ชำนาญ จันทร์เรือง: 24 มิถุนา 2475 ชิงสุกก่อนห่าม ?
Posted: 12 Jun 2018 08:24 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ชำนาญ จันทร์เรือง
หนึ่งในบรรดาประเด็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรก็คือ ประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความผิดของคณะราษฎร ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่ออนุชนรุ่นหลัง และเป็นการกล่าวโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อคณะราษฎรที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรมีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย
ก่อนที่เราจะด่วนพิจารณาตัดสินความผิดถูกในประเด็นนี้ เราต้องดูพื้นเพภูมิหลังของคณะผู้ก่อการซึ่งล้วนแล้วประกอบไปด้วยผู้ที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการระบบเก่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ,นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม, นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย, อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ฯลฯ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จแล้ว อย่าว่าแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะสูญสิ้นไปเลย แม้แต่หัวก็จะหลุดออกจากบ่าเอาเสียด้วยซ้ำ แต่คณะราษฎรก็เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
สำหรับในประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงลงมือเสียก่อนนั้น อันที่จริงแล้วพระปกเกล้าฯ ทรงเคยปรึกษากับ ฟรานซีส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี เมื่อปี 2469 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึงปี 2475 จึงรับสั่งให้ พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวาย และกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี ที่ 6 เมษายน 2475
ร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ที่ว่านี้ ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงเค้าโครงการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
รูปแบบและที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญปรากฏในเอกสารสำคัญ 2 ชิ้น ชิ้นแรกคือ ร่างกฎหมาย ปี 2469 ฉบับพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) (ในต้นฉบับไม่ระบุชื่อกฎหมายและไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ) และร่างกฎหมาย ปี 2474 ซึ่งเขียนโดยเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา เอกสารนี้ใช้ชื่อว่าเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาล (An Outline of Changes in the Form of the Government) ซึ่งมิได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญเช่นกัน มีหลักการโดยสรุปว่า
1.ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้
2.ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 50 คน อย่างมาก 75 คน กึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอัธยาศัย กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี อ่านออก เขียนได้ และเป็นผู้เสียภาษีในจำนวนที่แน่นอน
สมาชิกอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี หรือ 5 ปี แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภา รวมทั้งพระราชอำนาจที่จะทรงทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา และในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะต้องลาออก แต่พระมหากษัตริย์จะทรงรับใบการลาออกหรือให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปก็ได้
อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีส่วนข้างมากและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ ผู้ร่างถวาย มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 6 เมษายน 2475 จึงผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ในประเด็นของความรับผิดชอบของผู้ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรนั้น ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ แต่ก็ถูกขัดขวาง โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำรัฐประหารเงียบโดยได้สั่งปิดสภาฯ โดยไม่มีกำหนด และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการกระทำที่เสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ และได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานขบถ
แต่พระยามโนฯ ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎรรวมเวลา 14 ปี นับแต่ปี 2476 ถึงปี 2489 ก็ได้มอบคืนอำนาจนั้นให้แก่ราษฎร ตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใดๆ ก็ได้
แต่ในที่สุดก็ได้มีรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ เกิดขึ้น ซึ่งนับแต่นั้นมา คณะราษฎรก็ถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และการถือครองอำนาจรัฐก็ตกแก่คณะรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัณ คณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร คณะปฏิรูปฯ ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะอื่น ๆ อีกหลายคณะ จนมาถึงคณะ คสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557
จึงเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่คณะราษฎรถือครองอำนาจรัฐนั้นมีเพียง 14 ปี จากทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 86 ปี ส่วนที่เหลืออีก 72 ปี ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของกลุ่มอำนาจอื่นไม่ว่าจะเป็นจากทหารหรือพลเรือนที่มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยวมาจวบจนปัจจุบันนี้
หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความเดิม “24 มิถุนายน 2475 : คณะราษฎรรีบร้อนจริงหรือ”
แสดงความคิดเห็น