมื่อเทียบกับมาเลเซีย การที่คนรอบข้างจะเข้ามาอุปโภคสิทธิ์นี้ในไทย คำถามคือต้องเก็บภาษีอุปโภคหรือไม่ เพราะนายจ้างก็ได้แรงงานที่ทนกว่าตามที่นายจ้างบอกเล่า ในขณะที่ลูกจ้างก็ได้รายได้ที่ดีกว่าประเทศต้นทาง รัฐบาลอาจคำนึงถึงการเก็บภาษีเพื่อมาบำรุง จัดการเขาให้อยู่ในระบบหรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ข้อสุดท้าย เราเสียเงินไปต่างประเทศเท่าไหร่กับการใช้แรงงานต่างด้าว ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนเพราะระบบธนาคารของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเงินไหลออกมีจำนวนมาก แล้วจะใช้ตัวมันเองมาดูแลระบบอย่างไรกัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.