ภาพในงานแถลงข่าว ซ้ายไปขวา: รสนา โตสิตระกูล สารี อ๋องสมหวัง บุญยืน ศิริธรรม

Posted: 12 Jun 2018 09:55 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ-รัฐวิสาหกิจข้อหาประพฤติมิชอบกรณีแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจาก ปตท. ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองและมติ ครม. เมื่อปี 2550 ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

เมื่อ 12 มิ.ย. 2561 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวในนามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มูลนิธิฯ ได้มีมติคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ข้อหาประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 และศาลได้นัดฟังคำตัดสินว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 19 มิ.ย. 2561

เมื่อ 2 เม.ย. 2558 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับรสนา โตสิตระกูล และบุญยืน ศิริธรรม ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการแบ่งแยกทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติทางทะเลและทางบกบางส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน ประกอบกับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่ต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด รายละเอียดปรากฏตามข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ในเอกสารแถลงข่าวระบุถึงเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาถึงการเคลื่อนไหวของมูลนิธิฯ ยื่นคำร้องต่อ คตง. และฟ้องศาลอาญาในปี 2558 และ 2561 ตามลำดับ โดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อปี 2549 ที่มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีปกครองเรื่องพิพาทความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ. กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ. กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ร่วมกับรสนา โตสิตระกูล สายรุ้ง ทองปลอน ภินันท์ โชติรสเศรณี และบุญยืน ศิริธรรม ต่อผู้ถูกฟ้องคดีสี่รายได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ต่อมา ในปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 จนเมื่อ 18 ธ.ค. 2550 ครม. ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว และหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

เอกสารแถลงข่าวระบุเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมดำเนินการติดตามทวงถามการปฏิบัติตามคำพิพากษามาโดยตลอดร่วมกับผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อคืนความชอบธรรมต่อผู้บริโภคจำนวน 65 ล้านคนซึ่งเป็นประชาชนไทย ซึ่งได้รับความเสียหายต่อการประพฤติมิชอบในการคืนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.